หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ตลาดสามชุกวันนี้
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ส.ค. 2554, 10:12 น.
เข้าชมแล้ว 5661 ครั้ง

 

พงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ผู้นำในการปรับปรุงตลาดสามชุกที่เปลี่ยนไปทั้งสวยสะอาดและเป็นระเบียบน่าเดินมากขึ้น

แต่ก็ยังอยู่ในความนิยมที่มีนักท่องเที่ยวล้นหลามแทบทุกวัน

 

นับจากยุคที่ตลาดสามชุกโรยราไปเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว พอพลิกฟื้นก็กลับกลายเป็นตลาดโบราณแบบใหม่เพื่อการท่องเที่ยวแบบทันสมัยเมื่อไปเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าที่ตลาดสามชุกก็ทำให้เข้าใจในความเปลี่ยนแปลง ความมุ่งหวังในอนาคตและปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่

 

สามชุกเคยเป็นชุมทางเดินทางและค้าขายมาแต่อดีต หากนับตั้งแต่มีการปลูกข้าวทำนาเพื่อส่งออกในยุคต้นรัตนโกสินทร์ลงมา การขนส่งข้าวจากพื้นที่ราบปลูกข้าวขนาดใหญ่ในเขตทางเหนือของสุพรรณบุรีสู่ท่าเรือในกรุงเทพฯ ในยุคที่เรือขนส่งยังเป็นหัวใจของลุ่มน้ำลำคลอง ชาวนามักมาขายข้าวที่ตลาดสามชุกซึ่งมีนายภาษีอากรเชื้อสายจีน ผู้เป็นเจ้าของโรงเหล้า โรงยาฝิ่น เป็นคหบดีใหญ่อยู่หลายท่าน นอกจากนี้เรือเมล์ใหญ่สองชั้นที่จะไปยังกรุงเทพฯ ก็จะจอดที่สามชุกเป็นท่าสุดท้ายในแม่น้ำสุพรรณบุรี จากนี้ไปก็ต้องต่อเรือหรือขึ้นบกไปกันเอง จนทำให้ตลาดสามชุกกลายเป็นแหล่งจอดเรือบรรทุกสินค้า เรือรับส่งผู้โดยสาร และกลายเป็นแหล่งทำมาค้าขายที่คึกคักที่สุดตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ตลาดเรือนแถวที่คึกคักใหญ่โตหลายแถวหลายแนวเรียงต่อกัน ทำให้การค้าขายที่สามชุกใหญ่โตตามไปด้วย ซึ่งก็คงไม่ต่างกับตลาดริมน้ำที่ศรีประจันต์หรือเก้าห้องที่อยู่ในเขตต่ำลงมา มาจนถึงราว พ.ศ.๒๕๐๐ อันเป็นยุคก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และอีกสิบปีให้หลัง จนกระทั่ง ถนนไปสู่เขตป่าเขาภายใน และการสร้างประตูน้ำทั้งหลาย ทำให้การขนส่งข้าวและเรือเมล์รับส่งผู้โดยสารเลือนหายไปตามกาลเวลา

 

 

นับแต่นั้นตลาดสามชุกก็ค่อยๆ ลดความแออัดจอแจของย่านตลาด กลายเป็นอดีตชุมชนการค้าที่นับวันจะรอแต่การรื้อถอนเพราะเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ผู้คนที่มีรากฐานในตลาดต่างส่งลูกหลานไปศึกษาภายนอก และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กลับบ้านมาอยู่ที่ตลาดสามชุก ทำให้ชุมชนริมน้ำที่ร้างผู้คนอยู่แล้วกลายเป็นตลาดไม้เก่าๆ ทรุดโทรมจนแทบจะพัง ตลาดใหม่ก็กลายเป็นอยู่ริมถนนปิดทางเข้าตลาดริมน้ำเอาไว้ จนตลาดเก่าริมน้ำกำลังจะถูกกรมธนารักษ์รื้อถอนไล่รื้อคนเช่าเดิมออกไป ก็มีการรวมตัวของคณะกรรมการตลาดเก่าขึ้นมาเพื่อค้นหาทางยืดลมหายใจของพื้นที่ตลาดสามชุกที่เป็นรากเหง้าของชุมชนมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี

 

คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเป็นคนท้องถิ่น เกิดและเติบโต เห็นทั้งความรุ่งเรืองและร่วงโรย เพราะส่วนใหญ่เป็นในวัยที่จดจำความคึกคักของตลาดสามชุกได้เป็นอย่างดี พงษ์วิน ชัยวิรัตน์ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีขณะนั้น เป็นประธาน ในตลาดยังมีร้านค้าและร้านอาหาร ร้านกาแฟเจ้าเดิมที่เคยค้าขายมาแต่ก่อนอยู่เหลือเพียงไม่กี่เจ้า เมื่อมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนจากภายนอก ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเมืองสามชุกให้น่าอยู่ก็เกิดขึ้นเมื่อราวพ.ศ. ๒๕๔๓

 

กว่าสิบปีที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้รับความร่วมมือ ความช่วยเหลือต่างๆ จากองค์กรและสถาบันการศึกษาจากภายนอกก็หลายแห่ง การเรียนรู้จากภายในนั้นกลับกลายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งกว่า งานอาสาสมัครที่เริ่มต้นทำมาด้วยกันเป็นกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ และการทุ่มเทของคนภายในกลับทำให้การดำเนินงานประสบผลมากกว่ากลุ่มท้องถิ่นอื่นๆ ที่จัดกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน

 

คณะกรรมการตลาดสามชุกซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนกันอยู่ไม่มากก็น้อย จัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีต่าง ๆ จากประเพณีท้องถิ่นแต่เดิม การฉลองหรือบูชาศาลเจ้าอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตลาดเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน วางแผนในการพัฒนาปรับปรุงตลาดทางกายภาพ โดยการหาทุนทรัพย์ต่างๆ มาบริหารจัดการ

 

 

การจัดการตลาดขนาดใหญ่เพื่อการท่องเที่ยวโดยคนในท้องถิ่นเองเช่นนี้ ถือว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย สามชุกกลายเป็นตลาดโบราณแห่งแรกๆ ที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ ก็เพราะการจัดการท่องเที่ยวแต่เดิมนั้นมักจะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมจัดการ เช่น สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ตั้งในภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น หรือไม่ก็นักการเมืองท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นนโยบายของข้าราชการประจำ หรือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเอกชนซึ่งสามารถดูแลจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ไม่เคยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยท้องถิ่นเข้ามาจัดการดูแล เป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดที่ประสบผลสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากเช่นนี้มาก่อน

 

เรื่องเหล่านี้กลายเป็นสิ่งท้าทาย เพราะไม่เพียงแต่จะจัดการเพื่อจัดระบบผู้ค้าขายและผู้ซื้อในแบบที่ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการท่องเที่ยวที่มีทั้งเนื้อหาและความรู้แทรกไปพร้อมๆ กัน โดยตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่า ตลาดสามชุกไม่ใช่ตลาดเพื่อการอนุรักษ์อดีตแต่จะต้องพัฒนาไปตามยุคสมัยที่วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เป็นการอนุรักษ์ที่มีชีวิตชีวา วิถีชีวิตสัมผัสได้จริง

 

ในช่วงหนึ่ง ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนั้นกลายเป็นเรื่องทางการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิด จน พงษ์วิน ชัยวิรัตน์ กลับมาเป็นนายกเทศมนตรีอีกครั้งในปัจจุบัน แต่ก็อยู่ช่วงวาระที่เหลืออีกไม่มากนัก อีกทั้งยังมีมีปัญหาความขัดแย้งกับการเมืองท้องถิ่นในระดับประเทศที่มีนักการเมืองเข้ามามีอิทธิพลในทุกเรื่องและทุกระดับ ก็เพราะชุมชนแบบสามชุกมักทำกิจกรรมประสบผลสำเร็จ มีผู้คนสนใจเข้ามาเที่ยวกันมากมาย แตกต่างจากการจัดการอื่นๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ปัญหาทางการเมืองก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาตลาดสามชุกเป็นไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะงานงบประมาณจากรัฐสนับสนุน แต่กลายเป็นความขาดแคลนที่เหมาะสม อันเนื่องจากการเติบโตอย่างเชื่องช้านี้ทำให้เกิดความคิดร่วมของคนสามชุกที่ร่วมกันพัฒนาตลาดเพื่อการต่อสู้กับอุปสรรคอย่างมั่นคงและมั่นใจ โดยไม่ต้องติดหนี้บุญคุณในทางการเมืองที่มักเกิดขึ้นกับชุมชนตลาดเก่าหลายแห่งและกิจกรรมทางสังคมที่รัฐเข้าไปครอบงำ

 

 

ในปัญหาต่างๆ ชาวตลาดสามชุกเกิดความไม่เข้าใจกันมาหลายช่วงหลายครั้ง ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วยกันเอง และแนวทางการพัฒนาตลาดบางครั้งก็มีความเห็นไม่ตรงกับข้าราชการ การสนับสนุนทั้งทางการเมืองและระบบของข้าราชการประจำจึงมีน้อยอย่างยิ่ง ทุกคนในชุมชนมีความสุขมากขึ้น ลูกหลานกลับบ้านมาช่วยกันค้าขาย เศรษฐกิจดีถ้วนหน้า เกิดความภาคภูมิใจกับการได้เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรมริมแม่น้ำ

 

แต่ผลเสียที่ตามมาก็คือ คนทั่วไปเริ่มนิยมการท่องเที่ยวในเชิงหวนหาอดีต การได้ไปเที่ยวตลาดเก่า ได้ซื้อของเล่นตั้งแต่สมัยยังเด็ก ได้รับประทานอาหารและจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่แทบจะหายไปจากตลาดในชีวิตประจำวันของพวกเขาแล้ว พิพิธภัณฑ์ของชาวบ้านสามชุกกลายเป็นเรื่องรองลงไปมาก จนแทบมีคนสนใจเข้าไปเยี่ยมชมไม่มากนัก การทำตลาดเพื่อการเรียนรู้กลายเป็นสิ่งที่กำลังจะถูกลืมเลือน

 

ในขณะเดียวกันชีวิตของคนสามชุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลง ต่างคนต่างมีเวลาให้กันน้อยลง แม้แต่ในกลุ่มคณะกรรมการพัฒนาตลาดแต่เดิมก็ตาม เริ่มมีการมองหาผลประโยชน์มากขึ้น บางคนก็ไม่สนใจปฏิบัติตามกติกาชุมชน เกิดความเห็นแก่ได้เฉพาะหน้า เพราะการรวมกลุ่มโดยธรรมชาตินั้นไม่สามารถนำเอากฎหมายเข้ามาจัดการได้ นอกเสียจากกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในชุมชนตลาดสามชุกยุคใหม่นี้ยังไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้

 

แต่ปัญหาที่กำลังทำให้สามชุกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าเหน็ดเหนื่อยมากกว่าที่อื่นๆ ก็เพราะจำนวนคนที่หลั่งไหลกันมาอย่างมากมายในวันหยุดและเทศกาลต่างๆ ทำให้ที่จอดรถไม่เพียงพอ และคนแออัดจนเกินความพอดี แม้จะมีวิธีการและมาตรการต่างๆ ทดลองใช้และพยายามแก้ปัญหาในรายละเอียดอันมากมาย ความนิยมในการเที่ยวตลาดท้องถิ่นแห่งนี้ก็ยังคงพบปัญหาทั้งเรื่องสถานที่ การเมืองภายในท้องถิ่นที่ทำให้ข้าราชการประจำไม่ขยับช่วยเหลือ ตลอดจนเรื่องของคนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในการสร้างองค์กรที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

 

นับเป็นการท้าทายความเข้มแข็งที่ต้องใช้ทั้งสติและปัญญา ตลอดจนความร่วมมือกันอย่างกล้าหาญทีเดียว

 

จับกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๘๙ (มี.ค.-เม.ย.๒๕๕๔)

 

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ย. 2561, 10:12 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.