หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร : การเปลี่ยนแปลงและสู่อนาคตของยี่สาร
บทความโดย มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 6 มิ.ย. 2559, 16:18 น.
เข้าชมแล้ว 4258 ครั้ง

 

เดิมชาวบ้านดักจับกุ้งด้วยวิธีธรรมชาติ จนเมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีการทดลองวิธีขุดบ่อเลี้ยงกุ้งจากเชื้อที่มีอยู่ในน้ำธรรมชาติ เช่น กุ้งขาว หรือกุ้งแชบ๊วย ซึ่งเห็นตัวอย่างจากภาคใต้ มาทำที่หมู่บ้านและพบว่าได้ผลดีจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ โดยถางป่าชายเลนบางส่วนออกแล้วขุดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งในหมู่บ้าน

 

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงที่กุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างสูง ทำให้เกิดความนิยมทำธุรกิจบ่อกุ้งกุลาดำแพร่กระจายไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ จึงมีการเปลี่ยนบ่อกุ้งแชบ๊วยกลายเป็นนากุ้งกุลาดำ และยังมีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆเป็นบ่อกุ้งอีกมาก ความเฟื่องฟูของธุรกิจกุ้งกุลาดำในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๐ – พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่ระบบเศรษฐกิจในบ้านยี่สาร นำมาสู่การปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกป่าโกงกางเพื่อทำถ่าน เป็นการโค่นถางป่าชายเลนและเปิดหน้าดินให้กลายเป็นบ่อกุ้งอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดการขายที่ดินออกไปสู่คนนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มธุรกิจใหญ่รายหนึ่งอาศัยชาวท้องถิ่นเป็นคนกลางกว้านซื้อที่ดิน ชาวบ้านบางรายยังให้คนนอกพื้นที่เช่าที่ทำบ่อกุ้งในลักษณะทำสัญญาเป็นรายปี ขณะที่ชาวบ้านอีกไม่น้อย ซึ่งขายที่ดินแก่นายทุนไปจนหมดเนื่องจากหวังเงินก้อนใหญ่ ก็ใช้วิธีเช่าบ่อกุ้งจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมาเป็นที่ทำมาหากินไปเรื่อยๆ ปีต่อปี การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นช่วงเวลาที่คนจากภายนอกเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ช่องว่างทางฐานะระหว่างชาวบ้านเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ครอบครัวส่วนหนึ่งที่มีที่ดินไม่มากนัก ได้ตัดสินใจขายที่ดินของตนแก่คนจากภายนอกที่ต้องการลงทุนเลี้ยงกุ้งและกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้ ผลพวงที่เกิดตามมาจากการเปลี่ยนมือที่ดินได้แก่ การอพยพออกไปของชาวบ้านที่หมดที่ทำกิน และอีกส่วนหนึ่งคือ การแปรสถานภาพจากเจ้าของมาเป็นแรงงานรับจ้าง

 

 

สู่อนาคต

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม มีผลให้ชาวยี่สารคำนึงถึงปัญหาเฉพาะหน้าอันเกี่ยวโยงไปถึงอนาคตของชุมชนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด คนยี่สารพูดถึงความคาดหวังต่อชุมชน รวมถึงความคิดเห็นที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านเขายี่สารกันว่า

 

นายธนพันธ์ ปานอุรัง อาชีพค้าขาย

" คิดว่าชุมชนน่าจะดีขึ้นกว่านี้ ถ้าหันหน้ามาช่วยกันอย่างจริงจังโดยไม่เห็นแก่ส่วนตัว ส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะมีผลดีต่อคนยี่สาร แต่ควรปรับปรุงการให้บริการและดูแลรักษาให้มากกว่านี้"

 

ปราณี ชลภูมิ อาชีพครู อายุ ๕๐ ปี

" จากสภาพแวดล้อมในอดีต และปัจจุบัน สะท้อนถึงฐานะของชาวบ้านยี่สารได้ว่ามีทั้งฐานะดี ปานกลาง และรายได้น้อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน เนื่องจากแทบทุกครัวเรือนเป็นเครือญาติกัน เป็นพี่น้องกัน สายสัมพันธ์นี้เปรียบเสมือนเกราะคุ้มกันแม้จะมีเรื่องหมางใจหรือขัดแย้งทางความคิด แต่สุดท้ายก็ลงเอยกันด้วยดี ทั้งนี้คือด้านจิตใจ แต่ในด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่คาดเดายาก เพราะโลกเปลี่ยนไปจนตามไม่ทัน ความทันสมัยอาจหลั่งไหลเข้าสู่หมู่บ้านจนตั้งรับไม่ทัน คนรวยอาจรวยยิ่งขึ้น คนจนอาจจนลงกว่าเดิม  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของบ้านยี่สารจะช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงให้คนทั่วไปรู้จักหมู่บ้านของเรามากขึ้น บุตรหลานจะเห็นคุณค่าของเก่าแก่ในชุมชน เกิดความรักหวงแหน คิดช่วยกันดูแลรักษา และเศรษฐกิจอาจดีขึ้น เพราะการท่องเที่ยวสร้างเงินหมุนเวียนสู่ชาวบ้าน และที่สำคัญคนในชุมชนควรสร้างวินัย ความมีระเบียบ ความสามัคคี ปรับปรุงแก้ไขในจุดนี้ก่อน"

 

พระครูสมุห์สมพงษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเขายี่สาร อายุ ๕๗ ปี

" อนาคตของยี่สารน่าจะเจริญรุ่งเรือง เพราะผู้นำมีคุณธรรมและชาวบ้านร่วมมือช่วยกันพัฒนา และจะเจริญยิ่งขึ้นถ้าจิตใจใฝ่ธรรมะ และพิพิธภัณฑ์ก็จะสร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้าน"

 

มาลินี พยัคเลิศ อาชีพ ช่างเสริมสวย อายุ ๓๕ ปี

" คาดหวังว่าอนาคตของหมู่บ้านจะเจริญทางวัตถุขึ้นมาก แต่ทางสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะเปลี่ยนมาเป็นสังคมในเมืองแบบตัวใครตัวมัน ผู้นำท้องถิ่น วัด โรงเรียนน่าจะตระหนักถึงปัญหานี้ แล้วร่วมมือกันฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในชุมชน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง รักและหวงแหนในความเป็นยี่สารของเรา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นน่าจะทำให้ยี่สารเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น ชาวบ้านรู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้กับเด็กๆ ได้รู้จักความเป็นบ้านยี่สารได้ดีขึ้น และน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน สร้างรายได้ แต่ผลเสียก็คือ อาจมีมิจฉาชีพแอบแฝงเข้ามา ชาวบ้านคงต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น"

 

วรรณา พยนต์ยิ้ม อาชีพครู อายุ ๔๓ ปี

" อยากเห็นยี่สารในอนาคตเป็นชุมชนที่มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจควบคู่กันไป ดำรงความเป็นชุมชนยี่สารที่อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังเกิดความภาคภูมิใจ ไม่อยากเห็นความคิดที่ยกวัตถุมีคุณค่าเหนือจิตใจ อยากให้ชุมชนยี่สารเป็นตัวของตัวเอง เมื่อมีพิพิธภัณฑ์ไม่อยากให้ชุมชนยี่สารเป็นชุมชนเปิด เป็นชุมชนการท่องเที่ยวที่มีบริษัทท่องเที่ยวและองค์กรเอกชนเข้ามาฉกฉวยประโยชน์จากชุมชนโดยที่คนยี่สารไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้เลย"

 

ศิริพร แป้นน้อย นักเรียนชั้น ป.๖ อายุ ๑๒ ปี

" พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะทำให้ยี่สารเป็นที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด คนอื่นจะรู้จักหมู่บ้านของเรามากขึ้น คนในหมู่บ้านจะไปดูของเก่าในพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านบริจาคมาทั้งนั้น แต่การสร้างพิพิธภัณฑ์ก็อาจเสียงบประมาณมาก สำหรับชุมชนอยากให้แก้ปัญหาเรื่องยาเสพย์ติดในหมู่บ้านให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากหมู่บ้านของเรา อยากให้คนมีการศึกษาสูงขึ้น หมู่บ้านสะอาดขึ้น"

 

ประภาพร แซ่อ้าว นักเรียนชั้น ป.๖ อายุ ๑๒ ปี

" ในอนาคตหมู่บ้านของเราน่าจะดีขึ้น แม้จะมีปัญหาเรื่องยาเสพย์ติด การพนัน การทิ้งขยะก็ตาม ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน หมู่บ้านของเราจะเจริญขึ้นแน่นอน ส่วนพิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆ สิ่งของที่จัดแสดงเป็นของชาวบ้านบริจาคมา และทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์อย่างขยันขันแข็ง การสร้างพิพิธภัณฑ์ทำให้เป็นผลดีกับหมู่บ้านเขา ยี่สารของเราแน่ๆ"

 

ไพโรจน์ อ่อนอุระ อาชีพพนักงานไปรษณีย์ อายุ ๕๙ ปี

" บ้านยี่สารของเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ ก็เห็นสมควรจะมีขึ้น จะได้เป็นที่เจริญ มีคนเข้ามาท่องเที่ยว และจะมีผลดีต่อพี่น้องชาวยี่สารของเราในอนาคต ชาวยี่สารจะได้ช่วยกันรักษาสิ่งของเก่าๆ เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย"

 

จำนง จันทร อาชีพรับจ้าง อายุ ๕๘ ปี

" ถ้ามีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเราน่าจะดีขึ้น เมื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชาวบ้านจะมีอาชีพค้าขายเสริม"

 

ถาวร สุขสำราญ อาชีพค้าขาย อายุ ๕๔ ปี

" อยากให้ยี่สารมีความเจริญทุกๆ ด้าน รักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านประเพณีต่างๆ ที่มีมาแต่บรรพบุรุษ คนยี่สารรักษาอัธยาศัยไมตรีจิตที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ และเหนือสิ่งใดอยากให้ยี่สารเจริญทัดเทียมกับหมู่บ้านอื่น มีน้ำดื่มที่สะอาด ส่วนพิพิธภัณฑ์จะเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งให้ความรู้เหมาะจะทัศนะศึกษาสำหรับลูกหลาน"

 

พิศาล พยนต์ยิ้ม กำนันตำบลยี่สาร อาชีพค้าขาย , ทำวังกุ้ง อายุ ๔๕ ปี

" อนาคตของยี่สารน่าจะแย่ลงกว่านี้ เพราะทรัพยากรในท้องถิ่นขายไม่ออกและน้อยลง เช่น ป่าไม้โกงกางที่ชาวบ้านปลูกไว้ทำถ่านขายไม่ได้ จะหันไปปลูกพืชอย่างอื่นก็ไม่ได้เพราะดินเค็ม ส่วนอาชีพเลี้ยงกุ้งต่อไปก็จะเลี้ยงไม่ได้ เพราะมีน้ำเสียจากตำบลใกล้เคียงปล่อยลงมาเป็นประจำ สัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติตายหมด และรัฐไม่ค่อยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้นัก พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารจะทำให้คนภายนอกรู้จักยี่สารมากขึ้น รู้ว่ารากเหง้าของพวกเรามาจากไหน และทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถ้าทางรัฐบาลให้การสนับสนุนมากกว่านี้"

 

อัพเดทล่าสุด 9 พ.ค. 2560, 16:18 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.