หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ภูมิปัญญาบ้านยี่สาร และ ถ่านไม้โกงกาง
บทความโดย มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 6 มิ.ย. 2559, 15:47 น.
เข้าชมแล้ว 10799 ครั้ง

ภาชนะหลากหลายประเภทที่พบมาก คือหม้อทะนน ไหกระเทียม เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องลายครามจากจีน

 

จุดเด่นของชุมชนยี่สาร คือ มีภาชนะหลากหลายทั้งประเภทและขนาด จากแหล่งผลิตหลายแห่ง นับว่าเป็นชุมชนที่มีการใช้ภาชนะประเภทเครื่องปั้นดินเผามากที่สุดแห่งหนึ่ง ภาชนะที่พบจำนวนมาก คือ หม้อทะนน ไหเนื้อแกร่งผลิตจากเตาเผาในจีน ทั้งที่เป็นไหเหล้า ไหกระเทียม กระถาง โอ่งหรือตุ่มใส่น้ำชนิดเคลือบ นอกจากนี้ยังมีเครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และเครื่องลายครามจากจีน ขวดเหล้าเซรามิคที่ผลิตจากประเทศแถบตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ ๓ จนถึงโอ่งซีเมนต์ในปัจจุบัน เป็นต้น

 

การใช้งานภาชนะจำนวนมากเหล่านี้ บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมที่ต้องการภาชนะที่คงทนถาวร และเนื่องจากเป็นชุมชนในเส้นทางการค้าและการเดินทางสมัยโบราณ จึงมีภาชนะหลายแหล่งที่มาไปด้วย   ตามบ้านในสมัยก่อน ตุ่มหรือโอ่งมีค่อนข้างน้อย ตุ่มขนาดใหญ่ที่ใช้รองน้ำฝน ชาวบ้านเรียกว่า " โพล่ " หรือ " ตุ่มโพล่ " อยู่ตามชานเรือน ข้างบนบ้านจะใช้โอ่งมังกรหรือโอ่งเคลือบสำหรับใส่น้ำกินน้ำใช้ แต่ส่วนใหญ่จะถ่ายน้ำใส่อ่างเคลือบรูปทรงคล้ายกระถางสำหรับใส่น้ำดื่ม ปัจจุบันยังมีเก็บตามบ้านเรือนของชาวยี่สารอยู่มาก

 

โอ่งจำนวนมากบริเวณชายคาบ้านของชาวยี่สาร คือภาพที่เห็นคุ้นตาตามบ้านเรือนผู้คนในเขตน้ำกร่อย

 

โพล่

ความสำคัญของตุ่มขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า   "โพล่" ในเขตบ้านยี่สารและตามบริเวณที่อยู่ในละแวกแม่น้ำลำคลองใกล้กับทะเล เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากต่อการควบคุมน้ำจืดเพื่อการตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นน้ำกร่อยและไม่มีน้ำจืดใช้ในการอุปโภคบริโภค สะท้อนให้เห็นว่าการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว สังคมต้องมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงในระดับหนึ่ง

 

 

โพล่ ที่จัดแสดงนี้ผลิตจาก แหล่งเตาบ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีริมฝั่งแม่น้ำแม่น้ำท่าจีนและอยู่ห่างจากเมืองสุพรรณราว ๗ กิโลเมตร นำมาจากบ้านของนายวัน - นาง หนู สารสิทธิ์ ชาวบ้านยี่สาร

 

สันนิษฐานว่าน่าจะผลิตขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองสุพรรณหรือสุพรรณภูมิ อันเป็นบ้านเมืองซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงแรกเริ่มสร้างราชธานีใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา ผลิตภัณฑ์จากเมืองสุพรรณนี้พบในชุมชนสมัยอยุธยาทั่วเกาะเมือง ปริมณฑล และชุมชนตามชายฝั่งทะเล


การล่มน้ำ

น้ำที่ใช้ส่วนหนึ่งต้องจ้างเรือไปล่มน้ำมาจากแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณแพรกวัดปากคลองบางครก ซึ่งเชื่อว่าเป็นน้ำที่ใช้ได้และไม่กร่อย "ล่มน้ำ" หมายถึง เอียงเรือให้น้ำเข้าจนเต็มซึ่งเป็นวิธีบรรทุกน้ำในอดีต แม้ปัจจุบันใช้เครื่องสูบน้ำเข้าเรือแต่ยังเรียกว่าการล่มน้ำอยู่

 

การล่มน้ำ ต้องไปเอาน้ำจืดที่เขตแม่น้ำเพชร สมัยก่อนใช้การเอียงเรือล่มให้น้ำเข้าจนเกือบเต็มลำ

ปัจจุบันใช้เครื่องดูดน้ำแทน แต่ยังคงเรียกว่าการล่มน้ำเช่นเดิม

 

ยังมีการล่มน้ำมาใช้จนทุกวันนี้ แม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม เพราะน้ำประปาหมู่บ้านซึ่งใช้การขุดเจาะน้ำบาดาล บางครั้งไม่มีน้ำหรือถ้ามีก็กลายเป็นน้ำกร่อย ส่วนน้ำดื่มต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปี  ดังนั้น ภาชนะเก็บน้ำ เช่น ตุ่มขนาดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวบ้านตลอดมา

 

สมุนไพรพื้นถิ่น

เนื่องจากสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านยี่สารในอดีตอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เดินทางติดต่อกับภายนอกได้ยากลำบาก เมื่อมีความเจ็บป่วยขึ้น ชาวบ้านต้องพึ่งพาตนเองในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งที่เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาสมุนไพรและการใช้คาถาอาคมควบคู่กันไป

 

ต้นขลู่ สมุนไพรที่สามารถนำใบมาต้นน้ำอาบแก้ผื่นคันได้ และสรรพคุณอื่นอีกมากมาย

 

แหล่งยาสมุนไพรที่สำคัญในชุมชน คือ พื้นที่ป่าโดยรอบเขายี่สาร ชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บหาพืชสมุนไพรบางชนิดมาประกอบเป็นยารักษาโรค วิธีการรักษาโรคด้วยสมุนไพรและคาถาอาคมในบ้านยี่สารมีหลากหลายรูปแบบและขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยด้วยว่าเป็นอย่างไร

 

เครื่องบดยาทำด้วยเหล็กแบบรางซึ่งเป็นที่บดยาแบบจีน

 

ความรู้ของชุมชนเกี่ยวกับยารักษาโรค บันทึกไว้ในตำราสมุดไทยจำนวนหลายเล่ม ทั้งยังเหลือเครื่องบดยาทำด้วยเหล็กแบบรางซึ่งเป็นที่บดยาแบบจีน และเครื่องบดทำจากหินทั้งที่เป็นหินจากภายนอกและหินจากเขายี่สารเอง  ปัจจุบันรอบเขายี่สารยังคงอุดมด้วยพืชพรรณสมุนไพรนานาชนิด โดยไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก

 

ถ่านไม้โกงกาง

 

กองไม้โกงกางขนาดต่างๆ เตรียมเพือ่นำไปเรียงในเตาเผา

และเรือขนถ่านไปขายที่ท่าน้ำราชวงศ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรือขนถ่านลำสุดท้ายของบ้านยี่สาร

 

การทำถ่านโกงกางจำหน่ายเป็นอาชีพเริ่มทำกันเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยการนำช่างจีนจากอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มาสร้างเตาเผาถ่านนับสิบเตาในหมู่บ้าน อันเป็นเทคนิควิทยาที่นำมาจากจีนตอนใต้อีกต่อหนึ่ง  

 

มีการเตรียมพื้นที่โดยนำฝักโกงกางเข้ามาปลูกสวนป่าเพื่อตัดทำถ่านโดยเฉพาะ ก่อนหน้าการก่อสร้างเตาประมาณ ๑๕ ปี การปลูกป่าโกงกางเพื่อตัดทำถ่านที่บ้านยี่สาร กระทำอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาเกือบ ๖๐ ปีที่ผ่านมา ถือเป็นสวนป่าไม้ชายเลนเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  

 

 

หลังการเผาหรืออบในเตาขนาดใหญ่ ที่อุณหภูมิอยู่ระหว่าง ๔๐๐ – ๖๐๐ องศาเซลเซียส จะได้ถ่านคุณภาพดีราคาสูงกว่าถ่านทั่วไป เพราะติดไฟง่าย ให้ความร้อนสูง และเผาไหม้ได้นาน

 

 

ปัจจุบันการผลิตถ่านโกงกางยังคงกระทำกันอยู่ในบ้านยี่สาร โดยผลิตส่งทั้งในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร  กระบวนการทำถ่านไม้โกงกางนับแต่การปลูกจนกระทั่งเป็นถ่านใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๘ – ๑๕ ปี เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินและแรงงานส่วนใหญ่ของชุมชน จนถือว่าเป็นอาชีพที่ยั่งยืนอย่างหนึ่งของชาวยี่สาร

 

 

อัพเดทล่าสุด 9 พ.ค. 2560, 15:47 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.