<iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/nsl3GWxQd0w" frameborder="0" allow="autoplay; encrypted-media" allowfullscreen></iframe>
รายการ "อดีตในอนาคต" ตอนที่ ๑๓ อู่ทอง นครรัฐเมืองท่าในสมัยฟูนัน
บทนำ
แม้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมากและหลากหลายหากแต่ในระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ยังคงติดอยู่กับกรอบของรัฐชาติอยู่ไม่น้อยด้วยวิธีการเรียนแบบลำดับเวลา (Timeline) แต่ละยุคสมัยและเน้นเฉพาะเมืองสำคัญ เช่น สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี-กรุงเทพมหานคร เท่านั้น ขณะเดียวกันการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยยังคงเน้นอยู่กับโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การตีความทางโบราณคดีจึงเป็นเรื่องกำหนดอายุเท่านั้น ขณะเดียวกัน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดี-มานุษยวิทยา ได้ศึกษาประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดี ร่วมกับ หลักฐานประเภทอื่นๆ เช่น ตำนานและมุขปาถะ (Myth) ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งชุมชนโบราณเป็นหลัก การศึกษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ทำให้เกิดคำอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการของเมืองที่เชื่อมโยงกับบริบททางสภาพภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นองค์รวม (Holistic) และมีความต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง (Dynamic) ดังเช่นการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
คูเมืองอู่ทองด้านทิศเหนือ
สภาพแวดล้อมและพัฒนาการระยะแรกของเมืองอู่ทอง
ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นอย่างชัดเจนก่อนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม “ทวารวดี” ทั่วภูมิภาคของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวคือ ในบริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำท่าจีนกับลุ่มแม่น้ำแม่กลองพบเมืองที่สำคัญคือเมืองอู่ทอง ลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงรีซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบพื้นที่สูงที่ลาดลงมาจากแนวภูเขาด้านตะวันตกของเมือง ขณะที่บริเวณโดยรอบของเมืองมีลำน้ำจรเข้สามพันเป็นลำน้ำสำคัญของเมือง ทั้งด้านการใช้เป็นคูเมืองและการคมนาคมที่ติดต่อกับชุมชนอื่น โดยลำน้ำไหลไปทางทิศตะวันออกเชื่อมกับลำน้ำท่าว้าและไปรวมกับแม่น้ำสุพรรณบุรี(ท่าจีน) ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวจึงทำให้เมืองอู่ทองเป็นเมืองที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในฐานะของการเป็น “เมืองท่า” ในพื้นที่ตอนในและยังสัมพันธ์กับชุมชนอื่นโดยรอบโดยเฉพาะที่บ้านดอนตาเพชร ในเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร
หลักฐานโบราณวัตถุประเภทโลหะ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในเมืองอู่ทองสะท้อนให้เห็นว่าความสืบเนื่องของเมืองอู่ทองและชุมชนบ้านดอนตาเพชรมาตั้งแต่ปลายยุคเหล็กจากการค้นพบขวานหินและลูกปัดเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเมืองอู่ทองก็มิได้เป็นเมืองตอนในที่ตั้งอย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยเท่านั้น จากการขุดค้นพบว่าอย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่ 4-5 ลงมาทั้งเมืองอู่ทองและชุมชนบ้านดอนตาเพชรเป็นชุมชนที่มีการพบโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ลูกปัดแบบหินคาร์เนเลียน หินอะเกต ทั้งแบบเรียบและแบบการสกัดผิวโดยการฝังสี (Etched beads) รวมทั้งลูกปัดโรมัน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อการค้ากับบ้านเมืองชุมชนต่างถิ่นทางด้านตะวันตกโดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่อินเดีย แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการค้าข้ามคาบสมุทรจากชายฝั่งทะเลอันดามันมายังอู่ทองและส่งต่อไปยังบ้านเมืองทางด้านตะวันออกซึ่งจะพบที่เมืองออกแอวด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันหลักฐานเกี่ยวกับการค้ากับทางอินเดียของชุมชนในลุ่มน้ำจรเข้สามพันไม่ได้มีเพียงลูกปัดเท่านั้นหากแต่ยังรวมไปถึงภาพสลักสตรีและลายเลขาคณิตบนภาชนะสำริดที่มีรูปแบบคล้ายกับทางอินเดีย โดยค้นพบที่บ้านดอนตาเพชรและแหล่งโบราณคดียุคเหล็กในพื้นที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี การพบเจอโบราณวัตถุที่มีลักษณะเหมือนกันเช่นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นชุมชนร่วมสมัยและมีการติดต่อสังสรรค์ระหว่างกัน เป็นเส้นทางที่การค้าที่ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปยังฝั่งอันดามันและอินเดีย จากหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในช่วงเวลานี้ ยังสอดคล้องกับเนื้อหาของมหาชนกชาดกและคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกาที่ระบุถึงการเดินทางมายังดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้นแล้วและเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าและการเดินเรือข้ามคาบสมุทร
ลูกปัดหินสีโบราณ
เมืองอู่ทอง หนึ่งในเมืองท่าร่วมสมัยกับฟูนัน
เมืองอู่ทองยังเป็นเมืองท่าตอนในที่สำคัญนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ อาทิ ตุ้มหูแบบลิง-ลิง-โอ ลักษณะเป็นตุ้มหูที่ทำจากหินกึ่งหยกส่วนปลายทั้งสองด้านเป็นรูปหัวสัตว์ทั้งสองด้าน โดยตุ้มหูดังกล่าวเป็นของกลุ่มวัฒนธรรมซาหวิ่น คือเหล่าพ่อค้าและนักเดินทางที่มีบ้านเมืองอยู่บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม และมักพบในบริเวณแหล่งโบราณคดีตามชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะทั้งในเวียดนามและฟิลิปปินส์รวมถึงพื้นที่ในไทย การแพร่กระจายของโบราณวัตถุชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ามีระบบการค้าทางทะเลเกิดขึ้น รวมถึงเข้ามาสู่เมืองตอนในของชายฝั่งอ่าวไทยผ่านลำน้ำขนาดใหญ่ คือเมืองอู่ทองและในขณะเดียวกันยังพบโบราณวัตถุดังกล่าวที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองอู่ทอง ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับ “สมัยฟูนัน” ที่มีเมืองสำคัญคือเมือง “ออกแอว” อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียงได้กล่าวถึงสภาพเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานี้ว่า เมืองฟูนันเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่มีความสำคัญและมีเมืองร่วมสมัยต่างๆ เช่น เตียนซุน ตักโกละ เซียะโท้ว กิมหลิน ฯลฯ โดยเฉพาะคำว่า “กิมหลิน” ซึ่งแปลว่าเมืองทอง น่าจะหมายถึงเมืองอู่ทอง เนื่องจากการพบโบราณวัตถุในพื้นที่เมืองอู่ทองที่ร่วมสมัยกับฟูนันเป็นจำนวนมากและที่บ้านดอนตาเพชรจำนวนหนึ่ง จึงสะท้อนให้เห็นได้ว่าทั้งเมืองอู่ทองและชุมชนที่บ้านดอนตาเพชรนั้นร่วมสมัยกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะเดียวกันการค้ากับทางตะวันตกของเมืองอู่ทองในระยะเวลานี้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น เหรียญกษาปณ์เป็นรูปพระพักตร์จักรพรรดิซีซาร์ วิครินุส (Ceasar Victorinus) ผู้เป็นกษัตริย์โรมันในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 9 ด้านหลังเหรียญเป็นรูปเทพีอาธีน่า (Athena) รวมทั้งตราประทับดินเผารูปต่างๆ เช่น วัว ตรีศูล ครุฑ ของพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาติดต่อทำการค้ากับอู่ทอง นอกจากนี้ยังพบแผ่นดินเผาสลักเป็นภาพพระภิกษุ 3 รูปกำลังอุ้มบาตร ครองจีวรห่มคลุมริ้วจีวรแบบศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายทางพุทธศาสนาเข้ามายังพื้นที่เมืองอู่ทองก่อนเข้าสู่สมัยทวารวดี
หินคาร์เนเลียนรูปสิงห์ หนึ่งในโบราณวัตถุที่สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อกับบ้านเมืองทางตะวันตกของอู่ทอง
เมืองอู่ทองในสมัยทวารวดี : ความรุ่งเรืองของเมืองอู่ทองจากสมัยฟูนัน
ความสืบเนื่องของเมืองอู่ทองยังคงต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้แพร่กระจายเข้ามาสู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยเฉพาะในดินแดนประเทศไทยพบวัฒนธรรมแบบทวารวดีทั้งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับที่เมืองอู่ทองซึ่งเดิมเป็นเมืองท่ามาอย่างชัดเจนในสมัยฟูนันก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุในสมัยทวารวดี เช่น ธรรมจักรกับกวางหมอบ พระพุทธรูปสำริด เหรียญเงินตรา และ พระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น ขณะที่โบราณสถานสมัยทวารวดีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกของเมืองอู่ทองส่วนใหญ่พบเป็นซากโบราณสถานประเภทเจดีย์ปรากฏอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 กว่าแห่งทั้งแบบผังสี่เหลี่ยมและผังแปดเหลี่ยม รวมทั้งบางแห่งอยู่บนภูเขา เช่น โบราณสถานเจดีย์บนเขาพระ เป็นต้น และยังพบว่ามีการแบ่งการตั้งถิ่นฐานอย่างชัดเจน โดยทางทิศใต้ของเมืองบริเวณคอกช้างดินซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำแห่งหนึ่งที่สำคัญของเมืองอู่ทองมีการตั้งศาสนสถานในศาสนาฮินดู โดยพบโบราณวัตถุ เช่น ประติมากรรมของศาสนาฮินดูและโบราณสถานบริเวณเชิงเขาที่สันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัย อย่างไรก็ตามบทบาทการเป็นเมืองท่าข้ามคาบสมุทรของเมืองอู่ทองได้ลดลงไปเนื่องจากการเกิดขึ้นของเมืองท่าพื้นที่ตอนในชายฝั่งทะเลแห่งใหม่คือ “เมืองนครปฐมโบราณ” ซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ในสหพันธรัฐทวารวดีที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชายขอบของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมทางทิศใต้ของเมืองอู่ทอง แต่ถึงกระนั้นก็ตามเมืองอู่ทองก็ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาจนทิ้งร้างไปราวพุทธศตวรรรษที่ 17
โบราณสถานเจดีย์หมายเลข 1 (เจดีย์วัดปราสาทร้าง) เป็นเจดีย์สมัยทวารวดีในผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่
โบราณสถานบริเวณน้ำตกพุม่วง สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานพราหมณ์จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุศิวลึงค์
บทสรุป
โดยสรุปแล้วเมืองอู่ทองเป็นเมืองที่มีพัฒนาการปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ช่วงยุคเหล็กเรื่อยมาจนมีพัฒนาการกลายมาเป็นเมืองท่าตอนในที่สำคัญในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรดังปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุที่มีการติดต่อทั้งทางด้านตะวันตกคืออินเดียและทางด้านตะวันออกคือรัฐฟูนันที่มีเมืองสำคัญอย่างเมืองออกแอว ทางตอนใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน จนกระทั่งวัฒนธรรมแบบทวารวดีแพร่กระจายเข้ามาสู่ภูมิภาคของประเทศไทยเมืองอู่ทองยังคงมีพัฒนาการสืบเนื่องมา กระทั่งกลายเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เมืองอู่ทองมีพัฒนาการอย่างยาวนานเช่นนี้ได้ เนื่องจาก ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาค ประกอบกับระบบการจัดการน้ำของเมืองอู่ทองที่มีทั้งการกักเก็บน้ำบริเวณทางทิศใต้ของเมืองที่เรียกว่าคอกช้างดิน และรอบเมืองอู่ทองมีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบเพื่อประโยชน์ในด้านของการป้องกันภัยและการบริโภค ดังนั้นพัฒนาการดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นได้ว่าบ้านเมืองบนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเก่ามีพัฒนาการของการเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยฟูนันเป็นต้นมา
สามารถติดตามเรื่องราวของ “เมืองโบราณอู่ทอง” โดย อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เพิ่มเติมได้ใน :
ศรีศักร วัลลิโภดม. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี : เมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2549.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “อู่ทอง นครรัฐเมืองท่าสมัยฟูนัน”. วารสารเมืองโบราณ, 42, 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2559), 25-34
และสามารถติดตามรายการ "อดีตในอนาคต" ได้ทาง VLek-Prapai Channel ผ่านทางยูทูป
https://www.youtube.com/channel/UCSzeZTanV9nSbF1pATrMhoQ