ขอแสดงความเสียใจในการจากไปของ ผศ. ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช นักมานุษยวิทยาอาวุโส
ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยความระลึกเป็นอย่างยิ่งถึง ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช นักมานุษยวิทยาอาวุโสที่ข้าพเจ้าเคารพและนับถือ ผู้จากไปเมื่ออาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ที่แล้วมาด้วยวัย ๘๔ ปี อาจารย์สุเทพในเบื้องต้นเป็นนักมานุษยวิทยาสังคม [Social Anthropologist] เช่นเดียวกับข้าพเจ้า อาจารย์สุเทพเรียนจบปริญญาโททมหาวิทยาลัยลอนดอนที่อังกฤษ ส่วนข้าพเจ้าเรียนที่ออสเตรเลีย ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ครั้งนั้นการเรียนวิชามานุษยวิทยา ทั้งอังกฤษและออสเตรเลียเป็นมานุษยวิทยาสังคมเหมือนกัน แนวคิด ทฤษฎีและกระบวนการค้นคว้าวิจัยเหมือนกันในแนวคิดทางโครงสร้าง และหน้าที่ [Structural, Functional] ที่เป็นหัวใจในการค้นคว้าเก็บ ข้อมูลจากประสบการณ์ภาคสนาม [Field Work] ในลักษณะองค์รวม [Wholistic] ด้วยการศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของ มนุษย์ในชุมชน [Community Study]
ความเหมือนกันที่สำคัญระหว่างอาจารย์สุเทพกับข้าพเจ้า ก็คือ ในการเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาโทนั้นคือต้องเข้าไปอยู่ ในชุมชนเป็นเวลาร่วมปี ข้าพเจ้าศึกษาเก็บข้อมูลที่ชุมชนบ้านม่วงขาว ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ในขณะที่อาจารย์สุเทพศึกษาที่ชุมชนบ้านนาหมอม้า ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน)
อาจารย์สุเทพเป็นรุ่นก่อนข้าพเจ้าหลายปี ได้กลับมาเป็น อาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ระยะหนึ่ง แล้ว ลาออกไปทำงานในองค์กรอเมริกัน ARPA ร่วมกับบรรดานักวิชาการ ที่เป็นนักมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์อื่นๆ เพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของผู้คนในภาคเหนือและภาคอีสาน ต่อต้านการรุกราน ของคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นที่นำไปสู่การทำสงครามระหว่างอเมริกันกับเวียดนาม หลังสงครามสงบอาจารย์สุเทพได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้บุกเบิกตั้งภาควิชามานุษยวิทยาขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดภาควิชามานุษยวิทยาของคณะสังคมศาสตร์อย่างแท้จริง [Founding Profes- sor]
ข้าพเจ้ากลับมาทำงานภาคสนามที่บ้านม่วงขาวเกือบปีจนถึงวันสิ้นสุดของสงคราม ที่ประธานาธิบดีนิกสันถอนทหารจากสงคราม เวียดนาม และกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ร่วม ๒ ปี จึงกลับมาที่คณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่ไม่ลงรอยกับผู้บังคับบัญชา และอาจารย์หลายคนในคณะจึงได้ขอให้อาจารย์สุเทพที่เป็นหัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยาที่เชียงใหม่ ยืมตัวชั่วคราวจากศิลปากรไปอยู่เชียงใหม่ร่วม ๒ ปี โดยสอนวิชามานุษยวิทยาร่วมกัน
ขณะที่อยู่เชียงใหม่ได้มีการออกไปทำงานภาคสนามตาม ชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บนพื้นราบร่วมกัน ๓ คน คือ อาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัช อาจารย์เกษม บุรกสิกร ผู้เป็นนักสังคมวิทยา ต่อมาอาจารย์สุเทพได้รับทุนจากอเมริกาไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ เพื่อทำปริญญาเอกทางวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมร่วม ๖ ปี ในขณะที่ข้าพเจ้ากับอาจารย์เกษม บุรกสิกรยังทำงานศึกษาชุมชนทั้งด้านชาติวงศ์วรรณา [Ethnography] และโบราณคดี [Archaeology] อยู่พักหนึ่งจึงกลับมาสอนที่ภาควิชามานุษยวิทยาศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ
จุดหันเหระหว่างข้าพเจ้าและอาจารย์สุเทพก็คือ การไปศึกษาต่อที่อเมริกาที่เน้นในเรื่องมานุษยวิทยาวัฒนธรรมนั้นเป็นกระแสสังคม และโลกที่เปลี่ยนแปลงและกว้างขวางออกไป แตกแยกออกเป็นหลายมิติและหลายแขนงทางวิชาการ จนมานุษยวิทยากลายเป็นวิชาครอบจักรวาลไปจนถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์อันเป็นสัตว์สังคม หรือสัตว์หมู่ต้องมีชีวิตอยู่รวมกันอย่างมีโครงสร้างและหน้าที่กลายเป็นปัจเจกบุคคล [Individual] หรือสัตว์เดี่ยว ซึ่งแลเห็นได้จากชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นสังคมแบบก่อน อันสะท้อนให้เห็นได้จากการสร้างที่อยู่อาศัยแบบต่างคนต่างอยู่ เช่น คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ฯลฯ ร้อยพ่อพันแม่เข้ามาอยู่รวมกันโดยไม่มีโครงสร้างสังคม ซึ่งแลเห็นได้จากแนวโน้มทางแนวคิดทฤษฎีแบบโครงสร้างและหน้าที่เปลี่ยนแปลง มาเป็น Post Structuralism หรือ Post Modernism และ Post Co- lonialism อะไรทำนองนั้น ส่วนข้าพเจ้ายังคงยืนอยู่กับสังคมแบบมีโครงสร้างและหน้าที่ของมานุษยวิทยาสังคมที่เน้นการออกเดินทางไป ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศด้วยการเก็บข้อมูลทางชาติวงศ์วรรณนา [Ethnography] สำหรับชุมชนปัจจุบัน [Ethnographic Present] และอดีตที่ห่างไกลของชุมชนโดยทางโบราณคดี [Archaeological Past]
ข้าพเจ้ายังมั่นคงกับการศึกษาที่ดูการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์ในชุมชนในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สังคม และไม่ตีความคุ้นเคยกับแนวคิดทฤษฎีใหม่ในเชิงวาทกรรมแบบสร้างคำ ใหม่ๆ คำ ใหญ่ๆ แบบนักวิชาการในยุค Post Modern ปัจจุบัน แต่เมื่อมีอะไรติดขัดหรือสติปัญญาน้อยตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ข้าพเจ้าก็ต้องหันมาหาอาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัช ผู้แม้จะไม่ออกไปตะลอนๆ ทำงานภาคสนามอย่างข้าพเจ้า แต่ก็รับรู้และหาความรู้ในลักษณะเป็นนักปราชญ์ทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อการอธิบาย
ตั้งแต่เกษียณราชการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์สุเทพใช้เวลากับการอ่านหนังสือหลายๆ อย่างทางสังคมวัฒนธรรมการเมือง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ในลักษณะที่เป็นปราชญ์มากกว่านักวิชาการที่รู้อะไรต่ออะไรเฉพาะด้านแบบรู้มากรู้น้อย เมื่อมีอะไรติดขัดข้าพเจ้าก็ต้องหันหน้าไปถามไถ่หารือขอความรู้จากอาจารย์สุเทพที่นับเป็นครูคนหนึ่งของข้าพเจ้า และมักจะได้รับความรู้และคำอธิบายที่กระจ่างเร็วกว่าการไปอ่านหนังสือค้นหาด้วยตนเอง
ในฐานะที่เล่าเรียนมาทางมานุษยวิทยาสังคมเหมือนกัน ข้าพเจ้ามักพูดคุยกันกับอาจารย์สุเทพในสิ่งที่เป็นกลไกทางสังคม เช่น การควบคุมสังคม [Social Control] และการวิพากษ์สังคม [Social Sanction] เสมอ เช่น เรื่องการนินทา [Gossip] ของชาวบ้านที่เป็นคนในชุมชน
การนินทาเป็นกลไกในการควบคุมพฤติกรรมทางสังคมของคนที่มีชีวิตร่วมกันในชุมชน เป็นทั้งการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ผู้ที่ไม่ประพฤติในกรอบของศีลธรรม จารีตประเพณี ได้รู้สึกตัวอย่างไม่ต้องเผชิญหน้าและชัดเจนว่าใครมีความขัดแย้งต่อกัน เพื่อให้ผู้ที่ถูกพาดพิงมีสติและปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจจะ นินทาหนาหูขึ้นจนถึงขั้นพิพากษ์ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ ดีหรือไม่ดี แล้วมีการลงโทษหรือถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ทำดีก็จะถูกยกย่องอันเป็นขั้นที่เรียกว่า สังคมพิพากษ์ [Social Sanction] ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้า เรียกว่า ประชาวิพากษ์ เพื่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน เพราะเป็นกลไกทางสังคมโดยภาคประชาชน และให้แตกต่างไปจากประชารัฐด้วย
ปัจจุบันการนินทาก็ยังเป็นกลไกสำคัญอยู่ในสังคมท้องถิ่นที่ยังมีชุมชนอยู่ เช่น ตามบ้านและเมือง แต่ไม่ใช่กับในละแวกที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ เช่น บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในสังคมเมือง ที่มีแต่โครงสร้างกายภาพแต่ไม่มีโครงสร้างทางสังคม
มีเรื่องตลกกับข้าพเจ้าในการนำนักศึกษาปัจจุบันที่เรียนทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งลงศึกษาชุมชน เมื่อตอนที่ข้าพเจ้าพูดถึงบทบาทและหน้าที่ของการนินทา ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เชิงขบขันว่าแปลกประหลาดและกระทบกระแทกว่าทั้งข้าพเจ้าและอาจารย์สุเทพยังมีความคิดและวิธีการเช่นนักมานุษยวิทยารุ่นศตวรรษที่แล้วมา
ทั้งนี้ก็เพราะนักศึกษาและนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ๆ เหล่านี้คุ้นกับเรื่องของข่าวลือ [Rumor] อันเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ ที่เป็นกลไกของการกล่าวหาของคนที่มีความคิดเป็นปรปักษ์ต่อกันในสังคมปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ทางสังคมกลายเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ [Social Network] กระจายออกไปกว่าการมีขอบเขตของชุมชน
แต่การตั้งข้อสังเกตของข้าพเจ้าที่สะท้อนจากปรากฏการณ์ ต่างๆ ทางสังคมที่เรียกว่าประชาวิพากษ์นี้ ก็ยังคงดำรงอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากคำว่า นินทา [Gossip] ในชุมชนท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า เฟซบุ๊ก [Facebook] อันเกิด ขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ข้าพเจ้ากำลังจะถกปัญหาเรื่องนี้กับอาจารย์สุเทพแต่ก็ช้าไป เพราะท่านล้มป่วยและจากไปเสียก่อน จึงต้องนำข้อสังเกตมาเสนอต่อในที่นี้แทน
สังคมไทยโดยภาพรวมปัจจุบันเป็นสังคมทุนนิยม อุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้าสู่ระดับ ๔.๐ เช่นประเทศแนวหน้าหลายแห่งในสังคมโลกที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ แต่ในด้านศีลธรรม จริยธรรม และระเบียบวินัย การศึกษาและความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมยังอยู่ในระดับ ๐.๔ เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา [Peasant Society] อยู่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีในระดับ ๔.๐ กับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไต่ระดับ ๐.๔
นักมานุษยวิทยาอาวุโสของประเทศไทยจากซ้ายด้านหลัง ผศ. ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช,
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, รศ. ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ด้านหน้า ศ.ปรานี วงษ์เทศ
จึงเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า ความล้าหลังทางวัฒนธรรม [Culture Lag] ความล้าหลังทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนาเข้าสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมานั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งทางระบบศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรมเรื่อยมา ที่มีผลทำให้สังคมไทยในส่วนรวมไม่ว่าทั้งประชารัฐและประชาสังคม กลายเป็นสังคมละเมิดกฎหมาย [Law Violating Society] ที่มาถึง การเกิดวิกฤติทางศีลธรรมและจริยธรรมที่สะท้อนให้เห็นจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาสังคมในยุคโลกาภิวัตน์
การขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนหรือประชาสังคมที่เห็นชัดก็คือ การใช้อำนาจทางกฎหมายจัดการกับประชาชนอย่างไม่เป็น ธรรมทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนาง ข้าราชการของรัฐที่ให้ความร่วมมือกับนักธุรกิจ นายทุนทั้งในชาติและ ข้ามชาติ กระทำการไม่ชอบธรรมเอาเปรียบประชาชนที่ด้อยโอกาสและเดือดร้อน
ในขณะที่ทางภาคสังคมทั้งคนชั้นกลางและชั้นล่างทั้งรุ่นผู้ใหญ่และเด็กก็ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม ความโลภและตัณหากิเลสราคะในเรื่องโลกียสุข แต่ทุกฝ่ายล้วนใช้สื่อแบบเล่ห์ทุบายในการชวนเชื่อให้คนต่างก็เป็นคนดีมีศีลธรรมกันทั้งนั้น
ผลที่สะท้อนออกมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในขณะนี้ก็คือ ความขัดแย้งที่เห็นได้จากเรื่องราวของตำรวจ ข้าราชการ พระสงฆ์องค์เจ้า นักธุรกิจ นายทุน และนักการเมือง รวมทั้งนักวิชาการกับประชาสังคมในขณะนี้
แต่ท่ามกลางความล้มเหลวในการใช้กฎหมาย การใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ล้วนแต่จนเกือบไม่ท่าอะไรเลย ก็เกิดการเคลื่อนไหวทางภาคประชาสังคมในการติดตาม และวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ไม่ชอบธรรมของข้าราชการของรัฐ นักการเมืองและพ่อค้านายทุนตลอดจนพระสงฆ์และขุนนางพระมากขึ้นในช่องทางของระบบอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Facebook ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นกลไกทางสังคมในการควบคุมและวิพากษ์วิจารณ์ที่มีพลังในการต่อรองกับรัฐและนายทุน เป็นอะไรที่คล้ายกับการนินทา [Gossip] ของสังคมชาวนาในท้องถิ่นที่ใช้บริบทของความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่ [Social Sturcture]
แต่ปรากฏการณ์ของ Facebook เป็นเรื่องของในสังคมที่มีความสัมพันธ์ทางเครือข่าย [Social Network] ที่แผ่กว้างออกไปกว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ก็นับว่าเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีกับคนในสังคมที่ทันสมัยขึ้นเพื่อยุคสังคม ๔.๐ ในอนาคต
โดยสรุปการใช้ Facebook ของผู้คนในปัจจุบันก็คือกลไกเพื่อการวิพากษ์ทางสังคมในระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Social Network ในปัจจุบันนั่นเอง
ความสำคัญและความหมายของ Facebook และช่องทางในโซเชียลมีเดียต่างๆ นอกเหนือไปจากการสื่อปกติก็คือ Social Sanction ที่มีอำนาจในการต่อรองกับทางรัฐและทางทุนของผู้คนทั่วไปในภาคประชาสังคม ที่ว่าอำนาจนั้นไม่ได้หมายถึงอำนาจที่บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย หากเป็นอำนาจต่อรองจากการแสดงความคิดเห็นของผู้คนในประชาสังคมที่เกิดจากการแสดงออกของคนหลายกลุ่มเหล่า ที่มีทั้งการขัดแย้งในทางตรงข้ามและเลือกฝักฝ่ายว่าเป็นพวกใดกลุ่มใดเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
ภาพเสือดำและเครื่องหมายปิดเสียง (Mute) ที่มา : www.facebook.com/headachestencil
Facebook ของแต่ละบุคคลนั้นเป็นเสียงจากปัจเจกที่มีทั้งรู้เรื่องราวอย่างตื้นและผิวเผินหรือลุ่มลึก แต่เมื่อมาเชื่อมโยงจากเครือข่ายแล้วผ่านออกมาทางสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ รวมทั้งการวิเคราะห์ของผู้สนใจและรักความถูกต้องชอบธรรมแล้ว ก็สามารถชี้ให้เห็นว่าอะไรถูกต้องเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมได้ในการวิพากษ์วิจารณ์ เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีอำนาจในการต่อรองกับการตัดสิน ความเห็นของทางฝ่ายผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งถ้าหากทางผู้มีอำนาจไม่ยอมรับและหลีกเลี่ยงก็อาจจะเกิดสิ่งที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นประชาขัดขืน [Civil Disobedience]ได้ ในเรื่องนี้มีหลายกรณีที่ทางผู้มีอำนาจมักจะอ้างความถูกต้องทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม แต่ฝ่ายที่ไม่ยอมรับเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมที่ต้องตัดสินกันด้วยมโนธรรมและศีลธรรม
สังคมไทยในยุคเทคโนโลยี ๔.๐ นี้ กำลังมีการต่อรองกันด้วยอำนาจของรัฐโดยชอบธรรมทางกฎหมาย กับอำนาจของประชาวิพากษ์ที่หลายๆ เรื่องยังไม่อาจหาข้อยุติได้ บางเรื่องเล็กๆ ก็พอหาข้อยุติได้ เช่น กรณีหวย ๓๐ ล้าน แต่เรื่องการที่รัฐจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ยังซื้อเวลาอยู่ เพราะผู้มีอำนาจพอมีสติว่าถ้าหากดำเนินการต่อไป ย่อมเกิดการขัดขืนที่รุนแรงอย่างแน่นอน แต่เรื่องที่ยังคลุมเครือและแอบทำอยู่เรื่อยๆ ก็คือ การรื้อป้อมมหากาฬอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน รวมทั้งโครงการทำถนนขนาบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะมีผลให้เกิดการขับไล่คนในชุมชนและการทำลายวัดวาอารามสิ่งก่อสร้างทางศิลปวัฒนธรรมและทิวทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และธนบุรีนั้น น่าจะกลายเป็นการประลองกำลังกันระหว่างอำนาจทางกฎหมาย ของผู้เผด็จการกับอำนาจประชาวิพากษ์ที่มาจาก Facebook และสื่อต่างๆ ในภาคประชาสังคม
เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๗ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๖๑)