หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
"พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดพุน้ำร้อน ด่านช้าง" เรียนรู้และท่องเที่ยวริมเทือกเขาตะนาวศรี
บทความโดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
เรียบเรียงเมื่อ 28 ก.ค. 2559, 16:51 น.
เข้าชมแล้ว 9218 ครั้ง

โบราณวัตถุชิ้นเด่น เช่น ขวานหินขัดรูปทรงแปลกตา และขวานรูปรองเท้าบู๊ตทำจากสำริด

น่าจะะเป็นการเข้ายุคโลหะตอนปลายหรือยุคเหล็ก พบที่แถบอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในพิพิธภัณฑ์บ้านพุน้ำร้อน

 

“ด่านช้าง” ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ใกล้เชิงเขาตะนาวศรีที่ทอดยาวเป็นพรมแดนธรรมชาติในภูมิภาคตะวันตกผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้จึงทำให้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า อันเป็นผู้คนในท้องถิ่นแต่เดิม และลาวครั่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกอพยพจากการสงครามสมัยต้นกรุงฯ ถูกให้ไปตั้งถิ่นฐานเฝ้าด่านชายแดนตะวันตกด้านนี้ตั้งแต่เมื่อสมัยต้นกรุงเทพฯ จนถูกเรียกว่า “ลาวด่าน” 

    

จากการขยายพื้นที่เพื่อทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในปลายปีที่ผ่านมาทำให้พบว่า บริเวณนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมากกลุ่มกะเหรี่ยวโปว์หรือกะเหรี่ยงโผล่วอยู่บริเวณหมู่บ้านตะเพิ่นคี่ในอุทยานแห่งชาติพุเตยในปัจจุบัน ซึ่งต่างไปจากกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอที่อยู่ทางแถบเทือกเขาในจังหวัดตาก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่นั้นมีการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป  ส่วนชาวบ้านพื้นราบซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาวครั่งทุกวันนี้ทำอาชีพเกษตรที่ปลูกพืชไร่เป็นหลัก เช่น อ้อย ข้าวโพด 

    

ที่พิพิธภัณฑ์บ้านพุน้ำร้อน ไม่ไกลจากตัวอำเภอด่านช้างนักเป็นที่สะสมโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบจากแหล่งต่างๆ โดยมักจะพบโบราณวัตถุโดยบังเอิญ โบราณวัตถุที่พบส่วนมากเป็นกลุ่มของเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัดหิน สมัยยุคหินใหม่ ต่างหู ซึ่งมีนายสมศักดิ์ อินทร เป็นผู้บริจาคส่วนใหญ่ให้กับทางวัดก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์โดยสมบูรณ์  

 

    

ภาชนะดินเผาแบบมีปุ่มสี่ด้าน พบที่แถบอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในพิพิธภัณฑ์บ้านพุน้ำร้อน

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เรื่อยมามีการพบโบราณวัตถุแบบก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่เรื่อยมาในหมู่บ้านพุน้ำร้อน บ้านหนองปลากระดี่ บ้านโป่งคอม บ้านทุ่งมะกอก บ้านตะเพินคี่ และบ้านท่าเย็น โดยมากแล้วจะอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขา ที่มีลำห้วยกระเสียวไหลผ่าน จึงสันนิษฐานกันว่าบริเวณเหล่านี้น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์มานานกว่า ๓,๕๐๐ ปีมาแล้วโดยประมาณ

    

นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ถูกบรรจุลงในภาชนะดินเผาสี่หูเคลือบ และหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ พบเครื่องมือที่ทำด้วยหิน เช่น แท่นหินบดยาและหินบดยา สมัยทวารวดีซึ่งพบที่บ้านโป่งข่อย ขวานหินที่ได้จากบ้านละว้า บ้านวังควาย และเครื่องมือหินอื่นๆ ที่ทำมาจากหินประเภทหินเชิร์ต [Chert] จากบ้านท่าเย็น ภาชนะดินเผา ขวานสำริด เป็นต้น มีการเพาะปลูกและทำอุตสาหกรรมขวานหินเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งอุตสาหกรรมการถลุงเหล็กที่มีในช่วงสมัยของอยุธยา ที่ได้จากหลักฐานร่อยรอยที่พบตะกรันแร่และก้อนดินไฟที่เป็นส่วนประกอบของเตาถลุงเหล็กในพื้นที่ของบ้านโป่งคอม 

    

หลักฐานหลายชิ้นที่สามารถบ่งบอกถึงการเคลื่อนย้ายถ่ายเท หรือการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เช่น การพบเครื่องสังคโลกหลายชิ้นที่มาจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยโดยขุดพบที่แหล่งโบราณคดีห้วยเหล็กไหล จุดเริ่มต้นของการรวบรวมวัตถุโบราณที่ชาวบ้านค้นพบนั้น พระอาจารย์เสน่ห์ (พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดพุน้ำร้อน ได้รวบรวมและจัดเก็บไว้ที่วัดก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว  เพราะท่านมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ของโบราณเพื่อให้ลูกหลานในชุมชนทำการศึกษ  จนเมื่อวันที่  ๑๒  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๕ นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ นายอำเภอด่านช้างในเวลานั้นเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่และโบราณวัตถุต่างๆ ที่วัดพุน้ำร้อนเก็บรักษาไว้และทางองค์การบริหารส่วนตำบลได้สร้างอาคารสถานที่จัดเก็บขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้จึงได้มีการประสานงานกับกรมศิลปากรให้มาจัดทำทะเบียนวัตถุให้เป็นระบบและถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้ชาวบ้าน โดยจัดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการนำชมหรือการเป็นมัคคุเทศก์ให้กับคนในชุมชนและเด็กเยาวชนโดยมีความร่วมมือกับทางโรงเรียนของบ้านพุน้ำร้อนอีกส่วนหนึ่ง และส่งต่อให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ดูแลจัดการไปพร้อมกับวัดและชุมชน ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน เมืองสุพรรณบุรี” ที่มีเจ้าหน้าที่ของทางองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไปในตัว

    

ข้อดีของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ของชุมชนก็คือ  มีส่วนช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนเกิดความรัก  ความหวงแหน  เกิดความเข้าใจถึงที่มาของบรรพบุรุษ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการเรียนในตำร  ทั้งนี้การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่แค่บอกเล่าเรื่องราวกลุ่มคนยุคโบราณ  หรือจัดแสดงเพียงวัตถุโบราณเท่านั้น    แต่ยังรวมไปถึงการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และสิ่งทอที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นด่านช้าง   โดยเฉพาะคนที่บ้านพุน้ำร้อนที่เป็นคนลาวเชื้อสายลาวครั่ง

    

“สุมาตรา นันทา” เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า เมื่อยังเด็กนั้นอายที่จะพูดจาภาษาลาว ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นคนลาวครั่ง กลัวสังคมจะไม่ยอมรับ แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความที่ได้รับแนวคิดใหม่มีการปรับทัศนคติและมีมุมมองการดำรงชีวิตใหม่ กลับมองว่ามีความภูมิใจที่ตนเองได้เกิดมาอยู่ในชุมชนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และสามารถพูดภาษาลาวได้ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของบรรพบุรุษได้อย่างภาคภูมิใจ จึงเลือกที่จะมาทำงานช่วยเหลือท้องถิ่น

 

    

การทอผ้าซิ่นตีนจก ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ที่วัดบ้านพุน้ำร้อน

 

ในบริเวณวัดบ้านพุน้ำร้อนนั้น มีกลุ่มทอผ้าแบบลาวครั่งที่ชาวบ้านรวมตัวมาทอผ้าที่อาคารศูนย์การสาธิตการทอผ้าของวัด กลุ่มทอผ้าดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาไม่นานนักราว ๒ ปีที่ผ่านมา  ท่านพระครูได้รวมชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพื่ออนุรักษ์และชุบชีวิตผ้าทอลาวครั่ง ด้วยวิธีการ “นำลายเก่า มาทำขึ้นใหม่” 

    

ลายผ้าของบรรพบุรุษที่มีมาอย่างยาวนานและเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกสีแดง เป็นเสมือนการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งเลยก็ว่าได้ เพราะเดิมทีสีแดงได้มาจากตัวครั่งที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้และบางคนก็เชื่อว่าเป็นที่มาของชื่อ “ลาวครั่ง” รวมทั้งความเชื่อตามคติทางพระพุทธศาสนาด้วย เช่น ลายสัตตบริภัณฑ์หรือรูปสัตว์มงคลต่างๆ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่าลายทุกลายนั้นมีความหมาย ช่างทอผ้าก็ต้องมีความชำนาญเช่นเดียวกันซึ่งในแต่ละผืนจะใช้ระยะเวลาที่แตกต่างตามความยากง่ายของลาย ชนิดของผ้าซึ่งจะมีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม นอกจากเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าแล้วยังถือเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการเกษตรกรรม

    

ปัจจุบันมีกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านให้ความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะทอผ้าซิ่นตีนจกถูกถ่ายทอดกันทางภูมิปัญญาในลักษณะ “ยายสอนหลาน” ด้วยความที่มีองค์ความรู้ มีบุคลากรในท้องถิ่นแล้วยังมีผู้ให้การสนับสนุน และมีบุคคลภายนอกให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กในชุมชนมีจุดสนใจที่จะเริ่มเรียนรู้และเกิดการหวงแหน จนกระทั่งนำไปสู่การอนุรักษ์ ฝ่ายปกครองให้การสนับสนุนและผลักดันมาโดยตลอดที่ทำให้เกิดพื้นที่ท่องเที่ยวภายในชุมชน

    

วัดบ้านน้ำพุร้อน นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่ให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์และกลุ่มทอผ้า ให้ความร่วมมือร่วมใจโดยที่ยึดถือพื้นที่วัดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมของชุมชน แม้ว่าแหล่งเรียนรู้ในลักษณะนี้มีอยู่มากในประเทศไทย ทว่าจะทำให้แหล่งเรียนรู้นั้นยั่งยืนต่อไปนั้นชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม และสามารถเป็นผู้ถ่ายทอดได้ด้วยตนเอง 

    

จะเห็นว่าชุมชนด่านช้าง และหมู่บ้านพุน้ำร้อนนั้นมีความเข้มแข็งมากในการช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรม รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายของชุมชนที่ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมทั้งนี้ทางหน่วยงานภาครัฐก็ได้มีการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าชุมชนสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งในอนาคตกำลังจะเพิ่มพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้ในการจัดแสดงขึ้นมาอีก แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่สมควรไปเยี่ยมเยือนและเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในพื้นที่เมืองด่านแห่งสุพรรณบุรี

 

จับกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๐ (เม.ย.-มิ.ย.๕๙)

 

อัพเดทล่าสุด 4 พ.ค. 2561, 16:51 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.