แว่วข่าวจากหนองขาว
ขบวนแห่บวชนาคและบวชลูกแก้วที่บ้านหนองขาว
นาคและลูกแก้วจะใส่เสื้อและโจงกระเบนสีฉูดฉาดตัดกันนั่งบนหลังม้าที่ตกแต่งฉูดฉาดเช่นกัน
หลังงานสงกรานต์ผ่านพ้น ชาวหนองขาวก็เริ่มเปรยๆ กันว่า อีกไม่กี่เดือนก็จะถึงเทศกาลงานเข้าพรรษา ปีนี้อยากให้จัดบวชนาคหมู่อีกครั้งเพราะไม่ได้เห็นมานานโข เมื่อทางวัดเห็นดีเห็นงามด้วยและรับอาสาเป็นหลัก ก็เริ่มเตรียมการด้วยการขึ้นป้ายรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะมาอุปสมบทในปีนี้ กำหนดการที่ตั้งเตรียมไว้ก็คือ ปีนี้วัดหนองขาวจะจัดบวชนาคหมู่ในวันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม
ก่อนหน้าที่จะรู้ว่าทางหนองขาวได้เตรียมจัดงานบวชนาคขึ้นในปีนี้ ก็เคยเห็นงานบวชของที่นี่มาแล้ว ตอนนั้นยังอดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นวิ่งตามเสียงแตรวงไปดูนาคใส่เสื้อสีบานเย็นนุ่งโจงกระเบนสีเขียวขึ้นนั่งบนหลังม้า วนออกจากวัดไปไหว้ศาลประจำหมู่บ้านและไปขอขมาผู้เฒ่าผู้แก่รอบๆ หมู่บ้าน ก็ที่เคยเห็นบวชรูปเดียวยังน่าดูพอรู้ว่าจะบวชหมู่ก็เฝ้าแต่ตั้งตารอ
คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนในสมัยหลวงพ่อพยอมเป็นเจ้าอาวาส (ช่วง พ.ศ.๒๔๖๗ -๒๕๒๖) ใครจะมาบวชที่วัดหนองขาวต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันมาให้ดี เพราะถึงแม้ใครๆจะเรียกท่านแต่เพียงสั้นๆว่า “ หลวงพ่อยอม ” ก็ใช่ว่าท่านจะยอมให้ใครมาบวชง่ายๆ
วัดหนองขาวสมัยนั้นบวชพร้อมกันทีละหลายรูปเพราะมีพระอุปัชฌาย์น้อย แต่ผู้ประสงค์จะบวชเรียนมีเยอะเพราะเป็นหมู่บ้านใหญ่ สมัยก่อนพรรษาหนึ่งๆ มักมีพระบวชใหม่ราว ๕๐-๖๐ รูป เลยต้องทำพิธีบวชพร้อมๆกัน
พ่อแม่ที่ตั้งใจจะให้ลูกบวชจะต้องเอาลูกไปฝากหลวงพ่อตั้งแต่เดือนห้า เป็นที่รู้กันว่า เมื่อเข้าวัดแล้วก็ต้องช่วยงานวัดทุกอย่าง ตั้งแต่ตามพระบิณฑบาต เก็บกวาดลานวัด ฯลฯ จะกลับไปนอนบ้านไม่ได้ ต้องมารายงานตัวต่อหลวงพ่อทุกวัน ถ้ากลางคืนใครขืนหนีเที่ยวขึ้นมา รุ่งเช้าก็จะโดนทำโทษโดยการดายหญ้าหน้าวัดให้ได้อาย แต่สิ่งที่สำคัญของผู้เตรียมตัวบวชก็คือ ต้องเรียนรู้พระวินัยให้แม่นยำเสียก่อน ด้วยหลวงพ่อเชื่อว่า เมื่อพระวินัยอยู่ในตัวหมดแล้ว ก็จะทำให้พิธีบวชศักดิ์สิทธิ์ พอใครมั่นใจว่าท่องจำพระวินัยได้แล้วก็ค่อยไปขอบวช แต่ถ้าใครที่พระวินัยยังไม่แน่นพอก็ต้องรีบขมีขมันท่องจำให้มากขึ้น หลายๆรายต้องไปรอลุ้นตอนใกล้ๆ เข้าพรรษาว่าจะท่องได้จนหลวงพ่อพอใจยอมบวชให้หรือไม่
กฎที่รู้กันมีอยู่ว่า ถ้าใครท่องพระวินัยผิด ๗ ข้อขึ้นไปก็ต้องกลับไปตั้งลำมาใหม่และหากใครอยากขานนาคพร้อมกันเป็นคู่ๆ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นอีกด้วยการซ้อมท่องให้พร้อมกัน ไม่อย่างนั้นจะได้รู้กันต่อหน้าต่อตาโยมพ่อโยมแม่กลางพิธีบวชเลยล่ะว่า นอกจากใครๆ เขาว่าหลวงพ่อพยอมเป็นคนขยัน ประหยัด แต่ใจใหญ่ และชอบทำงานใหญ่นั้น ถึงเวลาที่หลวงพ่อเฮี้ยบขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
แต่ใช่ว่าหลวงพ่อจะมีบทลงโทษคนที่ท่องหนังสือไม่ได้หรือไม่เอาจริงเอาจังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใครขยันและตั้งใจจริงจังท่องจำพระวินัยได้แม่นยำ ก็จะมีหน้ามีตาได้อยู่หัวแถวในขบวนแห่ มีตำแหน่งเป็นนาคเอกและนาคโท เรียกว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้กล่าวขวัญถึงไปทั้งหมู่บ้านตลอดปี พ่อแม่พี่น้องก็พลอยได้หน้าชื่นตาบานด้วย เพราะใครๆ ก็ต้องรอชื่นชมบุญของนาคเอกและนาคโทกันทั้งนั้นแถมยังเป็นที่รู้จักและเล่าลือของผู้คนในละแวกใกล้เคียงที่มาดูขบวนแห่นาคอันตระการตาด้วยช้างม้าอันยาวเหยียด อีกทั้งสีสันของเสื้อผ้าที่นาคสวมใส่ก็ช่วยเพิ่มให้บรรยากาศงานบวชดูคึกคักยิ่งขึ้น
น่าเสียดายที่เมื่อใกล้ถึงวันงานที่กำหนดไว้ในปีนี้ กลับได้ข่าวจากหลวงพ่อรูปปัจจุบันว่า งานบวชนาคหมู่คงต้องงด เพราะทำไปทำมาญาติโยมของผู้ที่จะบวชอยากจะเป็นเจ้าภาพจัดงานและออกค่าใช้จ่ายเอง ด้วยเกรงว่าให้วัดเป็นเจ้าภาพแล้วจะได้บุญไม่เต็มที่ บวกกับญาติโยมของนาคกลัวว่าถ้าจัดงานรวมกันแล้ว ตอนเลี้ยงรับรองดูแลแขกที่มาร่วมงานอาจไม่ทั่วถึงและสับสน เพราะไม่รู้ว่าแขกคนไหนมางานใคร เลยต้องตกลงกันใหม่ว่า เอาไว้ให้หลายๆ อย่างพร้อมกว่านี้แล้วค่อยมาพูดเรื่องงานบวชหมู่กันอีกที ปีนี้ก็ต่างคนต่างบวชไปก่อน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนก็ยากที่จะรั้งรูปแบบและเนื้อหาอย่างเดิมไว้ มองอีกมุมหนึ่งกลับเห็นว่าคนหนองขาวไม่ได้พยายามฉุดรั้งบางสิ่งที่หายไปกลับคืนมาแต่เพียงเปลือก เพราะหากมุ่งไปแค่หาคนมาบวชให้ได้มากเพื่อขบวนแห่นาคจะได้ใหญ่โตเพียงอย่างเดียว คนที่นี่ไม่ทำ ไม่ขอเลือกเสี่ยงต่อการที่อาจจะได้พระสงฆ์พร่องวินัยมาจำพรรษา เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มของอีกหลายๆปัญหาที่จะตามมา
ถึงแม้ว่าปีนี้จะเก้อที่ไม่ได้ดูขบวนแห่นาคหมู่ ไม่ได้เห็นนาคเอกและนาคโท แต่งานบวชของชาวหนองขาวที่นาคจะใส่เสื้อและโจงกระเบนสีสันฉูดฉาดตัดกันนั่งบนหลังม้า มีแตรวงนำหน้าแห่วนไปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด ศาลเจ้าประจำชุมชน และเอาธูปเทียนแพไปขมาผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านถึงบ้าน ก็คงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวหนองขาว
จดหมายข่าวมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๒๕ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๔๗)