สีสันของกาลเวลา ตลาดเรือนไม้และอาหารอร่อย
วีถีชีวิตจากอดีตยังคงมีให้เห็นในย่านชุมชนเก่าแก่แห่งตลาดสามชุกในจังหวัดสุพรรณบุรี หลายคนชื่นชอบความสวยงามของอาคารห้องแถวเรือนไม้ สถาปัตยกรรมรูปแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน เป็นมนต์เสน่ห์ของตลาดเก่าริมแม่น้ำที่แทบจะเหลือให้ชมเพียงไม่กี่แห่งในประเทศนี้
แผนพับนำชมประชาสัมพันธ์ตลาด
ตลาดไม้ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ยังเป็นศูนย์กลางชีพจรชีวิตอันแผ่วเบาของเมืองสามชุก หมู่อาคารไม้สองชั้นเรียงรายเป็นแถวบนเนื้อที่กว้างขวาง สะท้อนถึงชุมชนที่พัฒนาจากการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนค้าขายทางน้ำที่เคยรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง
สีสันของตลาดเรือนไม้
ห้องแถวไม้ที่ดูเก่าคร่ำคร่าแต่ยังคงมีชีวิตชีวาเพราะยังคงใช้งานได้เกือบทั้งหมด แนวอาคาร ๒ ชั้นเรียงเป็นแถวจนกลายเป็นซอยต่างๆ เรือนชั้นล่างทำเป็นร้านค้า ประตูบานพับไม้แบบบานเฟี้ยม ชั้นบนใช้พักอาศัยมีระเบียงไม้ยื่นออกจากตัวบ้าน เหนือแนวฝาผนังมีช่องลม ช่องแสง และกันสาด ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายขนมปังขิงอย่างสวยงาม หลังคาเดิมมุงด้วยกระเบื้องว่าวแล้วเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีตามกาลเวลา
ป้าชั่งกำลังชงกาแฟด้วยความชำนาญ
หากได้ไปค้างคืนที่สามชุก สีสันของตลาดเก่าอาจทำให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เห็นเป็นเรื่องแปลก ถ้าเริ่มจากการเดินทางมาค้างคืนที่ โรงแรมอุดมโชค (ราคาตอนนี้ ๑๕๐-๒๐๐ บาทต่อคืน) โรงแรมไม้เก่าแก่และโด่งดังจากการถ่ายทำละครโทรทัศน์ย้อนยุคหลายเรื่อง อดีตเซลล์แมนหลายคนที่เคยลงเรือมาขายของที่สามชุกยังจำฝังใจว่าเคยมาพักที่โรงแรมนี้ ตื่นเช้ามาก็ต้องเดินไปดูที่ตลาดเช้าซึ่งมีผักปลานานาชนิดจากชาวบ้านรอบนอกมาวางขาย สายหน่อยหัวมุมตลาดหน้าอำเภอจะเริ่มคึกคัก สภากาแฟเริ่มขึ้นแล้วที่ร้านกาแฟท่าเรือส่ง (ศิวะนันต์พานิช) มองไปเห็นป้าชั่ง ศิวะนันต์วงษ์ ตักน้ำร้อนจากหม้อบนเตาถ่านสำหรับชงกาแฟ สักพักเงยหน้าขึ้นมามือพัลวันชงกาแฟทั้งร้อนและเย็นอย่างคล่องแคล่วต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ป้าชั่งเริ่มจำความได้ถึงอายุตอนนี้ ๖๗ ปี ผู้คนล่ำลือถึงรสชาติของเมล็ดกาแฟคั่วเองอันหอมกรุ่นและบรรยากาศแบบเนิบนาบของชาวสภากาแฟที่จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมืองอย่างเป็นกันเอง
เจ้าของร้านกาแฟโบราณในตลาดสามชุก
อาชีพขายกาแฟนี้ป้าชั่งเล่าอย่างภาคภูมิว่าสืบทอดจากเตี่ยคือ นาย หล่งเสี่ย แซ่ตัน ชาวจีนแคะ ใช้สูตรโบราณแบบดั้งเดิม ถือเป็นสุดยอดของร้านกาแฟที่สตาร์บัคเทียบไม่ติด น่าเสียดายนอกจากในภาคใต้แล้วร้านกาแฟที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานแทบจะหมดไปจากตลาดและชุมชนของเราเสียจนหมดสิ้น
ร้านบะหมี่เจ็กอ้าว เป็นเจ้าอร่อยขายดีแต่เช้า เปิดร้านมานานกว่า ๗๐ ปี ขายตั้งแต่รุ่นเตี่ยคือ เจ็กอ้าว แซ่ตั๊ง ชาวเมืองซัวเถา ประเทศจีน เดินทางมาเมืองไทยตั้งแต่อายุสิบกว่าปี ยังรุ่นๆ มาอยู่กับญาติที่ท่าช้างเป็นลูกจ้างเร่ร่อน ทำงานอยู่ไร่ผักไปเรื่อยๆ จากนั้นมาเป็นลูกจ้างในร้านอาหารที่ตลาดสามชุก ต่อมาก็หาบบะหมี่ขาย ขายดีจนมีร้านของตนเอง แกขายจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่ออายุ ๘๒ ปี
ร้านบะหมี่เจ๊กอ้าว
ลูกสาวสามคนของเจ็กอ้าวดูแลร้านต่อ เส้นบะหมี่สดสูตรเดิมยังคงทำเอง ลัดดาวัลย์ ปียาจารวัตร หรือพี่เป้าอายุ ๔๙ ปี ช่วยหน้าร้านขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ ๑๕ ยืนลวกก๋วยเตี๋ยวเต็มที่เมื่ออายุ ๒๐ กว่าๆ นับมาถึงตอนนี้ก็สามสิบกว่าปีแล้ว ให้แง่คิดจากประสบการณ์ความชำนาญที่สั่งสมจากพ่อสู่ลูกว่า
“ดีที่เราสืบทอดจากเตี่ย ถ้าไม่มีพื้นฐานจากเตี่ยมันก็ยาก อาศัยความอดทนนานมาก กว่าคนจะรู้จัก กว่าเราจะตั้งตัวได้แบบนี้”
ข้าวห่อใบบัวสูตรดั้งเดิม ปัจจุบันหาทานได้ยากเต็มที แต่สามารถแวะมาชิมได้ที่ร้านหรั่ง (หรั่ง ศรีโรจน์) ที่ขยับร้านออกมาขายริมแม่น้ำเชิงสะพานพรประชา สูตรนี้ได้มาจากยายทิวา กลิ่นหอมหวล ผู้เป็นแม่ ข้าวห่อใบบัวถือเป็นอาหารอร่อยที่หลายคนเรียกร้องเพื่อรื้อฟื้นให้คนรุ่นหลังได้ลองชิมอีกสักครั้ง เช่นเดียวกับแกงบวน ซึ่งเป็นแกงโบราณ ฝีมือของป้าระเบียบ ยิ่งเจริญ ก็หาโอกาสได้ชิมกันไม่บ่อยนัก
น้ำพริกแม่กิมลั้ง สร้างตำนานน้ำพริกแกงมากว่า ๕๐ ปี แม่กิมลั้ง สนธิซื่อสัตย์ เดินทางมาจากเมืองจีนตั้งแต่เด็กเข้ามาอยู่ที่ตลาดสามชุกตั้งแต่ ๒ ขวบ โดยพ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของชาวสามชุกผู้หนึ่ง จึงรู้สึกว่าตนเองเป็นชาวสามชุก โตขึ้นมาหน่อยพายเรือขายผัก เมื่อแต่งงานก็เริ่มทำข้าวแกงและน้ำพริกขาย สมัยนั้นขายดีมากจนมีคนทำขายตามหลายคน ปัจจุบันเลิกขายหมดแล้วแต่ของป้ากิมลั้งยังคงขายอยู่
ปลาแห้ง อาหารอร่อยในตลาด
นอกจากเจ้าเก่าดั้งเดิมที่ยังสืบทอดฝีมือในการทำอาหารอร่อยหากินยากแล้ว ในตลาดยังมีของกินของฝากหลายอย่าง เช่น เป็ดย่างจ่าเฉิด ปลาสลิดพี่จิต ขนมน้ำ ขนมถ้วย ขนมทองหยอด วุ้น หม้อแกง ร้านขายนาฬิกาเก่า ร้านขายยาสมุนไพรจีน ร้านถ่ายรูปโบราณ ร้านทำฟันปลอม ร้านขายของชำ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านทำผม สินค้าแห่งความทรงจำของผู้คนต่างรวบรวมอยู่ในตลาด ๑๐๐ ปีแห่งนี้ นักท่องเที่ยวประเภทถวิลอดีตและชอบกินของอร่อยไม่ควรพลาด
ข้าวห่อใบบัวอาหารขึ้นชื่อ
พรรณงาม เง่าสง่างาม ผู้คลุกคลีทำงานอยู่กับชุมชนตลาดสามชุกจากมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า " ตลาดสร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมเรือนไม้ย่านการค้าริมน้ำอย่างยิ่ง ในปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ตลาดอย่างสมบูรณ์ให้กับชุมชนในละแวกใกล้เคียงแม้ว่าจะทรุดโทรมทางกายภาพตามกาลเวลาและจำเป็นต้องอาศัยการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่ไม่น้อย " การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของเมืองกลายเป็นตัวเร่งความซบเซาทางเศรษฐกิจของย่านตลาดเก่า เป็นต้นว่าการย้ายสถานที่ราชการที่อยู่ติดกับตลาดออกไปอยู่ที่ใหม่ การเกิดขึ้นของตลาดสามชุกใหม่ที่อยู่ไม่ไกลกันนักรวมทั้งตลาดนัดต่างๆ ตามหมู่บ้าน ทำให้ลูกค้าของตลาดเก่าลดน้อยถอยลง
ร้านน้ำพริกแม่กิมลั้ง
หลายคนรู้สึกผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ในฐานะเป็นที่อยู่ที่อาศัยที่ทำมาหากิน เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงเกิดกระบวนการสร้างองค์กรรองรับเพื่อจัดการการท่องเที่ยวแก่ตลาดร้อยปีสามชุกโดยคนในชุมชน
หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมแก่ตลาดเก่าสามชุกที่ยังมีชีวิตก็อาจทำให้สังคมชาวตลาดค่อยๆ เสื่อมสูญ เหมือนพื้นที่ของเมืองเก่าหลายแห่งที่แนวทางการพัฒนาความเจริญของเมืองแบบใหม่ได้เข้าไปครอบงำแทนที่และเบียดขับชีวิตแบบเก่าให้ตกขอบไป
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๕๐ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๔๗)