หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ชีวิตพิพิธภัณฑ์ที่ย่านวัดเกตุ
บทความโดย เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ
เรียบเรียงเมื่อ 30 พ.ค. 2559, 14:19 น.
เข้าชมแล้ว 8589 ครั้ง

ย่านวัดเกตุริมน้ำปิง ฝั่งตะวันออกในอดีต (ภาพจากหนังสือล้านนาเมื่อตะวาโดยบุญเสริมสาตราภัย)

 

นับย้อนกลับไปกว่า๑๐๐ปีชุมชนทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิงใกล้กับสะพานนวรัตน์ถูกจัดให้เป็นที่อยู่ของคนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นชาวจีนฝรั่งคนพื้นเมืองมุสลิมดังเห็นได้จากอาคารสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือมาจนปัจจุบันย่านดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีเรียกว่าย่านวัดเกตุ

 

เหตุที่เรียกย่านวัดเกตุเพราะมีวัดเกตุการามเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นทั้งที่พักพิงสถานศึกษาบริเวณริมน้ำปิงท่าวัดเกตุครั้งหนึ่งยังเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งซื้อขายสินค้าจากเชียงใหม่ไปขายยังปากน้ำโพและกรุงเทพฯ  การเป็นท่าเรือสินค้านี้เองที่ทำให้พื้นที่ย่านวัดเกตุการามมีคนจากที่อื่นๆเข้ามาอาศัยโดยเฉพาะชาวจีนที่มาทำการค้าชาวจีนในย่านวัดเกตุมีมาหลายระลอกด้วยกันจึงทำให้ย่านดังกล่าวมีชาวจีนสะสมอยู่จำนวนมาก

 

นอกจากชาวจีนยังมีคนเชื้อชาติอื่นได้เข้าตั้งที่อยู่อาศัยและทำกิจการอีกเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ชาวอเมริกัน ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาเราเรียกกันว่ามิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนามีการตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิคโรงเรียนดาราวิทยาลัยโรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์โรงเรียนเชียงใหม่คริสต์เตียนมหาวิทยาลัยพายัพ(พัฒนามาจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์แมคคอร์มิค) ทั้งยังจัดตั้งคริสตจักรหลายแห่ง 

 

ชาวอังกฤษ ที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่และรัฐบาลไทยหรือที่รู้จักกันดีคือบริษัทบริติชบอร์เนียวจำกัด

 

ชาวซิกข์ จากแคว้นปัญจาบในอินเดียได้เดินทางผ่านทางพม่าเข้ามาตั้งรกรากและศาสนสถานยังชุนชนวัดเกตุ

 

คนจีนยูนนาน หรือจีนฮ่อที่ทำการค้าแบบวัวต่างม้าต่างจากถิ่นอื่นๆมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม

 

และ คนมุสลิม มาจากปากีสถานอินเดียบังคลาเทศได้มาตั้งรกรากในการทำมาหากินโดยเฉพาะเรื่องของการค้าเป็นหลักต่อมาเมื่อประชากรมากขึ้นจึงได้สร้างโรงเรียนมัสยิดและสุเหร่าขึ้นในย่านนี้ด้วย

 

ทุกเชื้อชาติที่กล่าวว่ามาล้วนเข้ามาตั้งรกรากยังย่านวัดเกตุอันเป็นย่านแห่งการค้าขายทั้งสิ้นและได้แต่งงานกับคนพื้นเมืองผสมกลมกลืนกลายเป็นคนย่านวัดเกตุไปในที่สุดอีกนัยหนึ่งก็คือคนต่างทั้งเชื้อชาติศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธคริสต์อิสลามและซิกข์พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นอีกด้วย

 

ประโยชน์ที่ผู้คนต่างเชื้อชาติได้นำเข้ามาในย่านวัดเกตุและเชียงใหม่ได้ก่อให้เกิดความเจริญขึ้นในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนโรงเรียนโรงพยาบาลและศาสนาสถานต่างๆ  ทั้งหมดนี้ต่างหล่อหลอมรวมกันจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่น่าเข้าไปเยี่ยมชมยิ่งนัก

 

ภายในพิพิธภัณฑ์หลังใหญ่แห่งนี้มีหลายสิ่งที่อยากแนะนำก่อนอื่นขอแนะนำพื้นที่ในชุมเริ่มจาก

 

วัดเกตุการาม สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๑๙๗๑เดิมชื่อวัดสระเกษสร้างขึ้นโดยพญาสามฝั่งแกนพระราชบิดาของพญาติโลกราชโดยมีพระยาเมืองพระยาคำและพระยาลือพร้อมด้วยบริวารถึง๒,๐๐๐คนในการก่อสร้างวัดเกตุแห่งนี้(ข้อมูลดังกล่าวหาอ่านได้จากจารึกประวัติวัดเกตุการามที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารภายในวัด) ภายในวัดเกตุการามแห่งนี้ประกอบด้วยวิหารหลังใหญ่หรือที่เรียกว่าวิหารซดสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลังคาซ้อนกันหากรวมถึงบันไดก็เป็น๕ชั้นถือเป็นวิหารที่หาดูได้ยากในปัจจุบันอีกทั้งยังมีลวดลายการแกะสลักและปิดทองไว้อย่างสวยงามภายในวิหารมีธรรมมาสน์และสัตตภัณฑ์ที่สมบูรณ์และสวยงามอยู่หน้าพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัยขัดสมาธิราบก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองหลังพระประธานประดับด้วยพระแผงมีศิลาจารึกบอกเล่าเรื่องราวของวัดเกตุการามเป็นอักษรฝักขามอยู่หน้ามุขวิหารทางทิศใต้

 

พระอุโบสถแบบล้านนาประดับด้วยไม้แกะสลักลงลักปิดทองบานประตูประดับด้วยไม้แกะสลักรูปเสี้ยวกังและประดับด้วยตัวกิเสนสิงโตจีนเหยียบมังกรและปลาพ่นน้ำซึ่งเป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลจากจีน  สิ่งที่สามารถอธิบายถึงความเป็นชุมชนที่มีบรรพบุรุษจีนได้ดีคงเป็นอัฐเจดีย์หรือที่เก็บกระดูกของบรรพชนชาวจีนที่เรียงรายอยู่รอบวัด

 

เจดีย์หรือพระธาตุที่วัดเกตุการามแห่งนี้จำลองมาจากพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นพระธาตุประจำปีของผู้ที่เกิดปีจอที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลองค์พระธาตุจำลองปลายยอดจะเอียงเล็กน้อยเพราะเชื่อว่าต้องไม่ให้ยอดชี้ขึ้นไปตรงกับพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์พระธาตุจุฬามณีเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนาฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จหากอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของลำน้ำปิงจะเห็นยอดพระธาตุเอียงอย่างชัดเจน

 

 

โรงเรียนนักธรรมวัดสระเกต พระธาตุ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายในวัดเกตุการาม

 

หลังอุโบสถและพระธาตุจะเห็นอาคารเรือนไม้สักสวยงามตั้งเด่นอยู่นั่นคืออาคารโรงเรียนนักธรรมวัดสระเกษ(วัดเกตุการาม) สร้างขึ้นปีพ.ศ. ๒๔๖๒โดยจีนอินทร์ซิ้มกิมฮั่งเซ้ง(พ่อค้าขายของโชว์ห่วย) พร้อมด้วยนางจีบภรรยาโดยถวายให้เป็นโรงเรียนนักธรรมบาลีภายหลังไม่มีการเรียนการสอนจึงใช้เป็นกุฏิพระและเณรแทนอาคารดังกล่าวเพิ่งมีการบูรณะปรับปรุงและลงลักปิดทองเมื่อไม่นานมานี้เอง

 

ภายในวัดเกตุการามชาวบ้านย่านวัดเกตุยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดเกตุขึ้นที่กุฏิเจ้าอาวาสเดิมหรือโฮ่งตุ๊เจ้าหลวงเก่าโดยมีคุณตาแจ๊คหรือจริณเบน เป็นหัวเรียวหัวแรงใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตทั้งของพระและฆราวาสอยู่จำนวนมากโดยได้มีการแบ่งห้องจัดแสดงอยู่๓ส่วนส่วนแรกจะเป็นเครื่องใช้ในอดีตทั่วๆไปส่วนที่สองจะเป็นการแสดงของพระพุทธรูปพระพิมพ์และส่วนสุดท้ายได้จัดแสดงเกี่ยวกับธงและเครื่องประดับพัดยศทั้งของเจ้านายเมืองเหนือและพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่  ทางด้านล่างของพิพิธภัณฑ์ยังเป็นลานจัดแสดงภาพเก่าเล่าขานเรื่องราวของชุมชนย่านวัดเกตุและเชียงใหม่ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาอีกด้วย

 

พื้นที่อีกส่วนหนึ่งของวัดเกตุคือท่าเรือวัดเกตุถือเป็นจุดเริ่มต้นสิ่งต่างๆทั้งของย่านวัดเกตุและเมืองเชียงใหม่ก็ว่าได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้คนการค้าซึ่งปัจจุบันพื้นที่ท่าเรือดังกล่าวก็คือบริเวณหัวสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ทางฝั่งวัดเกตุนั่นเอง

 

 

ย่านวัดเกตุริมน้ำปิงในปัจจุบัน

 

ออกจากประตูวัดเกตุการามเลี้ยวขวาไม่ถึง๑๐๐เมตรบริเวณทางซ้ายมือในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทบริติชบอร์เนียวจำกัดมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนจนปัจจุบันโดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานตัดไม้จากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เป็นเวลา๑๐๐ปีคือตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๙๘สมัยรัชการที่๔สัญญาสิ้นสุดในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ในขณะที่ยังดำเนินการอยู่นั่นได้มีการเข้ามาในย่านวัดเกตุของคนในบังคบอังกฤษด้วยทั้งพม่าไทใหญ่เงี้ยวมอญเพราะคนเหล่านี้เชี่ยวชาญในการตัดไม้เป็นเหตุให้ย่านวัดเกตุมีอัตราการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติเมื่อเดินเข้าไปภายในรั่วดังกล่าวจะเห็นบ้าน๓หลังแต่เดิมคือที่ทำการของบริษัทแต่ละหลังล้วนสร้างด้วยไม้สักเต็มใบมีเสามากกว่า๑๐๐ต้นหลังใหญ่สุดมีเสามากถึง๑๓๗ต้นปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกแบ่งเป็นมูลนิธิบ้านสมานใจ(ศูนย์พัฒนาเพื่อสร้างสรรค์คนพิการ-ซาโอริ) แบ่งให้ต่างชาติเช่าบ้างเป็นห้องพักบ้างเพราะพื้นที่ย่านวัดเกตุปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรมศิลปกรรมที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติถวิลหาแทบทั้งสิ้น

 

ชุมชนมัสยิดอัต-ตักวา เป็นมัสยิดศูนย์กลางของชาวมุสลิมย่านวัดเกตุมุสลิมที่อยู่ในย่านวัดเกตุมีมาจากหลายประเทศหลายเชื้อชาติกล่าวคือ ก่อนจะมาเป็นชุมชนมุสลิมอย่างเช่นทุกวันนี้พื้นที่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ซึ่งเดิมอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียนจิตต์ภักดีปัจจุบัน  ก่อนหน้านั้นมีการอยู่ร่วมกันหลายชาติพันธุ์ลักษณะเป็นชุมชนแออัดขาดระเบียบวินัยมีทั้งซ่องโสเภณีร้านขายเหล้าทั่วชุมชนมีมุสลิมอาศัยปะปนในชุมชนไม่เกิน๑๐  ครอบครัวมีทั้งมุสลิมเชื้อสายจีนยูนนาน  อินเดียปากีสถาน  บังคลาเทศ  ชาวมุสลิมที่นี่มีการเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นมีการแต่งงานในกลุ่มมุสลิมกันเองคนอินเดียเชื้อสายปากีสถานในย่านนี้เป็นคนที่อยู่ใต้ปกครองของนักล่าอาณานิคมอังกฤษติดตามเจ้านายอังกฤษเพื่อมาทำงานกลุ่มหนึ่งและผู้อพยพกลุ่มหนึ่ง  ความสัมพันธ์ของมุสลิมด้วยกันและมุสลิมกับคนท้องถิ่นในย่านนี้ค่อนข้างจะดีมีการไปมาหาสู่กันโดยผ่านทางวิถีประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา

 

 

มิสยิดอัต-ตักวาศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในย่านวัตเกตุ : ภาพจากwww.muslimthai.com

 

พระศาสนสถานคุรุดวาราเชียงใหม่ หรือวัดซิกข์ตั้งอยู่ริมกำแพงวัดเกตุการามชาวซิกข์ในย่านวัดเกตุเกิดขึ้นจากชาวอินเดียในแคว้นปัญจาบเดินทางมาค้าขายและอาศัยอยู่ในย่านการค้าวัดเกตุต่อมามีชาวซิกข์ด้วยกันอพยพเข้ามาจึงร่วมกันสร้างพระศาสนาสถานคุรุดวาราขึ้นริมกำแพงวัดเกตุพร้อมทั้งตั้งบ้านเรือนอาศัยร่วมกันกับชาวพื้นเมืองและชาวจีนที่มีมากในชุมชน

 

สถานศึกษาและสถานพยาบาลในย่านวัดเกตุเกิดจากกลุ่มมิชชันนารีอเมริกาที่เข้ามาสอนศาสนาเป็นส่วนใหญ่ซึ่งย่านวัดเกตุมีสถานศึกษาและสถานพยาบาลที่สำคัญคือ

 

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๐เป็นโรงเรียนชายที่เกิดจากการเข้ามาสอนศาสนาของชาวอเมริกันคือศาสนาจารย์เดวิดกอร์มเลย์คอลลินส์มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน  แต่เดิมโรงเรียนดังกล่าวชื่อว่าโรงเรียนชายวัดสิงห์คำหรือChiang mai boy’s schoolตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิงติดกับวังสิงห์คำต่อมานักเรียนมีจำนวนมากขึ้นจึงย้ายมาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบันคือใกล้ลำน้ำปิงฝั่งตะวันออกในปีพ.ศ. ๒๔๓๙และปีพ.ศ. ๒๔๔๙ได้รับพระราชทานนามโรงเรียนใหม่จากรัชกาลที่๖ว่าThe Prince Royal’s Collage

 

โรงเรียนดาราวิทยาลัย เป็นที่ดินที่เจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ประทานให้แก่ดร. แมคกิลวารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๑๓  ท่านดร.แมคกิววารีและภรรยานางโซเฟียแมคกิลวารีเห็นความสำคัญของการศึกษาเด็กหญิงจึงนำเด็กหญิงที่เข้ารีตศาสนาคริสต์มาสอนเย็บปักถัดร้อยรวมถึงสอนอ่านและเขียนหนังสือต่อมาเมื่อมีมิชชันนารีจากกรุงเทพฯเพื่อมาช่วยสอนหนังสือจึงเปิดการเรียนการสอนอย่างจริงจังแรกเริ่มมีนักเรียนหญิงเพียง๒๐คนเดิมทีชาวบ้านเรียกว่าโรงเรียนสตรีสันป่าข่อยแต่เมื่อนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจึงเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนสตรีเป็นโรงเรียนพระราชชายาเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าดารารัศมีพระราชชายาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน

 

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ก่อตั้งโดยมิชชันนารีโปรแตสแตนท์คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน  เริ่มจากการที่มิชชันนารีเอาใจใส่ดูแลและรักษาผู้บาดเจ็บด้วยการแบ่งยาสามัญประจำบ้านซึ่งพวกเขาได้นำติดตัวมาใช้กับตนเองและคนในครอบครัวต่อมาจึงได้ตั้งสถานที่จ่ายยาขึ้นโดยมีแพทย์ชาวอเมริกันทำงานประจำในที่สุดเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๑ได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของน้ำปิง(สถานีกาชาดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) และเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๓ดร.อี.ซี.คอร์ทมิชชันนารีนายแพทย์ผู้อำนวยการคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนร่วมกับดร.แมคกิลวารีได้ก่อตั้งโรงพยาบาลใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลในปัจจุบันและให้ชื่อว่าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคตามชื่อสกุลของนางไซรัสแมคคอร์มิค(Mrs.Cyrus McCormick) ผู้บริจาคเงินในการก่อสร้างโรงพยาบาล

 

นี่คือกลุ่มอเมริกันที่เข้ามายังพื้นที่เชียงใหม่และย่านวัดเกตุซึ่งได้ตั้งสถานที่ต่างๆทางทิศเหนือของวัดเกตุการเข้ามาของคนกลุ่มนี้คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ย่านวัดเกตุเกิดความหลากหลายและสามารถอยู่ร่วมกันฉันท์มิตรได้ตลอดจนเกิดความเจริญขึ้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและสาธารณสุขที่ดีขึ้นความเจริญส่วนใหญ่อาจกล่าวได้ว่ามาจากทางย่านวัดเกตุก่อนจะขยายไปอีกฝั่งหนึ่งของน้ำปิงก็ว่าได้

 

พื้นที่วัดเกตุนอกจากจะมีการเข้ามาของคนที่หลายหลายแล้วชุมชนย่านวัดเกตุยังเชื่อมต่อกับชุมชนอื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นเส้นสันป่าข่อย (เส้นทางที่มีกิจการร้านรวงเกิดขึ้นมากมายเมื่อเส้นทางรถไฟมาถึง) หรือจะเป็นเส้นทางข้ามน้ำปิงไปยังตลาดลำไยตลาดวโรรสหรือถนนท่าแพเป็นต้น

 

ย่านวัดเกตุ” จากอดีตถึงปัจจุบันทั้งในแง่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาอย่างมาก หากแต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกลับนำมาซึ่งเรื่องราวอันหลากหลายของผู้คนไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่การค้าการเดินทางการศึกษาฯลฯ

 

เพราะย่านวัดเกตุมีชีวิตพิพิธภัณฑ์ที่ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

 

อัพเดทล่าสุด 8 มี.ค. 2561, 14:19 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.