การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์บ้านยี่สาร มิได้จัดแสดงโดยเน้นที่ปริมาณของโบราณวัตถุ
หากแต่เป็นการจัดแสดงโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพ เป็นคุณภาพที่สามารถทำให้ผู้มาชมได้เข้าใจและรู้จักบ้านยี่สารอย่างถ่องแท้
การจัดพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ของใหม่ในประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์มากมายหลายแห่งทุกภูมิภาคทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และท้องถิ่น แต่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นสิ่งใหม่ไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น หลายคนอาจจะคัดค้านว่าพิพิธภัณฑ์ตามท้องถิ่นก็มีอย่างมากมายอยู่แล้ว จะไม่เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้อย่างไร คำตอบในที่นี่ก็คือ บรรดาพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นแสดงหรือให้อะไรที่ทำให้เห็นว่าเป็นความรู้เฉพาะท้องถิ่นนั้นบ้าง เพราะประเพณีการจัดพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และท้องถิ่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ คือการนำเอาบรรดาโบราณวัตถุมาจัดแสดง ถ้าในระดับชาติ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ก็เป็นศิลปวัตถุที่มีคุณค่าราคาแพง มีความเก่าแก่ เพราะมุ่งที่จะแสดงความเก่าแก่และความรุ่งเรืองของชาติเป็นสำคัญ การจัดพิพิธภัณฑ์แบบนี้มุ่งในรูปแบบของการจัดแสดง มีตึกอาคารที่หรูหราราคาแพง แต่ของที่นำมาแสดงนั้นซ้ำซ้อนกันมากมายจนน่าเบื่อ เพราะดูแล้วก็สวยงามเก่าแก่ซ้ำๆกัน หารู้ไปถึงความหมายความสำคัญของวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่เป็นเจ้าของโบราณวัตถุเหล่านั้นไม่ ส่วนในระดับท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน ลอกเลียนแบบอย่างในการนำเอาสิ่งของซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจัดแสดง ที่มีเงินหน่อยก็จัดได้สวยงาม แต่ถ้ายากจนหน่อยก็ดูเป็นโกดังเก็บของไป มองดูแล้วไม่รู้เรื่อง แต่ทั้งหมดแล้วก็สรุปได้ว่า เป็นการจัดแสดงสิ่งของที่ไม่เห็นคนและชีวิตของคนในท้องถิ่นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมีผลร้ายตามมาก็คือ เกิดมีการโจรกรรมสิ่งมีค่าจากพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นอยู่บ่อยๆ และถ้าผู้ใดจะจัดพิพิธภัณฑ์ขึ้นก็ต้องคำนึงถึงก่อนแสดงว่ามีของหรือไม่ มีเงินในการสร้างอาคารที่มีราคาแพงหรือไม่ จนทำให้ผู้ที่อยากมีพิพิธภัณฑ์แต่ไม่มีของและไม่มีเงินใจฝ่อกันไปตามๆกัน
ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับเชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับการจัดพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง มีผู้อภิปรายทั้งหมด ๕ คนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าและผู้อภิปรายอีกท่านหนึ่ง กลายเป็นชนกลุ่มน้อย เพราะไม่เห็นด้วยกับชนกลุ่มใหญ่จำนวน ๓ ท่าน ที่ต่างผลัดกันมาพูดถึงความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เช่น บริติชมิวเซียม (British Museum) หรือการจัดพิพิธภัณฑ์ในประเทศก็ต้องใช้เงินอย่างมหาศาลจึงจะทำได้ ถ้าหากไม่ได้ตามนั้นก็จะไม่ถูกหลักทางวิชาการและเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เลยทำให้การมีพิพิธภัณฑ์และการจัดพิพิธภัณฑ์กลายเป็นเรื่องยากไป แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการอภิปรายครั้งนั้นคือ ความคิดในเรื่องพิพิธภัณฑ์ของผู้ร่วมอภิปรายอีก ๓ ท่านนั้นว่า ไม่ใคร่สนใจในเรื่องเนื้อหาของสิ่งที่แสดงเลย ดูเหมือนจะมองในแง่ปริมาณของที่แสดงด้วยซ้ำ อย่างเช่นการอ้างถึงบริติชมิวเซียมที่กรุงลอนดอน เป็นต้น ในทัศนะของข้าพเจ้าพิพิธภัณฑ์นี้คือพิพิธภัณฑ์มหาโจรในสมัยล่าอาณานิคมที่ไปเที่ยวเอาสมบัติวัฒนธรรมของชาติโน้นชาตินี้มาสุมไว้ แต่ละเรื่อง แต่ละอย่าง มีจำนวนมากชิ้นจนเกินความจำเป็น ดูจนหมดเวลาชมก็จับอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เพราะเหตุที่ยัดเยียดมากเกินไปนั้นเอง ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเรื่องที่ต่างกันกับแนวคิดของข้าพเจ้าที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าไม่สนใจว่าจะมีของที่เป็นวัตถุมีพอตั้งแสดงหรือไม่ อีกทั้งไม่สนใจกับรูปแบบของอาคารพิพิธภัณฑ์และวิธีการจัดแสดงด้วยเทคนิคต่างๆ อีกทั้งการสร้างพิพิธภัณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินอย่างมหาศาลอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและความเป็นท้องถิ่น
ในทัศนะของข้าพเจ้า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นของคนท้องถิ่น ไม่ใช่ของข้าพเจ้า ของหน่วยราชการ หรือของคนอื่นๆจากภายนอก สิ่งที่นำมาจัดแสดงก็คือ เนื้อหาที่เป็นชีวิตวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วคนท้องถิ่นก็เป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ดูแลกันเองรวมทั้งการอธิบายและการนำชม เท่าที่แล้วมาการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอาจวิเคราะห์ได้เป็น ๒ อย่าง
• เป็นการจัดโดยคนจากภายนอกที่มีความรู้เรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ คำว่า " ท้องถิ่น " หมายถึง พื้นที่ ไม่ใช่คนผู้รับผิดชอบ เช่น จากหน่วยราชการ ก็จะไปรวบรวมโบราณวัตถุทั้งทางด้านโบราณคดี และชาติพันธุ์ ภายในพื้นที่ของท้องถิ่นมาตั้งแสดง ผู้จัดนอกจากตั้งสิ่งของในการแสดงแล้ว ยังกำหนดเนื้อหาที่ตนได้ตีความจากบรรดาวัตถุเหล่านั้น โดยไม่เชื่อมโยงไปถึงสภาพและความเป็นไปของสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นแม้แต่น้อย
• เป็นการดำเนินการโดยคนในท้องถิ่นเอง อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นตามวัด อันเนื่องมาจากพระภิกษุสงฆ์รวบรวมสิ่งของไว้ แล้วอาศัยลูกศิษย์ลูกหาจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น นำสิ่งของที่สะสมไว้มาจัดแสดง พิพิธภัณฑ์แบบนี้เป็นเพียงแต่นำวัตถุที่เก็บไว้มาตั้งแสดงเท่านั้น หาได้พยายามสื่อเจ้าของความหมายและเนื้อหาของสังคมวัฒนธรรมแต่อย่างใดไม่ หลายๆแห่งในชั้นแรก ก็ดูน่าสนใจ แต่ความเป็นภาพสถิตจึงทำให้ดูบ่อยๆก็เบื่อ และเมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้าก็ปล่อยไปตามยถากรรม ซึ่งถ้าหากถูกปล่อยปะละเลยแล้วพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นก็มีสภาพเป็นโกดังเก็บของไป
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการจะจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นนั้น สิ่งที่จะนำมาแสดงหาใช่รูปแบบอาคารพิพิธภัณฑ์และบรรดาโบราณวัตถุแต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาในด้านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งนี้เรื่องราวประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น จะเป็นตัวตั้งหรือสิ่งกำหนดว่าจะเอาโบราณวัตถุประเภทใดมาจัดแสดง แต่ถ้าไม่มีก็จำต้องหามาด้วยวิธีอื่น อาจแสดงจากภาพถ่าย หุ่นจำลอง ภาพเขียน หรืออื่นๆ เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางและหัวข้อในการจัดแสดง เป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะ หรืออีกนัยหนึ่ง เอกลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งจะนำไปสู่การแลเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม ดังนั้น เมื่อมีการนำเอาเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน ก็จะแลเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากความแตกต่างกันของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินการเรื่องต่อไป ก็ใคร่ทำความเข้าใจคำว่า " ท้องถิ่น " ในที่นี้เสียก่อน จะได้ไม่ไปซับซ้อนหรือสับสนกับคำว่า " ท้องถิ่น " ในที่อื่นๆ
" ท้องถิ่น " ในที่นี้ ข้าพเจ้าหมายถึงพื้นที่ในลักษณะภูมิประเทศหนึ่งที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ อาจจะเป็นพื้นที่ในเขตหุบเขา พื้นที่ในบริเวณลุ่มน้ำ พื้นที่ตามชายฝั่งทะเลก็ได้ พื้นที่ดังกล่าวนี้มีความกว้างขวางพอที่จะทำให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน (Community) ได้หลายชุมชน มีพื้นที่สาธารณะ ( Public Space) ที่ไม่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เช่นบริเวณที่เป็นป่าเขา บริเวณที่เป็นหนองบึง แม่น้ำและลำคลอง เป็นที่ลุ่มหรือทุ่งหญ้า อะไรทำนองนั้น พื้นที่สาธารณะเหล่านี้แม้ว่าจะไม่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ชุมชนทุกชุมชนในท้องถิ่นเดียวกันร่วมกันดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนมีผลทำให้กฎเกณฑ์ประเพณี หรือจารีตที่ป้องกันไม่ให้มีการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน รวมทั้งป้องกันการรุกล้ำจากบุคคลต่างกลุ่มจากภายนอกด้วย การปรับตัวของคนในแต่ละชุมชนเข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ตลอดจนการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันนั้น ทำให้เกิดรูปแบบในการดำรงชีวิตและวิถีชีวิตที่เหมือนกัน รูปแบบดังกล่าวนี้คือสิ่งที่เรียกว่า " วัฒนธรรมท้องถิ่น " และสิ่งที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เด่นชัดก็คือ บรรดาขนบประเพณี พิธีกรรมและจารีต ที่คนในทุกชุมชนของท้องถิ่นมีเหมือนกัน มีนิทาน นิยายท้องถิ่น รวมทั้งภาษาท้องถิ่นที่สื่อกันได้ระหว่างกัน เช่นนิทานเรื่องพระรถเมรีในท้องถิ่นอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ที่ถูกนำมากำหนดสถานที่ต่างๆของท้องถิ่นให้เป็นเอกภาพ เช่น เมืองพระรถ ถ้ำนางสิบสอง เป็นต้น ในบริเวณพื้นที่สาธารณะมักจะมีการสร้าง ศาลผี ศาลเจ้า หรือ วัด ให้ผู้คนในท้องถิ่นได้กราบไหว้ ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน และดูแลร่วมกัน ส่วนผู้คนในชุมชนต่างๆ ของท้องถิ่นก็มักมีประสบการณ์ร่วมกันในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดสำนึกในความเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกันขึ้น
ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจะมีขนาดและความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรมไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากพัฒนาการของชุมชนในท้องถิ่น บางท้องถิ่นอาจประกอบด้วยชุมชนบ้าน (Village) เพียงไม่กี่ชุมชน ซึ่งก็มักเป็นท้องถิ่นห่างไกลความเจริญของสังคมเมือง แต่บางท้องถิ่นก็มีขนาดใหญ่มีทั้งชุมชนบ้าน (Village) และชุมชนเมือง (Town) อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น " ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น " (Local History) จึงมีได้ทั้งในระดับชุมชนบ้านและชุมชนเมือง
"ใบเสมา" โบราณวัตถุจากวัดเขายี่สาร วัดกับสังคมไทยเป็นสิ่งที่แทบจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในหลายๆท้องถิ่น
โบราณวัตถุ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมต่างๆภายในวัด ยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงประวัติความเป็นมาของท้องถิ่้นนั้นๆได้ด้วย
มีสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับท้องถิ่น (Locality) และชุมชน (Community) ที่ข้าพเจ้าใคร่อธิบายเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ก็คือ ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาชุมชนในสังคมไทยขณะนี้ มีนักวิชาการบางกลุ่มกำหนดพื้นที่สาธารณะที่เป็นป่าเขาว่า เป็นป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า เลยเป็นเหตุให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในประการแรก เป็นการดึงพื้นที่ป่าเขาที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างหนึ่งให้กลายเป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งไป มีผลทำให้เกิดการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของระหว่างชุมชนในท้องถิ่นเดียวกัน ประการที่สอง เป็นการละเลยพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และท้องถิ่นที่ลุ่มไป ซึ่งพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ล้วนเป็นฐานเศรษฐกิจในระบบยังชีพของผู้คนในท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เพราะเป็นที่ซึ่งมีอาหารและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีพของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อไปป้องกันแต่เพียงป่าเขาอย่างเดียว ก็เลยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกอาศัยอำนาจรัฐจากส่วนกลางเข้ามาบุกรุก ยึดครอง และแย่งทรัพยากรธรรมชาติในระบบยังชีพของคนในท้องถิ่นไปได้
กรณีเช่นนี้มีพบในท้องถิ่นแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทยในขณะนี้ เช่น ในท้องถิ่นลุ่มน้ำสงคราม ระหว่างเขตจังหวัดนครพนมและสกลนคร เป็นต้น ได้มีนายทุนอาศัยการออกเอกสารสิทธิ์โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ครอบครองพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ที่ชาวบ้านเรียกรวมๆกันว่า บุ่งทาม ในการรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นว่าพื้นที่บุ่งทามเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ (Wasteland) ใช้ทำอะไรไม่ได้ จึงออกเอกสารสิทธิ์ให้นายทุนไปทำประโยชน์ คือ ไปใช้ปลูกป่ายูคาลิปตัสรวมแล้วประมาณ ๔๐๐๐ ไร่ แต่ในส่วนของชาวบ้านจากชุมชนในท้องถิ่น พื้นที่บุ่งทามแห่งนี้ คือ พื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกันในการหาอาหารและวัสดุตามธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต เช่น ฤดูแล้งก็เก็บเห็ด หน่อไม้ และสัตว์เล็กๆ ในขณะที่เมื่อถึงฤดูน้ำ น้ำท่วมก็เป็นที่จับหอย ปู ปลา และพืชพันธุ์ที่เกิดตามฤดูกาล ยิ่งกว่านั้น พื้นที่นี้ยังเป็นที่ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดมาวางไข่อีกด้วย
ที่สำคัญในพื้นที่บุ่งทามก็มีที่ดอน เป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ส่วนหนึ่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ชาวบ้านกำหนดให้เป็นที่หวงห้ามศักดิ์สิทธิ์ มีศาลผีเป็นที่เคารพบูชา ไม่มีใครเข้ามาตัดไม้หรือล่าสัตว์จับหอย ปู ปลา แต่อย่างใด ผี คือผู้ที่ดูแลพื้นที่สาธารณะทั้งที่เป็นป่าและบุ่งทามเหล่านี้ การเข้ามาแสวงหาอาหารและผลประโยชน์จะต้องอยู่ในระดับพอดี ไม่มากเกินที่คนในสังคมท้องถิ่นเห็นว่าเป็นการทำลายและเห็นแก่ตัว ผู้ที่รักษากติกานี้คือ ผี และ ชาวบ้าน เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคน และระหว่างคนต่อคน ด้วยการประกอบพิธีกรรม ไหว้ผี เซ่นผี ร่วมกันในเวลาที่กำหนดในรอบปี การยึดครองพื้นที่สาธารณะบุ่งทาม อันเป็นฐานยังชีพของชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น เป็นผลให้เกิดการขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและนายทุน ชาวบ้านพร้อมใจกันสู้โดยเรียกร้องให้รัฐดำเนินการคืนพื้นที่สาธารณะนี้ให้กับชุมชนท้องถิ่นจนเป็นผลสำเร็จ
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาอันเนื่องมาจากการมีป่าชุมชนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นลุ่มน้ำสงครามที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสมาก็คือ ในที่ประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้มีคนใช้คำว่า " ป่า " กับพื้นที่บุ่งทาม โดยเรียกว่า " ป่าบุ่งป่าทาม " ทำให้เกิดการตีราคาค่าเสียหายพื้นที่บุ่งทามเป็นจำนวนต้นไม้ไป ซึ่งไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งก็นำเรื่องความเป็นป่าของบุ่งทามมาตีความกันอย่างมาก ทำให้มองข้ามประเด็นที่สำคัญหลายๆอย่างไป นับเป็นการเสียเวลาและเปลืองสมองเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าจะมองคำว่า " ท้องถิ่น " ให้ลุ่มลึกซึ้งไปกว่านี้ ก็ใคร่เสนอว่า ท้องถิ่นนั้นหมายถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Ecological Niche หรือ Microenvironment ณ ที่ใดที่หนึ่งที่มีมนุษย์ พืช สัตว์ ดำรงอยู่ร่วมกัน ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเองกับสภาพแวดล้อมเพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า " วัฒนธรรม " (Culture) นั้น จึงต้องดูจากกระบวนการปรับตัวเองของมนุษย์เข้ากับสภาพแวดล้อมดังกล่าว ศักยภาพและกระบวนการปรับตัวเองกับสภาพแวดล้อมนั้น ทำให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันออกไป ผู้ที่จะรู้เรื่องวัฒนธรรม ศักยภาพ และการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของผู้คนในชุมชนแต่ละท้องถิ่นอย่างถูกต้องและลุ่มลึกนั้น คงไม่มีใครดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง นับเป็นเรื่องของภายในโดยแท้ แต่ทว่าการศึกษาทางวัฒนธรรมที่แล้วมานั้น มักเป็นเรื่องของคนภายนอกเข้าไปศึกษาให้กับคนภายในท้องถิ่น โดยการสัมภาษณ์ การเข้าไปสังเกต และการบันทึกคำบอกเล่าของคนภายในท้องถิ่นที่นำมาวิเคราะห์ตีความและเขียนเป็นเรื่องราวขึ้นมา เรื่องเช่นนี้ถ้าหากทำกันจริงๆ โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในท้องถิ่นด้วยเวลาที่ยาวพอสมควร จนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมได้ดี และเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดีแล้ว ก็อาจมีความเข้าใจอย่างลุ่มลึกได้ แต่เท่าที่ทำกันมามักง่ายในที่นี้คือ มักจะมาโอ่กันถึงเรื่องวิธีการศึกษา เช่น เป็นแบบคุณภาพหรือแบบปริมาณ แทนการพูดถึงความลุ่มลึกและความเข้าใจ จากการที่เข้าไปศึกษาลักษณะและสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมา จุดอ่อนที่เห็นได้ในเรื่องนี้ก็คือ เรื่องเวลา บางคนเข้าไปในท้องถิ่นเดือนละครั้ง หรือเข้าไปอยู่เพียงเดือนหรือสองเดือนก็นำมาโอ่แล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อควบคุมมิติทางเวลาที่นักวิชาการหรือนักวิจัยภายนอกไม่อาจควบคุมได้ก็ต้องหาทางเลือก และทางเลือกที่ดีก็คือ การให้เกียรติคนภายในเข้ามามีส่วนร่วม และต้องเป็นส่วนร่วมที่ เสมอภาค เพราะที่แล้วมานั้น การมีส่วนร่วมของคนภายในเป็นสิ่งไม่เสมอภาค เท่าที่ปฏิบัติกัน คนภายในคือคนนำทางและให้ข้อมูลช่วยเหลือในการติดต่อสอบถามกับชาวบ้าน โดยที่นักวิจัยจากภายนอกอาจจะอ้าง หรือตอบแทนโดยให้ของขวัญเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เสมอภาค คนภายในที่ถูกเลือกควรมีฐานะเป็นนักวิจัยด้วย ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าเรียกว่า " นักวิจัยท้องถิ่น " และปรับเปลี่ยนคำว่าวิจัยเสียใหม่ว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
การที่พิจารณาว่าการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนรู้นี้ ต้องขอให้เกียรติ ท่านศาสตราจารย์ ดร. เสน่ห์ จามริก ที่แสดงความเห็นไว้ในที่ประชุมหารือกันในการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ โรงแรมโซฟิเทล ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นคำนิยามที่แสดงศักยภาพที่เป็นธรรมชาติขิงมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อันเนื่องมาจากการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ในสมัยนี้เป็นจำนวนมาก หาได้มาจากบรรดานักวิจัยที่เรียนจบการวิจัยมาจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดไม่ ในทำนองตรงข้าม บรรดาชาวสวนชาวไร่ที่ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นต้น สามารถเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพได้อย่างดียิ่ง แต่ที่น่าละอายก็คือ ผลงานของผู้ที่ยกย่องว่าเป็นนักวิจัยดีเด่นหลายคนนั้นแท้จริงก็คือ การเรียบเรียง นั่นเอง ซึ่งเกิดจากการเอาข้อมูลจากคนนั้นคนนี้ จากหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ มาเชื่อมโยงและตีความใส่สีให้ดูมีอะไรแปลกตาไปเท่านั้น หาได้นำมาทำประโยชน์อะไรได้ไม่ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการในการเรียบเรียง อ้างอิง และการเสนอข้อมูลออกมาเป็นเรื่อง เป็นหนังสืออย่างมีระบบนั้น นักวิจัยจากภายในทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจัดการให้มีการร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากภายในและภายนอกในลักษณะที่เสมอภาคแล้ว งานวิจัยก็จะออกมาอย่างลุ่มลึกและสมบูรณ์ด้วย
การวิจัย หรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างคนในกับคนนอกนี้ มีประโยชน์มหาศาลอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรก คือทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงและลุ่มลึก อันอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ส่วน อย่างที่สอง คือการพัฒนาคนท้องถิ่นให้รู้จักตัวเอง มีความรู้และความมั่นใจในตัวเอง เท่ากับเป็นการปูพื้นฐานการศึกษาที่จะรองรับการกระจายอำนาจในการปกครองมายังท้องถิ่นจามระบบประชาธิปไตย และที่สำคัญ ก่อให้เกิดบุคคลที่เป็นผู้รู้ท้องถิ่นที่มีสติปัญญา สามารถเป็นแกนนำของท้องถิ่นในการทำประชาพิจารณ์ ที่กำลังจะเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประชาสังคมในการประเมินการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐ
"เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ" โบราณวัตถุที่ได้รับการบริจาคจากชาวบ้าน แม้จะเป็นเครื่องปั้นดินเผาธรรมดา ไม่สวยงามเหมือนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อื่นๆ แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องใช้ที่ทุกบ้านภายในชุมชนต้องมี รูปแบบของเครื่องปั้นดินเผา ยังสื่อให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชุมชนได้ด้วย
ดังนั้น ในการดำเนินการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของข้าพเจ้า จึงยึดความต้องการจากภายในมาก่อน และที่จะได้มาซึ่งเนื้อหาในเรื่องที่จะแสดงนั้นนับเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อได้เนื้อหามาแล้วจึงนำมาหารือ กำหนดเป็นหัวข้อที่จะแสดงว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และแต่ละเรื่องนั้นสื่อด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมหรือศิลปวัตถุอะไรบ้าง เนื้อหาในเรื่องประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะต้องมาก่อนบรรดาสิ่งที่เป็นโบราณสถานวัตถุ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ขัดกับประเพณีการจัดพิพิธภัณฑ์แต่เดิม ที่บรรดาศิลปวัตถุมาก่อนเนื้อหา เพราะมุ่งที่จะจัดแสดงแต่ในเรื่องวัตถุเท่านั้นหาให้ความสำคัญแก่เนื้อหาไม่ เพราะฉะนั้นพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดิมจึงออกมาเป็น ๒ แบบด้วยกัน แบบแรก มีตึกรูปร่างหน้าตาสวยงามใหญ่โต และมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามความคิดคำนึงของสถาปนิก ทำให้บางแห่งใหญ่โตและราคาแพงจนเกินไป ส่วนการจัดแสดงมีระบบในการให้แสง สี ดูแล้วสวยงามประทับใจ บางแห่งที่ร่ำรวยก็มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประกอบด้วย ทำให้ดูเพลิดเพลิน แบบที่สอง คือ ที่มีประสบการณ์น้อย มีเงินทุนน้อย ซึ่งเพียงอาศัยอาคารที่มีมาก่อนแล้ว และนำสิ่งของเข้าไปจัดหมวดหมู่ตั้งแสดง สิ่งที่สำคัญก็คือ มีของเท่าใดก็แสดงให้หมดเลย เน้นในเรื่องจำนวนมากกว่าคุณภาพ ทำให้พิพิธภัณฑ์มีสภาพเป็นห้องเก็บของหรือโกดังเก็บของไป ดูแล้วไม่สวยงามเป็นระเบียบเท่ากับแบบแรก แต่ทว่าทั้งสองแบบก็มีความคล้ายคลึงกัน ในแง่ของการแสดงสิ่งของซ้ำๆกัน และเน้นในเรื่องสิ่งของมากกว่าเนื้อหา การเน้นในเรื่องของสิ่งของมากกว่าเนื้อหานี้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการป้องกันและการดูแลรักษาขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะบรรดาโบราณวัตถุทั้งหลายนั้นปัจจุบันเป็นของที่มีราคาค่างวด เพียงกระดึงวัว กระดึงควาย ที่ทำด้วยเศษไม้ก็มีราคาค่างวดเป็นร้อนเป็นพันแล้ว ย่อมเป็นสิ่งล่อตาล่อใจแก่พวกคนมาชมที่เป็นหัวขโมย นักเล่นของเก่า และมิจฉาชีพ เป็นสิ่งที่ยากแก่การดูแลเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์แบบนี้จึงต้องมีคณะบุคคลที่จะดูแลเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์แบบนี้จึงต้องมีคณะบุคคลที่จะดูแลและมีมาตรการในการที่จะรักษาป้องกัน เป็นเหตุให้ท้องถิ่นที่ไม่มีกำลังเงินและกำลังคนไม่อาจควบคุมหรือจัดทำได้ จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเน้นเฉพาะเรื่องของนั้น ทำให้ความสนใจของคนทั้งจากภายนอกและภายในดำรงอยู่ได้ชั่วครั้งคราว คือ ตื่นเต้นอยู่พักหนึ่งก็ซาไป เหตุนี้ทำให้พิพิธภัณฑ์แบบนี้ในที่สุดก็ดำรงอยู่ไม่ได้นาน ในทำนองตรงข้าม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เน้นการแสดงโดยใช้เนื้อหาทางวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดนั้นกลับมีลักษณะยั่งยืน เพราะเนื้อหาคือสิ่งที่ปลูกสำนึกคนให้ตื่น ให้ภาคภูมิในตัวเองและท้องถิ่นตลอดเวลา ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นของส่วนรวมของคนในชุมชนทุกรุ่นทุกสมัย
กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น ในสถานการณ์และสภาพการณ์ทางสังคม ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ทั้งบุคคลภายในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นใดข้างหนึ่งไม่อาจทำได้ตามลำพัง หากต้องร่วมมือกันในลักษณะเสมอภาค เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน อีกทั้งมีความจริงใจต่อกันด้วย การริเริ่มมาจากความต้องการภายในชุมชนใดชุมชนหนึ่งของท้องถิ่นก่อน ในท้องถิ่นมีหลายชุมชน แต่ไม่ทุกชุมชนที่มีความคิดริเริ่มและมีศักยภาพในการจัดพิพิธภัณฑ์ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดมีพิพิธภัณฑ์ขึ้นแล้ว พิพิธภัณฑ์นั้นจะเป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น เพราะการดูแลรักษาตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเป็นเรื่องของชุมชนหนึ่ง
ในทำนองตรงข้าม เนื้อหาที่จะแสดงจะไม่เป็นเรื่องของชุมชนที่เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากคลุมไปทั้งหมดของท้องถิ่น ซึ่งถ้าท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่แล้วก็จะเป็นเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านและของเมืองในท้องถิ่นนั้นๆทีเดียว เหตุที่ต้องเป็นเรื่องขท้องถิ่นทั้งหมดที่มีชุมชนหลายๆชุมชนอยู่รวมกันเนื่องจากว่า ถ้าไปเน้นเฉพาะชุมชนใดชุมชนหนึ่งแล้ว เนื้อหาที่จะแลเห็นเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นองค์รวมไม่เพียงพอ ยิ่งกว่านั้นจะเป็นการเสนอภาพชุมชนในลักษณะที่โดดเดี่ยวอยู่ตามลำพัง ไม่สัมพันธ์และพึ่งพิงกับใคร เป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ในสังคมชาวนา (Peasant Society) ในดินแดนประเทศไทยที่มีพัฒนาการมากกว่าพันปี และกำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่จะเป็นสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรมในขณะนี้
เพราะฉะนั้น เพื่อเข้าใจในเนื้อหาของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในการดำเนินการเก็บข้อมูลจึงต้องอาศัยการออกไปสำรวจศึกษาตามชุมชนต่างๆของท้องถิ่น นอกเหนือไปจากชุมชนที่จะเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น โดยทั่วไปและตามความเป็นจริง ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการ ตลอดจนเทคนิคในการจัดพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ใช่คนจากภายใน หากเป็นคนภายนอกที่เป็นนักวิชาการ การวางแผน การกำหนดวิธีการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล จึงเป็นเรื่องของคนจากภายนอก โดยมีขั้นตอนในการศึกษาดังต่อไปนี้
• เริ่มด้วยการประชุมกลุ่มทำงาน ที่ประกอบด้วยบุคคลจากภายในและภายนอก เพื่อให้รู้จักบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่าย เพื่อให้เข้าใจแนวคิด วิธีการ รวมทั้งภาพรวมของท้องถิ่นร่วมกัน โดยเฉพาะการเข้าใจภาพรวมของท้องถิ่น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่สร้างความสะดวกด้วย เช่น การจัดหาภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่มาเป็นสื่อให้เข้าใจตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ลักษณะพืชและสัตว์ รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของชุมชนมนุษย์ในท้องถิ่น การดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคม เมื่อเห็นภาพรวมร่วมกันจนเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็กำหนดกรอบและเนื้อหาที่จะต้องศึกษาและรวบรวมเข้ามาทำการวิเคราะห์กำหนดเป็นหัวข้อในการจัดแสดง ซึ่งประกอบด้วย
พื้นที่ (Space) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ท้องถิ่นว่ามีพัฒนาการทางวัฒนธรรมเป็นมาอย่างไร
กลุ่มคนในท้องถิ่น ว่ามาจากไหน และมีวิถีที่จัดเป็นอย่างใด การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร
• เป็นการเก็บข้อมูล ทั้งด้านเอกสารและการสำรวจค้นคว้าหลักฐานทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยพยายามให้ทราบว่าท้องถิ่นนี้มีกล่าวถึงในเอกสารทั้งโบราณและปัจจุบันอย่างไรบ้าง แล้วมีการสำรวจหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาวิเคราะห์ให้เห็นว่า ในท้องถิ่นนี้มีร่องรอยให้เห็นการมีคนเข้ามาอยู่อาศัยแต่โบราณ ก่อนที่จะเกิดชุมชนในปัจจุบันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะหลักฐานทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เพราะเป็นสิ่งที่เป็นหลักฐานทางความคิดที่มีความแน่นอนกว่าหลักฐานเอกสาร การศึกษาในข้อนี้อาจใช้วิธีการทางโบราณคดีได้และนำหลักฐานมาวิเคราะห์ ตีความ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ผลของการศึกษาในชั้นนี้ นอกจากจะรู้ว่าเคยมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแต่เมื่อใดแล้ว ยังทำให้ทราบได้ว่ามนุษย์ในสมัยโบราณของท้องถิ่น มีการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างไรบ้าง และเห็นได้จากอะไรบ้าง
Model จำลองภาพชีวิตของชุมชนคนเผาถ่านที่บ้านยี่สาร ตัวอย่างการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นบ้านยี่สาร ที่นอกจากจะมีอาชีพในการทำประมง การค้าขายแล้ว อาชีพการเผาถ่านก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญ
• การออกแบบและการผลิต คือ สิ่งที่จะวัดศักยภาพและพลังของชุมชน ว่ามีความพร้อมเพรียงและมั่นคงแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนที่ชุมชนจะต้องรับผิดชอบ ต่างกับสองขั้นตอนแรกที่เกี่ยวกับการทำทะเบียนและการวิจัยศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมร่วมกับการกำหนดหัวข้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ จากภายนอกช่วยเหลือได้ในรูปของการช่วยเหลือทางวิชาการ แต่ในขั้นตอนหลัง ถ้าหากชุมชนไม่พร้อมเพรียง ไม่มีสำนึกร่วมก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวังในความพร้อมเพรียงก็คือ ทั้งคนรวยและคนจนต้องร่วมมือกันตามกำลังของทุนทรัพย์หรือแรงงาน และถ้าหากเกิดขึ้นจากการระดมทุนจากภายในด้วยแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในการปลูกสำนึกของชุมชน แต่เท่าที่ดูแล้วในหลายๆแห่งนั้น บรรดาคนรวยยังคงสงวนท่าทีอยู่ เช่น บอกว่าไม่มีแต่มักสนับสนุนด้วยลมปาก ผิดกับคนที่พอมีหรือคนจนที่พร้อมจะให้แรงงานและความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ พวกนี้มักรวมกันหาทางออกด้วยการจัดงานรื่นเริงหรือพิธีกรรมของชุมชน เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานสงกรานต์ เป็นต้น แต่ผู้ที่เป็นหัวหอกที่ดีในการหาทุนเห็นจะได้แก่ วัดและพระสงฆ์ ที่มีชื่อเสียงและเจ้าอาวาส เพราะมักจะมีทางที่ได้ทุนจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะเจ้าอาวาสนั้น ดูเหมือนมีบทบาทมากทีเดียว ดังเห็นได้จากกรณีวัดม่วงและวัดจันเสน เป็นต้น
เลยทำให้คิดต่อไปว่า ความมั่นคงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น ถ้าหากตั้งอยู่ที่วัด วัดดูแลและมีชาวบ้านมาช่วยในด้านแรงงาน ทำความสะอาด รวมทั้งทำกิจกรรมต่างๆให้แล้ว ดูจะมั่นคงกว่าพิพิธภัณฑ์ที่อยู่นอกวัดและชาวบ้านดูแลกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น ในตัววัดเองก็มีฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์ตามธรรมชาติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอาคารสถานที่และวัตถุล้วนเป็นของส่วนกลางของชุมชนที่ชุมชนสร้างขึ้นหรือสะสมไว้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปกรรมที่แสดงฐานะและความมีหน้ามีตาขอวงชุมชน ที่แล้วมาทางราชการไม่ว่าทางกรมการศาสนาหรือกรมศิลปากร มักจะกำหนดให้มีการอนุรักษ์สิ่งที่เป็นโบราณสถานวัตถุที่อยู่ในวัดเสมอ โดยเฉพาะทางกรมศิลปากรนั้น ถึงกับขึ้นทะเบียนไว้แทบทุกภาคของประเทศจนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ทำให้ของเหล่านี้ผุพังและเสื่อมสลายไปมาก พร้อมกันก็ทำให้ทางวัดและชุมชนไม่กล้าเข้าไปแตะต้องเพราะเป็นของหลวง
"ตุ่มน้ำเคลือบสีน้ำตาลขนาดใหญ่" ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตุ่มสุโขทัย สื่อสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพความแร้นแค้นกันดารน้ำ
ของชุมชน รวมถึงพลังสร้างสรรค์ของบรรพชนในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านยี่สารก็ยังคงใช้ตุ่มเหล่านี้
ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน
แต่ถ้าทางหน่วยงานราชการเปลี่ยนท่าทีเมื่อใด โดยเฉพาะการสนับสนุนการมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เกิดขึ้นที่วัด และรวมเอาบรรดาโบราณวัตถุสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แล้วให้วัดและชุมชนดูแลโดยที่ทางราชการเป็นพี่เลี้ยงให้ ทั้งในด้านวิธีการเทคนิคในการจัดแสดง รวมทั้งสนับสนุนให้ทุนในการจัดพิพิธภัณฑ์พอสมควรแล้ว การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างมั่นคงนั้นจะมีขึ้นอย่างมากมายในเวลาไม่นานทั่วทั้งประเทศทีเดียว เพราะเหตุว่า ปัจจุบันความอยากมีพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งสำนึกร่วมของชุมชมที่อยากเป็นตัวเองนั้น มีมากมายจนเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในทางสังคมและวัฒนธรรมก็ว่าได้ ในกระแสของวิวัฒนาการทางสังคมที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคของประชาสังคม (Civil Society) ที่สังคมมีบทบาทในการจัดการตนเองมากกว่าที่จะพึ่งพิงรัฐเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือ คลังทางภูมิปัญญาของสังคมที่ผู้คนในท้องถิ่นจะต้องรับรู้และเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำรงชีพ และปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างมีดุลยภาพ ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่จะต้องมีขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันย่อยที่สัมพันธ์กับวัดอย่างแยกกันได้ยากทีเดียว
แต่ก่อนสมัยเมื่อท้องถิ่นแต่ละแห่งต่างก็อยู่ในสภาพที่โดดเดี่ยวเป็นสังคมแบบเรียบง่าย (Simple Society) นั้น วัด คือ สถาบันที่เป็นองค์รวมของความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม คนต้องมาศึกษาเล่าเรียนกันในวัด แต่ทว่าความรู้ทางโลกที่ทางวัดสอนให้นั้นเป็นลักษณะเน้นความรู้ภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการมองแต่ภายใน (Inward Looking) เป็นสำคัญ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ มีการปฏิรูปบ้านเมืองไปเป็นแบบตะวันตก จึงมีกระบวนการที่แยกทางโลกออกจากทางธรรม (Secularization) ทำให้เกิดมีโรงเรียนที่แยกออกจากการดูแลของพระสงฆ์ขึ้น แม้ว่าที่ตั้งของโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตวัดก็ตาม เลยทำให้บทบาทของวัดทางสังคมน้อยลงไป และการศึกษาในโรงเรียนก็กลายเป็นการมองแต่ข้างนอก (Outward Looking) มากกว่าข้างในอย่างสุดโต่ง ที่ว่าอย่างสุดโต่งก็คือ การรับรู้และการมองแต่สิ่งห่างไกลจนไม่เห็นของจริง ทำให้คิดอะไรไม่เป็น นอกจากเชื่อโดยวิธีท่องจำอะไรทำนองนั้น ผลการศึกษาแบบนี้ทำให้สังคมไทยมีนิสัยเลียนแบบและอ้างอิงแต่สิ่งที่ห่างไกลตัวเองทั้งสิ้น เลยเป็นผลให้ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นศักยภาพที่อยู่ภายใน จนบางกลุ่มบางเหล่าถึงขนาดดูถูกตนเองก็มี เกิดการดูหมิ่นดูแคลนผู้ใหญ่ผู้อาวุโสว่าล้าหลัง
แต่ทว่าการที่จะเอาโรงเรียนไปอยู่กับวัดและกับพระดังเดิม ก็จะเป็นการถอยหลังกลับเข้าคลองโดยแท้ เพราะบ้านเมืองและสังคมได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยโลกาภิวัตน์แล้ว สังคมในท้องถิ่นแทบทุกแห่งคือสังคมซับซ้อน (Complex Society) จำเป็นต้องมีสถาบันใหม่ที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่างขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ คือ สถาบันการศึกษานอกระบบที่เกิดขึ้น อีกทั้งเป็นสิ่งที่นำไปเชื่อมโยงกับวัดและพระสงฆ์ในสถาบันเดิมได้
ภาพการจัดนิทรรศการนอกสถานที่เกี่ยวกับบ้านยี่สาร กระบวนการต่างๆ ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์จะไม่บังเกิดผล
หากไม่มีการเผยแพร่ความรู้ต่างๆที่ได้มาให้แก่ชุมชน
การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ที่มาร่วมจากภายนอก เช่น ข้าพเจ้าและคณะกับผู้ที่อยู่ภายใน คือ ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพราะการจัดพิพิธภัณฑ์ตามแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องของการเอาสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุมาตั้งแสดง หรือเพียรพยายามหาสิ่งของที่เก่าแก่มีราคาค่างวดมาแสดงอย่างที่พิพิธภัณฑสถานที่แสดงศิลปวัตถุทำกัน หากเป็นเรื่องที่จะต้องเอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นมาจัดแสดง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาร่วมกัน พึ่งพิงซึ่งกันและกันระหว่างคนนอกกับคนใน
คนนอก คือ ผู้ที่มีความรู้ มีวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล และตีความให้เป็นองค์ความรู้ ในขณะที่คนใน คือ เจ้าของข้อมูล เพราะไม่มีใครรู้เรื่องราว ทั้งในอดีตและปัจจุบันของวัฒนธรรมและสังคมท้องถิ่นได้ดีกว่าพวกตน เมื่อให้ข้อมูลกับคนนอกมาจัดเป็นเรื่องราวแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่ในการประเมินว่าถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมท้องถิ่นหรือเปล่า ก่อนที่จะรับรองร่วมกันว่าสิ่งที่จัดทำขึ้นนั้น คือ องค์ความรู้ จากนั้นก็จะได้เอาเรื่องราวและความรู้เหล่านั้น มากำหนดเป็นหัวข้อในการแสดงเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นความร่วมมือในการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างคนในและคนนอกนั่นเอง
ที่มา : หนังสือสังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน),๒๕๔๕.