หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พิพิธภัณฑ์กับการศึกษานอกระบบ
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ย. 2530, 13:55 น.
เข้าชมแล้ว 7090 ครั้ง

 

พิพิธภัณฑ์กับการศึกษานอกระบบ

 

 

 

 การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

 

เท่าที่สังเกตมาจนขณะนี้ เห็นได้ว่าการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาตินั้น มีการดำเนินการอย่างกว้างขวางทั้งในองค์การทางรัฐบาลและเอกชน อันอาจกล่าวได้ว่ามีทั้งเป้าหมายและนโยบาย ซึ่งฟังดูเป็นคำพูดที่สวยหรูและทันสมัย แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วทั้งจากการดำเนินการ การกระทำและคำพูด เห็นชัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่า น้อยรายทีเดียวที่บรรดาผู้บริหารที่เป็นผู้ใหญ่ในระดับเจ้าสังกัดจะเข้าใจถึงความหมายและคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม

 

สิ่งที่มักทำให้เกิดมีการดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ พอวิเคราะห์ให้เห็นได้ว่ามาจาก

 

(๑) การดำเนินงานตามแบบอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อนๆ โดยถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยอมรับกันดีแล้ว ถ้าหากทำแบบนี้แล้วมักจะไม่มีใครมาตำหนิติเตียน 

 

(๒)  ดำเนินการในลักษณะเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเอง  

 

(๓) การดำเนินงานที่มาจากความคิดริเริ่มของลูกน้องที่ชอบพยายามทำตนให้เห็นว่าเด่นกว่าคนอื่นๆ  เรื่องนี้มีอยู่ทุกองค์การเพราะเกิดช่องว่างบางอย่างในสังคมไทย ที่ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถและความเข้าใจไม่ชอบพูดหรือแสดงอะไรออกมา ปล่อยให้ผู้ที่มีความคิดตื้นเขินแสดงออกให้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้บังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นในที่ประชุมจึงมักไม่มีการขัดแย้งในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเมื่อผู้บังคับบัญชาไม่มีความรู้ความเข้าใจด้วยแล้ว ก็เป็นการสมยอมให้เกิดการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสมขึ้นในที่สุด

 

ในที่นี้โดยที่มีเนื้อที่จำกัด จึงใคร่จะขอพูดแต่เพียงตัวอย่างในประเด็นแรกที่ว่าการดำเนินการเป็นไปแบบเดิมๆ ที่เห็นว่าดีแล้ว อันได้แก่เรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นการจัดแบบเอาศิลปวัตถุ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเอาศิลปกรรมเป็นตัวกำหนดอายุ เวลา และความหมายสำคัญในการแสดง

 

เช่นแบ่งเป็นศิลปะสมัยทวารวดี ลพบุรี ศรีวิชัย เชียงแสน สุโขทัย อยุธยาและกรุงเทพฯ ตามลำดับ แล้วพูดถึงเรื่องราวของสมัยนั้นๆ อย่างรวมๆ พิพิธภัณฑสถานทุกแห่งทุกภาคเหมือนกันหมด แต่ก่อนทำอย่างใดปัจจุบันก็ยังทำอย่างนั้นถึงแม้ว่าบางจังหวัดบางภาคจะมีลูกเล่นบ้าง เช่นจัดห้องให้สวย สะอาดและเป็นระเบียบมีการนำเอาศิลปวัตถุพื้นบ้านมาประดับประดาให้แปลกตาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของการใช้ศิลปวัตถุหรือศิลปกรรมมากำหนดความหมายของสิ่งที่นำมาตั้งแสดงอยู่นั้นเอง

 

การจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ศิลปกรรมเป็นตัวกำหนดความหมายนี้ เป็นการจำกัดการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมากขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความหลงใหลเข้าใจผิด จนคิดว่าบ้านเมืองของตนเองดีเด่นและยิ่งใหญ่กว่าที่อื่นๆ ได้

 

ทั้งนี้เพราะบรรดาโบราณวัตถุที่นำมาแสดงนั้น ส่วนใหญ่คือศิลปวัตถุที่มาจากศาสนสถานเกือบทั้งนั้น เช่น พระพุทธรูป เทวรูป  ลวดลายเครื่องประดับ พระสถูปเจดีย์ ปราสาท หรือโบสถ์ วิหารตามวัดวาโบราณ จนกล่าวได้ว่าไปที่ไหนก็แลเห็นแต่พระพุทธรูป เทวรูปก็ว่าได้

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เนื้อหาของความรู้ในการมาชมพิพิธภัณฑสถานจึงมีขอบเขตอยู่เพียงแต่เรื่องราวทางศาสนาเป็นสำคัญ หาครอบคลุมไปยังความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของสังคมท้องถิ่นและภูมิภาคไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การปกครอง การศึกษา ตลอดจนความเป็นมาทางสังคม-วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ไหนๆ ก็ตาม จึงดูเหมือนกันหมด ไม่เห็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นและของภูมิภาคในมิติที่กว้างขวางแต่อย่างใด

 

ถ้าจะมองให้กว้างไปกว่านี้บ้าง การจัดโบราณวัตถุตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งของทางราชการ เป็นการนำเอาศิลปวัตถุ และสิ่งของที่เป็นของประเพณีหลวงมาเสนอ ไม่มีการให้ความสำคัญแก่วัตถุสิ่งของที่เป็นของท้องถิ่นที่เรียกว่าของในประเพณีราษฎร์เท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้คงมีที่มาจากความมุ่งหมายของผู้บริหารบ้านเมืองแต่เดิมอย่างน้อย ๒ ประเด็นด้วยกัน 

 

ประเด็นแรกเกิดจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง ที่อยู่ในกรอบของพระราชพงศาวดารการแสดงศิลปวัตถุหรือมีความมุ่งหมายเพียงที่จะแสดงความรุ่งโรจน์ในอดีต

 

อย่างที่สองคงมีเจตนาที่แน่วแน่เพื่อการบูรณาการทางวัฒนธรรม นั่นก็คือการพยายามทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจว่าทุกหนแห่งในเมืองไทยมีวัฒนธรรมเหมือนกันหมด ความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ถ้ามองในปัจจุบัน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมืองให้แก่รัฐ ส่วนข้อเสียก็คือ หน้าที่และความหมายของพิพิธภัณฑสถานจำกัดแคบอยู่เพียงเท่านี้หรือ การที่เน้นความสำคัญเฉพาะเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว อาจกลับกลายเป็นการสร้างความงมงาย หลงตนเองแก่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนได้ง่าย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่สังคมในที่สุด

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านยี่สาร

 

อันที่จริงความมุ่งหมายของการจัดพิพิธภัณฑ์นั้นก็เพื่อการศึกษาของสังคมอันเป็นคำจำกัดความที่สั้น แต่ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง เพราะถ้าเข้าใจ คงจะไม่เป็นเช่นนี้ การจัดพิพิธภัณฑ์จึงได้แต่เน้นในเรื่องความเหมาะสมของเนื้อที่บ้าง แสงสว่างบ้าง การเลือกของก็ล้วนแต่มุ่งสิ่งที่สวยงามเป็นศิลปวัตถุเป็นสำคัญ เลยทำการสับเปลี่ยนโยกย้ายสิ่งของที่มีความหมายแต่เดิมให้เคลื่อนที่ไป

 

เพราะฉะนั้นเวลาเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งแล้ว สิ่งที่ได้รับได้เห็นก็คือดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น ซึ่งก็เท่านั้นเอง คือเป็นแค่เพียงการแสดงศิลปวัตถุเช่นเดิม ไม่มีอะไรผิดแผกไปกว่าเมื่อ ๗๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา ในเรื่องเนื้อหาและขอบข่ายของความรู้

 

พิพิธภัณฑสถานมีความหมายและความสำคัญโดยตรงต่อการศึกษานอกระบบ หรือนอกหลักสูตรของสังคม ถ้าจะกล่าวอย่างตรงๆ ก็คือ เป็นแหล่งที่อบรมความรู้ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้แก่คนในสังคมประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการแสดงให้คนภายนอกที่เป็นต่างชาติได้รู้ถึงความเป็นมาในทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองและท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร

 

ในประการแรกนั้นคือการช่วยให้คนในสังคมแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาครู้จักตนเอง ส่วนในประการที่สองก็คือให้คนภายนอกได้รู้และเข้าใจบ้านเมืองและท้องถิ่นต่างๆ ภายในประเทศอย่างถูกต้อง จึงนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง สมควรที่ทางรัฐบาลและองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องจะได้ให้การสนับสนุนปรับปรุงให้มีขอบข่ายการดำเนินการ และการให้ความหมายในการจัดแสดงสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง

 

สิ่งที่น่าวิตกในปีแห่งการท่องเที่ยวนี้ก็คือ ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลจะให้ความสนใจแต่เพียงว่า การปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานทุกแห่งของชาตินั้น ควรมุ่งเพื่อการล่อตาล่อใจนักท่องเที่ยวให้มาชมเพื่อจะได้มีเงินเข้าประเทศมากๆ เท่านั้น เพราะเท่าที่เห็นแก่ตาในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของสิ่งที่เรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์ก็ดี  การจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการเป็นคราวๆ ของพิพิธภัณฑ์ของรัฐในที่ต่างๆ ก็ดี ล้วนมีลักษณะเพื่อหาเงินหารายได้ทั้งสิ้น เพียงแต่เริ่มเข้าไปในเขตพิพิธภัณฑ์หรือบริเวณโบราณสถาน ก็ต้องเสียสตางค์กันแล้ว เก็บเล็กเก็บน้อยเก็บทุกหนทุกแห่งจนทำให้ผู้คนและเยาวชนที่สนใจแต่ไม่มีเงินต้องมองแต่เพียงแค่ผ่านๆ ไปจากภายนอกเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้นถ้าหากจะให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการศึกษาแล้ว ก็ควรคำนึงถึงว่าการบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ได้อยู่ที่การมีรายได้เป็นเงินเป็นทอง หากเป็นการเสียเงินของรัฐซึ่งเป็นภาษีอากรที่เก็บมาจากราษฎร เพื่อการศึกษาของเยาวชนที่เป็นลูกหลานของผู้เสียภาษีนับเป็นกิจกรรในด้านบริการเพื่อประโยชน์ของสังคมในส่วนรวมมากกว่าประเทศที่ยังยากจนเช่นเมืองไทยเรา

 

การให้การศึกษาแก่เยาวชนที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ทั้งในระบบและนอกระบบนั้น มีความสำคัญยิ่งในการสร้างประชาชนที่มีคุณภาพ แน่นอนการที่มีประชาชนที่มี่คุณภาพ แน่นอนการที่มีประชาชนมีคุณภาพนั้นย่อมเป็นผลดีแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เรายึดมั่นว่าเป็นระบอบการปกครองที่ถูกต้อง

 

เท่าที่เห็นอยู่ขณะนี้ ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่ไหนเลยที่ให้ความรู้รอบตัวทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมแก่ผู้มาชม สถานที่ซึ่งเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ในขณะนี้เป็นเพียงแหล่งที่รวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุเก่าแก่มาตั้งแสดงเท่านั้น มีลักษณะเป็นการให้ความรู้ที่ไม่ประติดประต่อ เน้นอดีตที่ห่างไกลที่คนไม่รู้จักแล้วไม่สามารถนำมาเชื่อมต่อให้เข้าใจความเป็นไปทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันได้

 

 

 พิพิธภัณฑ์ที่เป็นอาคารเก็บโบราณวัตถุจากแถบทุ่งกุลาและปราสาทกู่กาสิงห์

 

เนื้อหาและสาระสำคัญที่ควรมีในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาก็คือ

 

(๑) ความรู้ทางสหภาพแวดล้อมธรรมชาติของท้องถิ่นหรือภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องทางธรรมชาติวิทยา

 

(๒) ความรู้ทางหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นหรือภูมิภาค ซึ่งอาจแบ่งแยกให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแต่ละขั้นตอนและสมัยเวลา

 

(๓) ความรู้ทางชาติพันธุ์วรรณาของท้องถิ่น หรือภูมิภาคเพื่อให้ทราบถึงกลุ่มชนที่สืบอยู่ในปัจจุบันว่ามีความเป็นมาและความเป็นไปอย่างใด

 

(๔) ความรู้ทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างท้องถิ่นหรือภูมิภาคที่พิพิธภัณฑ์นั้นตั้งอยู่กับบรรดาท้องถิ่นอื่นหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ทั้งนี้อาจรวมไปถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

 

ในขณะเดียวกันก็ควรมีการจัดแสดงสิ่งที่เห็นว่าเป็นลักษณะพิเศษทางเศรษฐกิจการเมือง สังคมหรือวัฒนธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งของท้องถิ่นหรือภูมิภาค เพื่อแสดงเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากบรรดาท้องถิ่นอื่นๆ หรือภูมิภาคอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดสุรินทร์ (ถ้าหากจะมีขึ้น) ก็ควรคำนึงถึงการแสดงให้เห็นถึงอาชีพการจับช้างและประเพณีเกี่ยวกับการจับช้างของกลุ่มชนชาวส่วยที่เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดด้วย เป็นต้น

 

อนึ่งในท้องที่บางแห่งที่มีโบราณสถานหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญก็น่าที่จะมีพิพิธภัณฑ์ที่เนื่องด้วยสถานที่นั้นเกิดขึ้น เพื่อแสดงหลักฐานความเป็นมาของสถานที่นั้นโดยเฉพาะ เช่นที่ใดเคยเป็นเมืองโบราณ หรือวัดเก่าแก่ ศาสนสถานเก่าแก่ที่สำคัญ ก็ควรจัดให้มีอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นอาจจะอยู่ในความดูแลของวัดหรือโรงเรียนประจำท้องถิ่นก็ได้ แล้วนำเอาโบราณวัตถุหรือสิ่งของที่มีค่าทางวัฒนธรรมของศาสนสถานหรือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นมาจัดแสดง

 

ของเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปวัตถุที่มีราคาค่างวด จนเป็นที่ต้องตาต้องใจของพวกนักเล่นของเก่าหรือโจรผู้ร้ายก็ได้ เพียงแต่สิ่งของที่แตกๆ หักๆ แต่ว่ามีความหมายก็เพียงพอแต่ถ้าหากจำเป็นต้องแสดงสิ่งที่มีค่า ก็อาจจะทำได้โดยการถ่ายภาพจากของจริงมาแสดงก็ได้การให้ความหมายและความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งของที่แสดงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้คนภายนอกที่เข้ามาชมหรือผ่านมารู้และเข้าใจความเป็นมาทางวัฒนธรรม สังคมและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นเกิดความสนใจความรักและภูมิใจในท้องถิ่นที่เป็นมาตุภูมิของตนด้วย ในที่สุดก็จะเป็นกำลังสำคัญในการหวงแหนและรักษาสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของตน

 

การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นนั้นดูเหมือนจะมีความหมายว่าการบูรณะและพัฒนาเมืองโบราณหรือแหล่งโบราณคดีให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์หลายเท่า เพราะการพัฒนาสถานที่ซึ่งเรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์นั้นคือการทำลายที่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอันมาจากภาษีของราษฎรอย่างมหันต์

 

ถ้าหากว่าจะทำเพียงแค่อนุรักษ์โบราณสถานหรือเมืองประวัติศาสตร์ให้คงสภาพอย่างที่เห็นอยู่ โดยไม่ให้หักพังหรือเสื่อมโทรมไปกว่าที่แลเห็นอยู่แล้วจัดให้มีพิพิธภัณฑ์แสดงความเป็นมาและสิ่งที่ควรจะเป็นโดยการทำหุ่นจำลองให้เห็นว่า อดีตที่เคยสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร ก็คงจะดีกว่าที่เข้าไปบุกรุกต่อเติมเมืองโบราณหรือโบราณสถานให้ดูใหม่ๆ เป็นสวนสนุก อย่างที่ทำกันในอุทยานประวัติศาสตร์ดอกหรือ

 

 

 

 

ศรีศักร  วัลลิโภดม บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๐

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ค. 2559, 13:55 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.