ข้างหลังงานสัมมนาที่บ้านหนองขาว
ชาวบ้านช่วยกันทำแป้งขนมจีนและเผาข้าวหลาม เพื่อต้อนรับผู้ร่วมสัมมนาทั้งหลาย
พอได้รับคำยืนยันจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังว่า จะเข้ามาร่วมกับชาวหนองขาวจัดสัมมนาเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว” ในวันที่ ๒๖ มกราคม๒๕๔๓ การเตรียมงานฝ่ายต่างๆ ก็เริ่มขึ้น และดูจะเป็นที่สนุกสนานของชาวหนองขาวที่ได้มีส่วนร่วม เหมือนที่เคยร่วมแรงร่วมใจในงานสำคัญต่างๆอยู่เป็นนิจ
ก่อนวันสัมมนาจะเริ่มขึ้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ล่วงหน้าไปช่วยดูความเรียบร้อย อันที่จริงแล้วน่าจะเรียกว่าไปช่วยสร้างให้ชาวหนองขาวแสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาให้เต็มที่และช่วยลดความกังวลของชาวหนองขาวที่ห่วงว่าการจัดงานต้อนรับอาจจะขัดหูขัดตาหรืออาจไม่ถูกใจผู้ที่จะมาร่วมงานสัมมนา แต่เมื่อได้รับคำยืนยันจากคณะจัดงานว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้น่าจะดึงเอาความเป็นหนองขาวออกมาให้เต็มที่เช่นเดียวกับการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ภาพของชาวหนองขาวที่มาช่วยกันเตรียมงานอย่างสนุกสนานเพื่อรอต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่จะมากันกว่า ๓๐๐ คน จึงเป็นภาพประทับใจ
เริ่มจากเรื่องอาหารการกินซึ่งดูเหมือนจะเป็นงานใหญ่ ชาวหนองขาวยังถือคติที่ว่า “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” จึงระดมแม่ครัวที่มีฝีมืออกมาทำกับข้าวกับปลา ทั้งขนมจีนน้ำยาถั่วเขียว ที่หากไม่คุ้นก็อาจไม่รู้ว่าทำมาจากอะไรและมีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง นอกจากนี้ยังมี แกงส้มจาวตาล แกงฟักใส่ถั่ว น้ำตาลสด ข้าวหลาม เปียกปูน ขนมตาล ข้าวเกรียบว่าว ฯลฯ อาหารบาง อย่างถ้าไม่ใช่งานเทศกาลหรืองานประเพณีก็มักไม่ใคร่ได้เห็น เพราะบางอย่างก็ต้องรอให้ถึงฤดูกาล และหลายๆ อย่างใช้เวลาทำมากกว่าเวลากินหลายต่อหลายเท่าตัว ที่สำคัญเสียงพูดคุยแลกเปลี่ยนสูตรและวิธีทำอาหาร ตลอดจนการบอกเล่าสารทุกข์สุขดิบไต่ถามข่าวคราววงศ์วานเครือญาติและเหตุการณ์ต่างๆ ดูจะออกรสออกชาติพอๆ กับอาหารทีเดียว
เช้าวันสัมมนา เมื่อรถนำคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้ามาในบริเวณวัด รายการต่างๆ ก็ดำเนินไปตามกำหนดการ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีให้เกียรติมาเปิดงานสัมมนา ต่อด้วยแกนนำชุมชนได้นำชมรอบหมู่บ้านตามความต้องการที่อยากจะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ตัวอาคารจัดแสดงเท่านั้น แต่ทั้งหมู่บ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยได้นำชมบ้านหมอสมุนไพร กลุ่มบ้านทรงไทยและรูปแบบอาคารบ้านเรือนต่างๆ หม้อยาย ศาลพ่อแม่ ร้านขายผ้าทอ ฯลฯ แม้การจัดการบางส่วนจะดูขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างก็ช่วยลุ้นและให้กำลังใจ
หลังจากกลับจากการชมหมู่บ้าน ฝีมือการทำอาหารของชาวหนองขาวก็ได้รับการพิสูจน์พร้อมๆ กับที่ได้ชมการแสดง “ ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว ” ละครจำลองวิถีชีวิตของคนหนองขาวที่แสดงโดยนักเรียนจากโรงเรียนวัดอินทาราม การแสดงชุดนี้ปรับมาจากงานแสดงแสงสีเสียงของ ททท.ที่ใช้ผู้ใหญ่แสดง จึงมีหลายเสียงกล่าวว่าเรียกความน่ารักน่าเอ็นดูมากกว่าการแสดงของผู้ใหญ่
ภาคบ่ายเป็นเวทีบรรยายและพูดคุยในเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว โดยมีเอกสารประกอบการสัมมนาที่หลายคนให้ความสนใจ ข้อคิดข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ทำให้มีหลายๆ ฝ่ายบอกเล่าให้ฟังว่า ได้ความรู้และข้อคิดอันเป็นประโยชน์ที่จะนำไปปรับใช้ต่อไป
เวทีเสวนาในครั้งนี้ปิดฉากลงด้วยโอวาทของพระครูถาวรกาญจนนิมิต เจ้าอาวาสวัดหนองขาว ซึ่งมีความหมายตอนหนึ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง คำว่าจบสิ้นนั้นคงไม่มี คงจะมีแต่ต่อๆไป ” หากจะมีคำถามว่าสัมมนาครั้งนี้ได้อะไร ก็คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ตอบได้ทันควัน เพราะการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะสำเร็จลงได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่การจัดสัมมนาเพียงครั้งหรือสองครั้ง ดังที่อาจารย์ รุจิรา เชาว์ธรรม แห่งพิพิธภัณฑ์จันเสนให้ข้อเสนอ แนะจากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมาพร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ว่า “คำว่าพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกับพิพิธภัณฑ์นั่นแหละสิบปีร้อยปีถึงจะมีคุณค่า”
เมื่อรถของผู้เข้าร่วมสัมมนาออกจากหนองขาว การปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเดิมตกเป็นงานใหญ่อีกครั้ง หากเป็นไปด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเจ้าของบ้านอย่างเต็มที่ ได้รู้ว่าการทำงานพิพิธภัณฑ์ยังมีผู้ให้ความสนใจ ได้ต้อนรับและรู้จักผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน และได้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว … แม้วันนี้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยินดีเปิดรับทุกท่านอยู่ตลอดเวลา
จดหมายข่าวมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๒๓ (มีนาคม-เมษายน ๒๕๔๓)