ข่าวจากหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่” ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ กล่าวถึงกรณีเทศบาลแม่ลาน้อยก่อสร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์แบบไทใหญ่ที่เป็นพระเจดีย์ประจำท้องถิ่นขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่โตกว่าสองเท่า โดยไม่ได้แจ้งหรือประกาศแก่ชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรซึ่งมีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน
เนื้อข่าวความว่า “ชาวบ้านไม่รู้คุณค่าโบราณวัตถุยอมให้ท้องถิ่นก่ออิฐครอบเจดีย์องค์เดิมเหมือนกับฝังทั้งเป็น กรมศิลป์ลงมาฟันผิดหลักการบูรณะ แต่โดนม็อบต้านทำอะไรไม่ได้แค่ห้ามสร้างเพิ่มเติม”
นายตระกูล หาญทองกูล หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร ภาค ๘ เดินทางมาตรวจสอบเจดีย์กลางบ้านในตัวเทศบาลตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามหนังสือร้องเรียนจากวัฒนธรรมอำเภอแม่ลาน้อย ว่าองค์เจดีย์ดังกล่าวคงสร้างมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ถูกทางเทศบาลนำงบไทยเข้มแข็งมาบูรณะองค์พระเจดีย์ แต่ไม่ทำตามหลักการอนุรักษ์โบราณสถาน มีการก่ออิฐถือปูนครอบองค์เจดีย์เดิมเหมือนฝังองค์เจดีย์ทั้งองค์ไว้ในองค์เจดีย์ใหม่ที่ว่าเป็นการบูรณะ
ทางกรมได้รับหนังสือร้องเรียนและสั่งการมายังสำนักภาค ๘ เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูครั้งแรก ทางช่างสำรวจให้หยุดการก่อสร้างบูรณะเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการปรับปรุงแบบแปลน จากนั้นทางสำนักภาค ๘ ได้มีหนังสือสั่งการมายังสำนักงานเทศบาลตำบลแม่ลาน้อย ให้ระงับการก่อสร้างบูรณะพระเจดีย์องค์นี้เอาไว้ก่อน จนกว่าทางเทศบาลจะนำแบบแปลนที่ก่อสร้างมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ และทางเทศบาลยังอ้างว่าแบบแปลนที่นำมาปรับปรุงบูรณะก็มาจากกรมศิลปากรที่นำมาสร้างให้วัดแม่ปาง นายตระกูลยอมรับว่าใช่เป็นแบบแปลนของกรมศิลป์ แต่ไม่ได้ออกแบบมาสร้างในลักษณะนี้ ใช้พื้นที่ผิดกัน เขาใช้นำมาสร้างในที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา กลางสนามที่ราบเรียบ วันนี้ที่กรมศิลปากรให้มาดูว่าตามที่ยังมีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่า ทางการก่อสร้างยังไม่หยุดและดำเนินการก่อสร้างไปเรื่อยๆ อยู่ กรมจึงมอบหมายหน้าที่ให้มาดูว่าเป็นไปตามผู้ร้องเรียนไหม เมื่อตนมาเห็นแล้วรู้ว่าเป็นความจริงตามผู้ร้องเรียน ตนจึงเข้าดำเนินการร้องทุกข์แจ้งความกับเจ้าพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดครั้งนี้
และในขณะที่เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรกำลังเข้าร้องทุกข์แจ้งความอยู่นั้น ได้มีชาวบ้านจำนวนเกือบ ๒๐๐ คน มารวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน้อย ไม่พอใจเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรที่สั่งระงับการก่อสร้าง และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องการก่อสร้างบูรณะเจดีย์ในครั้งนี้ ทำให้พันตำรวจเอก กิตติพันธุ์ คงทวีพันธ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน้อยต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านที่มาประท้วงเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร และพยายามบังคับเจ้าหน้าที่ให้เปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนไปทางกรมศิลปากร ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมอำเภอให้กับชาวบ้านที่มาชุมนุมเพื่อลดการกดดัน
นอกจากให้เจ้าหน้าที่ถอนการร้องทุกข์แจ้งความให้เป็นเพียงบันทึกข้อตกลง โดยให้ทางเทศบาลนำแบบแปลนเข้าไปเสนอต่ออธิบดีกรมศิลปากรเพื่อแก้ไขแบบแปลนก่อสร้างนี้ต่อไป นายตระกูล หาญทองกูล ยังได้เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่าตนได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากร ภาค ๘ เชียงใหม่ ให้มาทำข้อตกลงใหม่กับทางเทศบาลตำบลแม่ลาน้อยว่า โดยมีข้อที่หนึ่งให้หยุดดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นในโบราณสถานแห่งนี้ ข้อที่สอง ให้ทางเทศบาลดำเนินการยื่นแบบรายละเอียดเพื่อขออนุมัติรูปแบบต่ออธิบดีอีกทีหนึ่ง ข้อที่สาม คือให้ยุติและกระทำใดๆ ทั้งสิ้นกับโบราณสถานแห่งนี้ และเมื่อท่านขัดคำสั่งเมื่อไหร่จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์อีกครั้งหนึ่ง
หากจะกล่าวว่าชาวบ้านไม่รู้คุณค่าโบราณสถานก็อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่เป็นแกนนำต่อต้านนั้นเป็นคนในแม่ลาน้อยที่มาทราบกันก็ต่อเมื่อมีการสร้างอาคารรูปแบบคล้ายเจดีย์เดิม แต่ตามแบบมีขนาดใหญ่กว่าราวสองเท่า ซึ่งทั้งชาวบ้านแม่ลาน้อยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้พยายามเข้าไปทัดทาน แต่ก็ยังมีปัญหาในการจัดการที่ไม่สามารถทำให้เทศบาลทำตามกฎหมายโบราณสถานได้
เจดีย์กลางบ้านองค์นี้อายุเกินกว่าร้อยปี ทั้งยังมีหลักเกณฑ์หรือข้อห้ามในการสร้างเจดีย์ครอบโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะเพียงเจดีย์องค์เล็กแต่ก็ยังไม่ได้มีสภาพทรุดโทรมมากจนต้องสร้างครอบแต่อย่างใด แต่การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นตัวอย่างของการเข้ามามีอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของผู้แทนซึ่งเป็นนักการเมืองในสำนักงานเทศบาล และเป็นคนจากท้องถิ่นอื่นที่ไม่เข้าใจรากเหง้าและความคิดความรู้สึกของคนในท้องถิ่น
การใช้อำนาจบริหารคนในสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้กำลังสร้างปัญหาไปทุกหย่อมย่าน เพียงเพราะคาดหวังจากการใช้งบในการก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองถนัด และเมื่อเข้าไปแตะต้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ใช่ถนนหนทาง จึงเกิดปัญหาการยอมรับได้ยากอย่างยิ่งจากคนในพื้นที่
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ระบาดไปทั่วทุกหนแห่งในประเทศไทย ตราบใดที่อำนาจสาธารณ์รุกล้ำอำนาจศักดิ์สิทธิ์โดยธรรมชาติ ปัญหาก็ต้องเกิดตามมาอย่างไม่จบสิ้น
และที่แม่ลาน้อยเมืองเล็กๆ ในหุบเขา การต่อสู้นี้ก็ยังดำเนินต่อไป…
ข่าวกิจกรรมและความเคลื่อนไหว :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๘๕ (ก.ค.-ส.ค. ๒๕๕๓)