หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ เมืองสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 1 มิ.ย. 2547, 15:28 น.
เข้าชมแล้ว 4283 ครั้ง

ปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ เมืองสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมเมืองสำหรับประเทศไทยยังคงพบปัญหาและอุปสรรคอย่างมากมาย เพราะขาดการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของเมืองซึ่งมีความซับซ้อนรวมทั้งฐานการศึกษาที่ยังคงมุ่งเน้นอยู่แต่สังคมชนบทมากกว่า ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับสังคมเมืองในประเทศไทยมีน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่า เราแทบไม่เคยทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างจริงๆ จังๆ เลย

 

มูลนิธิชุมชนไท , สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ซึ่งมีแนวคิดจากการคาดการณ์ว่า ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ชุมชนจำนวนมากในประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเมือง จึงควรหาวิธีการรับมือการเติบโตของเมืองด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืน การบริหารจัดการเมืองที่เหมาะสมโดยท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมจากประชาคมชุมชนเมืองอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายและได้มาตรฐาน ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีและปลอดภัย

 

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างขบวนการของการพัฒนาเมืองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในท้องถิ่น และเกิดกลไกการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน เชื่อมโยงให้เกิดเครือข่าย จัดทำข้อมูลของเมือง จัดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมของขบวนการและกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมร่วมกัน จัดการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวเมืองอื่นๆ เป็นต้น

 

ก่อนหน้านั้น เทศบาลและประชาคมสามชุกมีแนวคิดที่จะปรับปรุงตลาดมาก่อน และมีโครงการ สามชุกเมืองน่าอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นจากคณะกรรมการหลายฝ่ายที่เห็นร่วมกันว่าควรจะปรับปรุง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ตลาดสามชุก แต่เมื่อเกิดความร่วมมือกับ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ การประชุม กำหนดการมีส่วนร่วม กิจกรรมเพื่อความร่วมมือต่างๆ จึงเกิดการรุดหน้าของโครงการอย่างรวดเร็ว

 

นอกจากการสร้างประสิทธิภาพของกลุ่มต่างๆ ในชุมชนตลาดสามชุกให้เกิดความร่วมมือแล้ว ยังมีการจัดระเบียบตลาดสามชุกให้สะอาดและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และเชื่อมโยงเครือข่ายบุคคลและความรู้ทางวิชาการ ซึ่งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว โดยช่วยเหลือให้คำปรึกษาจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนคือ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์จีนารักษ์ เป็นอาคารไม้สามชั้นอยู่ในตลาดสามชุก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชนและมุ่งหมายให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา โดยการดูแลของชาวเมืองสามชุกเอง ซึ่งขณะนี้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารจนอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์แล้ว นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงนอกเหนือจากตลาดเก่า คือที่ วัดสามชุก อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนสามชุกแต่เดิมก่อนที่จะเกิดตลาดใหญ่ฝั่งตรงข้ามริมน้ำสุพรรณบุรี และกำลังดำเนินการเก็บข้อมูลท้องถิ่นด้านต่างๆ

 

พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งจึงกล่าวได้ว่า จะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามชุกที่อธิบายเรื่องราวในอดีต ความเป็นมา และประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่นที่มีทั้งชุมชนดั้งเดิมและชุมชนเมือง ซึ่งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ยินดีที่จะได้มีส่วนร่วมกับชุมชนในเขตสามชุกสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของตนเองต่อไป

 

 

จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๔๘ (พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๔๗)

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 15:28 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.