หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
แข่งเรือ ศักดิ์ศรีแห่งคุ้งน้ำที่เปลี่ยนแปลง
บทความโดย วันใหม่ นิยม
เรียบเรียงเมื่อ 7 มิ.ย. 2559, 10:40 น.
เข้าชมแล้ว 3500 ครั้ง

 

แข่งเรือ ศักดิ์ศรีแห่งคุ้งน้ำที่เปลี่ยนแปลง

 

 

ตามปฏิทินประเพณีโบราณของไทยในทุกภาค โดยเฉพาะไทยภาคกลางและไทยปักษ์ใต้ หรือที่เรียกกันว่า ‘ประเพณี ๑๒ เดือน ’ เมื่อถึงยามหน้าน้ำในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ หรือจนถึงเดือนยี่ นอกจากจะมีประเพณีลอยกระทงเพื่อขอขมาหรือแสดงกตเวทีต่อลำน้ำที่ท้องถิ่นต้องพึ่งพิงอาศัยแล้ว ยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งนั่นคือการ ‘แข่งเรือ’ นั่นเอง

 

แต่จากการเดินทางสำรวจข้อมูลภาคสนามที่ชุมชนวัดขนอนและพื้นที่ใกล้เคียง ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ ได้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ มีการแข่งเรือในคุ้งน้ำแม่กลองย่านวัดขนอนโดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตาคด ย่านวัดป่าไผ่ (อยู่ฟากน้ำแม่กลองตรงข้ามกันกับวัดขนอน เดิมเป็นชุมชนลาว แต่ลูกหลานได้ผสมกลมกลืนกับคนพื้นถิ่นจนเป็นคนไทยไปแล้ว) เป็นเจ้าภาพ นับเป็นการฟื้นฟูประเพณีแข่งเรือในย่านนี้หลังจากที่สูญหายไปเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว (ถ้านับจากปี ๒๕๕๒ ก็คือเมื่อปี ๒๕๒๗) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการแข่งเรือนี้ได้จัดขึ้นนอกหน้าน้ำไปแล้ว

 

จากข้อมูลที่สัมภาษณ์นาย เฉลิม ทองใน ชาวบ้านย่านวัดป่าไผ่ (อยู่ฟากแม่น้ำแม่กลองตรงข้ามกับวัดขนอน และเคยแข่งเรือกับวัดขนอนมาก่อนแล้ว) และชาวบ้านย่านวัดขนอนที่ไม่ประสงค์จะออกนาม จึงได้ข้อมูลตรงกันว่า ในอดีตนอกจากว่าวัดขนอนจะมีชื่อเสียงในเรื่องหนังใหญ่แล้ว วัดขนอนยังเคยเป็นกำลังสำคัญควบคู่กันกับ วัดคงคาราม (อยู่ฟากแม่น้ำแม่กลองตรงข้ามกับวัดขนอนเช่นกัน มีชื่อเสียงในทางจิตรกรรมฝาผนังและเป็นชุมชนมอญที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง และมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของตัวเองร่วมด้วย) ในการจัดการแข่งเรือในลำน้ำแม่กลองช่วงท้องถิ่นวัดขนอน – วัดคงคารามเมื่อถึงยามหน้าน้ำนอง โดยมีเรือจากชุมชนต่างๆ มาร่วมแข่งขัน เช่น ชุมชนวัดป่าไผ่ ชุมชนวัดม่วง กระทั่งชุมชนที่อยู่ห่างไกลเช่นชุมชนที่ทองผาภูมิ เป็นต้น โดยในสมัยนั้นมีเรือมาแข่งร่วม ๓๐ ลำ ทั้งนี้เรือต่างๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันในอดีตนั้นจะมีชุมชนเป็นเจ้าของโดยทางวัดในชุมชนเป็นผู้ดูแล และวัดขนอนมีเรือที่มีชื่อเสียงของวัดคือ “เรือศรีวารินทร์” และ “เรือสินธารา” ซึ่งทั้งสองลำนี้ โดยที่เรือศรีวารินทร์นั้นมีมาก่อนแล้วจึงสร้างเรือสินธาราเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง นอกจากการแข่งเรือในหน้าน้ำ (เดือน ๑๑ และ ๑๒) ยังมีบ่อยครั้งที่ในหนึ่งปีจะแข่งเรือกันนอกหน้าน้ำด้วย เช่นสงกรานต์ (เดือน ๕)

 

เรือศรีวารินทร์ (ซ้าย) และเรือสินธารา (ขวา)

 


เครื่องเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือแข่ง

 

แต่อะไรคือคุณค่าของการแข่งเรือในย่านท้องถิ่นนี้ มันคงไม่ใช่เพียงการแข่งเพียงเพื่อความสนุกสนานหลังฤดูเก็บเกี่ยวเป็นแน่ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านกลุ่มเดียวกันนี้จึงได้ข้อมูลว่า เหตุผลที่เขาเข้าร่วมแข่งเรือเพราะความรักที่อยากจะให้ชุมชนของตนมีชื่อเสียงในท้องถิ่น ทั้งนี้ในการแข่งขันฝีพายทุกคนจะไม่ได้รับอามิสสินจ้างใดๆ จะมีรางวัลก็เพียงแต่ของเล็กน้อยเช่น กะปิ น้ำตาล เครื่องมือทางการเกษตร และบางครั้งเมื่อปรากฏว่าคู่แข่งขันใดเกิดผลการแข่งขันที่สูสีกันจนกรรมการตัดสินไม่ถูก หรือว่าผลการตัดสินไม่เป็นที่ยอมรับ ผู้แข่งขันทั้งสองทีมก็อาจจะเลือกใช้กำลังชกต่อยเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของฝ่ายตน แต่เมื่อเสร็จแล้วก็จะเลิกราต่อกัน

 

เมื่อพิจารณาแล้วจึงพบว่าคุณค่าของสิ่งที่ชาวบ้านพูดถึงก็คือความสามัคคี อันเนื่องมาจากความรักในชุมชนท้องถิ่น หรือความรักในแผ่นดินถิ่นเกิดของตน และความไม่โลภในทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทั้งสิ้นนั่นเอง น่าจะสืบเนื่องจากวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องถิ่นนี้มีที่มาจากความสามารถพึ่งพาตัวเองได้มาก รวมทั้งดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเคารพตัวเอง อย่างปราศจากภาพมายาของเงินมาชักจูงได้โดยง่าย

 

เมื่อย้อนกลับมาที่การแข่งเรือในยุคปัจจุบัน เราจะพบสิ่งที่แตกต่างจากอดีต ประการแรกคือจำนวนเรือซึ่งน้อยลงจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด ในอดีตเคยมีเรือเข้าร่วมแข่งประมาณ ๓๐ ลำ ปัจจุบันนี้มีเพียง ๘ ลำเท่านั้น โดยมาจากท้องถิ่นต่างๆ เช่นชุมชนวัดป่าไผ่มี ทีมพรนารายณ์ ชุมชนวัดม่วงมี ทีมสิงห์สุวรรณ จากทองผาภูมิมี ทีมชาติทองผาภูมิ ฯลฯ ประการต่อมาเจ้าของเรือแทนที่จะเป็นชุมชนวัดกลับกลายเป็นเอกชนในชุมชนต่างๆ ประการต่อมา จากการประกาศของโฆษกและการสอบถามชาวบ้านที่ร่วมการแข่งขันทำให้ทราบว่าการแข่งขันครั้งนี้มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ในส่วนของผู้จัดหรือเจ้าภาพนั้นเริ่มจากการจัดหาทุนซึ่งต้องใช้ทุนนับแสนสำหรับการจัดหารางวัลที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างดีและราคาแพง เงินรางวัลสำหรับทีมเรือต่างๆ ค่าจ้างคนช่วยงาน ค่าเช่าเต็นท์ปะรำ ค่าเครื่องเสียง ค่ากล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบผลการแข่งขัน ฯลฯ ในส่วนของผู้แข่งขันนั้นเมื่อเริ่มสมัครจะได้รับเงินจากเจ้าภาพไปแล้วประมาณ ๑,๕๐๐ บาท แต่ถ้าในวันจริงไม่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องเสียเงินค่าปรับในราคาเดียวกันหรือคืนเงินนั่นเอง และนอกจากนี้แต่ละทีมจะต้องมีทุนสำหรับจ้างฝีพายและผู้ฝึกซ้อม ทุนสำหรับซ่อมหรือสร้างเรือ ฯลฯ ประการสุดท้าย เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากเรื่องเงิน กล่าวคือผู้เขียนได้ยินคำบอกเล่าจากชาวบ้านในทางที่ไม่ดีว่า ในการจัดแข่งขันได้มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องร่วมกันระหว่างผู้จัด และผู้เข้าร่วมแข่งขัน โดยมีผู้มาพนันผลแพ้ชนะกับเจ้าภาพ แล้วเจ้าภาพอาจอาศัยกลโกงผู้พนันโดยนัดแนะกับเรือที่เข้าแข่งขัน พร้อมให้ส่วนแบ่งตอบแทนเรือเหล่านั้น

 

ภาพการแข่งเรือเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ท่วงถ้าของฝีพายผู้เข้าร่วมแข่งขัน

 

แต่ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณค่านี้ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องของอนิจจังที่ไม่อาจฝืนกฎธรรมชาติได้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างใช่ว่าจะมีแต่ความเลวร้ายหรือความดีเลิศเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง การแข่งเรือที่จัดขึ้นในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ นี้ก็เช่นเดียวกัน ในสายตาของผู้เขียนเห็นว่าแม้คุณค่าเดิมของการแข่งขันในอดีตจะแปรเปลี่ยนไปแต่ก็ยังคงอยู่ในสังคม ประการแรกคือ การแข่งเรือนี้เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่สูญหายไปจากท้องถิ่นให้กลับคืนมา ประการต่อมา การที่ฟื้นฟูประเพณีนี้ได้ย่อมแสดงให้เห็นถึงพลังหรือจิตสำนึกรักประเพณีของคนในท้องถิ่นทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกรรมการจัดการแข่งขัน เจ้าของเรือ ผู้เข้าชม รวมทั้งฝีพายที่รับจ้างส่วนมากก็ยังเป็นฝีพายในท้องถิ่นหรือละแวกใกล้เคียง แม้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราก็ตาม

 

กล่าวอย่างสรุปก็คือ การฟื้นฟูการแข่งขันเรือนี้ก็ยังคงสามารถสะท้อนถึงความรักในแผ่นดินถิ่นเกิดที่มีในคนท้องถิ่นทุกคน จนก่อเป็นความสามัคคีดังเช่นที่เคยมีมาในอดีต แม้จะเป็นพลังไม่เต็มเปี่ยมอย่างเช่นในอดีต แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีความรักท้องถิ่นใดๆ หลงเหลืออยู่เลย และผลพลอยได้ที่ติดตามมาคือท้องถิ่นยังสามารถรักษาประเพณีนี้ไว้ให้เป็นความภาคภูมิของท้องถิ่น รวมทั้งราศีแก่คนต่างถิ่นที่เข้าร่วมชมการแข่งขันนี้

 

นี่คืออีกด้านหนึ่งของการสำรวจข้อมูลภาคสนามที่จะขอบันทึกไว้เพื่อเป็นพื้นฐานความคิดอ่านที่จะร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันกับท้องถิ่นต่อไป

 

อัพเดทล่าสุด 7 มิ.ย. 2559, 10:40 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.