การเข้าร่วมโครงการอบรมปฏิบัติการประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ สมุทรปราการ ระหว่างวันที่ ๑๐–๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาทำให้กลุ่มเยาวชนผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดสกลนครได้รับความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มที่ทำงานในท้องถิ่นต่างๆ ได้รับฟังการบรรยายทางวิชาการจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน การที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในครั้งนี้ยังทำให้ได้รับทราบรูปแบบวิธีคิดและกระบวนการทำงานของกลุ่มที่ทำงานในท้องถิ่นต่างๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังได้รับฟังเรื่องราวของวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีซึ่งไม่เคยรู้ไม่เคยได้รับฟังมาก่อนซึ่งท่านวิทยากรก็ได้ให้แนวคิดและวิธีการเขียนมามากทีเดียว
อย่างไรก็ตามกลุ่มของเรา เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ถือว่าเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นใหม่ การที่ได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จึงเป็นการมาเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมไปถึงการบอกเล่าถึงปัญหาในการจัดการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลงพื้นที่เพื่อการศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นของตนเอง
ทั้งนี้ก่อนการเข้าร่วมอบรมทางกลุ่มก็ได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายของ คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์บ้างแล้ว การรับฟังในครั้งนั้นก่อให้เกิดกระบวนการคิดให้กับกลุ่มในการทำงานที่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้วย
การจัดโครงการของมูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ ในครั้งนี้จึงเป็นการให้โอกาสกับกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการและรูปแบบวิธีการศึกษาและการเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อจะนำไปปรับใช้แก้ปัญหาในการจัดสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง การศึกษาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน จัดเป็นการศึกษาแต่เฉพาะที่มาจากส่วนกลางโดยเรียนรู้เรื่องราวของการสร้างชาติเท่านั้น หากแต่เรื่องราวซึ่งนำมาสู่ตัวตนของความเป็นชุมชนที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้รับการเหลียวแลและมักจะขาดการบอกเล่า จนจางหายไปจากความทรงจำของคนในชุมชน
การที่ทางกลุ่มของเราได้เข้าร่วมบอกเล่าปัญหาและแลกเปลี่ยนเรื่องราววิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนนั้น เป็นผลดีต่อพัฒนาการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองอย่างยิ่ง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะได้เรียนรู้ตัวตนของตนเอง อย่างไรก็ตามการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำความรู้จากการอบรมมาใช้ในท้องถิ่นของตนเองในด้านแนวคิดและวิธีการศึกษาท้องถิ่นของตนเอง
การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้วิธีคิดและแนวทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ปลุกกระแสในการสร้างสำนึกการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในจังหวัดสกลนครมาก่อนแล้ว การบรรยายของท่านได้สอดแทรกแนวคิดและกระบวนการวิธีการทำงานด้านประวัติศาสตร์ได้เป็นที่น่าสนใจได้เป็นอย่างดี และอีกท่านหนึ่งคือ คุณสุดารา สุจฉายา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ บรรยายเรื่องของการเขียนบทนิทรรศการจากข้อมูลที่มีอยู่ในท้องถิ่นก็ทำให้ทางกลุ่มได้แนวคิดเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงแนวคิดและวิธีการดำเนินงานในการลงพื้นที่การทำงานเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องและให้ได้ข้อมูลที่ต่อเนื่องให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและครบถ้วน อีกทั้งเป็นการเสริมการเรียนรู้รูปแบบการเขียนผลงานเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ตั้งแต่บทเริ่มต้นไปจนถึงบทสรุปอย่างมีระเบียบหลักการ
กิจกรรมการอบรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการ แลกเปลี่ยนแนวความรู้ จากท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทำให้เกิดแนวคิดต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ทางกลุ่มขอขอบคุณมูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ที่ได้จัดโครงการที่ปลุกจิตสำนึกและให้ความรู้ด้านทักษะกระบวนการ วิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวในชุมชน โดยคนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการและที่สำคัญยังทำให้เกิดเครือข่ายหรือกลุ่มกระบวนการทำงานทางประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เพื่อให้เกิดการวางรากฐานของการสำนึกรักและหวงแหนพร้อมสามารถบอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตนได้อย่างน่าสนใจ
อลิสา ทับพิลา
กลุ่มนักศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑๐๐ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖)