บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดในตำแหน่งที่เคยเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดตราดมาก่อน
พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด ตั้งอยู่ที่ถนนสันติสุข อำเภอเมืองฯ จังหวัดตราด เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นศาลากลางจังหวัดหลังเก่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ลักษณะเป็นอาคารไม้ เสาปูน ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา ต่อมาอาคารทรุดโทรมลง ทางจังหวัดจึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ อาคารหลังเก่านี้จึงถูกปิดตัวลงเป็นเวลานาน
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลากลางหลังเก่าให้เป็นโบราณสถานของชาติ แต่ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๗ อาคารหลัง นี้ถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด ทางเทศบาลเมืองตราดได้จัดสรรงบประมาณให้กับกรมศิลปากรเพื่อบูรณะอาคารตามรูปแบบเดิม แล้วเสร็จในอีก ๒ปีต่อมา และกรมศิลปากรได้ใช้งบประมาณของตัวเองเพื่อปรับปรุงภายในอาคารให้เป็น “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” แล้วเสร็จจึงส่งมอบให้เทศบาลเมืองตราด เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๖และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลที่นี่จึงเป็นแห่งแรกที่ใช้เป็นชื่อพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จังหวัดตราด โดยไม่มีคำว่า “แห่งชาติ”
หากได้ยินชื่อ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” จะเห็นภาพของการเป็นพิพิธภัณฑ์ของหัวเมืองใหญ่ หรือเมืองที่มีสถานที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ ด้วยกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีมากขึ้น จึงเกิดการปรับตัวของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่นำความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกับประวัติศาสตร์ภาพใหญ่จัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์เมือง” โดยพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จัดได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อแสดงให้เห็น วิถีชีวิตคนเมืองตราด ไม่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเพียงวัตถุโบราณ
อีกทั้งพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดยังเป็นฐานข้อมูลในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนเมืองตราด และเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชน
การที่พิพิธภัณฑสถานเมืองตราดเป็นตัวกลางในการประสานงานหรือให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อกระจายไปท่องเที่ยววิถีชุมชนสู่ชุมชนในจังหวัดตราด ก็เพราะจังหวัดตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติงดงาม เป็นเเหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้ทางพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นศูนย์กลางในการสร้างองค์ความรู้เผยแพร่สู่คนเมืองตราดให้เข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน เพราะจังหวัดตราดไม่ได้มีเพียงเกาะหรือทะเลที่งดงามแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีเสน่ห์ของวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในจังหวัดที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วยการปรับตัวในการพัฒนาความเป็น “พิพิธภัณฑ์เมือง” ของพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด มีความเคลื่อนไหวและพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้ข้อมูลที่รวบรวมเป็นข้อมูลเก่าหรือไม่ได้วิเคราะห์เพิ่มเติม จากการนำชมของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่ดูลักษณะของผู้เข้าชมว่าต้องการท่องเที่ยวในลักษณะใด เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการถ่ายทอดความรู้รวมถึงการจัดแสดงเนื้อหาที่ไม่มากและยากเกินไปถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีทันสมัย ห้องจัดแสดงบางห้องสามารถทำให้ผู้เข้าชมรับรู้หรือเกิดอารมณ์ร่วมในเนื้อหาที่นำเสนอซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมาก ในยุคสมัยที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุ
พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด เป็นสถานที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของคนเมืองตราด โดยแผนผังการจัดแสดงมีห้องจัดแสดง นิทรรศการหลัก แบ่งออกเป็น ๖ห้อง ประกอบไปด้วย
ห้องที่ ๑ มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด จัดแสดงเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของจังหวัดตราด
ตราดเป็นจังหวัดสุดท้ายชายแดนตะวันออกของไทย ลักษณะรูปร่างคล้ายหัวช้างหันหน้าไปทางประเทศกัมพูชา มีเทือกเขาบรรทัดเป็นพรมแดนธรรมชาติ ด้านใต้ติดทะเลอ่าวไทยประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมากเหล่านี้ยังช่วยบังลมมรสุมอีกด้วย
ตราดมีฝนชุกจังหวัดหนึ่งของไทยมีป่าดิบชื้นผืนใหญ่ในภาคตะวันออก ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ป่าเมืองตราดถือว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าป่าส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่ราชอาณาจักร ผืนป่าเหล่านี้ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่นำหลายสาย เช่น แม่นำเวฬุ แม่น้ำตราด คลองบางพลัด ส่วนพื้นดินอุดมแร่ธาตุจากดินตะกอนปากแม่น้ำ ทำให้ในอดีตตราดเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และเป็นแหล่งรัตนชาติสูงค่าคือ “ทับทิมสยาม”
นอกจากนี้ตราดยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน สละ ลองกอง แตงโม โดยเฉพาะสับปะรดตราดสีทอง ผลไม้เหล่านี้สร้างรายได้และชื่อเสียงให้จังหวัดไม่น้อยกว่าจันทบุรีและระยอง การที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีชัยภูมิที่ดีเหล่านี้สามารถเดินเรือค้าขายได้อย่างสะดวก เพราะน่านน้ำทะเลตราดเป็นจุดจอดเรือสำเภามาตั้งแต่โบราณ
ห้องที่ ๒ ผู้คนเมืองตราด จัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตราด
ห้องนี้จัดแสดงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนในจังหวัดตราดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวชองคนพื้นเมืองจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร มักอาศัยอยู่แถบอำเภอเมืองฯ อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง กลุ่มคนไทยที่คาดว่ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กลุ่มคนจีนที่คาดว่ามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี กลุ่มคนเวียดนามที่เข้ามาหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยองค์เชียงสือในรัชกาลที่ ๑ สุดท้ายคือกลุ่มคนมุสลิมกัมพูชา หรือที่เรียกว่าแขกจาม จังหวัดตราดจึงประกอบไปด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์ แต่ปัจจุบันนอกจากการนับถือศาสนาที่ชัดเจนความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม ประเพณี แทบจะแยกออกได้ยาก เพราะมีการผสมผสานกลมกลืนเข้าด้วยกันมาโดยตลอด
ห้องที่ ๓ ลำดับทางโบราณคดีและประวัติเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดตราดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต้นสมัยประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๑-๔) เมืองตราดเป็นเมืองที่เก่ามาก มีการค้นพบขวานหินโบราณ ซึ่งมีอายุประมาณ ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว และพบกลองมโหระทึกสำริด ๓ใบ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีอายุประมาณ ๑,๗๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว คาดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันค้าขายกัน นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งนำขึ้นมาจากเรือที่จมในท้องทะเล นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เมืองตราดมีฐานะเป็นหัวเมืองชายทะเลตะวันออกที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป็นเมืองท่าและ หลังเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ เมืองตราดยังเป็นฐานกำลังและแหล่งสะสมเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ ของพระเจ้าตากสินฯ ที่ใช้ในการกอบกู้ กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
ห้องที่ ๔ เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงเรื่องการรับมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส การ พระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด
ห้องนี้จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญที่เล่าเรื่องราว ร.ศ ๑๑๒ จนถึงการเสียเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๕ รัฐบาล ไทยได้ทำสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศส โดยยอมยกเมืองตราดและเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปถึงเกาะกูด ตลอดจนถึ งเมืองประจั นตคีรีเขตต์ (เกาะกง) เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรีคืนมา ฝ่ายฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจังหวัดจันทบุรีโดยกองทหารฝรั่งเศสออกจากจันทบุรี ตามสัญญาในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ต่อจากนั้นรัฐบาลไทยได้มีการมอบจังหวัดตราดและเกาะกงให้แก่ฝรั่งเศสเข้าปกครองแทน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗
เรสิดังกัมปอร์ตข้าหลวงฝรั่งเศสเคยปกครองที่กัมพูชา เมื่อครั้งมาปกครองที่ตราดได้นำคนฝรั่งเศสมาไม่มากนักแต่ได้นำพาพวกที่เป็นข้าราชการเวียดนามและกัมพูชาที่ฝรั่งเศสให้มาดูแลเสียมากกว่า โดยการนำการปกครองในกัมพูชามาใช้กับที่ตราดเช่นเดียวกัน
ต่อมา วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ฝรั่งเศสได้ทำสัญญาคืนเมืองตราดให้ไทยดังเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำเนินทำทุกวิถีทางจนได้เมืองตราดกลับคืนมาและวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ฝรั่งเศสจึงทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการให้กับประเทศสยาม นับว่าจังหวัดตราดต้องสูญเสียอิสรภาพตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือน ๗ วัน
จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่ ร.๕ เสด็จประพาสบ่อยที่สุด ในการประพาสทั่วประเทศ ๒๔ ครั้ง เสด็จประพาสตราดถึง ๑๒ครั้ง โดยเสด็จเกาะช้างทุกครั้ง จังหวัดตราดจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในช่วงข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พระองค์ทรงยอมแลกดินแดนในฝั่งกัมพูชาทั้งหมดเพื่อให้จังหวัดตราดคืนมา กล่าวกันว่าหากไม่รักษาตราดไว้อ่าวไทยในปัจจุบันคงไม่ได้มีพื้นที่ทางทะเลกว้างเหมือนปัจจุบัน
ห้องที่ ๕ เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ
ห้องนี้มีการทำรูปแบบต่างจากห้องอื่น คือพื้นทางเดินเป็นไม้เปรียบเสมือนเรือประมงที่นั่งไปแล้วบังเอิญเห็นการรบระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส เหตุการณ์เป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ ๘ ฝรั่งเศสกำลังจะ ไปรบกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ฝรั่งเศสกลัวว่าไทยจะไปรุกรานอินโดจีนจึงให้รัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศสไปว่าไทยยินดีจะรับตกลงตามคำของฝรั่งเศส แต่ขอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน และคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปคืนให้ไทยจึงปรากฏว่าไม่เป็นที่ตกลงกัน ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมก่อน และฝรั่งเศสยังได้ส่งเรือรบเข้ามาทางเกาะช้างเพื่อหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเลตะวันออกของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงเกิดเหตุการณ์ยุทธนาวีที่เกาะช้างขึ้น เป็นเหตุการณ์รบทางเรือระหว่างทหารเรือไทยกับทหารเรือฝรั่งเศส ซึ่งสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนในครั้งนี้
ห้องที่ ๖ ตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่าและสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราด
จำลองการค้าขายของตลาดเก่าเมืองตราดโดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งการเรียนรู้สร้างความเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตภายในห้องจัดแสดงจำลองเรื่องราวการค้าในตลาดเก่า และสภาพของตลาดเมืองตราดเป็นการเดินทางย้อนกลับสู่อดีตอันเฟื่องฟูของย่านการค้าสำคัญแห่งนี้ จังหวัดตราดมีตลาดเก่าหลายแห่ง อาทิ ตลาดริมคลอง ตลาดท่าเรือจ้าง แต่ละแห่งมีของขายเบ็ดเตล็ดหลายอย่าง เช่น ยารักษาโรคจนถึงเครื่องมือจับปลา ปัจจุบันบางตลาดก็ยังมีอยู่บางตลาดก็หายไปตามการเปลี่ยนแปลง
คุณรุ่งโรจน์ แสวงกาญจน์ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ ผู้ให้ข้อมูลและจัดการนำชมภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด ได้รวบรวมและนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมจากการสืบต่อและถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น โดยการมีเครือข่ายการเเลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับชุมชนในจังหวัดตราดมาโดยตลอด อีกทั้งการนำเสนอผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการแบ่งส่วนในการจัดแสดงเนื้อหาที่ลงตัว ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกไม่เบื่อหน่ายกับข้อมูลของพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ พิพิธภัณฑสถานเมืองตราดได้เเสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เมือง สามารถเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตโดยรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นผสมผสานกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพรวมอย่างลงตัว ไม่ใช่เพียงสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณตามที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นเช่นนั้น พิพิธภัณฑสถานเมืองตราดจึงถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่ประสบความสำเร็จในการนำความรู้ท้องถิ่นมาผสมผสานกับประวัติศาสตร์ชาติ เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ยังมีชีวิต
แต่น่าเสียดายด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในจังหวัดตราด จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว จนได้ละเลยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราจึงขอเชิญชวนแนะนำทุกท่านเข้ามารับชมพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด เพราะการเริ่มจุดท่องเที่ยวจากพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดเป็นที่แรกจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจ และเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ในการท่องเที่ยวจังหวัดตราด อีกทั้งการเข้าใจในสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดตราดเเละจังหวัดใกล้เคียง
ข้อคิดเห็นจากผู้เข้าชม พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
จากที่ได้มาดูพิพิธภัณฑ์ มีความรู้สึกชื่นชมการเสียสละของทุกคนที่ต่อสู้ปกป้องพื้นที่ของประเทศไทยจากผู้รุกรานอย่างชาติมหาอำนาจตะวันตกและอยากให้ที่ทางภาคใต้มีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ด้วย
นายณัฐวรณ์ หมื่นหนู
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงที่ดีและมีความเป็นสมัยใหม่ การจัดเป็นห้องตั้งแต่อดีตไปถึงปัจจุบัน มีของและเนื้อหาที่น่าสนใจครบองค์ประกอบ ซึ่งการพานักศึกษามาเยี่ยมชมหลายๆ ที่ก็เพื่อจะ ให้เด็กๆ ได้เห็นภาพและสามารถนำไปพัฒนาได้
อาจารย์ศิริอร เพชรภิรมย์
สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ประทับใจในการจัดแสดงและวิทยากรที่พูดแนะนำผู้เยี่ยมชมได้ความรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี จากที่ได้มาเยี่ยมชมจะนำความรู้และประสบการณ์ไปแนะนำน้องๆ ที่เรียนรายวิชาพิพิธภัณฑ์ต่อไป
นางสาวอนิษฐา ศรีเกตุ
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
วัน เวลา และการให้บริการ
วันอังคาร-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
วันเสาร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๓๐ น. (หยุดวันจันทร์)
อัตราค่าเข้าชม พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
๑. เด็ก ส่วนสูงเกินกว่า ๑๐๐ เซนติเมตรขึ้นไป ๕ บาท
๒. ผู้ใหญ่ ๑๐ บาท
๓. เด็กต่างชาติ ส่วนสูงเกินกว่า ๑๐๐ เซนติเมตรขึ้นไป ๑๐ บาท
๔. ผู้ใหญ่ต่างชาติ ๓๐ บาท
ความเคลื่อนไหวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๕ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๐)