หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ประเพณี “บุญส่ง บุญกลางบ้าน และส่งท้ายสงกรานต์” บ้านทะเลน้อย
บทความโดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
เรียบเรียงเมื่อ 11 พ.ค. 2561, 08:18 น.
เข้าชมแล้ว 3510 ครั้ง

ก่อเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้จัดกิจกรรมทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และประกวดก่อเจดีย์ทรายบริเวณลานหน้าพระอุโบสถ์หลังเก่าวัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม นอกจากนั้นแล้วหลังสงกรานต์ของทุกปีชาวบ้านทะเลน้อยมีประเพณีบุญส่ง ซึ่งเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษ ตามคติความเชื่อของชาวบ้านทะเลน้อยที่เชื่อกันว่าการทำบุญส่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร ปล่อยทุกข์ ปล่อยโศกลงสู่แม่น้ำประแส ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูเปลี่ยนผ่านใหม่เพื่อเป็นศิริมงคลและถือเป็นการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมให้เกิดความสมานสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

 

พิธีกรรมการทำบุญส่งของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

ประเพณีบุญส่งนี้เป็นประเพณีพื้นถิ่นของชาวบ้านดั้งเดิมในภาคตะวันออกโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลำน้ำและเส้นทางออกสู่ทะเล เชื่อว่า “บุญส่ง” เป็นประเพณีพื้นบ้านที่พบทั้งในชุมชนของชาวชองและชุมชนไทยของจังหวัดตราดและจันทบุรี โดยคำว่า “ส่ง” มีความหมายด้วยกันอยู่ ๒ นัยยะ ประการแรกคือการส่งสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน และประการที่สองหมายถึง การทำบุญโดยเริ่มจากหมู่บ้านที่อยู่ไกลปากคลองหรือทะเลมากที่สุดแล้วส่งต่อๆ กันมายังหมู่บ้านอื่นๆ จนกระทั่งถึงหมู่บ้านที่ใกล้ทะเลส่งออกทะเลต่อไป (อภิลักษณ์ เกษมผลกูล,๒๕๕๕ หน้า ๙๗)

 

เซ่นไหว้ศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในชุมชน

 

จากการสำรวจและการสอบถามชาวบ้านในหลายพื้นที่ของอำเภอแกลง ได้แก่ ชาวบ้านชุมชนวัดโพธิ์ทอง ดอนเค็ด ชาวบ้านตำบลปากน้ำประแส และตำบลกระแสบน ต่างก็ถือปฏิบัติประเพณีทำบุญส่งในช่วงหลังวันสงกรานต์เช่นกัน แต่จะมีการกำหนดวันเวลาและฤกษ์จัดงานแตกต่างกันออกไป โดยมากหนึ่งชุมชนจะทำรวมกัน ณ สถานที่สำคัญของหมู่บ้านสถานที่เดียว

 

การส่งเรือในพิธีกรรมบุญส่งของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

งานบุญส่งบ้านทะเลน้อยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายนเรื่อยมาจนถึงวันที่ ๒๐ เมษายน โดยทำบุญทั้งหมด ๔ ท่าน้ำ ได้แก่ ศาลาท่าพลง ศาลาท่าโป๊ะ ศาลาท่าล่าง และ ศาลาท่าปอ มีเพียงท่าพลงเท่านั้นที่มีได้อยู่ติดแม่น้ำเนื่องจากมีการถมคลองเพื่อสร้างถนน เดิมมีคลองเล็กๆ ไหลผ่าน แต่ชาวบ้านยังถือว่าท่าพลงเป็นท่าที่สำคัญและมีการทำบุญส่งเฉกเช่นท่าน้ำอื่นๆ ซึ่งในสามวันแรกเป็นกิจกรรมช่วงเช้าทั้งหมดโดยเน้นไปทางพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญเลี้ยงพระ ทำพิธีเซ่นไหว้ศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในชุมชน  หลังจากนั้นจึงจะถึงพิธีสำคัญคือพิธีการส่งเรือ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องคาว หวาน ดอกไม้ ธูป เทียน ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดหาเตรียมมา จากนั้นมีชาวบ้าน ๒-๓ คนล่องเรือพาเรือจำลองที่ชาวบ้านทำขึ้นมาจากกล่องโฟมไปปล่อยในลำน้ำเพื่อหวังจะ “ส่ง” ออกสู่ทะเล เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในช่วงเช้า จากนั้นชาวบ้านที่มาร่วมงานก็รับประทานอาหารร่วมกัน 

 

การส่งเรือในพิธีกรรมบุญส่งของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

"ทำบุญกลางบ้านและส่งท้ายสงกรานต์"

กิจกรรมในวันที่ ๑๙ – ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐ ชาวบ้านทะเลน้อยได้จัดกิจกรรม "ทำบุญกลางบ้านและส่งท้ายสงกรานต์" กิจกรรมทั้งสองวันจัดขึ้นที่ศาลาท่าปอ ในอดีตพื้นที่ท่าปอแห่งนี้เป็นผืนแผ่นดินติดกับพื้นที่ของหมู่บ้าน แต่ในระยะเวลาหนึ่งได้มีการขุดคลองโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ได้เข้ามาทำกิจการบ่อกุ้งจึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเกาะอย่างในสภาพปัจจุบัน จนเมื่อชาวบ้านได้มีการบุกเบิกที่ดินแห่งนี้ใหม่เมื่อประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมาให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมของชุมชน มีถนนหนทางที่สามารถไปสู่เกาะแห่งนี้ได้

 

การทำบุญเลี้ยงพระในวันทำบุญกลางบ้านและส่งท้ายสงกรานต์ ของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

เล่ากันว่า “ศาลาท่าปอมีศาลเจ้าพ่อท่าปอซึ่งถูกสร้างโดยชาวประแสที่ทำประมง ก่อนออกเรือจะมีการไหว้เจ้าพ่อที่ศาลนี้ประจำ เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆ อยู่ด้านในเข้าไปอีก  แต่ปัจจุบันมีการสร้างศาลขึ้นมาใหม่อยู่ตรงบริเวณริมน้ำก่อนหน้าที่ยังไม่ถูกปิดเส้นทางชาวบ้านก็ได้เข้ามาแวะเวียนกันอยู่บ่อยๆ แต่พอมีการขุดคลองพื้นที่ได้ถูกปิดไปนานเป็นสิบปีทำให้เส้นทางทางบกถูกปิดตัวไปนาน จนได้มีการบุกเบิกกันขึ้นในปีสองปีนี่แหละ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่เดินทางทางเรือเข้ามาอยู่”

 

ศาลเจ้าพ่อท่าปอ

 

กิจกรรมทำบุญที่ศาลาท่าปอเป็นกิจกรรมที่ให้ชาวบ้านทะเลน้อยได้มีส่วนร่วม มีการทำบุญศาลเจ้าพ่อท่าปอในตอนเช้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จกิจกรรมทางศาสนามีรับประทานอาหารร่วมกันของชาวบ้าน และมีการละเล่นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีการนำการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เปตอง สะบ้าทอย แข่งขันกีฬาพื้นบ้านที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนริมน้ำ เช่น แข่งขันเรือพาย เรือหัวใบ้ท้ายบอด เรือแจว พายกระบะปูน และมวยทะเล ในส่วนของกิจกรรมกลางคืนเป็นงานรื่นเริงสังสรรค์ของชาวบ้าน มีการร้องรำทำเพลง รำวงย้อนยุคที่จัดขึ้นโดยคนในหมู่บ้านเองซึ่งเงินที่ได้จากการทำบุญจะนำไปสมทบทุนในการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อท่าปอต่อไป

 

กิจกรรมในตอนกลางคืน

การละเล่นพื้นบ้านในช่วงวันสงกรานต์ของชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

บรรยากาศในกิจกรรมนี้มีความอบอุ่นเพราะชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นเองทุกกระบวนการ เป็นประเพณีชาวบ้านที่เรียบง่ายและสนุกสนาน สร้างความสัมพันธ์อันดีให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาร่วมกันในชุมชน ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับความเชื่อท้องถิ่น และปลูกสำนึกรักษ์พื้นที่สาธารณะของชุมชนร่วมกัน

 

ศาลเจ้าพ่อท่าปอที่กำลังทำการก่อสร้างใหม่

 

อ้างอิง

พัชรินธร เดชสมบูรณ์รัตน์.(๒๕๕๙). ประเพณีบุญส่ง กับ จุดเริ่มต้นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านทะเลน้อย. บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. ฉบับที่ ๑๑๐

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล.(๒๕๕๕). การสืบทอดอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ “ชอง” ผ่านพิธี “ส่งในบ้าน” ของชาวชอง บ้านทุ่งไก่ดัก อ.เมือง จ.ตราด. วารสารไทศึกษา,ปีที่๘(๑)

ขอขอบคุณ

คุณสุทธิ ช่างเหล็ก

คุณณัฐวัฒน์  พานทอง 

ชาวบ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

อัพเดทล่าสุด 12 พ.ค. 2561, 08:18 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.