การดำรงอยู่ของหนังใหญ่วัดขนอนและการก้าวย่างสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดขนอน
คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร
วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน
เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี
คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี
หากคำขวัญประจำจังหวัดเปรียบเสมือนการแสดงออกหรือแนะนำเอกลักษณ์ ของดีของสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ การที่‘วัดขนอนหนังใหญ่’ ปรากฏชื่ออยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดราชบุรีได้นั้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรีของหนังใหญ่วัดขนอนเป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปสู่แรกเริ่มทำตัวหนังใหญ่โดยการนำของ พระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม)ตราบจนวันนี้ จะเห็นว่าหนังใหญ่วัดขนอนดำรงอยู่มากว่าศตวรรษในขณะที่มหรสพการละเล่นอื่นๆ หลายอย่างสูญหายไปตามกาลเวลา
หนังใหญ่วัดขนอนกลับยืนหยัดและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันได้อย่างไร คำตอบดังกล่าวคงสามารถพบเจอหากเพียงหันกลับไปมองให้เห็นถึงสายใยความผูกพันระหว่างชุมชนและจิตวิญญาณของคนทำหนังกับหนังใหญ่ของพวกเขา
กุฏิหลวงปู่กล่อมที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดขนอน
หนังใหญ่ ยังเป็นมหรสพการแสดงที่ต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังวัวซึ่งต้องใช้ทั้งตัวแกะเป็นตัวหนัง รวมถึงรูปแบบการแสดงหนังใหญ่ที่ต้องใช้คนกว่า ๒๐ ชีวิต หรือแม้แต่ส่วนประกอบเล็กๆ อย่างกะลามะพร้าวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงในการแสดง ในแต่ละครั้งแสดงกันประมาณ ๑๐ คืน ต่อคืนต้องใช้กะลาประมาณ ๑ กระสอบ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านผ่านสิ่งของจำนวนมาก เมื่อวัวตายชาวบ้านก็นำหนังมาถวายวัด เด็กๆ หรือคนในชุมชนที่เข้าร่วมแสดงอยู่ในคณะหนังใหญ่ กะลามะพร้าวที่ได้รับมาจากการให้เด็กนักเรียนโรงเรียนศรัทธาสุนทรกล่อมวิริยะศึกษาหรือโรงเรียนวัดขนอนในปัจจุบันที่รวบรวมบ้านละหนึ่งกระสอบมามอบไว้กับทางวัด หนังใหญ่วัดขนอนจึงต้องอาศัยคนทั้งชุมชนร่วมมือกัน
หลังการมรณภาพของหลวงปู่กล่อมใน พ.ศ.๒๔๘๕ หนังใหญ่วัดขนอนหยุดการแสดงไปกว่าสามทศวรรษ เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอนใน พ.ศ.๒๕๑๓ และนำเอาครูหนังใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ ครูละออ ทองมีสิทธิ์ ครูสว่าง ชังเกตุ ครูจาง กลั่นแก้ว กลับมาเป็นแกนนำในการฟื้นฟูการแสดงหนังใหญ่ หนังใหญ่วัดขนอนก็สามารถฟื้นคืนกลับได้ในระยะเวลาไม่นาน ทำให้เห็นถึงจิตวิญญาณของกลุ่มครูหนังใหญ่เหล่านี้ที่ไม่เคยละทิ้งหนังใหญ่ไปไหน ตลอดจนการตอบรับจากคนในชุมชนที่พร้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกหนังใหญ่ขึ้นใหม่อีกครั้ง
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ผู้เป็นกำลังสำคัญในการดำรงรักษาหนังใหญ่วัดขนอนในปัจจุบัน
สามารถฟื้นกลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ในปัจจุบันเป็นผลจากความพยายามและจิตวิญญาณของกลุ่มคนทำหนังใหญ่รุ่นใหม่ โดยการนำของพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ที่เริ่มเข้ามาจับงานหนังใหญ่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูหนังใหญ่ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระลูกวัด ดังคำกล่าวของหลวงพ่อที่ว่า “เราเห็นหนังใหญ่มาตั้งแต่เด็ก จึงไม่อยากให้หนังใหญ่สูญหายไปไหน มีทางไหนที่ทำได้ก็ต้องทำกันไป ซึ่งกว่ามาถึงวันนี้พวกเราต้องพยายามกันมามาก”
หลวงตาฉลาด (พระฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์) กำลังหัดเชิดหนังใหญ่ให้กับเยาวชนในช่วงเย็น
ด้วยความพยายามของกลุ่มคนทำหนังใหญ่เหล่านี้ปรากฏผลขึ้นอย่างเด่นชัด ในพ.ศ.๒๕๓๒ คณะหนังใหญ่วัดขนอนได้มีโอกาสไปแสดงหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นว่าหนังใหญ่วัดขนอนที่ใช้แสดงอยู่นั้นทั้งเก่าและชำรุดไปมาก ควรอนุรักษ์เก็บรักษาไว้ จนมีการดำเนินการจัดทำตัวหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นใช้ออกแสดงแทนตัวหนังชุดเก่า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับหนังใหญ่วัดขนอนเข้าเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน ที่ดำเนินการจัดทำตัวหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นโดยคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมทั้งจัดสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไทยที่บูรณะขึ้นจากหอสวดมนต์เก่า เพื่อใช้จัดเก็บพร้อมทั้งจัดแสดงหนังชุดเก่า ใน พ.ศ.๒๕๓๘ กระทั่งแล้วเสร็จในพ.ศ.๒๕๔๒ ทำให้หนังใหญ่วัดขนอนเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากขึ้นจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของความพยายามที่กลุ่มคนทำหนังใหญ่วัดขนอนได้ทำกันมาด้วยจิตวิญญาณแห่งความรักและความผูกพันกับหนังใหญ่ ดังที่สะท้อนออกมาจากบอกเล่าของหลวงตาฉลาด (พระฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์ – อดีตนายหนังใหญ่และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนในปัจจุบัน) ที่ว่า “ชีวิตเรามันต้องคู่กับหนังใหญ่ ปฏิญาณตนไว้แล้ว ยังเคยพูดเล่นๆ กับพระด้วยกันเลยว่า ตายแล้วไม่ไปไหนหรอกจะอยู่ที่นี่จะเป็นผีเฝ้าพิพิธภัณฑ์อยู่ที่นี่ ”
นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนที่มีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบันแล้ว ในอนาคตอันใกล้ทางวัดขนอนจะมีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดขนอน โดยใช้อาคารทรงไทยที่เคยเป็นกุฏิของหลวงปู่กล่อมหลังเก่าที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้กับกรมศิลปากร เป็นเรือนไทยไม้สับขนาด ๗ ห้อง และกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะเพื่อใช้ในการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เข้าสำรวจและขึ้นทะเบียนวัตถุแล้วกว่า ๒,๐๐๐ ชิ้น
เยาวชนตัวน้อยกำลังเตรียมพร้อมการแสดงหนังใหญ่
เรื่องที่มาที่ไปของสิ่งของเหล่านี้ จากการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลของผู้เขียนในระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าคงมีที่มาหลักๆ จาก ๒ ทาง คือ ทางแรก จากความเป็นพระสงฆ์ที่เป็นที่นับถือของหลวงปู่กล่อม เพราะจากความทรงจำของชาวบ้านที่มีต่อหลวงปู่กล่อมว่าเป็นพระที่มีคาถาอาคม มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ชาวบ้านยอมรับให้เป็นผู้ตัดสินคดีความเล็กๆ น้อยๆ ในท้องถิ่น ด้วยสถานะดังกล่าวหลวงปู่กล่อมย่อมเป็นพระที่มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถืออยู่มากทั้งในและนอกพื้นที่ จึงย่อมมีการนำสิ่งของมาถวายให้กับหลวงปู่ ส่วนทางที่สองอาจเป็นผลจากการที่ในอดีตวัดขนอนเคยถูกใช้เป็นที่เก็บรวบรวมอากรส่วยในละแวกพื้นที่เพื่อส่งเข้ากรุงเทพฯ (สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) จึงอาจเป็นไปได้ที่มีสิ่งของตกหล่นอยู่หรือตั้งใจถวายให้วัดอยู่ได้
หนังใหญ่วัดขนอนดำรงอยู่ผ่านเส้นทางการเดินทางที่ยาวไกลมาได้อย่างไรนั้น คำตอบย่อมอยู่ที่การผสานกันระหว่างภายนอกกับภายใน ชุมชนและคนทำหนังใหญ่ก็เป็นลมที่เข้าโหมต่อให้ดวงไฟที่เกิดขึ้นจากการจุดประกายลุกโชนต่อไปได้ การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดขนอนกำลังเข้าสู่ขั้นตอนสร้างความร่วมมือกับชุมชนผ่านการจัดรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อสืบรากเหง้าและความสัมพันธ์ภายในชุมชน เพื่อให้พวกเขาซึ่งเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์และความทรงจำเป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเองด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น