หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เปิดประเด็น : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น [local museum] และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน [sustainable tourism]
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ส.ค. 2539, 13:54 น.
เข้าชมแล้ว 5565 ครั้ง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  [local museum]

และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน  [sustainable  tourism]

 

            ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้มีอย่างมหาศาล แต่จะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น นั่นก็คือการนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์เมือง (local museum) กับการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism) อันเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาดแคลนอยู่มากในขณะนี้ ที่ว่าเป็นประโยชน์กับการจัดและสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ก็เพราะว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ คือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัตถุเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นการสื่อให้เห็นแต่เพียงรูปแบบทางศิลปกรรมและอายุตามยุคสมัยที่เพียงแสดงความเก่าแก่และความรุ่งเรืองของบ้านเมืองเป็นสำคัญ เป็นการเสนอเนื้อหาทางวัฒนธรรมที่หยุดนิ่งและเป็นตอนๆ ไป มากกว่าการที่จะให้แลเห็นคนในพื้นที่และพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างสืบเนื่องและมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า การจัดแสดงของบรรดาพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่มีอยู่นั้น แม้ว่าจะมีการนำเอาเทคนิคและวิธีการจัดแสดงที่ทันสมัยเข้ามาทำกันอยู่ก็ตาม แต่แนวคิดยังคงเป็นแบบเดิม ที่มุ่งให้คนเชื่อและหลงใหลในความรุ่งเรืองและเก่าแก่ของชาติเป็นสำคัญเป็นสิ่งที่ล้าหลังเพราะในยุคสมัยของโลกาภิวัตน์เช่นในปัจจุบันนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมอมเมาตนเองได้ ข้าพเจ้าคิดว่าค่านิยมทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในเรื่องที่อะไรก็จะเป็นที่สุดของโลก  ที่แพร่สะพัดอยู่ในขณะนี้ก็มีที่มาจากการมอมเมาตนเองในลักษณะนี้ ในขณะที่แนวคิดในเรื่องพิพิธภัณฑ์ในโลกปัจจุบันสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมุ่งที่จะให้คนในชาติได้รู้จักตนเองเป็นสำคัญและในขณะเดียวกันก็เป็นสถาบันการศึกษาที่คนจากภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อความเข้าใจทางวัฒนธรรมที่จะมีผลไปถึงการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นในโลกเดียวกัน ที่ว่าให้คนในชาติรู้จักตัวเองก็เพราะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือสถานที่แสดงของที่ทำให้คนในท้องถิ่นรู้จักถิ่นตนเองว่าอยู่ที่ไหนมีสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างใด มีหลักฐานความเก่าแก่ในการตั้งถิ่นฐานและการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมาอย่างใด และในการปรับตัวดังกล่าวทำให้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างใดขึ้นมาควบคุม เรื่อยลงมาถึงพัฒนาการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่จะทำให้แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในปัจจุบันและอนาคตได้

 

พ.พ.ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส พ.พ.ท้องถิ่นวัดจันเสน

 

            การจัดพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้คนได้เห็นจากสิ่งที่เป็นจริงใกล้ตัวดังกล่าวนี้ คือระบบการศึกษาที่ทำให้คนได้เห็นและได้คิด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การมีสติปัญญาและการมีความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นานาประการ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษานอกระบบ ที่อาจสร้างดุลยภาพกับการศึกษาในระบบที่เน้นการเรียนรู้สิ่งไกลตัว การเชื่อและท่องจำแบบคิดไม่เป็นที่มีอยู่ในขณะนี้

 

            พิพิธภัณฑ์นั้นแลเห็นได้ข้อมูลและหลักฐานที่นำมาแสดงประกอบด้วยหลักฐานทางโบราณคดี (archaeological past) ที่เป็นมาของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม (cultural history) และหลักฐานทางชาติพันธุ์ (ethnographical present) ซึ่งได้จากวัตถุสิ่งของและคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่น เป็นที่มาของประวัติศาสตร์ทางสังคม อีกทั้งเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในขณะนี้ แม้ว่าบางแห่งจะพยายามนำมาเกี่ยวข้องด้วย ก็ยังขาดในเรื่องบริบทและการศึกษาวิจัยที่ถูกต้อง

 

            ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism) นั้นเป็นสิ่งภายนอกที่จะมาเชื่อมโยงกับการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ความมุ่งหมายก็เพื่อที่จะให้คนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือคนภายในประเทศเอง ได้รู้จักและเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมีเหตุผลและถูกต้อง เพราะฉะนั้นหลักฐานและข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นจะเป็นสิ่งที่นำไปใช้เป็นเนื้อหาสาระในการให้ความรู้และความคิดแก่นักท่องเที่ยว

 

พ.พ.ท้องถิ่นวัดเกตาราม จ.เชียงใหม่ ภายในพ.พ.ท้องถิ่นยี่สาร

 

            หัวใจของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอันเกิดมาจากการเคลื่อนไหวทั่วโลกในขณะนี้ก็คือ เพื่อการศึกษาทางวัฒนธรรมที่จะสร้างความเข้าใจอันดีในการที่มนุษย์จะอยู่ในโลกเดียวกัน อย่างมีความเคารพต่อกัน เป็นเรื่องที่มุ่งเน้นไปในทางศีลธรรมด้วย การท่องเที่ยวแบบนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดการท่องเที่ยวแต่ก่อนที่ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งเน้นเพื่อให้เป็นรายได้ทางเศรษฐกิจแก่บ้านเมืองและกลุ่มบุคคลที่จัดการ จึงเป็นการให้ความเพลิดเพลินและการหย่อนใจแก่ผู้ที่เป็นนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และในส่วนนักท่องเที่ยวเองก็เกิดนิสัยที่ไม่มีความรับผิดชอบขึ้น เพราะเข้ามาอยู่ในถิ่นฐานที่ไม่ใช่บ้านเมืองของตน พร้อมที่จะใช้เงินทองซื้อหาในสิ่งที่ตนอยากได้และต้องการ การเสนอสนองแบบนี้นำไปสู่การท่องเที่ยวและการจัดการเพื่อการท่องเที่ยวแบบทำลาย ผลที่ตามมาก็คือ สภาพแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกทำลายซึ่งก็รวมไปถึงผู้คนด้วย เช่น ปัญหาโสเภณีและการระบาดของโรคเอดส์ที่เห็นในขณะนี้ เป็นต้น  การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนี้เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลินทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเท่าๆ กับการสร้างสำนึกให้คนจากภายนอกมีความเคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นและแสวงหาความร่วมมือกับคนท้องถิ่นและกระจายรายได้ไปสู่คนท้องถิ่น

 

            เมื่อเป็นเช่นนี้การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนก็คือทางเลือกสำคัญอีกทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่อาจจะดีกว่าและเหมาะสมกว่าการพัฒนาทางเกษตรอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม ที่มีแต่การทำลายสภาพแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินความจำเป็น หลายๆ ประเทศเช่นในยุโรปตะวันออกมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้คนมีรายได้ดีโดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เปิดเผยให้เห็นความรุ่งเรืองในอดีตที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าอังกฤษและฝรั่งเศสเลย

 

ยี่สาร

 

            แต่การที่จะให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ว่านี้ได้ในประเทศไทยนั้น ก็ต้องมีการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน ที่ทำให้สงสัยในศักยภาพและความเข้าใจของ ททท. ว่าจะทำให้หรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงเหนืออื่นใดทั้งสิ้นในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาและให้ความรู้ในเนื้อหาสาระทางโบราณคดีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ที่แล้วมาเนื้อหาสาระในการอธิบายนำเที่ยวโบราณสถานและสถานที่ทางประวัติศาสตร์นั้น มักเน้นในเรื่องรูปแบบทางศิลปะและอายุเพื่อให้เห็นความเก่าแก่และความสวยงามเป็นสำคัญ หาได้ให้ความหมายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและสังคมไม่ อีกทั้งอะไรต่ออะไรก็มองที่ศูนย์กลางเป็นใหญ่ หาได้ให้ความสนใจต่อคนและท้องถิ่นไม่ เพราะฉะนั้นผลการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จะทำขึ้นตามโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปให้การศึกษาอบรมมัคคุเทศก์ให้มีคุณภาพดีขึ้น อีกทั้งยังอาจสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจที่จะให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้

 

 

 

 

 

 

                                                                                                    

ศรีศักร  วัลลิโภดม

เปิดประเด็น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก –ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑ (ก.ค.-ส.ค.๒๕๓๙)

                                                                                                    

           

           

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ค. 2559, 13:54 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.