ภาพลายเส้นที่ชุมชนตรอกใต้โดย ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
ในแนวคิดทางมานุษยวิทยาของข้าพเจ้า “ความจน” [Poverty] ในสังคมไทยปัจจุบัน วิเคราะห์ได้เป็น ๒ อย่าง
อย่างแรกคือ คนจนที่แลเห็นเป็นคนๆ ไป [Individual] เป็นความจนที่พิจารณาจากระดับรายได้ที่ต่ำสุดซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรง ชีพ เป็นสิ่งที่ทางรัฐและสังคมต้องให้เงินช่วยเหลือ อย่างเช่นการจัดกองทุนหมู่บ้านที่ทำมาแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร และสืบเนื่องมา จนถึงรัฐบาลยุคปฏิวัติของ คสช. ในปัจจุบัน
อย่างที่สองคือ “วัฒนธรรมความจน” ซึ่งเป็นแนวคิดและการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่มาจากการศึกษาชุมชนในนิวยอร์กและ เม็กซิโกของ “ออสการ์ ลูวิส” ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ห่างไกลกับความคิดของนักวิชาการสมัยโพสต์โมเดิร์นในปัจจุบันมาก
“วัฒนธรรมความจน” ของออสการ์ ลูวิส เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของคนที่อยู่รวมกันในชุมชนท้องถิ่นในสังคมที่เปลี่ยนผ่านจากสังคม ชาวนาที่เป็นเกษตรกรรม [Peasant Society] มาเป็นสังคมเมืองในยุคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนที่เคยอยู่กันมานานในท้องถิ่น ต้องละทิ้งอาชีพเดิมทางเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ที่เคยมีที่ดินที่ทำกินของตนเอง เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างตามเมืองและแหล่งอุตสาหกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดการพลัดพรากจากครอบครัว และการล่มสลายของชุมชนในท้องถิ่น
เมื่อโยกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเมืองและแหล่งอุตสาหกรรมแล้ว ไม่อาจปรับตัวให้ทันกับความเจริญทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของคนเมืองได้เกิดภาวะความล้าหลัง ไม่ทันสมัยก็กลายเป็นกลุ่มคนที่เร่ร่อน สร้างที่อยู่อาศัยตามพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่พัฒนาทั้งในเขตเมืองและตามชายขอบของที่เป็นปริมณฑล ดังเช่นบรรดานักผังเมือง นักสังคมสงเคราะห์เรียกว่าพื้นที่แออัดและ สกปรกเต็มไปด้วยโรคภัย [Slum and Plight Area]
แต่ออสการ์ ลูวิส แลเห็นว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสังคมใหญ่ที่เรียกว่า Subculture ของกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตร่วมกันเป็นสังคมหรือชุมชน [Community] ในสังคมเมือง [Urban Society] โดยสร้างสังคมของคนในชุมชนที่เป็นวัฒนธรรมย่อยดังกล่าวนี้ เหมือนกันกับความเป็นชุมชนทั่วไปที่ประกอบด้วยครอบครัวที่ให้ความสาคัญกับแม่ที่มีบทบาทมากกว่าพ่อในการดูแลเลี้ยงดูลูก เหนือระดับครอบครัวขึ้นไปก็คือการสัมพันธ์ทางสังคมกับครอบครัวอื่นที่เข้ามาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน ทำให้คนแต่ละครอบครัวเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันมีความสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในการมีชีวิตรอดร่วมกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตที่มีความรู้สึกร่วมทุกข์สุขในการเป็นกลุ่มเดียวกัน
สิ่งนี้ข้าพเจ้าเรียกว่า “ชีวิตวัฒนธรรม” ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ทำให้คนในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมีปึกแผ่นทางสังคม [Social Solidarity] สูงกว่าบรรดาชุมชนอื่นในสังคมเมืองทั้งหลาย แต่ต่างจากชุมชนเมืองเหล่านั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ รายได้ และมาตรฐานในการดำรงชีวิต
ชุมชนบ้านบาตรและบ้านเรือนในอดีต
ความแตกต่างเหลื่อมล้ำนี้คือที่มาของคำว่า วัฒนธรรมความจน [The Culture of Poverty] วัฒนธรรมความจนจะไม่พบมากในสังคมชนบทที่เป็นสังคมชาวนา [Peasant Society] เพราะความแตกต่างในชีวิตวัฒนธรรมแทบไม่มี เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันหมดและความยากจนยากไร้ของปัจเจกบุคคล อันได้รับการดูแลช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือจากองค์กรของชุมชนเอง เช่น ในชุมชนของคนมุสลิมในภาคใต้จะมีกฎเกณฑ์ที่เป็นประเพณีให้คนในสังคมที่มีรายได้มากต้องเสียภาษีคนจนให้กับองค์กรของชุมชนที่จะมีหน้าที่รับรู้ว่าคนใดและครอบครัวใดที่ยากจนและขัดสน ก็จะนาเงินเหล่านั้นไปให้ความช่วยเหลือ แม้แต่ในชุมชนของคนพุทธคนที่เดือดร้อนขัดสนก็อาจมีชีวิตรอด มีที่อยู่อาศัยตามวัดหรือกับพี่น้องที่จะต้องดูแลไม่ให้อดตายเพราะความยากจน และชุมชนบ้านใดถิ่นใดเกิดมีคนยากจนอดอยากก็จะเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามโดยชุมชนอื่นๆ ในท้องถิ่น
สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นยุคแรกๆ ของการปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม ได้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนในสังคมชาวนาในชนบทเข้ามาหางานทำและหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง
ปรากฏการณ์ที่คนชาวนาเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองนี้ เรียกว่า Peasantization of Urban Society ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ที่ข้าพเจ้ากลับจากออสเตรเลียมาเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อทำวิทยานิพนธ์นั้น ก็ได้แลเห็นปรากฏการณ์ Peasantization นี้ จากการที่มีคนทางภาคอีสานเข้ามามาก เกิดร้านค้า อาหารส้มตำไก่ย่างที่มาพร้อมกับบรรดาเพลงลูกทุ่งที่กลายเป็นที่นิยมของคนเมืองทั่วไปอย่างรวดเร็ว
การเคลื่อนย้ายของคนชนบทโดยเฉพาะจากทางภาคอีสานนั้น มีทั้งการเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างทำงานตามฤดูกาล เช่น ในฤดูแล้งและว่างเว้นจากการทำนาทำไร่แล้วกลับไปกับพวกที่เข้ามาท้ังครอบครัว อันเนื่องจากเป็นพวกไม่มีที่ดินทำกิน มักเข้ามาอยู่อาศัย พักพิงตามชุมชนเก่าๆ ในเมืองตามย่านต่างๆ จนทำให้บรรดาชุมชนเมืองเหล่านั้นมีสภาพแออัด หลายๆ แห่งกลายเป็นชุมชนแออัดและพื้นที่สกปรกที่ทางราชการเรียกว่า Slum and Plight Aeras เป็นสิ่งที่เสื่อมโทรมและล้าหลังทั้งผู้คนและสภาพแวดล้อม จะต้องได้รับการพิจารณาใหม่หรือไม่ก็ให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะบรรดาผู้คนที่อยู่ในแหล่งพื้นที่แออัดและเสื่อมโทรมเช่นนี้ ก็มักจะถูกมองโดยคนในสังคมเมืองรุ่นใหม่ที่อยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีและทันสมัย ซึ่งคือคนรุ่นใหม่หรือไม่ก็ย้ายเข้ามาใหม่จากที่อื่นๆ จากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเข้ามาเป็นพลเมืองในยุคใหม่จานวนมาก มักดูถูกว่าเป็นคนยากจนไม่มีอาชีพการทำมาหากินที่แน่นอน มักละเมิด กฎหมาย เล่นการพนัน ลักขโมย รวมทั้งเป็นอันธพาล ในยามใดที่มีคดีความในเรื่องการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น ทั้งทางรัฐและคนเมืองก็มักจะคิดว่าเป็นการกระทำของคนด้อยโอกาสเหล่านั้น
แหล่งชุมชนแออัดที่เรียกว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้ คือผู้คนภายในที่มีวิถีชีวิตร่วมกันที่ไม่ได้ระดับมาตรฐานของความเป็นอยู่ของความเป็นเมืองคือ “วัฒนธรรมความจน” [The Culture of Poverty] เป็นความยากจนที่มองจากข้างนอกเข้ามา
ความยากจนที่มองจากวิถีชีวิตร่วมกันที่เรียกว่าเป็นชีวิตวัฒนธรรมนั้น ทางรัฐและสังคมไทยในส่วนรวมมักไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจเพียงว่าความจนเป็นเรื่องของความขัดสนในเรื่องเงินทองที่เป็นรายได้อันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล จึงมักจะให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป จากการบริจาคหรือจากการตั้งเป็นกองทุนแล้วแจกจ่ายผ่านองค์กรหรือหน่วยงาน จนเกิดเรื่องการยักยอกและการทุจริตในเรื่อง เงินช่วยเหลือคนจนในขณะนี้ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้พอสรุปให้เห็นได้ว่า การพัฒนาบ้านเมืองเข้าสู่สมัยใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนาต้ังแต่สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมานั้น มีทั้งสิ่งที่เรียกว่าความก้าวหน้าในความเป็นเมืองสมัยใหม่กับความล้าหลังทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่อยู่มาแต่เดิมกับคนกลุ่มใหม่จากชนบทเข้ามาอยู่รวมกันก่อให้เกิดภาวะความแออัดในเรื่องที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทั้งรัฐและพลเมืองรุ่นใหม่แลเห็นว่าเป็น “คนยากจน” อยู่ในพื้นที่แออัดและเสื่อมโทรม ที่เรียกว่า Slum and Plight Aeras ทั้งหมดนี้ นาไปสู่อคติในเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนด้อยโอกาสเหล่านี้ว่านอกจากยากจนแล้วยังมีพฤติกรรมนอกกฎหมายที่เป็นแหล่งอันธพาลเล่นการพนัน ลักขโมย อันเป็นที่รังเกียจของคนเมือง
นี่คือสิ่งที่ทางหน่วยราชการของรัฐ เช่น หน่วยงานรับผิดชอบ ทางผังเมืองและนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ในยุคนั้น แลเห็นว่าต้อง ทำการโยกย้ายเวนคืนที่ดิน และสร้างสถานที่ใหม่ พื้นที่ใหม่ให้มาแทน โดยการฟ้องขับไล่ หรือไม่ก็ให้ค่าชดเชยเป็นเงินเป็นทองไปหาที่อยู่ใหม่ ดังเช่นการกระทำของกรุงเทพมหานคร ในการจัดการชุมชนชาวตรอกที่ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นตัวอย่าง
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๖ ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งทางรัฐว่าเป็น แหล่งเสื่อมโทรม เป็นวัฒนธรรมย่อยของสังคมเมืองที่ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่มีชีวิตวัฒนธรรมที่เรียกว่า “วัฒนธรรมความจน”
แต่เมืองไทยและวงการศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับสังคมเมืองไม่มี มาจนปี ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อรองศาสตราจารย์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ ผู้เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปศึกษาขั้นปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา และเข้ามาทางานภาคสนามในสังคมเมืองกรุงเทพมหานครโดยเลือกศึกษาเก็บข้อมูลที่ชุมชนแออัดที่เรียกว่า “สลัม” [Slum]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (ซ้าย), ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ (ขวา)
ท่านอาจารย์อคินจึงนับเนื่องเป็นนักมานุษยวิทยาคนไทยคนแรกที่ทำการศึกษาชุมชนในเมืองอย่างแท้จริง ผลการศึกษาของท่าน ก็คือแหล่งที่เรียกว่า “สลัม” หรือ “ชุมชนแออัด” นั้น คือชุมชนที่มีโครงสร้างทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้าเป็นชุมชนในวัฒนธรรมความจน [Culture of Poverty] นั่นเอง
จากน้ันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นชุมชนและชีวิตวัฒนธรรมของแหล่งที่เรียกว่า Slum และ Plight Aeras ก็แพร่หลายเป็นที่รับรู้ไปท้ังคนในหน่วยราชการที่รับผิดชอบของรัฐกับของทางฝ่ายประชาสังคม โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางรัฐ นั้นค่อนข้างเฉื่อยชาทั้งๆ ที่รู้ว่าชุมชนสลัมนั้นต้องเน้นที่คน ต้องพัฒนาที่คน แต่กลับยังใช้วิธีการเดิมอยู่ เช่น พยายามไล่ รื้อ ขับไล่ กล่าวหา เพราะง่ายต่อการปฏิบัติ ในขณะที่คนที่อยู่ในภาคประชาสังคมมีการเคลื่อนไหวผลักดันต่อรองเพื่อการดำรงอยู่ทางชีวิตวัฒนธรรมร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งในทุกวันนี้กาลังเพิ่มพูนความขัดแย้งมากกว่าแต่เดิมอันมีเหตุมาจากทางผังเมืองและหน่วยงานของรัฐต้องการพัฒนาโครงสร้างและขอบเขตของบ้านเมืองสมัยใหม่เพื่อขานรับความเป็น 4.0 ทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคโลกาภิวัตน์
การศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาของ อาจารย์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ในสังคมเมืองยุคเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่ การเป็นสังคมอุตสาหกรรมนั้น ในส่วนรวมได้ทาให้สังคมรับรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า ชุมชนแออัดและแหล่งเสื่อมโทรมนั้นคือชุมชนของมนุษย์ เช่น เดียวกันกับมนุษย์ที่อยู่ในชุมชนทั้งหลาย
แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยราชการ ตลอดจนพวกนายทุน พ่อค้าที่ยังยึดมั่นกับคำว่าแหล่งเสื่อมโทรมเหล่านั้นจะไม่ยอมรับและ ไม่มีวันเข้าใจ แต่ผู้คนที่อยู่ในชุมชนแออัดเหล่านั้น ได้ตระหนักในความเป็นมนุษย์ที่จะต้องอยู่ร่วมกันและมีวัฒนธรรมร่วมกันที่จะได้มีชีวิตรอด จึงเกิดการเคลื่อนไหวและตื่นตัวมาโดยตลอด ซึ่งเห็นได้จากการคัดค้าน ต่อรอง และขัดขืน ต่อโครงการพัฒนาบ้านเมืองที่ทาให้เกิดความวิบัติขึ้นในชีวิตวัฒนธรรมของพวกตน
อาจารย์อคินคือนักมานุษยวิทยาในสังคมเมืองของประเทศ ในขณะนี้ก็ว่าได้ที่เรียนรู้และรู้จักชุมชนในวัฒนธรรมความจน อีกทั้ง พยายามช่วยเมื่อเกษียณอายุราชการจากสถาบันในมหาวิทยาลัย ได้รับการเชิญจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ปรึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบรรดาชุมชนแออัดที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเห็นคุณค่าในคำเสนอแนะนาของอาจารย์อคินเป็นอย่างไร แต่คงไม่ถึงเป็นแบบเดียวกันกับบรรดาสำนักงานของทางราชการทั้งหลาย เช่น กรุงเทพมหานครและผังเมืองเป็นอาทิ ที่ดูมีกิจกรรมในทางลบกับชุมชนในวัฒนธรรมความจนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้รับคำแนะนำและอนุเคราะห์จากอาจารย์อคินให้รับทุนอุดหนุน จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อทำการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของบรรดาชุมชนในพื้นที่เขตของกรุงเทพมหานคร ที่อยู่สองฝั่งของคลองบางลาพู-โอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษม ที่มีแหล่งชุมชนแออัดที่จะต้องได้รับการเคลื่อนย้ายและปรับปรุงมากมาย เป็นผลให้ได้ความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงของความเป็นชุมชนมนุษย์ที่คนภายนอกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมมั่วยาเสพติดเสื่อมโทรมและนอกกฎหมายนั้น ที่แท้คือชุมชนมนุษย์ที่คนในชุมชนยังมีวิถีชีวิตร่วมกันในวัฒนธรรมความจนนั่นเอง
การรื้อบ้านเลขที่ ๙๙ ในชุมชนป้อมมหากาฬ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑
ชุมชนดังกล่าวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนชาวตรอกที่กลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย [Subculture] ของสังคมใหญ่ในท้องถิ่นที่เรียกว่า “ย่าน” หรือ “บาง” เช่น ชุมชนชาวตรอกบ้านบาตรที่เป็นส่วนหนึ่งของย่านใหญ่ที่มีวัดสระเกศเป็นศูนย์กลาง และชุมชนชาวตรอกที่ป้อมมหากาฬ อันมีวัดราชนัดดาเป็นศูนย์กลาง ความต่างกันของชุมชนชาวตรอกทั้งสองแห่งนี้คือ ชุมชนป้อมมหากาฬถูกไล่รื้อทำลายโดยโครงการพัฒนาเมืองใหม่ของกรุงเทพมหานครที่ยังมีแนวคิดติดกับการพัฒนาพื้นที่แต่ไม่เห็นผู้คนในชุมชนที่มีชีวิตสืบเนื่องมาหลายยุคสมัย แต่ในทำนองตรงข้ามชุมชนชาวตรอกของบ้านบาตร ยังดำรงอยู่ของคนในชุมชนรุ่นใหม่ที่สืบเนื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาแต่รุ่นเก่าหลายชั่วคนแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเติบโตไปกว่าแต่เดิมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีรอง ศาสตราจารย์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ เป็นที่ปรึกษา
เปิดประเด็น : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๘ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๖๑)