ทุกวันนี้คนไทยทั่วประเทศคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยิน หรือไม่รู้จักคำว่า “เขาขุนน้ำนางนอน” และ “ถ้ำหลวง” ที่เด็กนัก ฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ เข้าไปเที่ยวและติดอยู่ในถ้ำจนเกือบไม่รอดชีวิต เป็นเหตุให้คนไทยและคนทั่วโลกระดมทั้งความรู้และพละกำลังไปช่วยเหลือให้รอดมา
เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์ทางศีลธรรมและมนุษยธรรมอย่างแท้จริง และนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจากหลักฐานของการสร้างบ้านแปงเมืองของข้าพเจ้าในภูมิวัฒนธรรมของดินแดนล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปรากฏตามที่ลาดลุ่มและที่ราบลุ่มในบริเวณระหว่างเขา [Intermountain Area] ที่เรียกว่า หุบ [Valley] และแอ่ง [Basin] นั้น เขาขุนน้ำนางนอนเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มโอบล้อมด้วยภูเขาทุกด้าน ด้านตะวันตกคือเขาขุนน้ำนางนอนที่เป็นขอบของเทือกเขาแดนลาวที่เป็นพื้นที่ของรัฐฉานในเขตประเทศพม่าทางเหนือ เป็นเขาที่อยู่ในเขตพม่าที่มีลำน้ำสายและลำน้ำรวกมาสบกันเป็นลำน้ำใหญ่ไหลผ่านที่ลาดลุ่มทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออกที่ตำบลสบรวก หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” ลำน้ำรวกคือเส้นเขตแดนที่แบ่งเขตประเทศไทยออกจากประเทศพม่า
จากสบรวกลงมาทางใต้จนถึงปากลำน้ำแม่คำใกล้กับเมืองเชียงแสน มีเขาเตี้ยๆ ทำหน้าที่เป็นขอบของแอ่งเชียงแสนก่อนที่จะถึง บริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงและตอนปลายเขากลุ่มนี้ซึ่งเป็นที่ลาดลุ่มชายขอบลงแม่น้ำโขง ลำน้ำรวก และเมืองเชียงแสนทางตอนล่างที่ ใกล้กับปากลำน้ำแม่คำทางด้านใต้ของแอ่งเชียงแสน มีกลุ่มเขาเตี้ยๆ จากอำเภอแม่จัน เป็นขอบแอ่งเป็นบริเวณที่มีลำน้ำสองสายจากทางตะวันตกผ่านแอ่งเชียงแสนมาออกแม่น้ำโขงใต้เมืองเชียงแสนลงมา ลำน้ำทั้งสองนี้คือ “ลำน้ำแม่จัน” กับ “ลำน้ำแม่คำ”
ลำน้ำแม่จันไหลผ่านช่องเขาทางใต้ของเขาขุนน้ำนางนอน เลียบกลุ่มเขาแม่จันมาสมทบกับลำน้ำแม่คำที่ไหลมาจากขุนน้ำนางนอนกลายเป็นลำน้ำแม่คำไหลผ่านเมืองเชียงแสนไปออกแม่น้ำโขงที่ปากคำกลุ่มเขาของแม่จันจากอำเภอแม่จันมาออกปากลำน้ำคำนี้คือ ทิวเขาที่กันบริเวณแอ่งเชียงแสนของลำน้ำแม่สาย ลำน้ำคำและลำน้ำแม่จันออกจากลุ่มน้ำแม่กกที่นับเนื่องเป็นบริเวณแอ่งเชียงรายที่มีลำน้ำแม่ลาวและแม่กกรวมไหลกันมาออกแม่น้ำโขงที่ตำบลสบรวก
อาจกล่าวได้ว่า “ทิวเขาแม่จัน” นี้คือ สันปันน้ำที่แบ่งแอ่งเชียงรายออกจากแอ่งเชียงแสน แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการแบ่งสันปันน้ำก็คือ ทางเชิงเขาฟากฝั่งแอ่งเชียงรายเป็นที่ลุ่มต่ำเต็มไปด้วยหนองบึงที่เรียกว่า “หนองหล่ม” คือหนองที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินที่มีระดับน้ำไม่คงที่ เช่น เวลาฝนตกและมีน้ำใต้ดินมากน้ำอาจท่วมท้นทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มกลายเป็นทะเลสาบได้ หรือเมื่อน้ำใต้ดินลดน้อยลงแผ่นดินโดยรอบก็จะแห้งกลับคืนมา ทำให้คนเข้าไปตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยโดยรอบของหนองหรือทะเลสาบนั้นได้
ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงแสนจากตำนานของข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม พบว่าแอ่งเชียงแสนเป็นที่เกิดของเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของคนไทยสองเมือง คือ “เมืองเวียงพางคำ” เชิงที่ราบลุ่มของเขาขุนน้ำนางนอนที่อยู่ขอบเขาใกล้กับลำน้ำแม่สายที่อยู่ทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนกับ “เมืองเวียงหนองหล่ม” ที่อยู่ชายขอบทิวเขาแม่จันทางฟากลุ่มน้ำแม่กกซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแอ่งเชียงแสน ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่ว่านี้เป็นตำนานของคนสองเผ่าพันธุ์ คือ “คนไทย” และ “คนลัวะ”
ตำนานของคนไทยคือ “ตำนานสิงหนวัติ” ส่วนตำนานของคนลัวะคือ “ตำนานเกี่ยวกับปู่เจ้าลาวจก” ความต่างกันของตำนานทั้งสองก็คือตำนานของคนไทยคือตำนานของคนที่เข้ามาในแอ่งเชียงแสนจากภายนอก ในขณะที่ตำนานปู่เจ้าลาวจกเป็นตำนานของคนที่มี ถิ่นฐานอยู่ในแอ่งเชียงแสนมาก่อน ตำนานของคนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง เช่น เชิงเขาและเขาเตี้ยๆ ส่วนของคนไทยตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำน้ำและหนองบึงและคนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกันกับความเชื่อในเรื่องของผีบนท้องฟ้า เช่น ผีแถนและพญานาคที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำ
ดังเช่นบริเวณใดที่เป็นหนองบึงที่มีน้ำซับก็จะเชื่อว่าเป็น “รู ของพญานาค” เมื่อมาผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วก็มักจะ สร้างพระมหายอดเจดีย์ ณ ตำแหน่งที่เป็นรูของพญานาค ให้เป็นหลักของบ้านและเมือง ส่วนความเชื่อของคนลัวะไม่มีเรื่องผีบนฟ้า เช่น ผีแถน ผีฟ้า และพญานาค ซึ่งเป็นสัตว์เนรมิต แต่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนดินและสัตว์ธรรมชาติที่เป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก เช่น งู ปลาไหล จระเข้ ตะกวด เหี้ย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายในสังคม เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองและปกครองคนคือผู้ที่เป็นหญิง ฯลฯ
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ศึกษาและสำรวจมาเกี่ยวกับคนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงตามเขาและเนินเขาเหล่านี้พบว่า ระบบ ความเชื่อของคนลัวะได้พัฒนาขึ้นเป็น “ระบบหินตั้ง” [Megalithic] คือ มีการแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ธรรมดาสาธารณ์ด้วยแท่งหิน ก้อนหิน หรือแผ่นหิน รวมทั้งการกำหนดลักษณะภูเขา ต้นไม้ เนินดิน ให้เป็นแหล่งที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การกำหนดให้เป็นที่ฝังศพของคนสำคัญหรือไม่ก็เป็นบริเวณที่สัมพันธ์กับการอยู่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ และพื้นที่ในการมาประกอบพิธีกรรมร่วม กัน ฯลฯ
การฝังศพของบุคคลสำคัญมักจะถูกกำหนดให้ฝังไว้ในที่สูง ที่ไม่ไกลจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นโขดหิน เพิงหิน หรือกองหินสามก้อนหรือสามเส้าที่อาจจะเป็นก้อนหินธรรมชาติหรือเป็นของที่เคลื่อนย้ายจากที่อื่นมาประดิษฐานไว้
ในขณะที่บริเวณที่ฝังศพจะทำให้เป็นเนินดินล้อมเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม รวมทั้งนำแท่งหินหรือก้อนหินมาปักรอบในระยะที่ห่าง กันเป็นสี่ก้อนหรือมากกว่านั้นโดยไม่กำหนดตามจำนวนอย่างใด และบริเวณที่วางศพก็จะมีเครื่องเซ่นศพที่อาจจะเป็นเครื่องประดับ อาวุธและภาชนะดินเผารวมทั้งเครื่องใช้บางอย่าง คนที่อยู่ในที่สูง เช่น พวกลัวะที่กล่าวมานี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่มากมายตามเขาต่างๆ ในเขตแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า [Tribes] แม้ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม บางเผ่ามีพัฒนาการทางสังคมและการเมืองใหญ่โตเป็นเมืองเป็นรัฐ [Tribal State] เกิดขึ้นมา ซึ่งแลเห็นได้จากการสร้างเนินดินที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็น “เวียง” ขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการน้ำและการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู
เหนือความเชื่อในเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งฝังศพของคนสำคัญ โขดหินและเนินศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งพิธีกรรมดังกล่าวมานี้ ก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขุนเขาหรือยอดเขาที่มีความสูงเป็นที่สุดเหนือบริเวณเขาทั้งหลาย หรือที่มีรูปร่างแบบไม่ธรรมดาที่ชวนให้คนที่เห็นมีจินตนาการนึกเห็นเป็นเรื่องราวอะไรต่างๆ ก็ได้ ก็คือบรรดาขุนเขาที่สัมพันธ์กับตำนาน ความเชื่อในเรื่องของความเป็นมาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น บรรดาขุนเขาเหล่านี้ที่โดดเด่นในภาคพื้นล้านนาก็มี เช่น ดอยหลวง เชียงดาว ดอยสุเทพ ดอยด้วน ดอยตุง ฯลฯ
ซึ่งในที่นี้ “ดอยตุง” ก็คือดอยที่สูงสุดของขุนเขาขุนน้ำนางนอน ในพงศาวดารโยนกที่กล่าวถึงเรื่องราวของกลุ่มคนลัวะในตระกูล ของปู่เจ้าลาวจกที่ต่อมาพัฒนาการเป็นราชวงศ์ลวจักราชของพญามังรายปฐมกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในพงศาวดารไม่เรียกว่า “ดอยตุง” แต่เรียกว่า “ภูสามเส้า” จากรูปร่างที่ปรากฏอยู่ของดอยสามดอยในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ ดอยจ้อง ดอยผู้เฒ่า และดอยตุง ซึ่งในบรรดาดอยทั้งสามนี้ดอยตุงอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นที่ซึ่งมีการนำพระธาตุมาประดิษฐานไว้เหนือดอยที่รู้จักกันในนามของดอยตุง
คำว่า “ตุง” โดยทั่วไปหมายถึงธงที่เป็นสัญลักษณ์ในทางศาสนาและความเชื่อ แต่ผู้รู้ในท้องถิ่นบางท่านบอกว่า “เป็นบริเวณ ที่มีน้ำมารวมกัน”
ในตำนานของดอยตุงจากพงศาวดารโยนกบอกว่า บนดอยตุงเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มคนลัวะที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นผู้นำทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ด้วยการใช้เสียมตุ่น (เครื่องมือหิน) ในการพรวนดิน ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงจากบนเขามาสร้างบ้านแปงเมืองที่เชิงเขาใกล้กับลำน้ำสายที่ตอนปลายน้ำเรียกลำน้ำรวก และเรียกชื่อเมืองนี้ว่าหิรัญนครเงินยางที่เป็นต้นกำเนิดให้เกิดเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นรัฐเป็นนครในสมัยต่อมา โดยมีกษัตริย์ผู้เป็นต้นตระกูลมีพระนามว่า “ลวจักราช” ผู้ทำให้เกิดรัฐเชียงแสนขึ้น กษัตริย์สำคัญของราชวงศ์นี้คือ “ขุนเจือง” เป็นผู้ที่แผ่อำนาจของรัฐเชียงแสนกว้างใหญ่ไปทั้งสองฟากของแม่น้ำโขง และต่อมาจากขุนเจืองอีก ๔ รัชกาล ก็มาถึงพญามังรายผู้สถาปนาแคว้นล้านนาขึ้นโดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่เชียงใหม่
การสร้างเมืองขึ้นที่เชิงดอยตุงใกล้กับลำน้ำที่กล่าวในตำนานปู่เจ้าลาวจกนี้ มีเมืองอยู่จริงในบริเวณเชิงเขา “ดอยเวา” อันเป็นแนว เขาต่อเนื่องจากดอยจ้องลงไปจดลำน้ำสายที่กั้นเขตแดนไทย-พม่าที่ตำบลท่าขี้เหล็ก แต่คนท้องถิ่นในปัจจุบันไม่ได้เรียกว่าเมืองหิรัญนครเงินยางดังกล่าว ในตำนานลวจักราชผู้มีต้นตระกูลเป็นคนลัวะบนดอยตุง แต่เรียกชื่อเมืองว่า “เวียงพางคำ” เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของ “พระเจ้าพรหมมหาราช” มหาราชพระองค์แรกของชนชาติไทยในดินแดนประเทศไทย เป็นการอ้างเรื่องราวในตำนานสิงหนวัติของกลุ่มคนไทยที่เคลื่อนย้ายจากทะเลสาบตาลีฟูหรือหนองแสเป็นต้น แม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานของประเทศจีน เป็นกลุ่มของชนเผ่าไทยที่อยู่ในพื้นราบทำนาในที่ลุ่มที่เชื่อกันว่าอพยพผ่านเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำน้ำแม่กกลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ ณ บริเวณหนองหล่มใกล้ กับแม่น้ำโขงใกล้กับเมืองเชียงแสน
ในตำนานนี้บอกว่าผู้นำของชนเผ่าไทยคือ “พญาสิงหนวัติ” สร้างเมืองในบริเวณ “หนองหล่ม” โดยได้รับการช่วยเหลือจาก พญานาคผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำที่หนองหล่มนี้ จึงมีการตั้งชื่อเมืองให้เป็นเกียรติแก่พญานาคว่า “โยนกนาคพันธุ์” โดยเอาชื่อเผ่าที่เรียกว่า “ยวน” หรือ “โยนก” มาผสมกับชื่อนาคพันธุ์ของพญานาคตนนั้น
กษัตริย์ราชวงศ์สิงหนวัติครองเมืองโยนกนาคพันธุ์มาหลายชั่วคน บ้านเมืองก็ล่มจมน้ำไปอันเนื่องมาจากความชั่วร้ายของผู้คนที่ไปจับปลาไหลเผือกจากหนองน้ำมากิน ทำให้ต้องมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ “เวียงปรึกษา” ริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้กับปากลำน้ำคำเป็นเมืองใหม่ขึ้นมาแทนเมืองหนองหล่ม แต่เชื้อสายของพญาสิงหนวัติให้แยกย้ายไปสร้างบ้านแปงเมืองที่อยู่เหนือน้ำไปยังลุ่มน้ำแม่กกและแม่ลาวในเขตจังหวัดเชียงราย มี “เมืองชัยนารายณ์และชัยปราการ” เป็นต้น
แต่กลุ่มหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แม่สายเชิงดอยตุงและตั้งชื่อเมืองว่า “เวียงพางคำ” ตามพระนามของพญาพังคราชผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าพรหมมหาราช แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีมีร่องรอยของเมืองหรือเวียงอยู่จริงที่เชิงดอยตุงใกล้ลำน้ำสาย กลุ่มชนเผ่าไทยในที่ราบลุ่มทำนาเหมือง นาฝาย ต่างจากการทำไร่นาของคนลัวะ ที่อยู่บนที่สูงและเมืองนี้ก็เป็นต้นกำเนิดของการสร้างเหมืองฝายโดยกษัตริย์ผู้ครองเมืองที่เรียกว่า “เหมืองแดง” สร้างจากการชักน้ำสายสาขาหนึ่งที่ไหลลงจากทิวเขาดอยตุงมาทำนาในที่ลุ่มทางด้านตะวันออกของเมือง
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณเมืองเชียงแสน
ในการศึกษาสำรวจทางโบราณคดีของข้าพเจ้าทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศและการศึกษาภาคพื้นดินได้ความว่าเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างเป็นผืนผ้าแบบไม่สม่ำเสมอ พอแลเห็นแนวคูน้ำและคันดินเป็นรูปเหลี่ยมค่อนข้างชัดทางตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นด้าน ติดกับภูเขาขุนน้ำนางนอนที่มีความยาวประมาณ ๑,๐๑๐ เมตร และทางด้านใต้ประมาณ ๑,๐๒๓ เมตร ทางด้านเหนือแนวกำแพงและคูน้ำคดเคี้ยวอันเนื่องมาจากเป็นบริเวณที่รับน้ำจากลำห้วยที่ลงจากเขาเพื่อชักให้ไหลผ่านคูเมืองออกไปลงพื้นที่ราบลุ่มทางตะวันออก ในขณะที่ทางด้านตะวันออกที่อยู่ในที่ลาดลุ่มไม่มีร่องรอยของแนวคันดินและคูน้ำปล่อยให้เปิดกว้างเป็นที่รับน้ำของลำห้วยและลำเหมืองที่มาจากเขาทางมุมเมืองด้านเหนือต่อกับด้านตะวันตก และการที่มีคูน้ำและคันดินไม่ครบทุกด้านเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างคูน้ำและคันดินของเวียงพางคำไม่ใช่เป็นเรื่องของการป้องกันการรุกรานของศัตรูใน
ยามสงครามเป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นเรื่องการจัดการน้ำในเรื่องการป้องกันน้ำป่าบ่าไหลเข้าท่วมเมืองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็คือการชักน้ำเข้ามาใช้ในเมืองและเบนน้ำเขาตามลำเหมืองออกไป ยังพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของผู้คนที่อยู่นอกเมืองทางด้านตะวันออก
ลักษณะรูปพรรณสัณฐานและตำแหน่งเมืองติดกับภูเขาเช่นนี้มีลักษณะคล้ายกันกับ “เมืองเชียงใหม่” ที่ตั้งอยู่ตรงที่ลาดหรือเชิง เขาดอยสุเทพ ดังแลเห็นได้จากแนวคูน้ำและกำแพงเมืองชั้นนอกที่มีไม่ครบ โดยปล่อยให้ด้านเหนือของตัวเมืองปล่อยโล่งเพื่อให้น้ำจากลำห้วยไหลผ่านที่ลาดไปลงแม่น้ำปิงทางทิศตะวันออก ทำให้ด้านตะวันออกไม่มีแนวคันดินและคูน้ำแต่มีการขุดเหมืองแม่ข่าชักน้ำผ่านด้านตะวันออกของเมืองลงไปออกตั้งแต่น้ำปิงที่ตำบลไชยสถาน อำเภอหัวดงแทน แนวคันดินและคูน้ำรูปไม่สม่ำเสมอของเมืองชั้นนอกของเชียงใหม่ที่น่าจะเป็นของเดิมที่มีมาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังรายเป็นเมืองเพื่อการจัดการน้ำที่ไม่เน้นการป้องกันข้าศึก เช่นเดียวกันกับเวียงพางคำพอมาถึงสมัยพญามังรายจึงมีการสร้างเมืองสร้างคูน้ำและคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบเมืองสุโขทัยขึ้นมา ตามตำนานที่ว่าพญามังรายทูลเชิญให้พญาร่วงจากสุโขทัยมาช่วยสร้างเมือง ซึ่งต่อมาในรัชกาลพระเมืองแก้วก็มีการสร้างกำแพงก่อด้วยอิฐ มีใบเสมาอันเป็นลักษณะกำแพงเมืองที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกเช่นเดียวกับเมืองในสมัยอยุธยา
สำหรับเวียงพางคำนั้นก็มีร่องรอยบางอย่างที่มีการสร้างแนวคันดินและคูน้ำใหม่ขึ้นภายในบริเวณเมืองเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมแต่มี ขนาดเล็กที่ยังดูอะไรไม่ชัดเจน เพราะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในสมัยปัจจุบัน ยกเว้นร่องรอยของสระน้ำโบราณหลายแห่งที่มีความหมายต่อการใช้น้ำในความเป็นอยู่ของคนเมือง รวมทั้งเนินดินไม่สม่ำเสมออีกหลายแห่งที่ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษา
ภาพถ่ายทางอากาศเวียงพางคำที่แม่สาย ช่วงก่อน พ.ศ.๒๕๐๐
การที่กล่าวพาดพิงเปรียบเทียบไปถึงเมืองเชียงใหม่ในที่นี้ ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าทั้งเชียงใหม่ในแอ่งเชียงใหม่มีอะไรที่คล้ายกัน กับเมืองเวียงพางคำในแอ่งเชียงแสนอย่างมาก เริ่มแต่เรื่องของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ขุนน้ำนางนอนกับดอยสุเทพ กับการสร้างบ้านแปงเมืองของเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาอันเป็นที่ลาดลุ่มลงสู่ที่ชุ่มน้ำที่รับน้ำลงมาจากลำน้ำลำห้วยและลำเหมืองฝายจากทิวเขาทางด้านตะวันตก และมีลำน้ำสายใหญ่หล่อเลี้ยง เช่น ลำน้ำปิงและลำน้ำสายจากบริเวณต้นน้ำที่ลาดลงจากทิวเขา ทำให้เกิดการทำเหมืองฝายเพื่อการทำนาข้าวที่เลี้ยงผู้คนพลเมืองให้อย่างมากมาย และทำให้เกิดการกระจายตัวของบ้านและเมืองไปตามลำน้ำธรรมชาติและลำเหมือง
เป็นบ้านเมืองของการทำนาแบบทดน้ำ[Wet Rice] ที่เรียกว่า นาดำ[Transplanting Rice] ดังเห็นได้จากบริเวณที่ราบลุ่มด้านตะวัน ออกของทั้งทิวเขาขุนน้ำนางนอนและเขาดอยสุเทพ
เขา “ขุนน้ำนางนอน” คือชื่อในปัจจุบัน แต่ก่อนในตำนานเป็นเขาของคนลัวะที่เรียกว่า “ภูสามเส้า” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ดอยตุง” อันเนื่องมาจากการสร้างพระธาตุบนยอดเขาที่สูงสุดในบริเวณนี้
ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปสำรวจดูบริเวณเขานี้ในเวลาอันจำกัดไม่พบร่องรอยของโขดหินศักดิ์สิทธิ์ หรือเนินดินที่ฝังศพคนสำคัญในรอบหินตั้งเหมือนในที่อื่น แต่พบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แทน ซึ่งพอนำมากล่าวตีความได้ว่าน่าจะเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะก่อนการสร้างพระธาตุดอยตุงที่มากับความเชื่อของคนเผ่าไทย-ลาวในล้านนาและล้านช้างที่เชื่อว่าที่ใดมีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินเป็นรูพญานาคจะมีการสร้างพระธาตุในทางพุทธศาสนาขึ้นปิดรูนาคทำให้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงขึ้นในบริเวณนี้ และเปลี่ยนชื่อภูสามเส้ามาเป็นดอยตุงทางพุทธศาสนาแทน จนมาปัจจุบันคนทั่วไปรุ่นใหม่ๆ กำลังลืมชื่อดอยตุงมาเป็นเขาขุนน้ำนางนอนแทน โดยเอาตำนานท้องถิ่นของคนรุ่นหลังๆ มาอธิบาย
แต่เหตุการณ์ที่มีการช่วยเหลือเด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่โดยทั้งคนไทยและคนทั่วโลกนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นและเข้าใจในสิ่งใหม่อย่างหนึ่งก็คือ ทิวเขาขุนน้ำนางนอนเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่ใหญ่โตตลอดแนวเขาที่บรรดาน้ำที่มาจากที่สูงบนเขาทางด้านตะวันตกที่แผ่ยาวไปในเขตรัฐฉานของพม่ามาสะสมอยู่ใต้ทิวเขาก่อนที่จะไหลออกพื้นที่ราบลุ่มทางด้านตะวันออกตามลำห้วย ลำเหมืองใหญ่น้อยที่เป็นต้นน้ำทำให้เกิดการทำเหมืองฝาย ขยายพื้นที่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐานของผู้คน จนกลายเป็นแอ่งเชียงแสนขึ้นมา
การเป็นทิวเขาของการสะสมน้ำใต้ดินที่อยู่ชายขอบเทือกเขาและที่สูงที่มีที่ลาดลุ่มและราบลุ่มอันเป็นพื้นที่ทางการเกษตรกรรม ปลูกข้าวเช่นนี้เป็นเหมือนกันทั้งแอ่งเชียงแสนและเชียงใหม่ ดังเห็นได้จากร่องรอยของเหมืองฝายมากมายนับไม่ถ้วน ในปัจจุบันที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของบ้านเมืองในสังคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะดอยตุงที่กำลังเปลี่ยนเป็นดอยขุนน้ำนางนอนนั้นข้าพเจ้าเผอิญได้รับรู้การให้ความหมายใหม่จากผู้รู้ที่เป็นคนท้องถิ่นว่า คำว่าดอยตุงนั้น คงไม่ได้หมายความว่าเป็นดอยที่มีตุงที่แปลว่าธงที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา แต่หมายถึงพื้นที่และขอบเขตที่น้ำมาตุงอยู่กระมัง ก็ดูสมเหตุสมผลดีกับการมีบ่อน้ำใต้ดินหรือน้ำขังที่เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์บนยอดดอยตุงตรงเนินที่จะสร้างพระธาตุดอยตุง
ในทุกวันนี้คนไม่รู้จักภูสามเส้าของคนลัวะและกำลังลืมดอยตุงของคนล้านนา แต่คนทั้งประเทศรู้จักตำหนักแม่ฟ้าหลวงของสมเด็จย่าและบรรดาชาวเขาเผ่าใหม่ๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตอนหลังและในปัจจุบันกำลังพูดถึงเขาขุนน้ำนางนอนและถ้ำหลวง รวมถึงทางรัฐและเอกชนคาดหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นานา ที่ไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมาทางสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมจะเกิดความฉิบหายอย่างไร
ปัจจุบันคนเรียกเขานี้ว่าเขาขุนน้ำนางนอนที่มากับการเปลี่ยนแปลงของตำนานบ้านเมืองที่คนรุ่นหลังในปัจจุบันสร้างและเรียกกัน ซึ่งกลายเป็นเรื่องความรักและการพลัดพรากของเจ้าหญิงผู้เป็นธิดาของเจ้าผู้ครองเมือง ซึ่งคงหมายถึงเมืองเวียงพางคำในเขตอำเภอแม่สาย ซึ่งคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่เป็นกลุ่มสำคัญที่สร้างตำนาน เมืองเวียงพางคำและพระเจ้าพรหมมหาราช คือ “ผู้นำวัฒนธรรม” [Culture Hero] และนางนอนของขุนเขาขุนน้ำก็คือพระธิดาของกษัตริย์ที่เป็นคนไทยใหญ่ ซึ่งตำนานก็บานปลายมาถึงเรื่องความ รักที่เป็นโศกนาฏกรรมของเจ้าหญิงกับคนเลี้ยงม้าที่เกิดความเชื่อว่า คือ“พระครูบาบุญชุ่ม” ผู้ประกอบพิธีกรรมช่วยเด็กนักฟุตบอลหมูป่า ให้รอดชีวิตออกมาจากถ้ำหลวง
การเปลี่ยนแปลงของเรื่องในตำนานและชื่อสถานที่ตลอดจนบุคคลสำคัญเกี่ยวกับเขาขุนน้ำนางนอนดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่แอ่งเชียงแสนที่มีขุนเขาน้ำนางนอนเป็นประธานว่าเป็นแอ่งของที่ลาดลุ่ม และกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายของคนหลายชาติพันธุ์จากภายนอกที่ผลัดกันอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแอ่งเชียงแสนของจังหวัดเชียงรายถึงสามสิบชนชาติและชาติพันธุ์ในหนังสือสามสิบชนชาติในเชียงรายของอดีต ส.ส.บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๑)