หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
มุมหนึ่งของตลาดเก่า
บทความโดย เบญจวรรณ จันทราช
เรียบเรียงเมื่อ 1 ส.ค. 2547, 15:39 น.
เข้าชมแล้ว 5586 ครั้ง

 

 

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนทั้งหลายให้รวมกันอยู่ได้ คือ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งในสังคมนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนในสังคมหลายวัย หลากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ อาชีพ มีปรัชญาการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ตั้งแต่ครั้งอดีตและในสภาพกาลปัจจุบัน

 

ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ มีโอกาสเข้าร่วมงานกับคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในโครงการตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา หนึ่งในโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชุมชนไทกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โครงการดังกล่าวมีแผนการพัฒนาตลาดเก่าสามชุกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้หวังเพียงให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวเมืองสามชุกอย่างในอดีตเท่านั้น แต่เป็นการทำให้คนรุ่นหลังของสามชุกได้รู้จักสิ่งที่มีในท้องถิ่นของตนตามแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่ไปกับกระบวนการเผยแพร่ความรู้ในท้องถิ่น

 

ความน่าสนใจของตลาดสามชุกคือ การเป็นย่านการค้าสำคัญของคนจีนทำให้เรารู้สึกว่ากำลังเดินอยู่ในมุมหนึ่งของย่านตลาดเก่าที่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิต โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรม อาคาร และแหล่งตลาดร้านค้าซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของผู้คนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕-๗ จนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการปรับปรุงตลาดสามชุกในแนวทางการอนุรักษ์และความคิดในการปรับปรุงบ้านไม้เก่าสามชั้นของซึ่งเดิมเป็นของ ขุนจำนงค์จีนารักษ์ บุคคลสำคัญคนหนึ่งของตลาดสามชุกให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของชุมชน การศึกษาถึงพัฒนาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นภายใต้กรอบการศึกษาหัวข้อต่างๆ ดังนี้

 

สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และที่ตั้งของท้องถิ่น ประวัติความเป็นมาทางสังคมและวัฒนธรรม โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และระบบเครือญาติ การทำมาหากิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม การเมืองการปกครอง

 

 

เนื้อหาจะเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ชุมชนกับประวัติศาสตร์มหาชน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังที่กล่าวไว้ในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ต่อมาเป็นเรื่องของการก่อตั้งอำเภอ การเปลี่ยนแปลงเป็นระบบเทศาภิบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชนสมัยรัชกาลที่ ๕ สืบเนื่องไปยังจังหวัดใกล้เคียงคือสิงห์บุรีและชัยนาท สิ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกันบนแม่น้ำทั้งสาย การปลูกอ้อยทำน้ำตาลสมัยรัชกาลที่ ๔ และการส่งออกข้าว บุคคลสำคัญภายในตลาดหลายๆ คน หลายๆ ตระกูล ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของชุมชน เป็นข้อมูลที่อธิบายถึงชีวิตความเป็นอยู่และการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เพียงศึกษาแค่ตลาดสามชุกเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก เช่น การอพยพเข้าออกของผู้คน การคมนาคม ระบบชลประทานที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำเกษตรกรรม การปกครองที่เปลี่ยนแปลง การปรับตัวเข้ากับโลกาภิวัตน์ และผลกระทบต่อชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งชุมชนชาวตลาดเองต้องปรับตัวให้กับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย

 

 

การเก็บข้อมูลนี้จะเป็นเรื่องที่ออกมาจากภายในสังคมท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาผนวกเข้ากับบริบทที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องด้านอื่นๆ จนเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม พร้อมทั้งจัดเก็บเป็นข้อมูลในการจัดทำพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์จีนารักษ์ และบริเวณโดยรอบตลาดสามชุก เพื่อตอบสนองการศึกษาของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับความรู้เรื่องท้องถิ่นของตนเอง

 

ความสำคัญของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่ตลาดสามชุกอีกข้อหนึ่งคือ จะช่วยสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่วัตถุประสงค์หลักคือการเผยแพร่เพื่อการศึกษา เมื่อคนเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วกลับไปต้องรู้จักตัวสามชุก อนาคตต้องมีหนังสือ สื่อต่างๆที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากบุคคลในท้องถิ่น สัมภาษณ์ นำมาวิเคราะห์ ตรวจสอบ เลือกเนื้อหาในการจัดแสดงร่วมกัน ในกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ที่เป็นของตนเอง

 

 

หากจะย้อนอดีตตลาดร้อยปีสามชุกว่ามีความเก่าแก่เพียงใด ให้ลองนึกหลับตาแล้วนึกถึงภาพตลาดเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ภาพการก่อตั้งอำเภอสามชุก ภาพพ่อค้าแม่ค้าสามชุกตั้งกระบุงกระจาดขายของอย่างคึกคัก ภาพคนจีนยุคบุกเบิกเดินทางมาทำการค้า แต่ละวันตอนรุ่งสางจะมีพระสงฆ์พายเรือออกมาบิณฑบาต มีศาลเจ้าจีนที่ผู้คนเข้ามาสักการะ ไหว้เจ้า ในตอนเช้าๆ ผู้คนจะจอแจพายเรือเล็กอย่างเรือพาย เรือหมู เรือแจว มาจอดที่ท้ายแพริมน้ำเพื่อมาจับจ่ายซื้อของ ถัดไปมีเรือโยงที่บรรทุกข้าวของอย่าง ข้าว ถ่าน เผือก มัน กะปิ ผักผลไม้ โอ่งอ่างถ้วยชาม และสินค้านานาชนิดจอดอยู่ในแม่น้ำท่าจีน ใกล้ๆ กันมีท่าถ่าน ท่าข้าว โรงสี โรงเหล้าและโรงยาฝิ่น ผู้คนเดินทางไปใช้เส้นทางน้ำจากตลาดท่าช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช ผ่านตลาดสามชุก เข้าตัวเมืองสุพรรณ และสิ้นสุดที่ท่าเตียนกรุงเทพฯ โดยใช้บริการเรือเมล์แดง (เลือดหมู) เรือเขียว ในสมัยก่อนต้องข้ามวันข้ามคืนเพื่อไปสู่จุดหมาย ส่วนอาหารการกินที่ตลาดเก่าแห่งนี้มีของอร่อยมากมาย เช่น ขนมหวาน กาแฟ น้ำพริก ผัก ปลา กับข้าว อื่นๆ อีกจิปาถะ ทำให้คนเราสามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายได้ในชีวิตประจำวัน

 

ถึงวันนี้ภาพในอดีตอาจเลือนหายไปบ้างในบางตอนของความทรงจำ แต่เรื่องราวบางอย่างยังคงแจ่มชัดและเห็นได้อยู่ในปัจจุบันคือ สภาพอาคารบ้านเรือนในยุคแรกเริ่มของผู้คนที่ผูกพันกับท้องถิ่นที่อยู่สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน เป็นสถาปัตยกรรมเมืองเก่าริมน้ำที่บ่งบอกถึงความต่อเนื่องทางกาลเวลาและพัฒนาการของเมืองว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ต่างกันตรงที่ ณ เวลานี้ เรามิได้ใช้ทางสัญจรบนแม่น้ำท่าจีนเหมือนในอดีต ตลาดริมน้ำเก่าแก่จึงดูซบเซาลงไป เส้นทางน้ำจึงเป็นตัวแปรหนึ่งต่อการดำเนินชีวิต

 

ตลาดริมแม่น้ำท่าจีนหลายแห่งเสื่อมโทรม บ้างถูกรื้อออกและปรับปรุงเป็นตลาดสมัยใหม่รองรับสินค้าตลาดใหม่ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจระบบนายทุนซึ่งเน้นเรื่องการบริการไม่เหมือนตลาดเมืองไทยแบบเก่า เพราะตลาดแบบไทยๆ เจ้าของบ้านจะเป็นเจ้าของร้านดูแลด้วยตัวเองทั้งหมด เมื่อเราเดินเข้ามาในตลาดมักจะมีในบรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยน เช่น ถ้าเราซื้อของอย่างหนึ่ง เราอยากจะถามไหมว่าใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกไหม แม่ค้าอย่างนี้เด็กอ่อนกินได้ไหม ผักนี้ควรกินอย่างไร คนป่วยกินได้หรือไม่ แสลงไหม อันนี้แพงจังช่วยลดให้หน่อยสิ มีทั้งการต่อรองลดแลกแจกแถมตามความชอบใจ บางครั้งแม่ค้าก็จะบอกว่าเอาไปเถอะราคานี้ เอาไปขายต่อ เราส่งน้อยแบ่งกันไปเอากำไร ไอ้หนูตัวเล็กหยิบไปอีกอันยายแถมให้ นอกจากจะได้สิ่งของแล้วเรายังได้มิตรภาพ บางครั้งก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่แม่ค้าคอยเสริมให้เมื่อเราถาม พร้อมกับความเพลิดเพลินจากการเดินตลาด

 

สำหรับผู้เขียน อีกมุมหนึ่งของตลาดเก่าที่สามารถเห็นได้ชัดในขณะนี้คือ การร่วมแรงร่วมใจอย่างมีพลังของชาวสามชุก และคณะกรรมการพัฒนาตลาดที่สามารถเดินไปข้างหน้าด้วยความสามัคคี น่าภูมิใจที่ชุมชนสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง มีความพยายามและความพร้อมที่จะส่งความเข้าใจในท้องถิ่นให้แก่เยาวชนและคนรุ่นหลังต่อไป

 

 

จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๔๙ (กรกฎาคม – สิงหาคม ๒๕๔๗)

อัพเดทล่าสุด 21 ก.ย. 2561, 15:39 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.