หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส
บทความโดย พจนีย์ พยัคฆานุวัฒน์
เรียบเรียงเมื่อ 1 มิ.ย. 2551, 11:48 น.
เข้าชมแล้ว 4203 ครั้ง

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส

 

เรื่อง : พจนีย์ พยัคฆานุวัฒน์ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ

ภาพ : มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์

 

 

 

             

วัดศรีสุทธาวาส ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เดิมเรียกว่า “ วัดศรีราชคฤห์ ” ( วัดราช ) หรือ “ วัดนอก ” ( นอกเวียง ) ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศสได้เคยสำรวจและบันทึกไว้ในชื่อ ” วัดเจดีย์สุวรรณ ” ส่วนในจารึกสมุดข่อย กล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นในปี จุลศักราช ๑๑๐๕ ปีก่าไก๊ ( ปีกุน ) ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๘๖ แต่พบแผ่นศิลาจารึกลงศักราชตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๑ จนถึง ๒๐๔๕

 

 

 

ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญ ประกอบด้วย หอพระไตรปิฎก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมมาก พระธาตุเจดีย์ มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบสิบสองปันนา อุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ มีมุขสร้างคร่อมบันไดรูปปูนปั้นครุฑแบกนาค ยักษ์แบกนาค และแม่พระธรณีบีบมวยผม ส่วนภายใน วิหาร มีพระประธานแบบพม่าประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี และที่ฐานมีปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาติชาดก ฝีมือช่างไทใหญ่และสิบสองปันนาที่มีความวิจิตรงดงามมาก

 

รอบๆ วัดมีพื้นที่ป่าเบญจพรรณ จำนวน ๔๓ ไร่ เป็นป่าชุมชนที่พระเถระเจ้าอาวาสและคณะศรัทธาของวัด รักษาไว้ให้เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ อันเป็นแหล่งสมุนไพรของชุมชน ซึ่งมีร้อยกว่าชนิด เช่นต้นเปล้า ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาโรคกระเพาะและลำไส้ ดังที่มีผู้อธิบายว่าชื่อเวียงป่าเป้านั้นหมายถึงเวียงที่มีป่าต้นเปล้า

 

ปัจจุบัน วัดศรีสุทธาวาสมีพระอธิการบรรพต คัมภีโร เป็นเจ้าอาวาส ผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติแวดล้อมของเวียงป่าเป้าและเวียงกาหลง

 

 

 

 

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทางวัดและชาวบ้านได้ดำเนินการอนุรักษ์แนววิหารโบราณซึ่งพบร่องรอยแนวฐานรอบพระวิหารหลังใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น โดยนำไม้จากวิหารหลังเก่ามาสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ มีจั่วนาคเป็นสัญลักษณ์ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจัดทำข้อมูลทางวิชาการและทะเบียนโบราณวัตถุจากนักวิชาการท้องถิ่น และมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์

 

 

 

 

“การทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทางวัดมิได้ต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือให้นักท่องเที่ยวมาชมกันมากมาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นทางวัดคงดูแลไม่ไหว ต้องจ้างคนมาดูแล ซึ่งวัดคงไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่ต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน อะไรที่เกี่ยวกับท้องถิ่นก็ให้มาหาที่วัด อย่างปัจจุบัน มีการสอนฟ้อนรำ ดนตรีพื้นเมือง หรือทำหลักสูตรหลายอย่างมีอักขระล้านนาขึ้นเพื่อสอนให้กับเด็ก” พระอธิการบรรพต กล่าว

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นสำคัญ ในการสร้างองค์ความรู้ของท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการและการใฝ่รู้ของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้รู้รากเหง้าและตัวตนในแผ่นดินถิ่นเกิด ซึ่งใครก็ให้คำตอบไม่ได้ดีไปกว่าในคนชุมชน โดยผ่านการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และมีเยาวชนเป็นผู้เชื่อมร้อยและสืบสานภูมิปัญญาในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

 

 

ขอขอบพระคุณ พระอธิการบรรพต คัมภีโร เจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส

ข้อมูลจากวารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 34.2 (เมษายน - มิถุนายน 2551)

 

 

 

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 11:48 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.