หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สามชุกกับรางวัลจากยูเนสโก: ความสำเร็จบนทางแพร่ง
บทความโดย เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.พ. 2553, 15:27 น.
เข้าชมแล้ว 4638 ครั้ง

สามชุกกับรางวัลจากยูเนสโก: ความสำเร็จบนทางแพร่ง

 

นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตลาดสามชุกเพื่อทำพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการ

 

ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ได้รับข่าวน่ายินดีว่า สามชุก ตลาดเก่าร้อยปี ได้รับรางวัล โครงการอนุรักษ์ชุมชนสามชุกและตลาดเก่าร้อยปี ชนะรางวัลดี (Award of Merit) จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากองค์การยูเนสโก โดยมีผู้ส่งผลงาน ๔๘ โครงการ จาก ๑๔ ประเทศ รางวัลดังกล่าวถือเป็นกำลังใจแก่คนทำงานพัฒนาพื้นที่สามชุก 

 

แม่น้ำสุพรรณ ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดของพื้นที่ตลาด หากมีการกระจายแหล่งท่องเที่ยวให้อยู่ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำ

 

เมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน ครั้งที่ถนนหนทางยังมาไม่ถึงและไม่เป็นที่นิยม แม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนคือเส้นทางเดินทางสายหลักในแถบตะวันตกของภาคกลาง เปรียบเสมือนประตูเชื่อมตลาดสามชุกกับพื้นที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการขนส่งสินค้าที่ชาวกะเหรี่ยง ลาว ละว้า และคนทางเหนือ นำสินค้าของป่า เช่น ฝ้าย หนังสัตว์ น้ำมันยาง น้ำผึ้ง สมุนไพร และแร่ ขนเป็นกองคาราวานมาขายยังสามชุกให้พ่อค้าในตลาดขายและขนส่งล่องลงไปยังกรุงเทพฯต่อไป พร้อมกันนั้นยังได้ทำการซื้อและแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกข้าวสาร เกลือ ปูน และของใช้ที่จำเป็นกลับไปยังชุมชนด้วย ท่าเรือและตลาดสามชุกจึงเจริญรุ่งเรือง คึกคักไปด้วยสินค้าและผู้คน พ่อค้าแม่ขายมีทั้งไทย จีน มอญ และอีกหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ที่เห็นจะมีเป็นจำนวนมากสืบมาจนปัจจุบันคือชาวจีน  

 

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ ความเจริญทางถนนเข้ามาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ การค้าริมน้ำลดความสำคัญ  ตลาดสามชุกเริ่มซบเซา สภาพอาคารร้านค้าทรุดโทรมตามกาลเวลา

 

และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาวสามชุกจำนวนหนึ่งที่ยังคงเห็นถึงความสำคัญของตลาดไม่อยากให้กลายเป็นตลาดติดแอร์หรือปรับสภาพตลาดเดิม จึงหันหน้ามาร่วมมือกันฟื้นตลาดสามชุกเดิมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมคงรูปแบบอาคารและสถาปัตยกรรมแบบเดิมให้มากที่สุดจึงเกิดขึ้น

 

การฟื้นตลาดสามชุก เริ่มจากจัดระเบียบตลาด  ทำความสะอาดและจัดระเบียบหน้าบ้านของตนเองให้เข้าที่เข้าทาง ทำให้สภาพตลาดโดยรอบสะอาดและดูดีขึ้น จากนั้นคณะทำงานจึงทำการฟื้นฟูอาหารดั้งเดิมของชุมชน ทำทางเดินริมน้ำ ปรับปรุงอาคารให้สวยงาม เพราะลักษณะสถาปัตยกรรมบ้านที่ตลาดสามชุกจะติดกันทุกหลังคา  จัดทำพิพิธภัณฑ์ขุนจำนงจีนารักษ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของบ้านและวิถีชีวิตชาวสามชุก เป็นต้น

 

การดำเนินงานของชาวสามชุกเริ่มจากไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน ทำแบบลองผิดลองถูก แต่ก็มีการพูดคุย ประสานงานกันบ่อยครั้งของคนภายในชุมชนที่เป็นชาวบ้าน โรงเรียน วัด และกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือจากภายนอก จึงทำให้ตลาดสามชุกกลับมามีชีวิตชีวา  เมื่อส่งประกวดจึงได้รับรางวัลจาก UNESCO ประจำปีนี้

 

การเปิดเวทีประชาคม ในหัวข้อ “บทบาทของชุมชนในการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน” เนื่องในโอกาสรับมอบรางวัลยูเนสโก [UNESCO] เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เวทีดังกล่าวเท้าความถึงกระบวนการเกิดและการจัดการตั้งแต่แรกเริ่มของตลาดสามชุก มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติร่วมกันของชุมชนต่างๆ 

 

ข้อที่น่านำมาขบคิดคือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงสภาพของสามชุกว่า

 

“สามชุกกำลังเผชิญปัญหาใหม่ คือเป็นตลาดท้องถิ่นที่จะพังไม่พังแหล่ เกิดความแออัด เกินจะรองรับ จนกระทั่งท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมได้”

 

เพราะตลาดสามชุกต้องเผชิญแรงกดดันและถูกรุกเร้าจากข้างนอกไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือพ่อค้าต่างถิ่น หากรปล่อยให้มีการขยายพื้นที่กว้างกว่านี้ ตลาดสามชุกอาจจะพังเพราะควบคุมไม่ได้แล้ว โดยได้เสนอแนะทางออกคือ การสร้างเครือข่ายตลาดให้กระจายไปทั้งเมืองสุพรรณบุรี  เช่น  ตลาดเก้าห้อง,  ตลาดศรีประจัน  ฯลฯ  รวมถึง ตลอด ๒ ฟากฝั่งน้ำสุพรรณบุรี  โดยใช้ตลาดสามชุกเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ  เน้นความสำเร็จที่เกิดจากการจัดการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยตนเองจนเกิดสำนึกร่วมของชุมชน  เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ เมื่อครั้งอดีตเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนสุพรรณบุรีและชุมชนริมฝั่งน้ำด้วย

 

คนสามชุกจึงมาถึงทางแพร่งแห่งความสำเร็จที่ท้าทายว่าจะทำให้เกิดความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมความใหญ่โตและแออัดของตลาดดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้  

 

 

ข่าวกิจกรรม ความเคลื่อนไหว :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๘๒ (มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 15:27 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.