หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
หนังใหญ่วัดขนอนได้รับรางวัล Asia/Pacific Cultural Centre for UNESCO
บทความโดย เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ
เรียบเรียงเมื่อ 6 มิ.ย. 2559, 10:47 น.
เข้าชมแล้ว 6373 ครั้ง

 

 

 

หนังใหญ่วัดขนอนได้รับรางวัล Asia/Pacific Cultural Centre for UNESCO

  

 

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน และคุณจฬรรน์ ถาวรนุกูลพงศ์ ผู้จัดการการแสดงหนังใหญ่ 
เป็นตัวแทนรับรางวัล ACCU ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน และคุณจฬรรน์ ถาวรนุกูลพงศ์ ผู้จัดการคณะหนังใหญ่วัดขนอน เป็นตัวแทนไปรับรางวัล Asia/Pacific Cultural Centre for UNESCO ( ACCU ) ที่ประเทศญี่ปุ่น รางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่หนังใหญ่วัดขนอนได้รับ เพราะเส้นทางของหนังใหญ่วัดขนอนกว่าจะก้าวมาถึงจุดซึ่งเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป พวกเขาต้องใช้ทั้งเวลา ความสามารถ กำลังกายกำลังใจทุ่มเทอย่างเต็มสติกำลัง

 

เกือบ ๑๐๐ ปีแล้วที่ ท่านพระครูศรัทธาสุนทรหรือหลวงปู่กล่อม (พ.ศ.๒๓๙๐-๒๔๘๕) เจ้าอาวาสวัดขนอนโปราวาสใน อดีต หรือวัดขนอนในปัจจุบัน ผู้มีความชอบในงานช่างฝีมือและการแสดงหนังใหญ่ เห็นหนังวัวที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นจำนวนมาก จึงอยากจะทำตัวหนังใหญ่โดยได้รับความร่วมมือจากครูอั๋ง อดีตโขนใน คณะพระแสนทองฟ้า เจ้าเมืองราชบุรี มาช่วยในการสร้างหนัง รวมทั้งช่างจาด ช่างจ๊ะ ชาวมอญราชบุรี ช่างพวง ชาวบ้านโป่ง เป็นกำลังสำคัญ

 

เมื่อทำตัวหนังใหญ่เสร็จแล้วก็หาชาวบ้านรอบๆ วัดมาหัดเชิด หนังใหญ่วัดขนอนตั้งเป็นคณะรับแสดงตามที่ต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงเรื่อยมา โดยมีพระเป็นผู้อุปถัมภ์และชาวบ้านร่วมกันดูแล

 

แต่เส้นทางของหนังใหญ่วัดขนอนหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไม่

 

สงครามโลกครั้งที่ ๒ และการมรณภาพของท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทำให้การเล่นหนังใหญ่ต้องหยุดไปโดยปริยาย ทางวัดจึงนำตัวหนังใหญ่มาเก็บไว้ที่ศาลาดิน ไม่ได้ใช้งานอีกเลย ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามาของสื่อสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังกลางแปลง ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้หนังใหญ่ไม่ได้รับความนิยมและไม่เคยนำออกมาเชิดได้อีก

 

ตัวหนังใหญ่ตากแดดตากฝนที่ศาลาดินในวัดมาเป็นเวลานาน ไม่มีใครเข้าไปเอาใจใส่ดูแล จนวันหนึ่งมีชาวต่างชาติมาเห็นและเสนอเงินจำนวนนับแสนเพื่อขอซื้อ ทำให้ทางวัดและชาวบ้านเห็นความสำคัญขึ้นมา จึงได้ย้ายมาเก็บรักษาไว้อย่างดีบนกุฏิ

 

พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓ กรมศิลปากรเข้ามาในพื้นที่เพื่อสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ทราบข่าวว่าทางวัดขนอนเคยมีหนังใหญ่เป็นของตนเอง จึงร่วมกับชาวบ้านฟื้นการแสดงหนังใหญ่อีกครั้ง มีการรวมตัวกันของชาวบ้านที่เคยอยู่ร่วมสมัยกับหลวงปู่กล่อม ได้เคยเรียนรู้ทั้งการเชิดหนัง พากย์หนัง มาแล้วทั้งสิ้น การรวมตัวกันในครั้งนั้นถือเป็นการรวมตัวกันอย่างเฉพาะกิจ เล่นตามสถานที่ใกล้ๆ เท่านั้น มีการจ้างวานแสดงหนังใหญ่ในงานใหญ่ๆ เช่น งานวัด งานวันเกิด หรืองานศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงคหบดีผู้มีอันจะกิน การจัดการในคณะหนังใหญ่สมัยนี้ นอกจากพระจะเป็นผู้ดูแลและควบคุมคณะแล้ว จะมีนายหนังหรือหัวหน้าคณะพาไปแสดงในที่ต่างๆ นายหนังมีหน้าที่เกือบทุกอย่างในคณะ ทั้งรับงานแสดง คัดหนังเพื่อง่ายต่อการแสดง จนถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรู้จัก เป็นการจัดการในลักษณะที่นายหนังรับผิดชอบงานเพียงผู้เดียว

 

รางวัล Asia/Pacific Cultural Centre for UNESCO ( ACCU ) ที่ชุมชนวัดขนอนได้รับ

 

จนปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ศาสตราจารย์ พันตรีหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ ได้เข้ามาทำการวิจัยเรื่อง วรรณกรรมประกอบการเล่นหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และมีการเผยแพร่ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ จึงทำให้หนังใหญ่วัดขนอนเริ่มรู้จักในวงกว้างขึ้น การแสดงหนังใหญ่จึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะงานวัดเกิด งานศพ หรืองานวัดอีกต่อไป

 

พระนุชิต วชิรวุฒโฑ หรือพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอนในปัจจุบัน เมื่อครั้งเป็นพระลูกวัดได้เคยร่วมกันกับท่านเจ้าอาวาสในอดีตและชาวบ้าน ทำการแสดงหนังใหญ่วัดขนอนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และพยายามติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทุนสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์หนังใหญ่ เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ร่วมมือกับศูนย์สรรพสินค้าริเวอร์ซิตี้ จัดนิทรรศการและมหกรรมแสดงหนังใหญ่ขึ้น หรือในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ร่วมกับสวนสยาม จัดแสดงหนังใหญ่อีกเช่นกัน

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หนังใหญ่วัดขนอนได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มีการจัดทำหนังใหญ่วัดขนอนชุดใหม่เพื่อใช้ในการแสดงแทนหนังใหญ่ชุดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร และองค์การฟอกหนัง ส่วนด้านการแสดง ทางวัดได้ขอความร่วมมือจากเด็กในชุมชน และเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอนที่มีความสนใจ นำมาหัดเชิด โดยมีพระฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์ เป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งผู้เชิดในคณะจะมีอายุตั้งแต่ ๗-๔๐ ปี การจัดการนอกจากจะมีผู้จัดการคณะแล้วยังมีชาวบ้านและเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลที่สำคัญด้วย

 

ปัจจุบันคณะหนังใหญ่วัดขนอนมีลูกหลานคนในท้องถิ่นที่จบการศึกษาระดับสูงจากรุงเทพฯ คือ คุณจฬรรน์ ถาวรนุกูลพงศ์ เป็นผู้จัดการ ซึ่งกล่าวว่า สิ่งสำคัญของหนังใหญ่วัดขนอนในปัจจุบันคือ จะต้องควบคุมเด็กให้ได้ และจะต้องมีหน่วยงานหรือเครือข่ายที่จะช่วยเหลือในเรื่องการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร

 

หนังใหญ่วัดขนอนได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ทำให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนมากขึ้น จากการจัดการที่เป็นระบบ และเครือข่ายต่างๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือ จึงทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และพ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับเกียรติไปแสดงยังประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี นอกจากจะเปิดการแสดงในหลายพื้นที่แล้ว ยังมีสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนและเผยแพร่ศิลปะการแสดงหนังใหญ่วัดขนอนอีกมากมาย

 

ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภายนอกจนคณะหนังใหญ่ได้ไปในที่ต่างๆ แล้ว หาได้เพียงพอต่อการเปิดตัวหนังใหญ่ไม่ พื้นที่การแสดงประจำถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทางคณะเล็งเห็น เพื่อตัดปัญหาในเรื่องดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงสร้างโรงแสดงหนังใหญ่ภายในเขตวัด เพราะสามารถจัดการปัญหาให้มีพื้นที่การแสดงประจำ ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์หนังใหญ่ของทางวัด ให้เป็นที่รู้จักอีกทางหนึ่ง และเด็กๆ ยังจะได้ฝึกหัดการเชิดและการแสดงในโรงแสดงได้ด้วย

 

การประชาสัมพันธ์ของทางวัดไม่เพียงแต่เปิดโรงแสดงและทำการแสดงทุกวันเสาร์ในช่วงเช้าเท่านั้น แต่ทางวัดยังได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและคณะศรัทธาวัดจัดกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ของทุกปีขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ กิจกรรมในวันดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีคณะหนังใหญ่วัดขนอนเท่านั้น บางปีจะมีการแสดงหนังตะลุง โขน และศิลปะแขนงอื่นๆ จากที่ต่างๆ กิจกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นทั้งการอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมของไทย

 

หนังใหญ่วัดขนอน ถือเป็นตัวแทนศิลปะไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของทุกฝ่าย จนทำให้ได้รับรางวัล Asia/Pacific Cultural Centre for UNESCO ( ACCU ) พระครูพิทักษ์ศิลปาคมกล่าวว่า “ ทางคณะกรรมการให้รางวัลดังกล่าวแก่หนังใหญ่วัดขนอน เพราะหนังใหญ่วัดขนอนเป็นศิลปะไทยที่ยังไม่สูญ หลายฝ่ายยังให้การสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์ ทั้งสถาบันกษัตริย์ วัด โรงเรียน ชุมชน จังหวัด หน่วยงานทั้งของราชการและเอกชน รวมถึงสื่อและประชาชนด้วย ”

 

อัพเดทล่าสุด 6 มิ.ย. 2559, 10:47 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.