“เด็กน้อยๆคืออนาคตของสังคม คนแก่ๆเดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่ก่อนตายขอได้ถ่ายทอดสิ่งดีๆเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง” พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว แห่งบ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร กล่าวกับเด็กๆกว่า ๕๐ คน ซึ่งมาร่วม กิจกรรม ‘ปฏิบัติการประวัติศาสตร์บอกเล่าเพื่อเด็กรักถิ่น’ เนื่องในวัน วันเล็ก - ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๔ - ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยเลื่อนมาจาก วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ปีก่อน เพราะสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่
โดยกิจกรรมที่วางเอาไว้ในงานปีนี้คือ การชักชวนเด็กๆและผู้หลักผู้ใหญ่จากท้องถิ่นต่างๆมาแลกเปลี่ยนความรู้ และรู้จักในตัวตนของกันและกัน รวมทั้งจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่า’ โดยแลกเปลี่ยนผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเองเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะด้านการเก็บและจัดการข้อมูลท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย เด็กๆที่มาในปีนี้ก็คือเด็กรักษ์ถิ่นจาก ‘เชียงของ’ จังหวัดเชียงราย, ‘ภูพาน‘ จังหวัดสกลนคร, ‘สามชุก‘ จังหวัดสุพรรณบุรี, ‘เวียงสระ‘ จังหวัดสุราษฎรธานี รวมทั้ง เจ้าถิ่นอย่าง ‘เด็กรักษ์บ้านปลายเจ้าพระยา‘ จังหวัดสมุทรปราการ
“การครอบงำเดี่ยวนี้ใช้สื่อ แต่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ศักยภาพเหมือนกัน สิ่งสำคัญคือต้องคิดให้เป็น เป้าหมายในการสร้างเด็กรักถิ่นคือ ในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่าง ให้เด็กกลับไปเรียนรู้แต่ไม่ใช่ไปแข่งกัน ให้มาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดการเกาะเกี่ยวทางสังคมขึ้น แล้วต้านอำนาจรัฐโดยการต่อรองด้วยองค์ความรู้ของเรา ภูมิปัญญารุ่นพ่อรุ่นแม่มีเยอะต้องเป็นหัวหอก การจัดงานแบบนี้ (เอาเด็กภูมิภาคต่างๆในประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน) เชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาคต่างๆ เมืองโบราณ อาจต้องจัดเรื่องนี้บ่อยๆให้เด็กมาคุยกัน เพื่อสร้างตรงนี้”อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็กฯ กล่าวถึงเหุตผลในการจัดกิจกรรมปีนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิเล็กฯ เห็นว่าการฟื้นพลังของคนในสังคมท้องถิ่นนั้น มาจากการศึกษาสังคมและบ้านเกิดของตนเอง โดยสามารถเข้าใจถึงสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในท้องถิ่น รวมทั้งเข้าใจในรากฐานของตนเอง ทำให้เกิดความมั่นใจในการศึกษาด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้ขั้นตอนการสร้างงานวิจัยและสังเคราะห์ผลจากการวิจัยนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เข้าไปทำงานกับท้องถิ่นต่างๆ ส่วนหนึ่งก็สามารถร่วมกับท้องถิ่นในการผลิตงานวิจัยร่วมกันได้
เด็กรักษ์ถิ่นกลุ่มเวียงสระ
อย่างไรก็ตาม ในการทำงานกับท้องถิ่นต่างๆก็มีคำแนะนำที่ดีๆกลับมาว่าว่า เด็ก การศึกษา โรงเรียน องค์กรทางศาสนา รวมทั้งการมีพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ใหญ่ของชุมชนที่เอาใจใส่ คือ องค์ประกอบสำคัญสำหรับ ‘อนาคต’ ของสังคมท้องถิ่น แต่คำถามก็คือจะทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ขนาดเล็กอย่างเป็นธรรมชาติได้ โดยสามารถเข้าใจภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่นในทุกมิติทั้งในทางที่ดีและเป็นอันตรายด้วยการเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้อาวุโสในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
ทางมูลนิธิเล็กฯ เห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านการเก็บข้อมูลแบบ ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่า’ [Oral History] น่าจะเป็นเครื่องมือการเหมาะสมและน่าทดลองในการทำให้เกิดขึ้นจริงที่สุด โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ เพราะกระบวนการนี้นอกจากฝึกการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นของตัวเองอย่างง่ายๆผ่านการถามผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นคนรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ข้อมูลตรงนี้ยังเป็นข้อมูลที่ ‘ทันเห็น’ ซึ่งหากพ้นเวลาไปจะกลายเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ทันเห็น’ ทั้งยังเป็นเรื่องที่ยากจะกลับมาสืบค้นได้ เพราะเป็นข้อมูลเฉพาะจาก ‘ภายใน’ จึงยากที่จะมีใครบันทึกไว้ถ้าไม่ใช่คนในเอง จึงแตกต่างจากข้อมูลประวัติศาสตร์พงศาวดารที่ยังพอมีเอกสารให้สืบค้นบ้าง
ที่สำคัญคือเด็กๆยังได้ฝึกฝนการทำเรื่องง่ายๆ ให้ง่าย แต่มีระเบียบมากขึ้น มีวินัยในการทำงานและใช้ธรรมชาติของการสื่อสารแบบเดิมๆ มาใช้ นั่นคือ การถาม การคุย และการจด อย่างมากที่สุดที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องก็คือการบันทึกเสียงกันลืมหรือตกหล่นไปบางประเด็น
ปฏิบัติการประวัติศาสตร์บอกเล่ายังมุ่งหวังให้เด็กๆหันกลับมามองสิ่งที่สำคัญมากแต่อาจละเลยไปง่ายๆด้วย นั่นคือ มารยาทในการสื่อสารแบบไทยๆในการที่ผู้อายุน้อยจะเข้าไปคุยหรือขอความรู้จากผู้ใหญ่ เพราะในช่วงวัยที่ต่างกัน เด็กๆอาจลืมการไหว้หรือหางเสียง รวมทั้งน้ำเสียงที่แสดงความเคารพในประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ในขณะชีวิตวัฒนธรรมของผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่นั้นเป็นความผูกพันกับขนบประเพณี สิ่งง่ายๆตรงนี้จะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นความคุ้นเคยและผูกพันกันอีกครั้ง ความเป็นท้องถิ่นจึงมีโอกาสส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นใหม่ในอนาคต และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เด็กๆเหล่านี้ก็จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างมี ‘รากแก้ว‘ ที่่มั่นคง
ในกิจกรรมนี้ เด็กๆจากอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์ ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘รักษ์เชียงของ’ หลังจากได้รับคู่มือและอบรมวิธีการการเก็บและจัดการ ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่า’ แล้ว จึงเข้าสู่ช่วงปฏิบัติการ ส่วนเด็กๆกลุ่มอื่นก็ได้รับภารกิจลักษณะเดียวกัน พอดีผู้เขียนรับเป็นที่ปรึกษาให้เด็กจากภูพาน จึงขอเอาข้อสังเกตการทำงานของเด็กๆกลุ่มนี้มาเล่าต่อ
เนื่องจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้แตกต่างจากการทำงานจริงที่ทำงานในพื้นที่ซึ่งเป็นท้องถิ่นของตนเอง เพราะเป็นการเก็บข้อมูลแบบ ‘ข้ามวัฒนธรรม’ (ซึ่งยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง) สิ่งที่เด็กๆเริ่มต้นก็คือการล้อมวงปรึกษา การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์ ขั้นแรก คือ การหาข้อมูลเบื้องต้นเรื่องของครูตี๋และพื้นที่เชียงของ โดยขอให้เพื่อนที่มาจากเชียงของมาเล่าภาพรวมให้ฟัง จากนั้นจึงปรึกษากันเพื่อเลือกประเด็นคำถามที่จะไปถาม แบ่งงานเพื่อวางตัวคนสัมภาษณ์หลัก รอง คนบันทึกเทปทำหน้าที่จดประเด็นตามเวลา และอื่นๆ สุดท้ายจึงให้เพื่อนส่วนหนึ่งไปนัดขอสัมภาษณ์ครูตี๋
เมื่อถึงเวลานัด บรรยากาศแรกที่ต้องพูดคุย เด็กๆยังดูขัดเขิน มองหน้ากันเองบ้าง ครูตี๋จีึงเป็นฝ่ายเริ่มต้นด้วยการถามเด็กๆก่อนว่า “บ้านอยู่ไหนกัน ?”
“บ้านสร้างค้อค่ะ” นิดตอบ
ครูตี๋จึงถามต่อว่ามาจากชื่อต้นไม้ใช่ไหม ทุกคนพยักหน้าและบอกว่าใช่ ถึงตรงนี้จึงเริ่มเป็นกันเอง เด็กๆได้โอกาสเริ่มถามคำถามแรกว่า “แล้วที่เชียงของ บ้านของครูตี๋มาจากอะไร” ก็ได้รับตอบว่ามาจากแม่น้ำโขง จากนั้นคำถามจึงเริ่มไหลไปเรื่อยๆ ครูตี๋ก็เล่าเรื่องอย่างสนุก จากวงคุยที่หลวมห่างตอนแรกก็กลายเป็นวงคุยที่ล้อมเข้ามาหดกระชับเข้ามาใกล้ขึ้น ผมนั่งฟังจนเด็กๆสัมภาษณ์เสร็จ เวลาที่เป็นชั่วโมงๆรู้สึกเหมือนหดสั้นเหลือนิดเดียว ก่อนแยกย้ายครูตี๋บอกว่าบรรยากาศแบบนี้แหล่ะคือการพูดคุยกันสำเร็จแล้ว
มูลนิธิวางโจทย์ให้เด็กๆนำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอเพื่อนๆกลุ่มอื่น ดังนั้น จึงต้องมี การจัดการข้อมูลหลังสัมภาษณ์ ฝ่ายบันทึกเทปทวนการจับประเด็นทั้งหมดที่ได้มาให้เพื่อนๆฟังราวสิบหัวข้อ จากนั้นจึงนำมาแบ่งเป็นหมวดต่างๆ ตั้งแต่ ประวัติส่วนตัวของครูตี๋ตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบัน สภาพแวดล้อมของเชียงของในอดีตและการเปลี่ยนแปลง งานที่กลุ่มครูตี๋ทำ เป็นต้น เด็กๆได้ปรึกษาทบทวนโจทย์อีกครั้งเพื่อเลือกประเด็นจากการสัมภาษณ์มานำเสนอให้ตรงที่สุด นั่นคือ การบอกเล่าถึง ‘เชียงของ’ ผ่านคำบอกเล่าและชีวิตของครูตี๋ สุดท้ายจึง เลือกเอาข้อมูลตามโจทย์มาออกแบบการนำเสนอเป็น Power Point
ผลการนำเสนอ สัมภาษณ์ ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว โดยกลุ่มเด็กๆบ้านสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
ครูตี๋ เป็นคนเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้ชีวิตวัยเด็กเหมือนเด็กต่างๆจังหวัดทั่วไป คือ ต้องไปโรงเรียน แต่ก็ต้องช่วยพ่อแม่ เช่น ทำนา ก่อนไปโรงเรียนต้องเอาควายไปผูก ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงดำนาและเกี่ยวข้าว ครูตี๋มีความผูกพันกับควายและแม่น้ำโขงมาก แม่น้ำโขงเป็นทั้งน้ำกิน น้ำใช้ เส้นทางสัญจร รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารที่หาได้ง่ายๆ แต่ปัจจุบันขนาดคนที่หาปลาเก่งที่สุดยังหาปลายาก ครูตี๋เรียนในเชียงของจนกระทั่งจบ มศ. ๓ จึงออกจากหมู่บ้านไปเรียนในเชียงราย และจบปริญญาตรีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลังเรียนจบไปเป็นครูบนดอย และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เห็นอะไรมากขึ้น เช่น ความลำบากของชาวบ้านที่รัฐดูแลไม่ถึง ความเป็นครูดอยครูหลายๆอย่างสำหรับชาวบ้าน ครั้งหนึ่งต้องเห็นนักเรียนตายต่อหน้าต่อตาเพราะพ่อแม่ของเด็กอยากให้อยู่ด้วย รถก็ไม่มีในการพาลูกศิษย์ลงมาหาหมอ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาไร้สัญชาติ ความกันดารและห่างไกลของดอยในอดีตทำให้บางครั้งครูตี๋ต้องเดินไปไกลถึง ๑๗ กิโลเมตร
ต่อมา ครูตี๋ลาออกจากการเป็นครูเพราะความขัดแย้งทางความคิด โดยเฉพาะเรื่องที่ทางภาครัฐบังคับให้เด็กต้องเรียนและพูดภาษาไทยเท่านั้น ครูตี๋มองว่าเป็นการกดขี่ทางการศึกษาแบบหนึ่ง
หลังลาออกครูตี๋กลับเชียงของและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อท้องถิ่นครูตี๋กับเพื่อนพูดคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงในเชียงของ กลายเป็นที่มาของการตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ งานแรกคือการซื้อชีวิตต้นไม้บนดอย ต่อมาเมื่อมีสถานการณ์การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนาดใหญ่สัญจรได้สะดวก กลุ่มรักษ์เชียงจึงออกมาคัดค้านอย่างจริงจัง เนื่องจากเกาะแก่งเหล่านี้คือวังปลา และเป็นที่ขึ้นของไกหรือสาหร่ายน้ำจืดที่เป็นแหล่งอาหารของทั้งคนและสัตว์ นอกจากนี้ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลแรง เกาะแก่งเหล่านี้จะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลแรงจนเซาะตลิ่งให้พังไปหมด
สำหรับหัวใจในการทำงานของกลุ่มคือการสนับสนุนให้มีงานวิจัยของชาวบ้าน ถือเป็นอาวุธที่จะเอาไว้สู้กับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเข้ามาใน เชียงของ จังหวัดเชียงราย |
ในการอบรมครั้งนี้ ยังมีส่วนของการบรรยายเรื่อง ‘ความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องประวัติศาสตร์สังคมและภูมิวัฒนธรรม’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ขณะนี้ไทยเป็นศูนย์กลางที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของโลกาภิวัตน์ โจมตีที่ว่าคือการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งการที่เราจะอยู่ได้ต้องรวมกันโดยตัดเรื่องเขตเศรษฐกิจการเมืองออกไป เช่น คนลุ่มน้ำโขงก็ต้องรวมกัน ถ้าไม่รวมตัวคนลาว เวียดนาม พม่า คนข้างล่างแย่แน่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการ ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ เด็กที่ต้องรักถิ่น เพราะเด็กคืออนาคตนั่นเอง
สำหรับกระบวนการที่แต่ละท้องถิ่นสามารถกลับไปทำได้ อาจารย์ศรีศักร กล่าวว่า อันดับแรกคือ ต้องฟื้นประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์จากข้างล่าง ซึ่งมองเห็นคน เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมก่อน คือ รู้ว่าปู่ย่าตายายเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องพวกนี้ไม่มีในเอกสาร จึงต้องมาใช้ประวัติศาสตร์มาจากการบอกเล่า เล่าจากปากต่อปาก เอาข้อมูลทางวัฒนธรรมตรงนี้มา เพราะมันจะรวมไปถึงเศรษฐกิจการเมืองในท้องถิ่นนั้นด้วย ประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นเรื่องที่ ‘คนใน’ รู้กันเอง และเป็นความรู้จากการใช้ชีวิตร่วม ซึ่งจะเป็นความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการต่อรองที่เรียกว่า ‘ประชาพิจารณ์’ เช่นจะรัฐจะเอาอะไรเข้ามาสร้างบนพื้นที่สาธารณะในท้องถิ่น ข้อมูลชุดนี้จะต่อรองกับสิ่งที่มาจากข้างนอกซึ่งไม่เพียงรัฐเท่านั้นแต่เป็นโลกาภิวัตน์ด้วย
ในรายละเอียดของการทำข้อมูล อาจารย์กล่าวว่า ต้องรู้จักภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม ชีวิตวัฒนธรรม และผู้นำวัฒนธรรม แล้วนำมาถกวิเคราะห์กระแสจากข้างนอกที่เข้ามา เบื้องต้นควรทำสาแหรกของคนเฒ่าคนแก่ไว้ จะได้เห็นว่า ใคร คนไหนเข้ามาใหม่ เป็นความรู้ที่เราต้องรู้ จะได้วิจารณ์ว่า รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นอย่างไร มีอะไรมากระทบ เขาจัดการอย่างไร แล้วรุ่นเราเป็นอย่างไร
งานวันเล็ก - ประไพ รำลึก และการอบรมจบลงแล้ว นอกจากการนำเสนอของเด็กๆจากภูพาน เรายังได้รับฟังผลการสัมภาณ์ของเด็กๆกลุ่มอื่นๆ โดยสะท้อนมุมมองต่อการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกันไป เช่น บางกลุ่มนำเสนอข้อมูลผู้สัมภาษณ์ในลักษณะ Life history หรือชีวประวัติแบบเกิดและเติบโตทำอะไรที่ไหน แต่งงานเมื่อไหร่ บางกลุ่มอาจพูดถึงงานที่พูดสัมภาษณ์ทำ เช่น ประวัติศาสตร์ของตลาดร้อยปีสามชุก หรือบางกลุ่มอาจเน้นไปที่ข้อมูลชุมชนทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เช่น การนำเสนอข้อมูลจากชุมชนเวียงสระที่มีโบราณสถานเวียงสระ สุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ผลของการปฏิบัติการอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเท่ากับการได้ฝึกฝนทดลองเพื่อเก็บเอากระบวนวิธีการทำงานจากหลายๆแบบของหลายๆกลุ่มรวมทั้งแนวคิดจากการอบรมไปใช้จริงในท้องถิ่นของตน นอกจากนี้ เด็กๆยังได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม รวมทั้งยังภูมิใจที่ได้เอาสิ่งดีๆของบ้านตัวเองมาโชว์กัน อย่างน้อยก็เพื่อประสานให้ความแตกต่างเหล่านั้นกลายเป็น ‘ชาติภูมิ’ ที่ทุกใบหน้าแห่งความแตกต่างสามารถเป็นเพื่อนที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันได้จริงๆในอนาคต.