เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ นี้ จะเป็นการออกพระเมรุที่ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีผู้สนใจอยากรู้ความหมายความสำคัญของพระเมรุมาศมากมายทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่น ใหม่ ข้าพเจ้าจึงอยากเขียนเรื่องราวความเป็นมาของพระเมรุมาศและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ตามความรู้ที่ได้ศึกษาและค้นคว้ามาทางมานุษยวิทยา ดังนี้
ประเพณีการออกพระเมรุมาศเพื่อการถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นเริ่มมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลายในรัชกาลสมเด็จ พระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในพุทธศตวรรษ ที่ ๒๓ เป็นการสร้างพระเมรุมาศขึ้นถวายพระเพลิงในพื้นที่กำหนดให้ เป็น “ทุ่งพระเมรุกลางกรุงศรีอยุธยา” ทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังซึ่งปัจจุบันนี้คือ ที่ตั้งพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสถานที่ตั้งของวิหารพระมงคลบพิตรที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยย้ายวิหารพระมงคลบพิตรมาสร้างใหม่ทางด้านใต้ของพระบรมมหาราชวังในตำแหน่งปัจจุบัน
ก่อนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง การถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์กำหนดไว้อย่างกว้างๆ เพียงภายในกำแพงพระนคร ส่วนการเผาศพ ปลงศพ ของขุนนางข้าราชการและคนในเมืองต้องนำศพไปออกประตูผีเพื่อทำกันนอกเกาะเมือง ดังเช่น พระบรมศพ ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) นั้นถวายพระเพลิงที่ “วัดพระราม” อันเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังการถวายพระเพลิงแล้ว พระบรมศพของสมเด็จพระนครินทราธิราชถวายพระเพลิงที่ “วัดราชบูรณะ” รวมทั้งพระศพของเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาผู้ เป็นพระราชโอรส หรือพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ถวายพระเพลิงที่ “วัดวรเชษฐาราม” อันเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศ รถสร้างถวาย ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิง เป็นต้น และยังมีวัดอื่นๆ ภายในเมืองอีกหลายวัดที่สร้างขึ้นภายในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระราชพงศาวดาร
การถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการออกพระเมรุแบบที่ทำกัน ต่อมาจากสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งก็ไม่รู้ว่ามีการสร้างพระเมรุมาศหรือไม่อาจจะเป็นการสร้าง “พระจิตกาธาน” หรือที่ตั้งศพเพื่อเผาบนฐานยกพื้นเช่นที่พบในเขตวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ที่รู้จักกันในภาคเหนือว่า “เมรุ พระพิลก” อันเชื่อว่าเป็นที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และเมรุเช่นเดียวกันนี้อีกหลายแห่งในลำปาง
ข้าพเจ้าเชื่อว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นลงมา ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่มีคติทั้งความเชื่อและการสร้างพระเมรุมาศ รวมไปถึงการสร้างพระโกศขึ้นในการประดิษฐานพระศพและการนำไปถวายพระเพลิง หลักฐานในเรื่องการสร้างพระโกศไม่มีเช่นเดียวกันกับพระเมรุมาศ คงมีแต่โลงหรือหีบพระศพที่น่าจะสร้างด้วยไม้หอมเท่านั้น การสร้างพระโกศขึ้นมาคงมาพร้อมกันกับการสร้างพระเมรุมาศนั่นเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการบรรจุศพในโลงแบบนอนเหยียดยาวมาเป็นท่านั่งในแนวตั้งเพื่อให้เข้ากันกับความสูงส่งของบุคคลที่อยู่ในวิมานหรือปราสาท เช่น พระมหากษัตริย์และเทวดา
อันการบรรจุศพแบบแนวตั้งนี้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จะพบเห็นแต่เพียงในประเพณีการฝังศพครั้งที่สองที่มีการนำเอากระดูกคนตายที่เนื้อหนังมังสาเปื่อยเน่าหลุดไปแล้ว มาบรรจุในหม้อหรือผอบอย่างเช่นที่ทุ่งไหหินในประเทศลาวและแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในที่ราบสูงแอ่งโคราช เป็นต้น
สมัยก่อนประวัติศาสตร์การปลงศพด้วยการเผามีน้อยมาก แต่เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ที่มีการนับถือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู-พราหมณ์แล้ว ก็เกิดประเพณีการนำเอากระดูกและอังคารที่มีการเผาแล้วไปเก็บไว้ในภาชนะที่เรียกว่า “ผอบ” ที่มีการปรุงแต่งให้มียอดฝาผอบสูงเป็นทรงปราสาทอะไรทำนองนั้น
พัฒนาการของพระโกศน่าจะมาจากเรื่องผอบที่บรรจุพระอัฐิของพระมหากษัตริย์หรือกระดูกของบุคคลที่มีฐานะสูงกว่าคนธรรมดา ผอบบรรจุสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ เช่น อัฐิธาตุหรือเครื่องประดับของกษัตริย์และคนชั้นสูง จะพบมากในสังคมฮินดูของกัมพูชาแต่สมัยเมือง พระนคร ดังเห็นได้จากรูปร่างลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาเคลือบของขอมที่พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แต่ผอบที่บรรจุอัฐิธาตุก็เป็นของขนาดเล็กไม่ใหญ่ เช่น พระโกศที่บรรจุพระศพที่ยังไม่ได้ถวายพระเพลิงแต่ตั้งไว้ในปราสาทเพื่อทำพิธีกรรมและเก็บไว้รอเวลาถวายพระเพลิง ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ตอนต้นลงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น เมื่อมีการถวายพระเพลิงของกษัตริย์และเจ้านายแล้วก็จะสร้างวัดขึ้นอุทิศถวายไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงนั้น เช่นที่วัดพระรามและวัดวรเชษฐารามที่กล่าวมาแล้ว
กรุงศรีอยุธยาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นสมัยเวลาที่มีการนำเอาคติความเชื่อทางจักรวาลของฮินดูแบบขอมมาผสมผสานกับลัทธิความเชื่อของศาสนาพุทธเถรวาทมากกว่าสมัยใดๆ โดยเฉพาะในเรื่องของพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ที่ได้ รับอิทธิพลลัทธิเทวราชาเข้ามาทำให้เกิดการสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปะสถาปัตยกรรมแบบขอมขึ้น จนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชาแบบขอมคือเป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระวิษณุลงมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ
แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นศิลปสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ หาได้แสดงให้เห็นว่าขอมในสมัยเมืองพระนครไม่ได้ แสดงว่ากษัตริย์ขอมทรงเป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าพระวิษณุและพระศิวะ
หากความเป็นเทวราชานั้นหมายเพียงการจุติของผู้ที่เป็นเทพเจ้าลงมาเกิดมากกว่า
ดังเห็นได้จากพระนามของพระมหากษัตริย์องค์สำคัญ เช่น พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ ผู้สร้างนครหริหราลัยที่มีปราสาทบากองเป็น ศูนย์กลาง และสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้พระองค์หลังสิ้นพระชนม์แล้ว มีรูปเคารพศิวลึงค์เป็นตัวแทนในพระนามของพระองค์หลังสวรรคตแล้วว่า “อินทเรศวร” หรือในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่มีการถวายพระนามว่า “พระนิพพานบท” (พระบาทบรมนิพพานบท-วฺรบาทบรม นิวฺวานบท)
และที่สำคัญก็คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่มีพระนามว่า “พระบรมวิษณุโลก” ที่มีการสร้างปราสาทนครวัดขึ้นมาอุทิศถวายเป็นปราสาทที่แลเห็นชัดเจนว่าสร้างถวายพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ หลังสวรรคตแล้ว เพราะเป็นปราสาทที่หันหน้าไปทางตะวันตกและตัวปราสาทเองคือรูปจำลองของพระเมรุมาศที่เป็นปราสาทห้าหลังที่เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุที่มีเขาสำคัญรายรอบสี่ทิศ ปราสาทนครวัดนี้มีนามแต่ครั้งนั้นว่า “วิษณุโลก” ที่สัมพันธ์กับ “กมรเตงอัญปรม- วิษณุโลก” อันเป็นพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ปราสาทหลังนี้แสดงความหมายของพระราชพิธีสำคัญของลัทธิเทวราชาที่เรียกว่า “อินทราภิเษก” ที่หมายถึงพระราชพิธีราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้วคืนเข้าวิมานที่เขาพระสุเมรุ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพระราชพิธีอินทราภิเษกก็คือภาพแกะสลักการกวนเกษียรสมุทรบนผนังรอบปราสาทนครวัดนั่นเอง
สังคมราชสำนักสยามในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้นำเอาแนวความคิดในเรื่องการสร้างปราสาทราชวังและพิธีกรรมดัง กล่าวของลัทธิเทวราชาที่อยู่ในศาสนาฮินดูแบบขอมเข้ามาผสมผสาน
ลานท้องสนามไชยหน้าพลับพลาฐานจตุรมุข เป็นแนวยาวราว ๓๕๐ เมตร สูงจากพื้น ๓ เมตร
ผนังสลักเป็นรูปช้างและครุฑ มีมุขยื่นออกมาทั้งสองด้าน ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัติรย์นั่งทอดพระเนตร
พระราชพิธีสนามและการเฉลิมฉลองต่างๆ ภาพถ่ายเมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว ภาพของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม
กับความเป็นพระมหากษัตริย์ในพุทธเถรวาทในกรุงศรีอยุธยาที่มีการสร้างพระราชวังใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรสยามที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
จึงสามารถพูดได้ว่า พระราชวังหลวง ปราสาท สถานที่ สำคัญทางศาสนาและสถาบันกษัตริย์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งนำเอาแนวคิด รูปแบบ และแผนผัง มาจากพระราชวังหลวงเมืองพระนครอันเป็นพระราชวังที่เกิดขึ้นราว สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ลงมา
แผนผังแสดงบริเวณลานสนามไชยหน้าพระราชวังเมืองพระนคร
ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้คือพระราชวังหลวงที่อยู่ติดกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ กับพระราชวังขอมที่ติดกับปราสาทบาปวน หรือปราสาททองของขอมที่มีฉนวนต่อถึงกันกับพระราชวังชั้นใน
พระราชพิธีอินทราภิเษกของขอมได้รับการนำมาปรุงแต่งให้เป็นพระราชพิธีอินทราภิเษกของไทยที่เน้นไปถึงการปราบดาภิเษก ที่ แสดงออกโดย “พิธีกรรมชักนาคดึกดำบรรพ์” หรือกวนเกษียรสมุทร
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการเอาชื่อปราสาทนครวัดที่เรียก ว่า “วิษณุโลก” มาเป็นชื่อเมืองสองแควใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งสงคราม กับอาณาจักรล้านนาในนามของ “พิษณุโลก” นับเป็นราชธานีทางเหนือของกรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปประทับเพื่อการทำสงครามและเสด็จลงมาผนวช ณ เมืองนี้ แต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่ทรงมองว่าพิษณุโลกเป็นเมืองที่เกี่ยวกับการตายอย่างของขอม แต่เป็นเมืองในทางพระพุทธศาสนาที่สะท้อนให้เห็นจากการให้นามของวัดที่เสด็จออกผนวชว่า “วัดจุฬามณี” เพื่อตอกย้ำให้เห็นใน คติจักรวาลของทางพุทธศาสนาที่หมายถึงยอดเขาพระสุเมรุ คือ พระ มหาสถูปจุฬามณีที่พระมหากษัตริย์ไทยและลาวให้ความสำคัญ เมื่อ เสด็จสวรรคตจะต้องไปไหว้พระจุฬามณีที่ยอดเขาพระสุเมรุ
ความต่างกันทางจักรวาลของพุทธเถรวาทแบบไทยกับฮินดูแบบขอมก็คือ ทางไทยถือว่ายอดเขาพระสุเมรุ คือ “พระเจดีย์จุฬามณี” แต่ขอมให้ความสำคัญกับปราสาทที่เรียกว่า “ไพชยนต์ปราสาท” อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ในการดูแลโลก
แต่แนวความคิดในเรื่องพระสุเมรุแบบขอมนี้ได้ส่งอิทธิพลกับไทยสมัยอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ทรงฟื้นฟูและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทางศิลปวัฒนธรรมด้านศาสนาและราชสำนักแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ทรงรับเอาความคิดทางจักรวาลแบบฮินดู และเทวราชาของขอมสมัยเมืองพระนครเข้ามาปรุงแต่งให้เป็นศิลปวัฒนธรรมไทยของยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายนี้ โดย เฉพาะความคิดในเรื่องการสร้างศิลปสถาปัตยกรรมให้ได้สัดส่วนตามเรขาคณิตแบบอินเดียและขอม
โดยเฉพาะผังพระสุเมรุที่นำมาใช้ในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์วัดไชยวัฒนารามอันเป็นบริเวณที่ปลงพระศพพระราชมารดา ทำให้ผังของพระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นทรงพระปรางค์แบบเดียวกันกับบรรดาพระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น ดูได้สัดส่วนทางเรขาคณิตเป็นรูปแบบพระสุเมรุมาศที่แวดล้อมไปด้วยปรางค์สี่ทิศซึ่งไม่เคยมีปรากฏในกรุงศรีอยุธยามาก่อนและรูปแบบพระบรมธาตุทรงพระ ปรางค์มีเมรุรายสี่ทิศดังกล่าวนี้ก็สืบทอดมายังพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นแต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็คือ การสร้างพระราชพิธีที่เกี่ยวกับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ให้มีรูปแบบและกระบวนการที่โอ่อ่าและวิจิตรกว่าสมัยใดๆ การตั้งพระศพบนพระจิตกาธานหมดไปแต่ก่อสร้างพระเมรุมาศที่หมายถึงเขาพระสุเมรุมาตั้งแทน เป็นรูปปราสาทที่มีเมรุรายสี่ทิศเทียบได้กับปราสาทนครวัดต่างกันแต่เพียงปราสาทนครวัดเป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพเพื่อการประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษกไม่เป็นที่ถวายพระเพลิงเฉกเช่นพระเมรุมาศของไทย
อีกสิ่งหนึ่งที่ขอมเมืองพระนครไม่มีก็คือ “พระโกศ” บรรจุพระบรมศพขอมไม่มีพระโกศแต่มีหีบพระศพที่ทำด้วยหิน ไม่พบที่ปราสาทนครวัดแต่พบเห็นในที่อื่น เช่น ที่ปราสาทบึงมาลาอันเป็นปราสาทร่วมสมัยกับนครวัด ฯลฯ พระเมรุมาศใช้เพื่อการถวายพระเพลิง แต่การตั้งพระบรมศพนั้นไปตั้งที่ “ปราสาทสุริยาศน์อมรินทร์” อันเป็นปราสาทจตุรมุขที่สร้างขึ้นภายในกำแพงพระราชวังชั้นนอกไม่ได้อยู่ในพระราชวังชั้นที่ ๒ เหมือนกับ “พระที่นั่งสรรเพชญ” และ “พระที่นั่งวิหารสมเด็จ” อันเป็นพระที่นั่งเพื่อออกว่าราชการรับแขก เมืองและพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของราชอาณาจักร
แต่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นสร้างเพื่อการตั้งพระบรมศพเป็นสำคัญ เพื่อให้คนทั้งภายนอกและภายในเข้าถวายบังคมพระบรมศพได้ทั่วถึงกัน และเป็นสถานที่ซึ่งสัมพันธ์กับการอัญเชิญพระบรมศพออกมาตั้งขบวนแห่มาตามสนามไชยภายในกำแพงพระราชวังชั้นแรกจากพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มาทางตะวันออกผ่านปราสาทตรีมุขที่อยู่บนกำแพงพระราชวังชั้นที่ ๒ ชื่อ “พระที่นั่ง จักรวรรดิ์ไพชยนต์” เป็นพระที่นั่งโถงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสนามตามฤดูกาลต่างๆ แต่ในงานถวายพระเพลิงนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จออกเป็นประธาน เมื่อริ้วขบวนพระบรมศพเคลื่อนผ่านหน้าพระที่นั่งออกยังประตูพระราชวังทางทิศตะวันออกสู่พื้นที่ซึ่ง กำหนดให้เป็น “ทุ่งพระเมรุ” ยังบริเวณซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการถวายพระเพลิงโดยเฉพาะ
แผนผังแสดงบริเวณลานสนามไชยหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์
และบริเวณทุ่งพระเมรุกลางเมือง พระบรมมหาราชวัง กรุงศรีอยุธยา
การมีท้องสนามไชยและประเพณีการเชิญพระบรมศพผ่านพระที่นั่งโถงที่พระมหากษัตริย์ประทับทอดพระเนตรนั้น มีรูปแบบอยู่แล้วที่พระราชวังเมืองพระนคร ที่แลเห็นจากปราสาทจตุรมุขโถงหน้าพระราชวังที่ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นเหนือบริเวณสนามไชย ปราสาทตั้งอยู่ ตรงกลางทางปีกขวาของฐานมีภาพสลักช้างเป็นช่องๆ ไป บริเวณนี้คงเป็นที่รับแขกเมืองที่มาร่วมพระราชพิธีในขณะที่ทางปีกซ้ายเป็นฐานยาวที่ตอนปลายฐานมีร่องรอยของฐานจิตกาธาน
แต่สิ่งที่บ่งได้ว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่ถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ ก็คือการมีรูปปั้นศิลาของพระยมในลักษณะที่เปลือยเปล่านั่ง อยู่ ในคติทางฮินดูพระยมคือพระธรรมราชาผู้ที่จะมานำพระวิญญาณของกษัตริย์ไปสรวงสวรรค์
ขอมเมืองพระนครไม่มีการสร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงแน่นอน แต่ขบวนการแห่พระบรมศพจากปราสาทที่ตั้งพระศพ คือสิ่งที่ทางไทยได้รับความคิดมา คือมีขบวนแห่พระบรมศพผ่านหน้าพระที่นั่งจตุรมุขจากทางปีกขวาของฐานยกพื้น อันเป็นที่ชุมนุมของ แขกเมือง เจ้านาย และขุนนางผ่านพระที่นั่งจตุรมุขไปทางปีกซ้ายของฐานยกพื้นที่เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงบนฐาน จิตกาธานที่มีรูปปั้นพระยมเป็นสัญลักษณ์
เทวปฏิมากรรมรูปนี้คือสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่า “พระเจ้าขี้เรื้อน” แต่สิ่งที่ยืนยันให้เห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเอาแนวคิด และรูปแบบการมีขบวนแห่พระบรมศพผ่านหน้าพระที่นั่งจตุรมุข ก็คือภาพสลักรูปครุฑที่ประดับรอบฐานที่พบเห็นเช่นเดียวกับที่ปราสาท พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ของพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
พระยมบริเวณที่เรียกว่าลานพระเจ้าขี้เรื้อน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์
ภาพของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม
เมื่อมาถึงท้ายสุดนี้ใคร่สรุปว่า พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่แลเห็นในกรุงรัตนโกสินทร์ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายคือราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยได้อิทธิพลความคิดทางด้านจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจากปราสาทนครวัดหรือวิษณุโลกของขอม แต่ขอมไม่มีการตั้งพระเมรุมาศรวมทั้งไม่มีพระโกศบรรจุพระบรมศพ
ทั้ง ๒ อย่างนี้จึงเป็นนวัตกรรมของไทยโดยเฉพาะเป็นสัญลักษณ์และเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้รับการรักษาอนุรักษ์และต่อเนื่องมาจนสมัยปัจจุบัน
ภาพปูนปั้นรูปครุฑที่ประดับฐานพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ของพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนที่รับมาจากเมืองพระนครหลวง
ในทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งพระเมรุมาศและพระโกศ คือ สัญลักษณ์ของความสูงต่ำทางบรรดาศักดิ์ของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำที่เป็นค่านิยมเรื่อยมาจนปัจจุบัน เพราะหาได้หมดสิ้นไปกับการหมดไปของสังคมศักดินาสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ ในสังคมสมัยใหม่ที่มีชนชั้นกลางมากมายนั้นทุกคนต้องการเผาศพตนเองอย่างมีเกียรติ จึงเกิดการสร้างเมรุหรือพระเมรุมาศเผาศพแทนการเผาที่เชิงตะกอนตามป่าช้าของวัดกันไปทุกแห่งทุกวัดจนเมรุเผาศพกลายเป็นจุดเด่นจุดสูงของวัดแทนหลังคาโบสถ์และพระสถูปเจดีย์กัน
เมรุเผาศพจึงกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ของวัดไทยหลังยุคสังคมศักดินา ในส่วนโกศนั้นยังไม่แพร่หลายทั่วไปยังคงสงวนไว้สำหรับเจ้านายและขุนนางข้าราชการที่ได้สายสะพาย โดยเฉพาะบรรดาขุนนางพ่อค้าที่เป็นนักธุรกิจมั่งคั่งและนักการเมือง
เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๖ (ต.ค.-ธ.ค.๒๕๖๐)