หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเวียงป่าเป้าที่วัดศรีสุทธาวาส
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 มิ.ย. 2541, 14:27 น.
เข้าชมแล้ว 3533 ครั้ง

 

 

การสัมมนาที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ จัดร่วมกับโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนบน ทำให้ได้รับทราบว่ามีความต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยผู้นำและชาวบ้านในชุมชนต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงส่วนหนึ่งที่มีความพร้อม เช่น สถานที่ ความร่วมมือในชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือผู้นำกลุ่มที่สามารถรับผิดชอบงานที่กำลังเกิดขึ้นต่อไปได้

 

มูลนิธิฯ มีกำลังคนไม่มากนัก และการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องอาศัยเวลาเพราะเป็นงานที่ต่อเนื่อง จึงต้องเลือกชุมชนที่มีความพร้อมมากกว่าชุมชนอื่น ที่วัดศรีสุทธาวาสในอำเภอเวียงป่าเป้า ดูจะเหมาะสมที่สุดสำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขนาดเล็กๆ ที่มีผู้นำชุมชนที่กระตือรือร้นและคณะศรัทธาของวัดเป็นตัวแทนชุมชนสนับสนุนอย่างแข็งขัน

 

 

เวียงป่าเป้า คือแอ่งที่ราบแคบๆ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมระหว่างทางที่จะไปเชียงราย-เชียงใหม่ และเชียงใหม่-พะเยาว์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ -๒๑ ในสมัยล้านนา โดยมีแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมที่เวียงกาหลง ที่อยู่ห่างจากเวียงป่าเป้าไปไม่ไกลนักเป็นสิ่งยินยัน เมืองเวียงป่าเป้าร้างไปจนกระทั่งราวร้อยกว่าปีมานี้ มีการสร้างเวียงป่าเป้าขึ้นใหม่ ขุดคูน้ำ กำแพงอิฐ และสร้างคุ้มของเจ้าเมือง ผู้คนโดยมากอพยพมาจาก เชียงใหม่ ทำการค้า ทำนา ทำสวน สร้างบ้านเรือนเป็นชุมชนขนาดใหญ่สืบมา

 

ในปัจจุบันจากหมู่บ้านก็กลายเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีทางหลวงผ่ากลาง ความเจริญเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความซับซ้อนของสังคมเมือง รูปแบบของความสัมพันธ์ในเวียงหรือในเมืองเวียงป่าเป้าจึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากชุมชนระดับตำบลหรือหมู่บ้านที่มีศูนย์กลางของชุมชนคือวัดเพียงวัดเดียว โรงเรียนเพียงโรงเรียนเดียวหรือสองแห่ง หมู่บ้านอยู่ล้อมรอบวัด และคณะศรัทธาก็คือผู้คนในชุมชนนั่นเอง แต่กรณีของเมืองเวียงป่าเป้า ที่วัดศรีสุทธาวาส ชุมชนที่อยู่รอบวัดอาจไม่ใช่คณะศรัทธาของวัด โรงเรียนมัธยมที่อยู่หน้าวัดก็ไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันนัก กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอาจมีเวลาไม่มากนัก คนที่จะเข้าวัดนั่นคือ คณะศรัทธาที่สืบต่อตามบรรพบุรุษ แม้จะอยู่ห่างวัดแต่ก็เลือกที่จะเข้าวัดตามพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดศรีสุทธาวาส จึงต้องดำเนินงานตามลักษณะสังคมของที่นี่ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ในเรื่องโครงสร้างของชุมชนที่จะมารองรับงานพิพิธภัณฑ์

 

มูลนิธิฯ ร่วมกับคณะศรัทธา และเจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาสเริ่มทำงานเรื่อยมาตามลำดับ ตั้งแต่รวบรวมสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาบริจาค และจัดทำทะเบียนสำรวจศึกษาทางโบราณคดี ศึกษาทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จนพอมองเห็นภาพความเคลื่อนไหวภายในท้องถิ่นเวียงป่าเป้าตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม

 

การประชุมเกี่ยวกับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยมี เจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส คณะศรัทธาอาวุโส , รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม , อาจารย์ นฤมล เรืองรังษี , อาจารย์ มานพ ถนอมศรี , อาจารย์ มงคล เปลี่ยนบางช้าง , และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้ข้อสรุปซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกัน โดยจัดแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วน คือ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ และภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์

 

 

ส่วนภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็นหัวข้อ เวียงป่าเป้าสมัยประวัติศาสตร์ , สภาพสังคมของเวียงป่าเป้าเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา , การเปลี่ยนแปลงและเวียงป่าเป้าในปัจจุบัน

 

ส่วนภายนอกพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ เพราะสภาพแวดล้อมสงบ ร่มรื่น ที่วัดและชาวบ้านเก็บรักษาไว้ได้อย่างเยี่ยมยอดแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าไม้กว่า ๔๓ ไร่รอบวัด ทั้งที่ตั้งอยู่ในเมืองวิหารแม้จะเป็นหลังใหม่แต่ก็ไม่ทำร้ายสายตา พระธาตุเจดีย์ศิลปะแบบพม่าซุกซ่อนอารมณ์ขันไว้ตามตุ๊กตาประดับมุขต่างๆ หอพระไตรปิฎกที่สวยงาม ร่มไม่ เงาไม้ที่นำความรู้สึกดีๆ ให้กับทุกคน สิ่งเหล่านี้สามารถบอกเรื่องราวและเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของการจัดแสดงได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ลานวัดด้านหน้าสามารถจัดเป็น ลานสัมมนา สำหรับองค์กรทางการศึกษาภายในท้องถิ่นหรือภายนอก เป็นศูนย์กลางการศึกษาภายใต้ธรรมชาติแวดล้อมที่ร่มรื่นงดงาม อีกด้านหนึ่งของวัดอาจจัดให้เป็น ลานธรรม เพื่อการศึกษาปฏิบัติธรรมของผู้คน ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น จัดให้เป็นสวนสมุนไพร รวบรวมสมุนไพรพื้นบ้านและพันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่นเพื่อประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป

 

ในอนาคตพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เวียงป่าเป้า จะเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นศูนย์กลางการศึกษาภายในท้องถิ่น ให้ผู้คนตระหนักในความสำคัญของสมดุลตามธรรมชาติ ที่มนุษย์ต้องปรับตัวเข้าหา เชิญชวนให้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือ ECOTOURISM ได้อย่างดี … เป็นความหวังที่ไม่น่าเกินจริง

 

สโมสรพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๒ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๔๑)

อัพเดทล่าสุด 2 ก.ค. 2561, 14:27 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.