รอบปีที่ ๓ ของพิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว
อาคารโกวิทอินทราทร ถูกจัดให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว
ชุมชนบ้านหนองขาวเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีแนวคิดและความต้องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของตนเองมานานกว่า ๒ ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มผู้นำชุมชนซึ่งประกอบด้วยพระ กำนัน คณะครู ประธานกลุ่มแม่บ้าน และชาวหนองขาวผู้สนใจในเรื่องดังกล่าวได้ร่วมพูดคุยและกำหนดแนวทาง รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเอื้อให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนบ้านหนองขาวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและตรงตามความต้องการของชุมชน
เรื่องราวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่นี่เริ่มต้นจาก มีอาคารเรียนหลังเดิมซึ่งอยู่ในบริเวณวัดถูกทิ้งร้างและทรุดโทรมลงมากจนมีผู้ต้องการให้รื้อถอนเพื่อป้องกันไม่ให้พังครืนลงมา แต่ด้วยความเสียดายความงามของรูปทรงอาคารและความผูกพันทางจิตใจที่ชาวหนองขาวเกือบทั้งหมดเคยเรียนหรือมีลูกหลานเรียนที่อาคารหลังนี้ ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาทุนอนุรักษ์อาคารหลังนี้ไว้เมื่อราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๐
เมื่อการปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ชาวหนองขาวได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และได้เชิญ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ กำหนดหัวข้อในการจัดแสดงเรื่องราวที่บอกเล่าความเป็นมาและสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่นทั้งในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมทั้งชีวิตและวัฒนธรรม ในครั้งนั้นได้มีการทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นแล้วว่า การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นไม่ได้เน้นที่การจัดแสดงวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเรื่องราวในท้องถิ่นด้วย เพราะฉะนั้นหากมีวัตถุอยู่ไม่มากหรือไม่มีวัตถุเลยก็สามารถจัดพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของท้องถิ่นได้ โดยอาจสื่อเรื่องราวผ่านภาพถ่ายหรือการออกแบบ สิ่งสำคัญก็คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นนี้จะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นโดยตรง มีผู้รู้ในท้องถิ่นผู้นำชมและดำเนินงานทั้งหมด
การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านหนองขาวในครั้งนี้ มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ได้ให้สนับสนุนการดำเนินงาน โดยได้จัดทำทะเบียนวัตถุที่ทางวัดและชาวหนองขาวได้รวบรวมและขอบริจาคเพิ่มเติมไว้กว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ประสานงานในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
หลังจากการทำทะเบียนวัตถุเสร็จสิ้นลง สิ่งหนึ่งที่แกนนำในการจัดพิพิธภัณฑ์หนองขาวได้ดำเนินการสม่ำเสมออย่างค่อยเป็นค่อยไปคือ การจัดประชุมทำความเข้าใจเพื่อให้ชาวหนองขาวตระหนักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน นอกจากนี้พระครูถาวรกาญจนนิมิต เจ้าอาวาสวัดอินทาราม (หนองขาว) ยังได้นำกลุ่มแกนนำไปทัศนศึกษาและดูงานพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อยู่เป็นประจำด้วย
พระอุโบสถ พระปรางค์
ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาวได้รับความอนุเคราะห์การออกแบบจัดแสดงจากภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารฯลาดกระบัง ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานขั้นตอนนี้คือการศึกษาภูมิทัศน์ทั้งที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์ บริเวณหนองขาว และพื้นที่โดยรอบเพื่อนำมาประกอบการจัดแสดงให้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่นี่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ “ ทั้งหมู่บ้านคือพิพิธภัณฑ์ ” แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับสภาพภูมิทัศน์ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีถนนคั่นกลางระหว่างอาคารกับศาสนสถานต่างๆ เช่นพระอุโบสถ พระปรางค์ และวิหารพระป่าเลไลยก์ เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของศาสนสถานในวัดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ทราบถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เท่ากับการพัฒนาบริเวณวัดที่ยังดูไม่เรียบร้อยไปในตัวอีกด้วย
ผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาวจะได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากอาคารประชาสัมพันธ์ (ห้องสมุดประชาชนเดิม) ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ และได้เห็นภาพรวมของชุมชนจากเรื่องราวที่จัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ จากนั้นสามารถเข้าไปสัมผัสชุมชนจริงตามความสนใจจากข้อมูลเส้นทางเดินรอบหมู่บ้านที่แนะนำไว้ เช่น มีเส้นทางให้ผู้มาเที่ยวชมได้เห็นอาคารสมัยโบราณรุ่นราวคราวเดียวกับอาคารที่ใช้เป็นสถานที่หลักในการจัดแสดงบ้านเรือนไทยทรงโบราณ กลุ่มบ้านเก่าที่มียุ้งข้าว คอกเลี้ยงวัวและคอกม้าซึ่งสะท้อนถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทุ่งนาข้าวที่อยู่ระหว่างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บ้านหมอพื้นบ้าน ร้านค้าผ้าทอ ฯลฯ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์จะทำหน้าหลักเป็นการอธิบายภาพรวมของท้องถิ่น
อาคารประชาสัมพันธ์ (ห้องสมุดประชาชนเดิม)
การทำงานร่วมกันของคณะทำงานครั้งนี้ มีโจทย์อยู่ที่ข้อมูลของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก “ การรวบรวมและคัดเลือกข้อมูล ” อย่างชัดเจนและครอบคลุมเพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่า “ อะไรคือความเป็นชุมชนหนองขาว ” คือตัวอย่างแรกๆ ที่ต้องตีความและทำความเข้าใจก่อนที่จะนำเสนอออกมาเป็นรูปธรรม การทำงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวหนองขาวในการให้ข้อมูลรายละเอียดและต้องมีการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและการเก็บข้อมูลร่วมจากบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งเจ้าอาวาสวัดหนองขาวได้เตือนและชี้แจงให้คณะทำงานทำความเข้าใจเงื่อนไขของชุมชนอยู่ตลอดเวลาว่า ชาวหนองขาวอาจมาร่วมงานมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับฤดูกาลผลิตและการปิดเปิดภาคการศึกษาของลูกหลาน ส่วนบุคคลภายนอกก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป และถึงแม้การดำเนินการซ่อมแซมอาคารเสร็จสิ้นลงไปแล้วแต่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ยังมีรายละเอียดมากมายที่ต้องระดมความคิดความสามารถ ต้องใช้เวลาและความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย
นอกจากเรื่องข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ยังมีเงื่อนไขต่างๆ ให้คณะทำงานได้เรียนรู้และแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อซ่อมอาคารเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้วนั้น ปัจจุบันกลับพบว่ามีไม้กระดานบางแผ่นหมดอายุ และไม่น่าจะรองรับน้ำหนักวัตถุจัดแสดงและผู้มาเยี่ยมชมที่จะเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงปูนที่ฉาบฝาผนังไว้ในบางจุดก็เริ่มกร่อน จึงต้องให้เวลาในการตรวจสอบสภาพภายในอาคารอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องทุนในการจัดแสดง การพัฒนาสถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ความไม่พร้อมในการรองรับผู้ชมที่เริ่มเข้ามาเที่ยวชม ฯลฯ อีกด้วย
การดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวในปัจจุบันอยู่ระหว่างการสังเคราะห์ข้อมูลและออกแบบจัดแสดง พร้อมกับเตรียมหาทุนในการจัดแสดงและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวหนองขาวพูดคุยและทำความเข้าใจกันอยู่ตลอดเวลาก็คือ จุดมุ่งหมายของการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือรู้จักตัวเองและเกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ชี้แจงให้ชาวหนองขาวเข้าใจตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า เป้าหมายของการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑. การปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นรู้จักตนเองและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน ๒. การดำเนินชีวิตต่อไปอย่างร่มรื่น ๓. การพัฒนาภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นเป็นอาชีพเพื่อให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นให้เป็นอาชีพเสริมได้ เช่น สมุนไพร หรือข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
แม้ว่าการดำเนินงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องใช้เวลา และ ๒ ปีที่ผ่านมาอาจจะยาวนานในความรู้สึกของผู้รอคอยที่จะเห็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ความมุ่งหวังของคณะทำงานยังคงอยู่ที่ว่า ผลของการทำงานอย่างบากบั่นอดทนด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การอนุรักษ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้ เมื่อนั้นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวก็จะเป็นภาพชีวิตที่เคลื่อนไหวตลอดไป
จดหมายข่าวมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๒๐ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๔๒)