อาจเพราะความบังเอิญที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการค้าทางเรือในลุ่มน้ำปิง จึงทำให้ได้มารู้จักกับพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในย่านวัดเกตุ ริมน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่
จุดเริ่มของพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ เนื่องจากทางวัดจะทำการรื้อกุฏิเก่าของพระครูชัยศีลวิมล (เมืองใจ ธัมโม) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “โฮงตุ๊เจ้าหลวงเก่า”(กุฏิเจ้าอาวาสรูปเก่า) อายุกว่า ๑๐๐ ปี สร้างและบูรณะโดยลูกหลานคนจีนย่านวัดเกตุ ลักษณะอาคารด้านหน้าเป็นไม้ระแนงโปร่ง มีลูกไม้ชายคา และไม้กลึงที่หน้าจั่ว เป็นอาคารที่สวยงามหลังหนึ่ง แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมของตัวอาคาร ทางวัดจึงต้องการรื้อและสร้างเป็นอาคารแบบใหม่แทน ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้ทางวัดเก็บรักษากุฏิหลังดังกล่าวไว้ และด้วยพื้นที่ย่านวัดเกตุเป็นย่านที่มีความสำคัญทางการค้าและการเข้ามาของผู้คนมาแต่อดีต เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ใช้แลกเปลี่ยนขนส่งสินค้าจากเมืองเชียงใหม่ไปขายยังปากน้ำโพธิ์และกรุงเทพฯ ทำให้ชาวบ้านในย่านนี้มีของดีของโบราณจำนวนมาก จึงเกิดความคิดที่จะนำกุฏิดังกล่าวมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่มีในอดีต โดยแกนนำในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์คือ คุณลุงแจ๊ค หรือ จริณ เบน ชาวบ้านวัดเกตุ ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ บุตรชายผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวเบอร์มา วัย ๘๙ ปี ร่วมกับพระสงฆ์ ชาวบ้าน และคณะศรัทธาวัด
"โฮงตุ๊เจ้าหลวงเก่า" อาคารที่ชาวบ้านย่านวัดเกตุเรียกร้องให้รักษาไว้ จนก่อเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดเกตุในที่สุด
เริ่มแรกของการจัดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือทำการปรับปรุงอาคารกุฏิเจ้าอาวาสเดิม เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ ลุงแจ๊ค เคยเล่าว่า...เป็นอะไรที่ลำบากมาก เพราะสภาพอาคารก็ทรุดโทรมผุพัง ทั้งยังไม่มีทุน ถึงขั้นที่ว่า เอาฝาโลงศพมาต่อเป็นฝาผนังบ้าง ชั้นวางของที่ได้รับบริจาคมาบ้าง แต่ทั้งนี้ ความที่ชาวบ้านย่านวัดเกตุร่วมแรงร่วมใจกันอยากที่จะรักษาเอกลักษณ์รูปทรงอาคารของท้องถิ่นไว้ จึงช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครมีเงินออกเงิน ใครมีแรงออกแรง พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจึงแล้วเสร็จ เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๓ โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์วัดสระเกษ อันเป็นชื่อเดิมของวัด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ อย่างเช่นทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์วัดเกตุเปิดมานานเกือบ ๑๐ ปี มีผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สำคัญสามท่าน คือ ลุงจริณ เบน (ลุงแจ๊ค), ลุงอนันต์ ฤทธิเดช (ลุงอ๊อด) และลุงสมหวัง ฤทธิเดช (ลุงหวัง) นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่รวมทั้งเด็กในย่านวัดเกตุแวะเวียนมาช่วยดูแลและรับแขกบ้างบางครั้ง
หัวเรือใหญ่ในการจัดพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ลุงแจ๊ค (จริณ เบน)
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดง แบ่ง ๖ ส่วนที่เห็นได้ชัด ส่วนแรกของพิพิธภัณฑ์คือห้องโถงขนาดยาวเมื่อเข้าไปทางขวามือจะเป็นมุมกราบพระ อันเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่าประดิษฐานเป็นพระประธานในพิพิธภัณฑ์ ถัดมาในส่วนที่สองทางซ้ายมือของโถงจะเป็นที่มุมเก็บอุปกรณ์และซ้อมดนตรีไทยของเยาวชนในย่านวัดเกตุ พร้อมทั้งเป็นมุมรับแขก รวมถึงการจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัวเรือน อาทิ ตะเกียง กาต้มน้ำ ถาด พัดลม ที่ปั่นฝ้าย ฯลฯ อันเป็นสิ่งของในครัวเรือนที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เพราะลวดลายของสิ่งของต่างๆเป็นของเก่าแทบทั้งสิ้น อีกทั้งบางชนิดในปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว เป็นต้น
ถัดเข้าไปจากโถงยาวเป็นห้อง ๓ ห้อง ทะลุถึงกันได้หมด ในห้องแรกหรือส่วนที่ ๓ คือห้องที่จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต ทั้งเหรียญ ธนบัตร หนังสือเก่า เครื่องมือช่าง กำปั่นเหล็ก ถ้วยโถโอชาม เตารีดโบราณ เสื้อผ้า ผ้าทอ ผ้าปักดิ้น ซิ้น ฯลฯ โดยสิ่งของแต่ละชิ้นได้จัดเรียงอยู่ในตู้โชว์ไว้อย่างเป็นระเบียบ ถัดมาเป็นห้องกลางหรือส่วนที่ ๔ ได้จัดแสดงพระพิมพ์ และพระพุทธรูปโบราณจากที่ต่างๆ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน รูปภาพพระและวัดเมื่อครั้งอดีต ห้องที่๓ หรือส่วนที่ ๕ ของพิพิธภัณฑ์ คือห้องจัดแสดงธงสยาม (ธงช้างเผือก) ธงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่นธงมังกร และเครื่องอาภรณ์ของเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมถึงผ้าโบราณของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นอาทิ
ในส่วนสุดท้ายหรือส่วนที่ ๖ จัดแสดงในศาลาบาตร อยู่นอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นที่จัดแสดงรูปภาพเก่าของเชียงใหม่เมื่อครั้งอดีต รวมถึงบุคคลสำคัญทั้งของเมืองเชียงใหม่และย่านวัดเกตุด้วย
ทั้งหมดนี้คือส่วนในการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ของพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ที่ได้จากการบริจาคของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ และสิ่งของเครื่องใช้ในวัดอีกส่วนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านี้ ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงทยอยนำสิ่งของโบราณ หรือเอกสารสำคัญมาให้พิพิธภัณฑ์จัดแสดงอยู่เนืองๆ จนขณะนี้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เต็มไปด้วยสิ่งของโบราณจำนวนมาก และยากที่จะหาที่จัดเก็บ แต่ของยิ่งมากก็เสมือนเป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์วัดเกตุไปเสียแล้ว...
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ
และจากการที่ข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัดเกตุอยู่เนืองๆ จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการสิ่งของที่จัดแสดงเป็นจำนวนมากว่าเหล่านั้น ว่าควรที่จะทำการแบ่งเป็นหมวดหมู่ และจัดทำทะเบียนวัตถุให้เป็นระเบียบ ซึ่งภาพรวมของการจัดหมวดหมู่และจัดทำทะเบียนวัตถุยังเป็นการง่ายต่อการศึกษาค้นคว้าในภายหลังอีกประการหนึ่งด้วย อีกทั้งวัตถุสิ่งของส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ เป็นของดี มีค่า หายาก การจัดทำทะเบียนวัตถุก็เพื่อบันทึกถึงคุณลักษณะ การนำไปใช้และที่มาที่ไปของสิ่งของ เพราะขณะนี้คนในย่านวัดเกตุน้อยคนนักที่จะรับรู้เรื่องราวสิ่งของ และการใช้งานในอดีต ดังนั้นจึงควรรีบทำในขั้นตอนนี้เสียก่อน ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของทางมูลนิธิฯได้สอดคล้องกับความต้องการของทางผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ด้วยที่เห็นว่าสิ่งของมีมากขึ้นทุกขณะ การจัดเก็บสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่และเลือกสิ่งที่สำคัญจัดแสดงน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งของการจัดแสดงก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อความต้องการของคนในและการเสนอแนะของคนนอกอย่างมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์สอดรับกัน ทางมูลนิธิฯ จึงได้เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการทำทะเบียนโบราณวัตถุ โดยทำการแนะนำการทำทะเบียนให้กับพระและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ก่อนในเบื้องต้น
ทั้งนี้ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์วัดเกตุได้ทำการขยายพิพิธภัณฑ์โดยการต่อเติมห้องจัดแสดงไว้ทางด้านหลังของอาคารพิพิธภัณฑ์เดิม จากการสอบถามพูดคุยกับลุงสมหวัง ฤทธิเดช กล่าวว่า ...ห้องดังกล่าวต่อเติมมาเพราะได้เงินบริจาคจากชาวบ้านและผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เป็นหลัก ส่วนการใช้ประโยชน์จากห้องนี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและกรรมการพิพิธภัณฑ์ยังไม่รู้จะใช้ทำอะไร อาจจะเป็นห้องจัดแสดงวัตถุสิ่งของ หรือจะเป็นห้องเก็บโบราณวัตถุที่ไม่ได้เอาไปจัดแสดงก็เป็นได้ ซึ่งทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ได้เสนอแนะว่าห้องนี้ น่าจะจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตของคนย่านวัดเกตุ และเรื่องราวการเกิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพราะทั้งพื้นที่ย่านวัดเกตุและตัวพิพิธภัณฑ์วัดเกตุมีความน่านสนใจไม่น้อยไปกว่าสิ่งของเครื่องใช้ที่นำมาจัดแสดง เนื่องจากพื้นที่ย่านวัดเกตุมีความสำคัญเพราะเป็นที่อยู่ของกลุ่มหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งยังเป็นจุดค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย โดยทางลุงสมหวัง ฤทธิเดช ก็ได้เห็นด้วยแต่ทั้งนี้ต้องถามความเห็นชอบของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและกรรมการคนอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามจากการเป็น “คนนอก”ที่มองไปยังพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เห็นว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังขาดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก เพราะทุกวันนี้ผู้ที่ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์มีพียงแต่ผู้ใหญ่ ๓ ท่าน (ลุงแจ๊ค จริณ เบน, ลุงอนันต์ ฤทธิเดช และลุงสมหวัง ฤทธิเดช) รวมถึงชาวบ้านวัยดึกในย่านวัดเกตุและศรัทธาวัด เป็นหลัก
หากแต่สิ่งสำคัญ ปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริงที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ต้องการกลับอยู่ที่การจัดการในเรื่องของความช่วยเหลือในเรื่องของข้อมูล ความรู้และประสบการณ์การทำพิพิธภัณฑ์จากที่ต่างๆ มากกว่า ลุงสมหวัง ฤทธิเดช รวมทั้งมัคคุเทศก์วัยดึกกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ...เรื่องเงินในการดูแลพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ไม่มีปัญหา แต่ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ยังสามารถหาทุนรอนมาเป็นทุนได้ ในส่วนของเด็กที่จะมารับช่วงในการดูแลพิพิธภัณฑ์ พวกลุงไม่กังวลมากนัก เพราะทุกวันนี้ก็มีเด็กในย่านวัดเกตุจำนวนหนึ่งมาช่วยพวกลุงๆในการรับนักท่องเที่ยว(คนไทย) หากแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นกลุ่มลุงอยู่ เพราะเด็กยังไม่ได้รับการฝึกพูดภาษาอังกฤษ อีกทั้งตอนนี้ทางลุงสมหวังและลุงทั้งหลาย ได้ตั้งกลุ่มกิจกรรมสำหรับเยาวชนขึ้น นั่นคือ กลุ่มดนตรีไทยและตีกลองปู๋จา (กลองบูชา) ซึ่งเด็กเหล่านี้ถือเป็นรากฐานในการดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อไป หากแต่ ณ ปัจจุบัน อยากที่จะมีการแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์จากที่ต่างๆ ระหว่างกันอันเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และการจัดการของแต่ละพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑ์วัดเกตุแห่งนี้ เพราะผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์ แต่อย่างใด หรือ หากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมต้องการเสนอความคิดเห็นในเรื่องการจัดแสดง คำติชม แง่คิด มุมมอง ฯลฯ ก็อย่าได้นิ่งเฉย ทางพิพิธภัณฑ์ยินดีรับฟังเสมอ เพราะถือว่าการมีพิพิธภัณฑ์วัดเกตุต้องดำเนินไปพร้อมๆกันทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งของ อาคาร สถานที่และพัฒนาความเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งของชุมชนและสังคมต่อไป
และนี่คือความเป็นมา เป็นอยู่ และเสียงเพรียกของคนใน จนก่อเกิดพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ อย่างเช่นทุกวันนี้