ชีวิตที่เพียงพอ
ลุงเซน คงทาน ผู้ใช้ชีวิตเรียบง่ายที่นาหนองแก
มาเมืองกาญจน์ทีไร แดดเมืองกาญจน์ก็ยังคงร้อนระอุจนผิวแสบอยู่แทบทุกครั้ง วันนี้ได้อาศัยฝากชีวิตไว้บนท้ายรถกระบะวัยใกล้เกษียณเพื่อตระเวนดูพื้นที่รอบตำบลหนองขาว ซึ่งชุมชนขนาดใหญ่แห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่
ก่อนออกจากหมู่บ้านใครต่อใครก็ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ไปให้ถึง “นาหนองแก”เพื่อแวะทำความรู้จักกับ “ลุงเชน”ผู้รอบรู้ แต่ระยะทาง ๓ กิโลเมตรที่อาจฟังดูเหมือนใกล้สำหรับถนนลาดยาง กลับทำเอาใจฝ่อเมื่อต้องบุกเข้าไปกลางท้องทุ่งที่บางช่วงบางตอนมีน้ำเจิ่งนองจนกลัวว่าจะทำให้รถตาย หรือบางช่วงมีกิ่งไม้พาดขวางอยู่ก็ดูวุ่นวายเอาการกว่าจะผ่านไปได้ จนความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นจากที่ได้ยินคำว่า “เขาจะไปป่ากัน”ตอนก้าวขึ้นรถก่อนออกจากหมู่บ้านแทบไม่มีเหลือยิ่งพอเห็นบ้านเดี่ยวอยู่กลางทุ่งแต่พาหนะคันเก่งกลับขยับผ่านทางเข้าไปไม่ได้ยิ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมลุงเชนถึงต้องมาอยู่ในพื้นที่ที่ลำบากลำบน รถราเข้าไม่ถึงเช่นนี้ โชคดีที่ความตั้งใจนำทางของลุงบุญเจ้าของรถและลุงจวบเพื่อคู่หูแข็งแกร่งพอเลยได้ยินชาวผิวคล้ำวัย ๖๔ ผมสีดอกเลา ไม่ใส่เสื้อ นุ่งกางเกงขาสั้น คาดผ้าขาวม้าลาย “ตาจัก”ออกมารับแขกแปลกหน้าหลังจากเสียงตะโกนลั่นทุ่งให้ช่วยดูหมาของพรานนำทางสิ้นสุดลง
ทั้งๆ ที่ตอนแรกตั้งใจไว้แค่จะแวะทักทายทำความรู้จักกับลุงเชนเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาคุยด้วยในวันหนัง เพราะวันนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่ต้องมุ่งไป แต่เพราะอัธยาศัยที่ดีของลุงรวมถึงบรรยากาศสบายๆ ใต้ร่มไม้และลมชายทุ่งทำให้การแวะทักทายกลายเป็นการสนทนาที่ยาวนานกว่ากำหนด ใครๆ ก็บอกว่า ถ้าอยากรู้เรื่อง “หนองขาว”ให้มาหาลุงเชน เลยทำให้ลุงเชนได้รับแขกแปลกหน้าอย่างไม่รู้ตัวอยู่บ่อยๆ ว่ากันว่า ลุงเชนอายุน้อยกว่าคนใหญ่หลายๆ คนในหมู่บ้าน แต่เล่าเรื่องราวได้สารพัดและรอบรู้ไปหมดทุกเรื่อง
ลุงเชน คงทาน เล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นกันเอง เริ่มจากความเป็นมาของ “นาหนองแก”ที่เป็นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันนี้ว่าเป็นพื้นที่ที่รัชกาลที่ ๕ ยกให้คนหนองขาว ไว้เป็นที่ปลูกข้าวทำมาหากิน พอถามว่าแล้วคนหนองขาวเป็นใครมาจากไหน ลุงตอบได้ทันทีเลยว่า มากันมากมายหลายกลุ่มหลายสายหลายระลอก เอาแต่ตระกูลของลุงเองก็มีเรื่องเล่ายาวนานว่า “ทวดคง”ผู้เป็นต้นสกุล “คงทาน”เป็นละว้าที่ถูกขอมไล่ต้อนมาสร้างปราสาทหิน ต่อมาได้เป็นทหารสมัยพระเจ้าเอกทัศน์และเป็นนายด่านเมืองกาญจน์ พอมาถึงสมัย “ปู่ทัศน์”ก็เป็นนายด่านากาญจนบุรีสืบต่อจากทวดคงตามประเพณีนิยมสมัยก่อนที่ตำแหน่งนายด่านต้องรับสืบต่อกันตามสายตระกูล แต่เมื่อมาถึงสมัย “พ่อสอน”มีการแบ่งการปกครองแบบใหม่ ตำแหน่งนายด่านเลยถูกยกเลิกไป ลุงเชนแถมท้ายให้อีกด้วยว่า สมัยทวดคงนั้นมีบุคคลที่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในทางต่างๆ ไล่เรียงเรียกกันเป็นอาขยานคือ “คงหนังเหนียว เขียวหนวดงาม ชูกระดูกเหล็ก”ซึ่งเป็นต้นสกุล คงทาน เขียวชะอุ่ม และชูชีพ ในเวลาต่อมา
ลุงพูดถึงศาลเจ้าต่างๆ ในหนองขาวซึ่งมีอยู่มากมาย บอกถึงความสำคัญของศาลเจ้าต่างๆ ลำดับการเกิดรวมทั้งประวัติความเป็นมาได้อย่างสบายๆ เหมือนพูดถึงเรื่องลมฟ้าอากาศทั่วๆ ไปแถมโยงใยถึงความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทางสังคมได้ทันทีโดยไม่ต้องมีระเบียบวิธีวิเคราะห์วุ่นวาย ลุงบอกว่า พื้นที่ที่ชาวหนองขาวบอกว่าเป็นวัดร้างในหมู่บ้านมาเนิ่นนานนั้น แต่เดิมมีเศรษฐีในหมู่บ้านเตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ ๕๐ ไร่ สำหรับสร้างวัด แต่เกิดสงครามเสียก่อนเลยให้เป็นที่ตั้งขาหยั่งผูกปืนใหญ่ในการทำสงครามกับพม่า จนมีคนเรียกชื่อว่า วัดหนองขาหยั่งอยู่พักหนึ่ง แต่ประวัติความเป็นมาก็เลือนหาย ซื่อเรียกวัดร้างแห่งนี้เลยกลายเป็นชื่อของเศรษฐีนีไปในปัจจุบัน
ลุงรู้จักทางเกวียนจากท่ามะขาม ท่าดินแดงตัดออกไปห้วยกระเจา บ้านนาสัก ดอนแฉลบตัดออกสุพรรณบุรี จระเข้สามพัน ลุงเล่าประวัติท้าวอู่ทองได้ เล่าถึงตอนเดินโบราณขึ้นไปสิงห์บุรีได้ ลุงเล่าถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจีนตั้งแต่สมัยแรก ไล่เรียงชื่อกำนันตั้งแต่แรกมีจนถึงคนปัจจุบันได้อย่างแม่นยำ และยังเล่าเรื่องราวอีกมากมายให้ได้จดและจำ
ฟังลุงเล่าจนคนฟังเหนื่อยไปตามๆ กัน แต่ก็ยังอดถามไม่ได้ว่าลุงรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร และที่สำคัญก็คือ จำได้อย่างไร ลุงหัวเราะอย่างอารมณ์ดีต่อความอ่อนด้อยประสบการณ์ของผู้ตั้งคำถามแล้วบอกว่า ที่รู้เรื่องเยอะเพราะสมัยสงครามออกไปไหนกันไม่ได้ เลยฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างเดียว บางเรื่องลุงก็ได้ข้อมูลจากทหารสมัยที่เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อทำแผนที่ หรือมีนิทานที่ปู่ย่าตายายเล่าไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนเป็นเรื่องของประสบการณ์ และการสั่งสม
ข้อเตือนใจที่ลุงให้มาเป็นของฝากก่อนลากลับก็คือ คำบางคำที่ลุงพูดหรือเรื่องบางเรื่องที่ลุงเล่าแม้จะให้ภาพของท้องถิ่นแห่งนี้ชัดเจนแต่คงไม่ถูกหูของชาวหนองขาวนักเพราะบางเรื่องไม่ใช่แง่งาม ลุงบอกว่าเล่าให้ฟังได้แต่อย่าเอาไปเล่าต่อเลย มันจะไม่ดี
กลับออกมาจาก “นาหนองแก”นานแล้วแต่ภาพของลุงในวันแดดจัดยังฉายชัดอยู่ในความคิดคำนึง ได้ยินข่าวจากหมู่บ้านว่า มีผู้สนใจเรื่องราวพื้นถิ่นจากทั้งในและนอกท้องถิ่นรวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าไปไต่ถามข้อมูลจากลุงอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของลุงเปลี่ยนไป ว่ากันว่าลุงกระซิบให้คนท้องถิ่นฟังว่า “ที่เล่าๆ ไปก็เล่าไปอย่างนั้น ไม่เต็มที่หรอก เพราะเขาไม่ใช่คนบ้านเรา”แต่แค่เวลาไม่ถึงชั่วโมงที่ลุงคิดว่าเล่าอะไรไม่ได้เต็มที่ก็เป็นการบ้านที่ต้องกลับมาคิดค้นทบทวนและตรวจสอบมากมาย รวมถึงคำถามที่ผุดพรายขึ้นมาว่า ทำไมลุงถึงเลือกดำเนินชีวิตในแบบที่เรียบง่าย แยกตัวออกมาอยู่ชายขอบหมู่บ้าน ไม่มีไฟฟ้าใช้ห่างไกลความสะดวกสบายทั้งปวง ปลูกข้าว ปลูกผัก ขุดบ่อเลี้ยงปลาแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ว่างก็จักสานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จนดูเหมือนว่าจะใช้ชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอก ทั้งๆ ที่เรื่องที่ลุงรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่น่าจะถ่ายทอดและสืบต่อ
พอนึกถึงคำย้ำก่อนออกไปดูพื้นที่รอบหนองขาวเมื่อคราวก่อนขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ของคำย้ำ “ให้ไปหาลุงเชนที่นาหนองแก”นั้นต้องการให้ไปซักถามข้อมูลหรืออยากให้ไปดูวิถีชีวิตของลุงเชนกันแน่ เพราะวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของลุงเชนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเลือกมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองโดยไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบจากสังคมอันวุ่นวาย ก็คือภูมิปัญญาอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต และคนมีภูมิปัญญาเช่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ในซอกมุมใด ใครๆ ก็อยากเข้าไปหา ไปพูดคุย สนทนาด้วย
ก็นี่มิใช่หรือ แบบอย่างของชีวิตที่เพียงพอ
วิชญดา ทองแดง
บันทึกจากท้องถิ่น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๘ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๕๒)