หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
โรงเจ๊กและความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนจีนบ้านหนองขาว
บทความโดย พยุง ใบแย้ม อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดบ้านทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
เรียบเรียงเมื่อ 1 มิ.ย. 2541, 15:29 น.
เข้าชมแล้ว 5850 ครั้ง

โรงเจ๊กและความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนจีนบ้านหนองขาว

                                                                                                            


           

เนื่องจากบ้านหนองขาวเป็นชุมชนโบราณจึงประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจยิ่ง อาทิ ประเพณีวัฒนธรรมที่บ้านอื่นๆ ไม่มี ชนชาติต่างๆ ที่กลืนรวมเป็นประชาชนบ้านหนองขาว ดินแดนที่เคยเป็นสมรภูมิของสงครามหลายสมัย อาหารการกินที่ต่างจากที่อื่น อาชีพเก่าแก่ ความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าภาคภูมิใจ วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกับหมู่บ้านใกล้เคียง สำเนียงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และอุปนิสัยของคนไทยแท้แต่โบราณที่ยากจะมีใครเสมอเหมือน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกแทรกในกายและความคิดของฉันโดยพ่อแม่บ้าง ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือบ้าง คนบ้านใกล้เรือนเคียงบ้าง ฉันจึงอยากรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาโดยเฉพาะเรื่องที่ฉันประทับใจจำความได้ชัดเจน คือ “เรื่องโรงเจ๊ก”

 

โรงเจ๊ก คือ โรงไม้ชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องว่าวบ้าง สังกะสีบ้าง บางหลังก็มุงด้วยใบจาก ขึ้นอยู่กับวัสดุที่หาได้ในสมัยนั้นประมาณระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ถึง ๒๕๑๐ โรงเจ๊กเป็นร้านค้าขายและที่อยู่อาศัยของชนชาติจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านหนองขาว ตอนเด็กๆ ฉันจะวิ่งไปโรงเจ๊กทุกเช้าและเย็นเพื่อไปหาซื้อขนมหรือกับข้าว หลายครั้งในวันหยุดเรียนสมัยนั้นคือวันโกนกับวันพระ ฉันก็จะวิ่งไปโรงเจ๊กบ่อยขึ้นกว่าวันปกติ

 

คำว่า“คนเจ๊ก”ที่ฉันเรียกติดปากมาตั้งแต่จำความได้ คือ คนจีนที่อพยพมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีนนั่นเอง ฉันซักถามญาติผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายจีนในบ้านหนองขาวถึงความเป็นมา ท่านเล่าว่าบรรพบุรุษของท่านเข้ามาเมืองไทยราวปี พ.ศ.๒๔๕๔ สมัยที่เข้ามายังไว้ผมเปียอยู่ สาเหตุที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยเพราะเมืองจีนขณะนั้นแห้งแล้งและอดอยากถึงขนาดไม่มีข้าจะกิน บางครั้งต้มข้าวแล้วจะมีแต่น้ำ ต้องใช้หัวมันต้มบดให้แหลกเหลวนำไปผสมกับน้ำข้าวต้มเพื่อให้ข้น ดังนั้นคนจีนจำนวนมากจึงเสี่ยงโชคหนีความแห้งแล้งมาเมืองไทย โดยเดินทางมากับเรือเดินทะเลที่ใช้ระยะเวลาเดินทางถึงประมาณ ๑ ปี เมื่อมาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยก็เชื่อว่า “ถ้าอยู่ที่นี่จะรวยแน่”จึงได้กลับไปรับญาติพี่น้องจากเมืองจีนอพยพเข้ามาที่เมืองไทยอีกมากมาย

 

บ้านหนองขาวเป็นแผ่นดินพักพิงของเมืองจีนหลายครอบครัว สาเหตุที่อพยพเข้ามาอยู่หนองขาวนั้น ฉันสรุปได้หลายประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก บ้านหนองขาวเป็นเส้นทางผ่านการสัญจรไปมาของการค้าขายจากเมืองกาญจนบุรีไปสุพรรณบุรี และเป็นที่พักระหว่างการเดินทาง ประเด็นที่สอง บ้านหนองขาวเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีพืชพรรณธัญญาหารพร้อม ผลผลิตทางการเกษตรมากกว่าหมู่บ้านอื่นและมีแหล่งน้ำมากมาย ประเด็นที่สาม คนบ้านหนองขาวมีใจนักเลง รักใคร่ชอบใครก็มีความจริงใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และชอบต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมืองหรือเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดีนั่นเอง

 

เมื่อคนจีนเข้ามาอยู่บ้านหนองขาวก็ได้เผยแพร่วัฒนธรรมของคนจีนที่ดีๆ ให้คนหนองขาวมากทีเดียว ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆ คนจีนจะอยู่ลำบากสักหน่อย เพราะต้องหลบหนีการติดตามจับกุมของทางรัฐบาล แต่ต่อมาคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนหนองขาวกับคนจีนจึงเริ่มต้นที่การค้าขายโดยการแลกเปลี่ยนอาหารกับข้าวเปลือก คนจีนจะศึกษาว่าคนหนองขาวกินอะไร ใช้อะไรในชีวิตประจำวันก็จะทำขาย นี่คือความฉลาดของคนจีน แม้กระทั่งหมาก ใบพลู ปูนที่ใช้กินกับหมากที่ชาวบ้านชอบ คนจีนก็จะทำขาย

 

บ้านหนองขาวมีโรงเจ๊กมากมาย ที่ฉันจำได้มีโรงเจ๊กของเตี่ยแตงขายกับข้าว นายกือรับปะหม้อ นายฝาซ่อมจักรยาน เตี่ยบุ้งรับซื้อข้าว เตี่ยหลี่รับซื้อพืชไร่ อายิ้วทำทอง เตี่ยกื๋อง้วนหาบใบพลูขาย ป้าพ้วยขายขนมครก ป้าทิ้งขายขนมถ้วยตะไล อาแป๊ะช้ำยุกหาบป๋องแป๋งย้อมผ้า เป็นต้น

 

ครอบครัวของฉันเกี่ยวข้องกับโรงเจ๊กมาโดยตลอด และโรงเจ๊กนี่แหละที่ช่วยเหลือครอบครัวของฉันให้อยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้

 

ครอบครัวของฉันเป็นคนไทยแท้ หลังจากเสร็จการทำนาแล้วพ่อแม่และแม่คุณ (ยาย) ก็ไปทำไร่ บ้านเราผูกพันกับโรงเจ๊กคือ เมื่อไม่มีเงินซื้อข้าว กับข้าว แม่คุณก็จะบอกให้ฉันไปเชื่ออาหารที่โรงเจ๊กมากินก่อน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฉันเท่านั้นที่ทำเช่นนี้ เพราะมีอีกหลายๆบ้านที่ทำอย่างฉัน พิสิ้นหน้านา นวดข้าวแล้ว คนที่โรงเจ๊กก็จะนำถังตวงข้าวพร้อมกระสอบไปเก็บข้าวเปลือกตามบ้านที่ค้างค่าอาหารมาเกือบตลอดทั้งปี เป็นวัฏจักรวนเวียนอย่างนี้ทุกๆ ปี

 

แต่ละปีคนที่โรงเจ๊กจะเก็บข้าวเปลือกได้ประมาณ ๓๐–๖๐ เกวียน หรือมากกว่านี้ ฉันลองคำนวณในใจคิดเทียบเป็นราคาข้าวเปลือกสมัยเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ที่เกวียนละ ๑,๘๐๐ บาทแล้ว คนที่โรงเจ๊กจะได้เงินจากการเก็บข้าวจากชาวนาไทยปีละประมาณ ๕,๔๐๐ บาท ถึง ๑๐๘,๐๐๐ บาท ฉันจึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนที่โรงเจ๊กจึงรวยเร็ว ในขณะที่ชาวนาไทยยากจนลง เพราะแต่ละปีชาวนาจะเพิ่มแต่หนี้สินให้กับตนเอง แต่คนที่โรงเจ๊กมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

 

พ่อกับแม่ของฉันทำไร่มันสำปะหลังควบคู่กับทำไร่อ้อยด้วย จึงต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งลงทุน แต่เมื่อไม่มีเงินก้อนก็จะไปขอกู้เงินทุนจากโรงเจ๊ก พอได้รับเงินค่าผลผลิตพ่อก็จะนำเงินทุนนั้นไปคืนให้โรงเจ๊กพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหมายถึงรายได้เกือบทั้งหมด จะเหลือไวใช้จ่ายบ้างก็เพียงเล็กน้อย บางปีพ่อแม่จะซื้อที่ดินเพื่อทำนาทำไร่เพิ่ม เมื่อมีเงินไม่พอก็จะไปขอยืมที่โรงเจ๊กอีกเช่นกัน ฉันจึงจำเรื่องโรงเจ๊กได้แม่นยำกว่าที่อื่น

 

ความผูกพันระหว่างคนจีนกับคนไทยที่นี่แน่นแฟ้นขึ้นเมื่อคนจีนแต่งงานกับคนหนองขาว การตั้งบ้านเรือนมีความมั่นคงขึ้น มีประเพณีและวัฒนธรรมที่สอดคล้องและยอมรับนับถือซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย เข่น ประเพณีแจกขนมโรงเจ๊ก

 

ฉันจำได้ว่า เมื่อถึงเทศกาลวันตรุษ สาทร และสงกรานต์ของไทย แม่จะทำขนมมากมาย ในวันตรุษและวันสงกรานต์แม่จะกวนข้างเหนียวแดง หรือปิ้งหม้อบิ่น (ขนมไหม้) ตัดเป็นแผ่นขนาด ๘x๘ นิ้ว ใส่จานอย่างสวยงาม เรียงใส่กระบุงหรือกระจาดให้ฉันกระเดียดหรือหิ้วไปแจกตามโงเจ๊ก พอถึงวันสาทรไทยแม่ก็จะกวนกระยาสารทไปแจกให้ที่โรงเจ๊กเหมือนเดิม ทุกครั้งที่เอาขนมไปให้ อาซิ้ม อาอึ้มที่โรงเจ๊กก็จะอวนพรให้ฉันเป็นภาษาจีน ฉันฟังไม่ออกแต่ชอบฟัง           

 

ในทำนองเดียวกันเมื่อถึงวันตรุษจีนและสารทจีน แม่ก็จะให้ฉันอยู่บ้านเพื่อรอรับขนมแจกจากโรงเจ๊ก ครั้นประมาณบ่ายสามโมง ฉันจะอาบน้ำนุ่งกางเกงหูรูด (กางเกงขาสั่นที่มีเส้นเชือกเย็บติดกับตัวขอบกางเกงเป็นไส้ไก่ สามารถรูดให้กระชับกับเอวแล้วผูกปมไว้ตรงสะดือกันหลุด) ใส่เสื้อสีแหรก (เป็นเสื้อที่มีแขนเล็กๆ กว้างประมาณ ๑ นิ้ว เย็บติดกับตัวเสื้อปล่อยยาวถึงเอวหรือหน้าท้อง) ตบดอกแป้งเผละหน้าดำๆ ของฉัน แล้วมานั่งยิ้มที่หัวบันไดนอกชานบ้าน เพื่อรอรับขนมต่างๆ เช่น ขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู บางครั้งก็ติดตามด้วยต้มกระดูกหมูกับผักกาดดอง ต้มหน่อไม้ดอก วันนั้นฉันก็จะได้กินอาหารที่นอกเหนือจากปลาเค็มปิ้งที่กินเกือบทุกวัน

 

ฉันประทับใจประเพณีแจกขนมโรงเจ๊กมาก แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันหายไปเสียแล้ว ฉันก็ตอบไม่ได้ว่ามันหายไปได้อย่างไร หรือจะหายไปโดยไม่รู้ตัวกับความเจริญของบ้านเมืองนี่เอง

 

 

บันทึกจากท้องถิ่น:จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๒ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๑)

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 15:29 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.