หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ทัศนศึกษาจร ครั้งที่ 2
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 30 ม.ค. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 6661 ครั้ง


มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดทริปพิเศษเพื่อการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น

 

 

ไหว้พระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์และชมวัดสมัยอโยธยา-สุพรรณภูมิ

ที่ จ.สุพรรณบุรี และแพรกศรีราชา จ.ชัยนาท


เมื่อวันที่  ๑๙  มกราคม  ๒๕๕๑

สุพรรณภูมิ - แพรกศรีราชา : เมืองที่เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองแพรกศรีราชา

 

                          ความเป็นชาติไทยหรือประเทศไทยที่มีขอบเขตดินแดนแน่ชัดในปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในระยะเวลาไม่เกินกว่าศตวรรษที่ผ่านมา แต่ได้ก่อเกิดผลที่ตามมาจากความต้องการสร้างรัฐชาติไทยในหลากหลายทาง รวมถึงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยในรูปแบบที่แสดงถึงพัฒนาการมายาวนาน โดยผ่านความสืบเนื่องและยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ไทยฉบับมาตรฐานที่อยู่ในสำนึกของคนไทยทั่วไปตราบจนปัจจุบัน

 

                            ก่อให้เกิดภาพประวัติศาสตร์ไทยที่หยุดนิ่งและมีความเข้าใจอย่างผิดๆ เพราะไม่สามารถอธิบายพัฒนาการของบ้านเมืองก่อนหน้ากรุงสุโขทัยที่มีบทบาทอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มบ้านเมืองในล้านนาทางเหนือ กลุ่มอำนาจในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (สุพรรณภูมิ อโยธยา) ทางตอนกลาง กลุ่มนครศรีธรรมราช ปัตตานี ในคาบสมุทรมลายูทางตอนบนและใต้ ซึ่งต่างมีทั้งความสัมพันธ์และแก่งแย่งอำนาจระหว่างกัน เป็นประวัติศาสตร์ที่มีพลวัตรอยู่เสมอ

 

สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือน

                           สุพรรณภูมิ เป็นชื่อเมืองและราชวงศ์ของกษัตริย์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ก่อนการสถาปนาพระนครศรีอยุธยา ชื่อเมืองนี้ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตีความว่าเป็นเมืองอู่ทองในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และสัมพันธ์กับพระเจ้าอู่ทองที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งอพยพผู้คนหนีโรคระบาดจากเมืองนี้ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อมีการชำระประวัติศาสตร์และปรากฏจารึกสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามราชาธิราช (พ.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๒) ที่วัดส่องคบ ชัยนาท ระบุว่าเมืองสุพรรณภูมิเป็นเมืองใหญ่คู่กับศรีอโยธยา ทำให้ทราบว่าเมืองนี้มิได้ร้างไปและสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว สุพรรณภูมิจึงมิใช่เมืองอู่ทอง และจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พบว่า บริเวณเมืองสุพรรณบุรีซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสุพรรณบุรีนั้น มีเมืองโบราณสร้างทับกันอยู่ บริเวณเมืองเก่าคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้ตัวเมืองมีขนาดใหญ่และเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำผ่ากลาง ส่วนเมืองรุ่นหลังนั้นอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพียงด้านเดียว โดยเห็นคูน้ำและแนวกำแพงชัดเจน เมืองรุ่นหลังนี้ก็คือ เมืองสุพรรณบุรี ส่วนเมืองเก่าในพื้นที่เดียวกันมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ คล้ายกับเมืองโบราณอื่น ๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี และแพรกศรีราชา อีกทั้งยังพบโบราณวัตถุร่วมสมัยแบบเดียวกันด้วย เมืองสุพรรณภูมิที่จารึกกล่าวว่าเป็นเมืองคู่มากับศรีอโยธยาและสืบเนื่องต่อมา ก็น่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองสุพรรณบุรีที่มีขนาดเล็กลง

 

                           ความสัมพันธ์ของสุพรรณภูมิกับอโยธยาที่ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา แม้จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติทางการแต่งงานระหว่างพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑) กับพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งสุพรรณภูมิ แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อความอีกหลายแห่งที่แสดงถึงความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทั้งการชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระราเมศวร (พระโอรสพระเจ้าอู่ทอง) ของขุนหลวงพ่องั่วหลังพระเจ้าอู่ทองสวรรคต หรือสมเด็จพระราเมศวรเข้ายึดอำนาจจากสมเด็จพระทองลัน (พระโอรสขุนหลวงพะงั่ว) และเจ้านครอินทร์ (พระราชนัดดาของขุนหลวงพะงั่ว) แย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระรามราชาธิราช แล้วขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแทน ทำให้สุพรรณภูมิกับอยุธยา (อโยธยา) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในที่สุด

 

                            แพรกศรีราชาเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกกรุงสุโขทัย หลักที่ ๑ และในเอกสารโบราณอื่น ๆ ต่อมาในสมัยหลังชื่อเมืองนี้เลือนหายไป แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเมืองนี้ก็คือ เมืองสรรค์บุรี ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำน้อยในเขตจังหวัดชัยนาทนั่นเอง จากการศึกษาค้นคว้าจากภาพถ่ายทางอากาศของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เกี่ยวกับลักษณะผังเมืองและตำแหน่งที่ตั้งของเมืองโบราณแพรกศรีราชา พบว่า

 

                           “ เมืองแพรกศรีราชามีลักษณะผังเมืองที่ซับซ้อน แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ต่อเนื่องมานาน มีลำแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองทางด้านเหนือและด้านตะวันออก มีลำน้ำเก่าตัดผ่านบริเวณกลางเมืองไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ตัวเมืองมีลักษณะแบ่งแยกเป็นเมืองอกแตกหรือกลายเป็นสองเมืองแยกกันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นในการออกสำรวจดูลักษณะเมืองจึงแบ่งบริเวณเมืองออกเป็น ๒ บริเวณ คือ บริเวณเมืองทางด้านเหนือและบริเวณด้านใต้

 

                          “ บริเวณเมืองด้านเหนือมีอาณาเขตแต่บ้านวังทอง ซึ่งอยู่ทางใต้ของโรงเรียนโพธารามลงมา ในเขตบ้านแพรกศรีราชามีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างไม่สม่ำเสมอ ประมาณขนาดได้ราว ๑,๔๕๐ x ๑,๔๐๐ เมตร ใช้ลำแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองด้านเหนือ ด้านตะวันออกและด้านใต้มีร่องของคูน้ำและแนวคันดินที่ลบเลือน แยกออกจากลำแม่น้ำน้อยขนานไปกับลำแม่น้ำน้อยและลำน้ำเก่า ซึ่งไหลผ่านตอนใต้ของบริเวณเมืองไปบรรจบกับคูเมืองด้านตะวันตก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลำคลอง และมีลำน้ำคลองใต้กับคลองลำนาไหลมาแต่ทางตะวันตกมาบรรจบด้วย บริเวณเมืองด้านนี้พื้นที่ส่วนมากถูกเกลื่อนราบเพื่อเอาเนื้อที่ทำนาปลูกข้าว มีโคกเนินที่เป็นวัดอยู่ ๒-๓ แห่ง แต่ที่เหลือให้เห็นเป็นลักษณะเจดีย์มีอยู่แห่งเดียว คือที่เรียกว่า วัดตะโหนดไหล ลักษณะพระเจดีย์เป็นแบบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัว คล้าย ๆ กับที่พบในเมืองสุโขทัย ตามเชิงดินบางแห่งมีเศษเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องเคลือบสังคโลกแบบสุโขทัย อันบริเวณเมืองทางด้านเหนือนี้ถ้าหากพิจารณาว่าเป็นเมืองเก่าอีกเมืองหนึ่งแล้ว ชวนให้คิดไปได้ว่า คือเมืองแพรกศรีราชาที่มีกล่าวถึงในศิลาจารึกกรุงสุโขทัย หลักที่ ๑ นั่นเอง....

                         “ ส่วนบริเวณเมืองด้านใต้อยู่ในเขตบ้านหัวเมือง ซึ่งอยู่ต่ำจากลำน้ำเก่าที่ ไหลผ่านกลางเมืองไปทางตะวันตก ใช้ลำแม่น้ำเก่าเป็นคูเมืองด้านเหนือ ลำแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองด้านตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกและด้านใต้มีคูน้ำและคันดินที่ยังเหลือร่อยให้เห็นได้ชัดกว่าบริเวณอื่นๆ กำแพงและคูเมืองเริ่มแต่ริมน้ำเก่า ตอนกลางเป็นคลองควายผ่านคันชลประทานไปจดบริเวณตรงข้ามหน้าวัดพระแก้ว แล้ววกขึ้นเหนือไปบรรจบกับลำน้ำน้อย บริเวณเมืองตอนนี้มีขนาด ๒,๒๐๐ x ๘๐๐ โดยประมาณ พื้นที่ส่วนมากได้ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ทำการอำเภอ ตลาด และบ้านเรือราษฎร แต่ทว่ายังคงมีวัดโบราณเหลืออยู่หลายวัดมากกว่าบริเวณเมืองด้านเหนือ วัดบางวัดได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา เช่น วัดมหาธาตุ (หรือวัดมหาธาตุเมืองสรรค์) ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำน้อย และวัดพระแก้วซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับกำแพงเมืองด้านใต้ ... ” (ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๑๗,กันยายน). แพรกศรีราชาหรือสรรค์บุรี. วารสารเมืองโบราณ . ๑ (๑) : ๔๑ – ๔๖.) 

 

                         จากลักษณะที่ตั้งตลอดจนคูน้ำคันดินเปรียบเทียบบริเวณเมืองด้านเหนือกับด้านใต้แล้ว พบว่าบริเวณด้านใต้มีความสืบเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ เป็นไปได้ว่ามีการทิ้งเมืองทางด้านเหนือมาใช้ทางด้านใต้แทน และมีการขยายตัวเมืองออกไปครอบคลุมอีกฝั่งหนึ่งของลำแม่น้ำน้อยในสมัยหลังลงมาด้วย เมื่อพิจารณาศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่พบในเมืองแพรกศรีราชาพบว่า เมืองนี้ต้องสร้างก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาและมีความเจริญในสมัยเดียวกับเมืองสุพรรณภูมิ เมืองลพบุรี เมืองสุโขทัย และเมืองอโยธยา โดยเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของแคว้นสุพรรณภูมิ และเมื่อสุพรรณภูมิกับอโยธยาร่วมกันสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น ก็ยังคงสถานะเป็นเมืองลูกหลวงอยู่ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศวดารกรุงศรีอยุธยาว่า พระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีการส่งพระโอรสออกไปครองเมืองแพรกศรีราชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งสมเด็จพระนครินทราธิราชที่โปรดให้เจ้ายี่พระยา พระโอรสองค์ที่ ๒ ไปครองเมืองแพรกศรีราชา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)   ก็ปรากฏเรื่องราวในพระราชพงศาวดารว่า โปรดให้พระโอรสที่มีนามว่าพระยาแพรกไปครองเขมร

 

                           อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งเชื้อพระวงศ์ออกไปครองเมืองเป็นธรรมเนียมการปกครองในระบบเมืองลูกหลวงหรือหลานหลวง แต่สำหรับกรณีของแพรกศรีราชาแล้วสังเกตได้ว่า ทางอยุธยาเลือกส่งพระโอรสพระองค์ต้นออกไปครองเมือง ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นธรรมเนียมที่ติดมาตั้งแต่ครั้งสุพรรณภูมิ อาจด้วยแพรกศรีราชาเป็นเมืองซึ่งตั้งตรงอยู่ชายขอบรอยต่อทางอำนาจระหว่างสุพรรณภูมิ อโยธยา สุโขทัย ถึงสมัยต่อมาสุพรรณภูมิได้รวมกับอโยธยาแล้ว แต่สุโขทัยก็ยังเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งอยู่ จนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่กรุงศรีอยุธยาสามารถผนวกสุโขทัยเข้ามาได้แล้ว เมืองแพรกศรีราชาก็หมดสภาพเป็นเมืองลูกหลวง กลายเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ราชธานีไป

 

 แหล่งเรียนรู้ทัศนาศึกษาจร สุพรรณบุรี - ชัยนาท

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-พระบรมธาตุแห่งราชาผู้ทรงบุญบารมี

 

 

พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

                          คติการบูชาพระบรมธาตุในบ้านเมืองแถบนี้ เป็นคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทในฐานะสิ่งรำลึกถึงพระพุทธองค์ มีการสร้างพระสถูปหรือพระเจดีย์เพื่อใช้บรรจุหรือที่เรียกว่าพระบรมธาตุเจดีย์ โดยในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระบรมธาตุเจดีย์มีความสำคัญในฐานะของสถานที่จาริกแสวงบุญของนักบวชที่เดินทางเข้าสักการะ ภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระบรมธาตุเจดีย์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงความหมายไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพิ่มมากขึ้น ทั้งการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นศูนย์กลางของเมือง และรับรองสถานะของผู้ครอบครองว่าเป็นผู้ที่มีบุญบารมีเหนือกว่าคนทั่วไปหรือผู้ปกครองคนอื่นๆ โดยช่วงเวลาดังกล่าวมี วัดมหาธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เกิดขึ้นอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีลักษณะร่วมกันอยู่ดังนี้

 

 

๑. เป็นวัดกลางเมืองที่ดูใหญ่โตสำคัญกว่าวัดอื่นๆ มีพระมหาสถูปเจดีย์เป็นประธานอย่างสง่างาม

 

๒. มีการสืบเนื่องกันนานกว่าวัดอื่นๆ ดังเห็นได้จากพระมหาธาตุเจดีย์เองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ภายในบริเวณพุทธวาสมีการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์วิหารหรือโบสถ์เพิ่มเติมเรื่อยมา จนระยะหนึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากมายหลายรูปแบบอยู่รวมกันอย่างสืบเนื่อง

 

๓. มักมีการเขียนตำนานหรือสร้างตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมธาตุ และประวัติของเมืองของนครควบคู่กันไป จนทำให้รู้สึกว่าพระบรมธาตุหรือวัดมหาธาตุเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเมือง เป็นของที่คู่กันถ้ามีเมืองก็ต้องมีวัดมหาธาตุ เหมือนกันกับการมีชุมชนหมู่บ้านที่เรียกว่าบ้านนั้นต้องมีวัดเสมอ และวัดนั้นก็มักใช้ชื่อบ้านเป็นชื่อวัด ในขณะที่วัดมหาธาตุจะถูกเรียกว่า วัดมหาธาตุเมืองนั้นเมืองนี้เช่นกัน (ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๔๖) : ๙๐)

 

 

                          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี จึงสะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่ง (บุญบารมี) ของผู้ปกครองเมืองสุพรรณภูมิในอดีต จากการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่าที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นใจกลางของเมืองสุพรรณภูมิเดิมก่อนที่มีการย้ายเมืองไปอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน

 

 

                      พระปรางค์มีรูปทรงอ้วนเทะอะมากกว่าปรางค์วัดราชบูรณะในสมัยอยุธยา อีกทั้งการก่ออิฐก็ไม่สอปูน ซึ่งบ่งชี้ว่าน่าจะมีอายุสมัยสุพรรณภูมิ แต่มาบูรณะในสมัยอยุธยา และจากการขุดค้นในองค์ปรางค์ยังพบพระพุทธรูปอู่ทองจำนวนมาก

 

 

 เกร็ดเรื่องราวพระผงสุพรรณ

 

 

                       สำหรับบรรดานักสะสมพระเครื่องแล้ว ย่อมรู้จักวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอย่างดี ในฐานะกรุที่มาของ “ พระผงสุพรรณ ” หนึ่งในชุดพระเบญจภาคีเลื่องชื่อ จุดเริ่มต้นของการค้นพบกรุพระผงสุพรรณมาจากการที่มีชาวบ้านแอบลงไปค้นหาของมีค่า เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นพากันเข้าไปขุดค้น จนความทราบไปถึงทางราชการจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดกรุพระปรางค์วัดศรีรัตนมหาธาตุอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ได้สิ่งของมีค่าจำนวนมากรวมทั้งพระผงสุพรรณด้วย กระทั่งเมื่อริเริ่มมีการจัดหมู่พระเครื่องเบญจภาคี ซึ่งประกอบไปด้วยพระสมเด็จวัดระฆัง พระซุ้มกอ (กำแพงเพชร) พระรอด (ลำพูน) พระนางพญา (พิษณุโลก) พระผงสุพรรณ (สุพรรณบุรี) ก็ได้ทำให้ความนิยมและมูลค่าของพระผงสุพรรณ ตลอดจนพระเบญจภาคีอีกสี่องค์สูงขึ้นอย่างมาก

 

 ศิลปะสุพรรณภูมิ - อโยธยา (อู่ทอง) ที่แพรกศรีราชา

                       จากตำแหน่งที่ตั้งของแพรกศรีราชาที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนของสามแคว้น คือ แคว้นสุโขทัยทางเหนือ แคว้นอโยธยาหรือละโว้ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ และแคว้นสุพรรณภูมิทางด้านตะวันตกและด้านใต้ จึงพบการผสมผสานของศิลปกรรมแบบลพบุรี อู่ทอง และสุโขทัย ที่แพรกศรีราชาได้รังสรรค์ขึ้นมาเป็นแบบของตัวเองซึ่งไม่พบในเมืองอื่น ๆ ซึ่งรู้จักกันในนาม ศิลปะอู่ทอง หรือสุพรรณภูมิ-อโยธยา อันเป็นศิลปะก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

 

 พระปรางค์กลีบมะเฟืองวัดมหาธาตุ เมืองแพรกศรีราชา

 

วัดมหาธาตุ เมืองแพรกศรีราชา

 

                       วัดมหาธาตุหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามของวัดหัวเมืองหรือวัดศีรษะเมือง วัดมหาธาตุมีลักษณะที่ตั้งที่แตกต่างจากวัดสำคัญในเมืองอื่นๆ คือ ไม่ได้ตั้งอยู่กลางเมือง หากกลับตั้งอยู่หน้าเมืองชิดกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก จากรูปแบบศิลปะทำให้มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอโยธยาและได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา สิ่งน่าสนใจภายในวัดมหาธาตุอยู่ที่พระปรางค์ทรงมะเฟืองบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งมีความเพรียวระหงคล้ายปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุ ลพบุรี เป็นลักษณะศิลปะอู่ทองตอนปลาย บนองค์ปรางค์มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ทำด้วยปูนปั้น มีลักษณะแบบบางสะโอดสะอง และที่เชิงกลีบมะเฟืองขององค์ปรางค์มีเทพพนมประดับ นอกจากนี้หมู่เจดีย์รายข้างพระวิหารยังแสดงถึงศิลปะอู่ทองที่โดดเด่น คือ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม มีฐานซ้อนเป็นชั้น ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระยืนแปดทิศในซุ้มเรือนแก้วโค้ง แบบเดียวกับเจดีย์รายวัดมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ ว่า เหมือนถอดพิมพ์เดียวมาจากเจดีย์ในถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี

 

วัดสองพี่น้อง

 

 

                      เป็นวัดใหญ่ เหลือให้เห็นแต่พระปรางค์และพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งองค์ปรางค์มีรูปทรงและลวดลายเครื่องประดับและพระพุทธรูปประจำซุ้มทิศแบบอู่ทองหรืออโยธยาอย่างแท้จริง

 

วัดพระแก้ว เมืองสรรค์บุรี

 

 

สถูปเจดีย์ วัดพระแก้ว เมืองสรรค์บุรี

                          ที่สำคัญคือ องค์สถูปเจดีย์ในรูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบปาละของอินเดีย มีลักษณะเด่นคือฐานเป็นสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นสามเป็นทรงแปดเหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังต่อยอดด้วยเจดีย์ทรงกรวยกลม ในแต่ละชั้นจะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ทั้ง ๔ ทิศ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ บรมครูทางด้านศิลปะไทยถึงกับยกย่องว่า สถูปวัดพระแก้วเมืองสรรค์บุรีเป็นราชินีแห่งเจดีย์ในประเทศไทย

 

วัดพระบรมธาตุวรวิหารและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี

 

 

                     วัดพระบรมธาตุวรวิหารเป็นโบราณสถานสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา แล้วมาซ่อมแซมภายหลัง เพราะจากหลักฐานศิลาจารึกที่อยู่ติดกับฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุเจดีย์ กล่าวถึงการเฉลิมฉลองบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สิ่งสำคัญภายในวัด คือ องค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุศิลปะอู่ทอง มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมลดระดับขึ้นไปต่อกับระฆังคว่ำ และทั้งสี่ด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก และยังมีเจดีย์เล็กจิ๋วประดับอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุคล้ายกับเจดีย์แบบศรีวิชัย ภายในองค์เจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมาแต่โบราณ

 

 

พระพุทธรูปที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชัยนาทมุนี

                         สถานที่น่าสนใจอีกแห่งในบริเวณวัด ก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากการที่พระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหารได้ริเริ่มเก็บรักษารวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุจำนวนมากที่พบอยู่ในจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียงมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด ต่อมาพระชัยนาทมุนีได้มอบโบราณวัตถุศิลปวัตถุทั้งหมดให้กับกรมศิลปากรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ กรมศิลปากรจึงได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ของวัดบรมธาตุวรวิหาร และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่พระชัยนาทมุนี โดยสร้างอาคารและจัดแสดงแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ใน พ.ศ. ๒๕๑๒

 

 ความละเอียดอ่อนในรูปแบบการก่อสร้างสุพรรณภูมิ - อโยธยา

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำกล่าวถึงเทคนิคการก่อสร้างเจดีย์ในสุพรรณภูมิ – อโยธยา ซึ่งมีความละเอียดอ่อนอย่างน่าสนใจ ความว่า

 

                    ...การก่อสร้างใช้ขนาดอิฐขนาด ๑๕ x ๓๐ x ๗ ที่ฝนจนหน้าสัมผัสเรียบ ใช้วิธีสอด้วยดินผสมยางไม้ อิฐต่อกันแนบสนิท นับว่าเป็นวิธีการก่อสร้างชั้นสูง เมื่อเทียบกับศิลปะการก่อสร้างรุ่นหลังเช่นสมัยอยุธยาจะเห็นข้อแตกต่างกันมาก การก่ออิฐสมัยอยุธยามักสอปูนหนา บางแห่งหนาเกือบเท่าความหนาของแผ่นอิฐ เท่าที่ข้าพเจ้าตรวจสอบจากสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย พบว่าทุกแห่งสอปูนหนาประมาณ ๑ – ๓ เซนติเมตร ต่างจากสมัยอยุธยาตอนต้นอิฐจะปั้นได้ขนาดมาตรฐานเรียบร้อยกว่าสอปูนก็บางกว่าสมัยตอนปลาย...ก่ออิฐแนบสนิทประณีตมาก พิจารณาอย่างใกล้ชิดแล้วรู้สึกว่าคล้ายไม่สอเลยด้วยซ้ำไป ที่น่าพิศวงคือดินที่ใช้สอผสมกับยางไม้นั้นมีประสิทธิภาพเหนียวและคงทนอย่างยอดเยี่ยม...คงต้องใช้แบบและเสาไม้ยันรับน้ำหนัก เมื่ออิฐติดกันดีแล้วจึงเอาแบบออกปรากฏว่าอิฐเชื่อมกันสนิทอย่างมหัศจรรย์...(น. ณ ปากน้ำ. (๒๕๑๗,กันยายน). สรรค์บุรีนครแห่งความฝัน. วารสารเมืองโบราณ . ๑(๑) : ๔๙ – ๕๖.)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 อ้างอิง

กรมศิลปากร. (2542ข). พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ. ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. หน้า 210 – 233. กรุงเทพฯ : กรมฯ.

_______ . (2542ค). ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่ ๑). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. หน้า 1 – 34. กรุงเทพฯ : กรมฯ.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. (๒๕๔๒). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดชัยนาท . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

_______ . (๒๕๔๒). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุพรรณบุรี . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

จิตร ภูมิศักดิ์. (๒๕๔๗). สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา . กรุงเทพฯ : โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์ ชุดประวัติศาสตร์.

ธิดา สาระยา. (๒๕๓๗). รัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กำเนิดและพัฒนาการ . กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

น. ณ ปากน้ำ. (๒๕๑๗,กันยายน). สรรค์บุรีนครแห่งความฝัน. วารสารเมืองโบราณ . ๑(๑) : ๔๙ – ๕๖.

_______ . (๒๕๓๗). ศิลปะโบราณในสยาม . กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๑๗,กันยายน). แพรกศรีราชาหรือสรรค์บุรี. วารสารเมืองโบราณ . ๑(๑) : ๔๑ – ๔๖

_______ . (๒๕๓๔). สยามประเทศ : ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม . กรุงเทพฯ : มติชน.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี. (๒๕๔๕). ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีกำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี . กรุงเทพฯ : กรมศิลปกร

อัพเดทล่าสุด 30 ม.ค. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.