หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดมได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ประจำปี ๒๕๕๐ (ครั้งที่ ๑๘)
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 25 ม.ค. 2559, 10:08 น.
เข้าชมแล้ว 5663 ครั้ง

 

            รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งถือเป็นคนไทยคนที่ ๕  ที่ได้รับรางวัลนี้

 

            เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา  นายฮิเดอากิ โคบายาชิเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าวและแสดงความยินดีแก่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดมที่ห้องประชุมใหญ่เจแปนฟาวน์เดชั่น ในโอกาสที่จะได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะประเภทผลงานวิชาการ ครั้งที่ ๑๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐  (The 18th Fukuoka Asian Culture Prizes 2007, Academic Prize) ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่อาครอส ฟูกูโอกะ ซิมโฟนี ฮอลล์ เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลร่วมกับ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อีก ๓ ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์อสิช นานดี นักวิจารณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมชาวอินเดีย คุณจู หมิง นักประติมากรรมชาวไต้หวัน และคุณคิม ดัค ซู   ศิลปินแสดงศิลปะดั้งเดิมชาวเกาหลีใต้

  

งานแถลงข่าวและร่วมแสดงความยินดีแก่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุมใหญ่เจแปนฟาวน์เดชั่น เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

            รางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะเป็นรางวัลที่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น มอบให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะผลงานที่จรรโลงและสร้างสรรค์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย ก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมเอเชีย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค

 

เหตุผลในการมอบรางวัลแก่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

            รศ. ศรีศักรจัดว่าเป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีชั้นแนวหน้าของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมความเชื่อพื้นบ้านมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ไทยในลักษณะใหม่โดยสิ้นเชิง

 

            ในผลงานวิจัยของท่าน รศ.ศรีศักรได้วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของเหล่านักวิชาการที่รับเอาหลักความคิดแบบตะวันตกโดยที่ไม่ได้วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ตลอดจนแสดงความกังขาต่อการตีความประวัติศาสตร์ไทยตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งมักอ้างอิงจากการบันทึกเหตุการณ์ของประเทศและราชวงศ์ตามลำดับเวลาการเกิด รศ. ศรีศักรยังได้รวมเอาผลลัพธ์ที่ได้จากงานสำรวจภาคสนามและงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ เข้ากับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แทนที่จะเพ่งความสนใจไปที่ประวัติศาสตร์ของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว อันนำไปสู่การนำเสนอแง่มุมมองใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย งานวิจัยของ รศ. ศรีศักรครอบคลุมหลายแขนง ที่จะกล่าวในที่นี้คืองานสำรวจทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และงานวิจัยเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณของไทย  ในผลงานชิ้นแรกนั้น รศ. ศรีศักรได้รวบรวมหลักฐานจากงานสำรวจภาคสนามเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า การเกษตรกรรม เกลือ  และเหล็ก เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและยังแสดงให้เห็นว่าการสักการะบูชาทางศาสนามีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยมีหินสีมาซึ่งพบได้เฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นหลักฐาน การค้นพบดังกล่าวหักล้างภาพเก่า ๆ ของ “ภาคอีสานที่ยากจน” และได้วาดเค้าโครงใหม่ให้กับภูมิภาคว่าเป็น  “ภาคอีสานที่เคยรุ่งโรจน์” ข้อมูลทางโบราณคดีบางส่วนที่ รศ. ศรีศักรเก็บรวบรวมจากภูมิภาคนี้ได้แพร่หลายทางอินเตอร์เน็ตและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในผลงานชิ้นที่สองของ รศ. ศรีศักรได้ใช้แผนที่ทางอากาศในงานวิจัยเมืองโบราณของไทย ทำให้ค้นพบการวางผังเมืองและโครงสร้างของเมืองโบราณหลายเมือง อาทิเช่น ทวารวดีซึ่งเป็นอาณาจักรสมัยแรกของไทย อาณาจักรในราชวงศ์สุโขทัย และอาณาจักรในราชวงศ์อยุธยา โดย รศ. ศรีศักรได้วิจารณ์ว่าการค้าขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอิทธิพลต่อการสถาปนาอาณาจักรโบราณของไทยเป็นอย่างมาก

 

 

            รศ. ศรีศักรสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ภายหลังสำเร็จการศึกษาท่านสอนและทำงานวิจัยที่ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะเดียวกันดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งในสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รศ. ศรีศักรยังได้ให้คำแนะนำที่สำคัญต่าง ๆ ต่อรัฐบาลในสมัยที่ท่านเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือโครงการพัฒนาสวนประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้านักสังคมศาสตร์ นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทดังจะเห็นได้จากความพยายามในการที่จะให้ผลงานวิจัยทางวิชาการได้ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนในฐานะที่เป็นบรรณาธิการวารสาร “เมืองโบราณ”ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการรายสามเดือนชั้นนำด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทย

 

            งานวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ ของ รศ. ศรีศักรนั้นก่อร่างมาจากมุมมองด้านมานุษยวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับข้อมูลทางโบราณคดีที่เชื่อถือได้ ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แนวใหม่ที่มุ่งเน้นไปยังประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม สำหรับความสำเร็จอันสำคัญนี้ รศ. ศรีศักรจึงสมควรที่จะได้รับ “รางวัลผลงานวิชาการ รางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ”

 

คำกล่าวของศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

            ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้กล่าวสดุดี รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของผู้ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ครั้งที่ ๑๘ ประจำปี ๒๕๕๐ ในวันนี้

            ท่านผู้มีเกียรติคงได้รับแจกประวัติย่อ ผลงานโดยสังเขป และเกียรติคุณต่างๆ ที่อาจารย์ศรีศักรได้รับจากสถาบันต่างๆ แล้ว สิ่งที่ดิฉันจะพูดจะไม่ปรากฏในเอกสาร แต่จะพูดถึงบุคลิก แนวการทำงานและจุดยืนของอาจารย์ศรีศักรเท่าที่ดิฉันได้ร่วมงานกันตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา

 

            อาจารย์ศรีศักรจบปริญญาอักษรศาสตรบันฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี ๒๕๐๔ ในสาขาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาขาเดียวกับดิฉัน จากสถาบันเดียวกัน  แต่จบหลังดิฉัน ๑ ปี ดิฉันซื่อสัตย์ต่อสาขาวิชาที่เรียนมาคือได้เป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสมาตลอดชีวิตที่ที่แห่งเดียวกันคือ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอาจารย์ศรีศักรเริ่มทำงานด้วยการเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย คนอื่นอาจจะแปลกใจว่าทำไมจบภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ทำไมสอนประวัติศาสตร์ไทย แต่ดิฉันไม่ เพราะทราบว่าคุณพ่อของอาจารย์ศรีศักรคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดี ดูแลพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากรที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปลพบุรีและอยุธยา อาจารย์มานิตเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาจารย์ศรีศักรซึมซับความรู้ทั้ง ๒ ด้านจากคุณพ่อของอาจารย์มาตั้งแต่เด็ก และต่อมาอาจารย์ศรีศักรได้ไปศึกษาต่อสาขามานุษยวิทยา ระดับปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย และได้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยา และสร้างหลักสูตรสาขาวิชามานุษยวิทยาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

            ที่คณะโบราณคดี อาจารย์ศรีศักรไม่ได้สอนแต่ในห้อง แต่อาจารย์พานักศึกษาออกสำรวจทั่วประเทศ กลุ่มนักศึกษารุ่นแรกที่ติดตามอาจารย์ศรีศักรออกสำรวจ เช่น นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นายขรรค์ชัย บุนปาน นายพิเศษ เจียจันทร์พงศ์ เป็นต้น คนกลุ่มนี้ได้ซึมซับวิธีคิดและวิธีทำงานจากอาจารย์ศรีศักรอย่างแน่นอน

 

            คุณสมบัติพิเศษของอาจารย์ศรีศักรมาจากการที่อาจารย์เป็นนักวิชาการที่สามารถบูรณาการประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยท้องถิ่นที่อาจารย์ต้องออกสำรวจเองทุกที อาจารย์จะให้ความสำคัญกับประเพณี ความเชื่อของชุมชนท้องถิ่น ผลงานวิชาการของอาจารย์ศรีศักรไม่ว่าจะเป็นงานเขียน หรือการบรรยายพิเศษจึงบูรณาการศาสตร์หลายสาขา สิ่งที่อาจารย์พูดและเขียนมีน้ำหนัก มีหลักฐาน น่าเชื่อถือ

 

            ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา อาจารย์ศรีศักรมีงานวิจัยที่ทำให้ต้องไปสำรวจ ๓ จังหวัดภาคใต้ อาจารย์กลับมาเล่าให้กรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งอาจารย์และดิฉันร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ถึงสภาพความเป็นอยู่ ความคิดของคน ๓ จังหวัดภาคใต้ และยังได้วิเคราะห์ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และยังพยากรณ์ล่วงหน้าด้วยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่อาจารย์คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดภาคใต้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในครั้งนั้นดิฉันได้ขอให้อาจารย์ศรีศักรบรรยายพิเศษที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เชิญผู้สนใจและนักข่าวเข้าฟัง ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นี่คือตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวที่แสดงความรอบรู้ รู้รอบของอาจารย์ศรีศักร

 

            เมื่อดิฉันทำงานเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศรีศักรได้ให้ข้อแนะนำในเรื่องวิชาการต่างๆ หลายเรื่อง บางเรื่องเช่น การจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก็มาจากคำแนะนำของอาจารย์ศรีศักร เมื่อดิฉันปรึกษาอาจารย์ว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะทำโครงการอะไรดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ในปี ๒๕๓๕ อาจารย์ได้แนะนำให้ทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่วัดม่วง ที่อาจารย์เคยพานักศึกษาไปศึกษา อาจารย์ได้ให้แนวความคิด และให้คำปรึกษาในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจนแล้วเสร็จ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตัวอย่างที่กระตุ้นความสำนึกของชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามมามากมายหลายแห่ง ที่อาจารย์ศรีศักรได้มีส่วนร่วมด้วย ก็เช่นพิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จ.นครสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ยี่สาร จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมในการออกสำรวจภาคสนาม

            เรื่องการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น อาจารย์ศรีศักรเชื่อมโยงกับแนวคิด Localization หรือท้องถิ่นพัฒนา เพื่อต้านกระแส Globalization หรือโลกาภิวัตน์ อาจารย์ศรีศักรย้ำเสมอว่า การจะต้านกระแสโลกาภิวัตน์ได้ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความภาคภูมิในประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของเขาเอง ภูมิใจในภูมิปัญญาที่เขามี การสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว

 

            ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีที่ร่วมงานกันมาแม้จะทำงานด้านต่างกัน คืออาจารย์ศรีศักรทำงานวิชาการ แต่ดิฉันค่อนมาทางบริหาร แต่เราก็ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดิฉันภูมิใจที่มีเพื่อนอย่างอาจารย์ศรีศักร  คนที่จุดยืนตรงไปตรงมา เป็นตัวของตัวเอง มีหลักการ มีอุดมคติ และสมถะ อาจารย์ไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทนหรือเกียรติคุณต่างๆ แต่อาจารย์ก็ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยถึง ๓ แห่ง (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ทั้งยังได้รับการยกย่องเป็นเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งนักวิชาการน้อยคนจะได้รับเกียรติ

 

            การได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ครั้งที่ ๑๘ ปี ๒๕๕๐ นี้ของอาจารย์ศรีศักรเป็นเกียรติสูงสุด เป็นรางวัลนานาชาติที่เลือกจากคนทั้งเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ดิฉันขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งและจริงใจกับอาจารย์ศรีศักร และขอขอบคุณแทนคนไทยที่คณะกรรมการ Fukuoka Asian Culture Prizes ได้มอบรางวัลให้อาจารย์ศรีศักรในครั้งนี้

 

คำกล่าวในงานแถลงข่าวของรศ. ศรีศักร วัลลิโภดม

ฯพณฯ ท่าน  ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

 

            ข้าพเจ้ามีความปลื้มปีติและซาบซึ้งในการที่คณะกรรมการ Fukuoka Asian Culture Prizes ได้มอบรางวัลนักวิชาการดีเด่นแก่ข้าพเจ้า นครที่สวยงามแห่งนี้ นครฟูกูโอกะเป็นทั้งเมืองโบราณเก่าแก่ของเอเชีย และเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเอเชียที่สำคัญยิ่ง ดังนั้นการได้มารับรางวัลในวันนี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพลังในการศึกษาสังคมวัฒนธรรมไทยต่อไปในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต

 

            ความสนใจของข้าพเจ้าในการทำงานก็คือ ธรรมชาติและวัฒนธรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ส่วนตัวและการศึกษาอบรมทางวิชาการ ทำให้ได้ตระหนักว่าคนรุ่นหลังๆ ของบ้านเมืองกำลังเป็นเหยื่อของวัตถุนิยมในสังคมอุตสาหกรรม ตลอด ๔๐ ปีที่ผ่านมา ไม่สนใจที่ระรู้จักรากเหง้าของตนเอง รู้จักเพื่อนบ้านและรู้จักโลก  ทั้งนี้เนื่องมาจากการขาดความสนใจในการศึกษาทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและมนุษยศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานความรู้สำคัญในการทำความเข้าใจมนุษย์ สังคม และวัฒนธรรม

 

            ข้าพเจ้าเริ่มงานด้วยคำถาม ๒ คำ คือ “ทำไม”และ “อย่างไร”ในการตอบคำถามแรกนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาทำการศึกษาและสำรวจเก็บข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ โบราณคดี และชาติวงศ์วรรณาไปตามชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ จากการศึกษาทำให้เข้าใจอดีตและปัจจุบัน และได้พิมพ์ผลการค้นพบออกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนและผลักดันให้บรรดาสถาบันการศึกษาที่สนใจได้จัดสัมมนาทางวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุนให้นักศึกษาและนักวิจัยสนใจการวิจัยพื้นฐานในเรื่องสังคม วัฒนธรรมไทยและการเปลี่ยนแปลง

 

            ในขณะนี้ข้าพเจ้ากำลังดำเนินการเพื่อตอบคำถามข้อสองคือ “อย่างไร”ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า แต่อดีตจนปัจจุบัน สังคมไทยประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่นสามระดับ คือ บ้าน เมือง และประเทศชาติ ระดับแรกเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเห็นหน้าค่าตากัน ในขณะที่อีกสองระดับเป็นชุมชนจินตนาการที่ผู้คนสัมพันธ์กัน ด้วยสำนึกร่วมของการมีมาตุภูมิและชาติภูมิร่วมกัน การตระหนักและเข้าใจถึงการดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นธรรมดา คือสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และมีสันติสุข เพื่อบรรลุถึงการทำอย่างไรให้คนได้รู้ได้เข้าใจ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่นเองตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นแหล่งเพื่อรวบรวมและจัดแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของวัตถุและสิ่งของทางชาติพันธุ์เท่านั้น หากมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งรวมของความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทอดจากคนรุ่นผู้ใหญ่ถึงรุ่นลูกหลานได้อย่างสืบเนื่อง  ข้าพเจ้าได้พัฒนาแนวคิดและวิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ง่ายต่อความเข้าใจ เพื่ออบรมและสนับสนุนให้นักวิจัยที่เป็นคนท้องถิ่นได้เรียนรู้ และสามารถสร้างความรู้และเขียนประวัติศาสตร์ของตนเองได้ เพราะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับกระบวนการท้องถิ่นวัฒนาที่จะต่อรองกับภาวะครอบงำทางวัตถุนิยมของโลกาภิวัตน์

 

            สุดท้ายนี้ในความปลื้มปิติของภรรยาและบุตรสาว ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณแด่ชาวนครฟูกูโอกะ ท่านผู้มีเกียรติและคณะกรรมการ Fukuoka Asian Culture Prizes ที่ให้เกียรติในวันแห่งความทรงจำนี้ของข้าพเจ้า

อัพเดทล่าสุด 20 ก.ค. 2559, 10:08 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.