หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ความก้าวหน้าพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดราชบัลลังก์ปฏิฐาวราราม บ้านทะเลน้อย
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 12 ก.ค. 2560, 16:08 น.
เข้าชมแล้ว 6009 ครั้ง

วัดราชบัลลังก์ปฏิฐาวรารามหรือวัดบ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

วัดราชบัลลังก์ฯ เป็นวัดที่มีความเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชนบ้านทะเลน้อย พร้อมทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่อย่างแน่นหนา กล่าวคือ ชาวบ้านเชื่อว่าบ้านทะเลน้อยเคยเป็นพื้นที่ตั้งฐานทัพในเส้นทางการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จากตำนานการ บอกเล่าสืบกันมาของผู้คนในหมู่บ้านและหลักฐานที่พบคือแท่นรองพระบาท ที่เชื่อกันว่าเป็นของที่อยู่คู่กับบัลลังก์ของพระเจ้าตากฯ ซึ่งปัจจุบัน แท่นรองพระบาทดังกล่าวถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีลวดลายแบบจีนผสมอยู่ทุกส่วน ลงรักปิดทองด้วยฝีมือช่างชั้นสูง

               

โดยพื้นฐานแล้วบ้านทะเลน้อย เป็นชุมชนที่มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมและดูงานอยู่ตลอดอย่างไม่ขาดสาย ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องการดูงานของกลุ่มอาชีพต่างๆ และการมาสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดราชบัลลังก์ฯ

               

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์  ได้ร่วมประชุมกับชาวบ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ท้องถิ่นที่วัดราชบัลลังก์ฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจในงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิต ของผู้คนในท้องถิ่น และเป็นพื้นที่สำหรับคนในชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดราชบัลลังก์ บ้านทะเลน้อย” เพราะชาวบ้านต้องการให้ชื่อของพิพิธภัณฑ์นั้นประกอบไปด้วยวัด ผู้คน และความเชื่อในเรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ชาวบ้านทะเลน้อยและผู้คนโดยรอบให้ความศรัทธา

 

วัตถุที่นำมาทำทะเบียน

 

ภายในวัดประกอบไปด้วยโบราณสถานคือ พระอุโบสถ หลังเก่าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์หวาย เจดีย์ที่สันนิษฐานว่า มีอายุร่วมในสมัยอยุธยาตอนปลาย และใบเสมาหิน นอกจากนั้นยังมีวัตถุที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีตจำพวกเครื่องถ้วยลายจีน เครื่องลายคราม เครื่องทองเหลือง รวมไปถึงตำรายาโบราณ สมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น สามารถเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงความสำคัญ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของวัดและชุมชนบ้านทะเลน้อย รวมไปถึงเป็นหลักฐานในการเชื่อมโยงความสำคัญกับพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียง

               

กระบวนการทำงานทางมูลนิธิฯ ได้จัดทีมงานเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ พร้อมด้วยนิสิตฝึกงานรวมจำนวน ๕ คน ใช้เวลาในการทำความสะอาด ทำทะเบียน และบันทึกภาพวัตถุ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๒-๓ เดือน คือ ช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งจากชาวบ้านและพระสงฆ์ที่ให้การต้อนรับช่วยเหลือในการทำงานการบันทึกข้อมูลทะเบียน วัตถุดังที่กล่าวมา โดยใช้โปรแกรม “ทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์” ที่ทางมูลนิธิฯ จัดทำขึ้นมาเพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน

               

ในขณะนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังทำการศึกษาหาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ตามหลักการทางวิชาการ โดยการออกสำรวจและทำการสัมภาษณ์ผู้รู้ในท้องที่ และนำข้อมูลดังกล่าวนั้นมาเผยแพร่ประกอบกับการจัดแสดงวัตถุให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนี้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ รากเหง้าทางวัฒนธรรมและเป็นพื้นที่ของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสำโรง

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เข้าประชุมเป็นที่ปรึกษาในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ร่วมกับทางคณะสงฆ์ ชาวบ้าน และบุคลากรทางการศึกษาในท้องถิ่น

               

 

ซึ่งโดยสรุปมีความเห็นร่วมกันในที่ประชุมว่าการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นควรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยมีการนำข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบของประวัติศาสตร์บอกเล่า ที่เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมในสังคมชาวนาและกลุ่มที่เคยเป็นอดีตพ่อค้าคนกลางชาวจีนที่ปัจจุบันคลี่คลายและเปลี่ยนแปลงผสมผสานร่วมกัน อย่างกลมกลืนแล้ว 

 

ในส่วนของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เห็นควรว่าให้สอดรับกับข้อมูลวิถีชุมชน โดยเน้นข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องของการตีความทางประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้หลักฐานเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ และ ควรมีสถานที่เฉพาะงานพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อยู่ริมแม่น้ำสะท้อนเรื่องราวการค้าทางเรือและวิถีชีวิตของผู้คนกับแม่น้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดี

   

            

คณะทำงานพิพิธภัณฑ์วัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

 

หากประเมินจากการประชุมในครั้งแรกพบว่าชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือร่วมใจที่ดีทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างฝ่ายสงฆ์และผู้นำชุมชน รวมไปถึงเครือข่ายชุมชน ชาวบ้าน มีความพร้อมที่จะสามารถขับเคลื่อนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ถือเป็นชุมชนตัวอย่างในการร่วมมือที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งทีเดียว

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๔ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๖๐)

 

อัพเดทล่าสุด 12 ก.ค. 2560, 16:08 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.