หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
รายการ "อดีตในอนาคต" ตอนที่ ๑๗ สุพรรณภูมิ
บทความโดย พนมกร นวเสลา
เรียบเรียงเมื่อ 16 ส.ค. 2561, 11:33 น.
เข้าชมแล้ว 18883 ครั้ง

 

รายการอดีตในอนาคตประจำเดือนสิงหาคมได้เสนอตอน “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีตของเมืองสุพรรณบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-20 โดยนำเนื้อหาจากบทความของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง สุพรรณภูมิ-เสียนหลอก๊ก-สหพันธรัฐเสียม” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559)

 

ภูมิหลังของเมืองสุพรรณภูมิในทางประวัติศาสตร์

บรรดาเมืองโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยมีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในพื้นที่ราบลุ่มน้ำลำคลอง (riverine area) โดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก เช่น สุพรรณภูมิ อโยธยา แพรกศรีราชา ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น มีลักษณะผังเมืองทั้งแบบหันหน้าลงแม่น้ำและแบบเป็นเมืองสองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งบรรดาเมืองโบราณต่างๆเหล่านี้รับอิทธิพลพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาที่แผ่เข้ามาทางทิศตะวันตกและใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ค้นพบ สำหรับ “สุพรรณภูมิ” เป็นเมืองหนึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำลักษณะเป็นเมืองในผังสี่เหลี่ยมผ้าผ้าในแนวทิศเหนือ-ใต้ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำสุพรรณบุรี (หรือแม่น้ำท่าจีน) ไหลผ่ากลางเมือง ขณะที่บริเวณใกล้เคียงมีเมืองที่เก่ากว่าคือเมืองอู่ทองซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบที่สูงมีแม่น้ำจรเข้สามพันและลำน้ำท่าว้าเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งเมืองสุพรรณภูมิอยู่ห่างจากเมืองอู่ทองประมาณ 25 กิโลเมตร ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี เมืองสุพรรณภูมิน่าจะเป็นเมืองที่เกิดขึ้นแทนที่เมืองอู่ทองที่ร้างไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 นั่นเอง

 

ปรางค์ประธาน วัดพระศรีมหาธาตุ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ศิลปะอยุธยาตอนต้น

 

เมืองสุพรรณภูมิยังมีขอบเขตความสัมพันธ์กับเมืองอื่นๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองแพรกศรีราชาในฐานะที่เป็นเมืองคู่, “ระบบเมืองคู่” เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงและเมืองลูกหลวง ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีรูปแบบที่สัมพันธ์กัน เช่น เจดีย์วัดพระรูปเมืองสุพรรณภูมิกับเจดีย์วัดพระแก้วเมืองแพรกศรีราชา เป็นต้น อย่างไรก็ตามระบบเมืองคู่ดังกล่าวยังพบในกลุ่มเมืองโบราณในลุ่มน้ำอื่นๆด้วยเช่นกัน ได้แก่ เมืองอโยธยาและเมืองละโว้ในลุ่มน้ำป่าสัก, เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยในลุ่มน้ำยม เมืองราชบุรีและเพชรบุรีในลุ่มน้ำแม่กลอง-เพชรบุรี

 

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักจีนกับสุพรรณภูมิ

ขณะที่ความสัมพันธ์กับบ้านเมืองในต่างภูมิภาคจะพบว่าเมืองสุพรรณภูมิมีความสัมพันธ์กับจีนอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา โดยการส่งราชทูตและบรรณาการหลายครั้งเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์หยวนและหมิง โดยข้อความในเอกสารจีนเรียกสุพรรณภูมิในช่วงแรก (พุทธศตวรรษที่ 18) ว่า เจนลีฟู และต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เรียกว่า เสียน” นอกจากจะมีการกล่าวถึงเสียนเกี่ยวกับการส่งราชทูตมายังสำนักจีนแล้ว ช่วงเวลาเดียวกันจีนยังระบุว่ามีบ้านเมืองฟากตะวันออกของเสียนคือ หลอก๊ก หรือ กลุ่มละโว้ (ละโว้-อโยธยา) เป็นเมืองร่วมสมัยกัน เช่นเดียวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่สะท้อนให้เห็นว่าสุพรรณภูมิเป็นเมืองสำคัญเช่นเดียวกับเมืองอโยธยาในลุ่มน้ำป่าสัก หลักฐานที่สำคัญคือ “จารึกลานทองวัดส่องคบ” จารึกหลักนี้จารขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา) จารึกตัวอักษรขอม ภาษาไทย พบที่เมืองชัยนาท มีเนื้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองขุนเพชรสารทำบุญทั้งในเมืองสุพรรณภูมิและอโยธยา ความว่า “...เจ้าเมืองประดิษฐานพระศรีรัตนธาตุแห่งกรุงไชยสถานนาม มาตราหนึ่ง แต่ เจ้าเมืองกระทำกุศลมาแต่กระโน้นในสุพรรณภูมิ ให้ทานเรือนอัน กระทำกุฏิพิหารในศรีอโยธยา ให้ข้าสองคนแม่ลูก พระสงฆ์สี่...” สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีความสัมพันธ์กับทางราชวงศ์ละโว้ผ่านการแต่งงาน โดยสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 แห่งราชวงศ์อู่ทอง มีพระชายาเป็นพระขนิษฐาของขุนหลวงพะงั่วแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ซึ่งในเวลาต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา) ร่วมกันตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมา แต่ภายหลังเกิดการช่วงชิงอำนาจกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีการผลัดเปลี่ยนระหว่างสองราชวงศ์ ทางฝ่ายราชวงศ์สุพรรณภูมิได้อาศัยราชสำนักจีนในการรับรองการขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ในนามของ เสียนก๊ก(สุพรรณภูมิ) แทนที่หลอก๊ก(ราชวงศ์อู่ทอง) นสมัยราชวงศ์หมิง ยิ่งไปกว่านั้นการส่งราชทูตไปจีนบางครั้งยังมีพระราชโอรสหรือราชทายาทของกษัตริย์สุพรรณภูมิไปเจริญสัมพันธไมตรีด้วยพระองค์เองอีกด้วย ปรากฏหลักฐานเอกสารจีน (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20) ว่า เจียวหลกควานอิน ได้เคยเสด็จไปเมืองจีนอยู่หลายครั้ง หมายถึงเจ้านครอินทร์พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ต่อมาเมื่อเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา พระนามว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช พระองค์ได้ขจัดกลุ่มราชวงศ์อู่ทองได้สำเร็จและพระองค์ได้นำเอาวิทยาการการทำภาชนะแบบจีนมาผลิตใช้และค้าขายในกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยมีแหล่งทำภาชนะอยู่ที่เตาแม่น้ำน้อย (จังหวัดสิงห์บุรี) และแหล่งเตาที่ศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) อีกด้วย

 

เศษภาชนะจากแหล่งเตาบางปูนทางทิศเหนือเมืองสุพรรณบุรี พบทั้งเศษภาชนะดินเผาและภาชนะลายคราม

 

งานศิลปกรรมกลุ่มสุพรรณภูมิ

งานศิลปกรรมของทางกลุ่มสุพรรณภูมิที่มีลักษณะโดดเด่นคือ “เจดีย์ในผังแปดเหลี่ยม” กระจายตามโบราณสถานต่างๆทั้งแบบที่เป็นสิ่งก่อสร้างประธานของโบราณสถาน และแบบที่เป็นสิ่งก่อสร้างบริวารของโบราณสถาน ปรากฏในและนอกกำแพงเมืองสุพรรณภูมิ เช่น เจดีย์วัดสนามชัย(ร้าง), เจดีย์วัดพระรูป, เจดีย์บริวารวัดพระศรีมหาธาตุ, เจดีย์วัดเถลไถล(ร้าง), เจดีย์วัดพระอินทร์(ร้าง), เจดีย์วัดมรกต(ร้าง), เจดีย์วัดแร้ง(ร้าง), เจดีย์วัดการ้อง(ร้าง), เจดีย์วัดโหน่งเหน่ง(ร้าง) และเจดีย์วัดไก่เตี้ย (ร้าง) เป็นต้น นอกจากนี้งานศิลปกรรมทีสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในมณฑป คือ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ในมณฑป ณ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร จากรูปแบบของพระพุทธรูป น่าจะเป็นการรับอิทธิพลพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีโดยเฉพาะการนั่งห้อยพระบาท หากแต่ในส่วนของพระพักตร์นั้นเป็นแบบอู่ทองและได้มีการว่องแซมในสมัยหลังแล้ว พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ในมณฑปนี้ยังพบที่มณฑปวัดขุนแผน เมืองเก่ากาญจนบุรี ด้วยเช่นกัน

 

เจดีย์วัดพระรูป อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

 

จากเมืองสุพรรณภูมิ สู่ เมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน

กระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นครองราชย์ได้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหลักและเมืองอื่นๆในบริเวณโดยรอบถูกลดบทบาทลง รวมถึงเมืองสุพรรณภูมิซึ่งเอกสารนับตั้งแต่ราชการนี้ลงมาเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “สุพรรณบุรี” ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้มีการตระเตรียมบ้านเมืองรับมือข้าศึก จึงมีการรื้อกำแพงเมืองโบราณหลายแห่ง สันนิษฐานว่าเมืองสุพรรณบุรีได้ถูกรื้อกำแพงทางด้านทิศตะวันออกด้วยเช่นกัน นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง (หลังพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา) บ้านเมืองหลายแห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการก่อกำแพงสร้างป้อมปราการขึ้นเมืองสุพรรณบุรีซึ่งเหลือเพียงทางทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนก็มีป้อมปราการตั้งอยู่ในคูเมืองห่างกันเป็นระยะด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันร่องรอยของคูเมืองและป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรีทางฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ หากแต่คันดินทางทิศตะวันออกปัจจุบันถูกรบกวนจนแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็นอีกแล้ว

 

คูเมืองและเนินป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรีทางทิศใต้

 

 

แนวกำแพงเมือง ที่ได้รับการขุดแต่งแล้วทางทิศใต้เมืองสุพรรณบุรี

 

สามารถติดตามรายการ "อดีตในอนาคต" ได้ทาง VLek-Prapai Channel ผ่านทางยูทูป https://www.youtube.com/playlist?list=PLjKdW0KVRxePzZ-jFXx7kr7UL8S2qmSZH

 

อัพเดทล่าสุด 21 ก.ย. 2561, 11:33 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.