มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ รู้จักกับพระอธิการบรรพต คัมภีโร มาหลายปีแล้ว เพราะมีโอกาสได้เข้าไปช่วยท่านทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในวัดศรีสุทธาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมากเรื่องที่ " เรา " ซึ่งหมายถึงท่านเจ้าอาวาสและมูลนิธิฯ พูดคุยกันก็มีแต่เรื่องงาน ไม่ค่อยได้พูดจากันถึงความคิดและทัศนคติ รวมถึงประสบการณ์การทำงานทางด้านวัฒนธรรมของท่านอย่างจริงๆ จังๆ มาก่อน
เมื่อบทสัมภาษณ์นี้ถูกเรียบเรียงออกมา " เรา " ซึ่งคราวนี้หมายถึงมูลนิธิฯ และท่านผู้อ่าน จะได้ทำความรู้จักและเห็นการทำงานของท่านที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน
ทำไมท่านถึงคิดทำพิพิธภัณฑ์ค่ะ
อยากให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการเรียนรู้ เพราะมีเด็กเข้ามาทำกิจกรรมที่วัดบ่อย เด็กมัธยมเรียนศิลปะก็มาที่วัด แล้วก็มักมีเด็กมาถามว่าเวียงป่าเป้ามีประวัติความเป็นมาอย่าไร พ่อแม่พี่น้องอพยพมาจากไหน เลยอยากให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าภูมิหลัง ให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ จะได้ไม่สะเปะสะปะเพราะไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ให้พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางอยู่ที่นี่ มีข้อมูลข่าวสารให้เด็กได้ศึกษา อีกอย่างหนึ่งที่เกิดแรงบันดาลใจเพราะไม่มีคนทำด้วย
แล้วหลวงพี่คิดว่าการเรียนรู้อดีตเรียนรู้ตนเองจะช่วยสังคมเวียงป่าเป้าได้อย่างไร
อย่างน้อยก็เป็นความภาคภูมิใจว่าเราเป็นใครมาจากไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไม่ใช่เป็นชนชาติที่ไหนไม่รู้ มาอย่างไร เป็นคนป่าคนเถื่อน เราก็เป็นคนมีวัฒนธรรม มีประเพณีที่บรรพบุรุษรักษามาเป็นเวลายาวนาน ยิ่งปัจจุบันนี้เด็กห่างจากสังคมดั้งเดิมไปสู่สังคมใหม่ วิถีชีวิตมันเดือดร้อน แทนที่ชีวิตจะสงบเย็นกลับเดือดร้อน ชีวิตคนสมัยก่อนลำบากกับการทำมาหากินมาก แต่ว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทางด้านศีลธรรมความสบายใจ เขาสุขใจมากกว่า.. โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถ้าเป็นเมื่อก่อนเสาร์อาทิตย์พ่อแม่จะพาลูกไปไร่นา ไปช่วยพ่อแม่ทำงานได้รู้คุณค่าของเงินว่าได้มาด้วยความยากลำบาก แต่ปัจจุบันไปเล่นเกมส์เล่นอินเตอร์เนตกับหมด แบมือขออย่างเดียว ไม่รู้ว่าเงินได้มาด้วยความยากลำบากแค่ไหน อยากให้ย้อนกลับมาดูชีวิตความเป็นอยู่สมัยก่อน
เวียงป่าเป้าเดี๋ยวนี้ก็ถูกเมืองกลืนเหมือนกันหรือค่ะ
เดี๋ยวนี้ใช้ชีวิตแบบชาวเมืองเลย แต่ก็มีบางหมู่บ้านใช้ชีวิตแบบเก่าๆ อยู่ คือ บ้านที่อยู่ตามชาวเขา คนพื้นราบนี่ลำบากหน่อย ถึงจะอยู่รอบนอกแต่วิถีชีวิตก็ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะสื่อไปถึงหมด ไปในเขาในดอยเดี๋ยวนี้ก็เห็นแต่คนย้อมผมเป็นฝรั่งดองกันหมด วัฒนธรรมอะไรก็ไม่รู้ ไปตามสื่อ ตามดารา ชาวเขาก็เหมือนกัน ที่รักษาวัฒนธรรมไว้ก็มี ปกาเกอะญอ ยาง กะเหรี่ยง เท่านั้น มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ บ้านม้งเดี๋ยวนี้ประตูอัลลอย มีรีโมดแล้ว รถนี่ดีๆ คันเป็นล้าน แต่ว่าการรักษาประเพณีวัฒนธรรมหายไป ดีอยู่อย่างที่เวียงป่าเป้าไม่ได้ล้มป่ากันจนเป็นป่าหัวโล้น สภาพแวดล้อมยังดีอยู่ ป่ายังสมบูรณ์
ย้อนกลับมาเรื่องพิพิธภัณฑ์ ท่านมีความสนใจที่จะทำตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำอย่างไรค่ะ
แรงบันดาลใจที่อยากทำมีมาตั้งแต่เป็นเณรเล็กๆ แล้ว สมัยนั้นเห็นพระรุ่นพี่ชอบแอบเอาน้ำต้นมาวางไว้บนกำแพงวัด แล้วเอาหนังสติ๊กยิง ก็ทำอะไรไม่ได้ จนต่อมาเมื่อเจ้าอาวาสให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัสดุภัณฑ์ ก็พยายามเก็บของที่เรี่ยราดอยู่ตามวัดมาซุกเก็บไว้ เมื่อเริ่มมาบริหารวัด ก็ปรับปรุงซ่อมแซม บูรณะวัด ตั้งแต่ปี ๒๗ ทำกำแพงวัด ทำหลายอย่าง ตอนหลังมีนักวิชาการทางสถาบันราชภัฏเข้ามาดูงานดูของโบราณ ทำให้รู้ว่ามีความสำคัญมีความหมาย ก็เลยอยากให้ที่นี่เป็นที่เรียนรู้ เมื่อมีการรื้อวิหารหลังเก่าในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ เลยพยายามรวบรวมชาวบ้าน ช่วยกันเก็บหน้าบัน เสา เอาไว้ เพราะมีเป้าหมายที่จะทำพิพิธภัณฑ์แล้ว เป็นโครงการระยะยาว อาคารที่จะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ก็สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ -๒๕๔๐ โดยได้อาจารย์ผดุง นันตะรัตน์ ซึ่งสอนสถาปัตยกรรมอยู่ที่โรงเรียนเวียงป่าเป้าวิทยาคมมาช่วยออกแบบให้ เป็นแบบล้านนาประยุกต์ ใช้เงินไปประมาณ ๔-๕ แสนบาท สร้างตอนของแพง เสร็จแล้วถวายสงฆ์ให้รับทราบ ชาวบ้านก็บริจาคของใช้ ของเก่าตามบ้านต่างๆ ก็เอามาบริจาคกัน พวกเครื่องมือการเกษตร คราด ไถ ทางวัดก็เอามาจัดไป แต่ไม่มีความรู้ทางด้านวิชาการ ทราบว่าที่เวียงกาหลงมีพิพิธภัณฑ์ ก็ขึ้นไปดูบ้าง แต่ไปดูนี้ไม่มีของเลยมีแต่ตัวอาคารเป็นห้องเก็บของ ตอนหลังมาเจออาจารย์นฤมล เรืองรังษี หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมเชียงราย อาจารย์ก็เข้ามาช่วยแนะนำให้รู้จักอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เลยขอให้ทางมูลนิธิฯ มาช่วย
ตามปกติวัดกับชาวบ้านมีความผูกพันกันอย่างไรค่ะ
ชาวบ้านเป็นศรัทธาที่ขึ้นกับวัด เมื่อก่อนชาวบ้านเรียกป่าแถวนี้ว่าป่าไม้แดง เดี๋ยวนี้เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านก็เข้ามาใช้ประโยชน์ บางทีมีเห็ดมีอะไรก็มาขอวัด บางทีก็มาขอมดแดงขออะไรกัน เมื่อก่อนจริงๆ ถ้าจะแผ้วถางกัน จะแบ่งกลุ่มกัน ใครไม่ไปออกแรงก็จะบริจาคเงิน เวลาวัดมีงานบุญงานประจำปีก็ไปช่วยกันทั้งกำลังทรัพย์ กาย ความคิด แต่ละวัดจะมีศรัทธา ลงทะเบียนศรัทธาของวัดครอบครัวไหนขึ้นกับวัดไหนก็ไปอุปถัมภ์วัดนั้น เมื่อก่อนมี ๔๐๐ กว่าครอบครัวเดี๋ยวนี้เหลือ ๒๐๐ กว่าครอบครัว เพราะแยกไปสร้างวัดใหม่ ก็แบ่งศรัทธาไป
งานของวัดที่สัมพันธ์กับชุมชนก่อนหน้าการทำพิพิธภัณฑ์ มีอะไรบ้างค่ะ
พอเข้ามารักษาการปี ๒๙ ก็เริ่มปลูกต้นไม้ในเขตป่าที่ครูบาองค์ก่อนๆกันไว้ เพราะไม้บางต้นล้มไปตามอายุ โดยขอกล้าไม้มาบ้าง เพาะขึ้นมาบ้าง พระเณรก็ช่วยกันทำความสะอาด ดูแลกันเอง เป็นป่าไม้ของวัด ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะคิดว่าวันข้างหน้าบ้านเมืองเจริญแล้วคงหาดูยาก นอกจากนี้ก็ยังปลูกไผ่ด้วย เวลาวัดมีงานบุญก็ต้องใช้ไผ่เยอะ จนกลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มาขอไผ่ที่วัด เพราะไม่มีใครมีแล้ว ส่วนป่าสมุนไพรของวัดที่มีมาแต่เดิม เมื่อสองสามปีก่อนก็ได้ขอให้คนเฒ่าคนแก่มาชี้ว่าอะไรเป็นต้นอะไรแล้วทำแผ่นป้ายเอาไว้ พอมีเด็กมาถามก็ให้เด็กอ่านชื่อที่ทางวัดติดเอาไว้ นอกจากนั้นทางวัดยังมีวิธีการกำจัดขยะฝังกลบแบบเดิมไม่ได้พึ่งเทศบาล ก็เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านดู ให้ชาวบ้านเห็นเอง อย่างครูบาศรีวิชัยท่านว่า " ร้อยคำสอนสั่ง ไม่เท่าตัวอย่างที่ดี " วัดก็พยายามจัดวัด กำจัดขยะให้ชาวบ้านดู ก็ได้ผลสัก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากนี้ ถ้าเป็นงานประเพณีของวัด ชาวบ้านเขาเข้าใจ มาช่วยอยู่แล้ว
พอเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านเป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ
ดูเหมือนทางวัดได้จุดประกายให้ชาวบ้านมีความสำนึก เพราะว่าเมื่อก่อน คราด ไถ ที่เคยใช้เมื่อตอนใช้วัวควายทำนา เขาก็ทิ้งตามสวน ใต้ถุนบ้าน เหมือนวัวควายไม่มีค่า พ่อค้าจากแพร่ เชียงใหม่ มาซื้อไปบ้านถวาย แต่พอทางวัดขอบริจาคก็แอบเอาไปเก็บขึ้นหิ้งบูชา บางคนเอาไว้บนบ้านเลย เห็นเป็นของมีค่าขึ้นมา เมื่อก่อนจะผุจะกร่อนช่าง ตอนนี้พยายามเก็บกัน แต่ทางวัดก็พอได้รับความร่วมมือดี
แล้วชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์กันบ้างไหมค่ะ
ความจริงชาวบ้านอยากช่วยแต่ไม่รู้จะเข้ามาในรูปแบบไหน ไม่รู้จะเข้ามาช่วยในจุดไหน วัดเองก็ยังไม่รู้ว่าจะให้มาทำอะไร โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะทำร่วมกันก็ยังไม่มี ยังคิดกิจกรรมที่จะต่อเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ไม่ออก แต่ก็คิดว่าจะใช้เยาวชนในการสื่อประเพณี วัฒนธรรม หากเยาวชนไม่สำนึกในวัฒนธรรมอีกหน่อยก็กลายเป็นคนเมืองหมด เหมือนประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เด็กก็ไม่ค่อยรู้ แต่ถ้าเด็กสำนึก ในอนาคตก็มีคนสืบต่อ อย่างการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ความจริงเป็นกุศโลบาย แต่เขาไม่ได้บอก เหมือนเป็นการรวมญาติกัน ใครอยู่ตรงไหนจะต้องมา ตระกูลเดียวกันก็ต้องมาพบกัน ทำอาหารร่วมกัน กินร่วมกัน แล้วคนเมื่อก่อนนี้จะได้แนะนำให้รู้จักเครือญาติกัน เดี๋ยวนี้คนไม่รู้จักกัน ญาติพี่น้องแต่งงานกันก็มี การเลี้ยงผีก็มีประโยชน์อยู่ ไม่ได้เป็นการฆ่าสัตว์อย่างเดียว
ถ้าพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วท่านวางอนาคตไว้อย่างไรค่ะ
ทางวัดไม่ได้ขวนขวายให้มีนักท่องเที่ยว ไม่หวังผลในส่วนนั้น แต่อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน อะไรที่เกี่ยวกับวิชาท้องถิ่นก็ให้มาหาที่วัด อย่างน้อยๆ วัดก็ช่วยในศิลปะหรือความเป็นมาเกี่ยวกับท้องถิ่นได้ ไม่ได้หวังอะไร แต่ว่าตอนนี้ทางจังหวัดทางอำเภอมีสภาวัฒนธรรมประจำตำบลบ้างประจำอำเภอบ้างพยายามทำกิจกรรมกัน ปีที่ผ่านมาเดือนเมษายนจัดที่โรงเรียนแต่ยังไม่เข้าเป้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังไม่ได้เอามาใช้ แต่ก็คิดว่าน่าจะพัฒนางานจากพิพิธภัณฑ์ได้ เกี่ยวกับวันวัฒนธรรมแห่งชาติ เกี่ยวกับอาหารการกิน อาจให้ชาวบ้านประกวดทำอาหาร จัดกาดมั่วบ้าง มาจัดที่วัดได้
ถ้าพิพิธภัณฑ์เสร็จท่านคิดว่าคนจะมาชมกันไหมค่ะ
ก็ยังไม่รู้ ถ้าจะได้คงเป็นเด็กประถม มีโรงเรียนใกล้ๆ วัด ดึงมาช่วยกันปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เหมือนคนใส่บาตร ถ้าใส่มาตั้งแต่เด็กโตขึ้นมาก็ไม่อาย บางคนก็ยังไม่เข้าใจพิพิธภัณฑ์มีไว้ทำไม มาดูๆ แล้วก็ไป คงต้องมีกิจกรรม ดึงชาวบ้านมาช่วยกันทำ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วคณะสงฆ์ทางตำบลก็ได้รื้อฟื้นโรงเรียนพุทธศาสนา ให้เด็กเรียนธรรมะในวันเสาร์อาทิตย์ เรียนศิลปะพื้นบ้าน การฟ้อนรำ ดนตรีฟื้นเมือง โบราณสถาน ความเป็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีเด็กเข้ามาใช้วัดเป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นที่วัดศรีสุทธาวาส เป็นต้น เมื่อเด็กสนใจศิลปะการฟ้อนรำดนตรีมากกว่า แต่ก็พยายามทำหลักสูตรหลายอย่างมีอักขระล้านนา ก็เริ่มดีขึ้น บางส่วนไปเล่นเกมส์ บางส่วนหันหน้าเข้าวัด เด็กประถมส่วนมากเข้าวัด เด็กมัธยมเริ่มอาย เด็กจะแซวกัน จะไปบวชเหรอ เลยไปเล่นอินเตอร์เน็ตกัน
สุดท้ายนี้ ยังมีอะไรที่ท่านยังต้องการจะทำอีกไหมค่ะ
ก็คงเป็นเรื่องประวัติเวียงป่าเป้าที่ไม่มีใครคิดจะทำ ของก็กระจัดกระจาย อยากให้มารวมกันไว้ เท่าที่ผ่านมาได้พยายามถามคนเฒ่าคนแก่ตั้งแต่ยังเป็นเณร ว่าความเป็นมาของวัดวาอารามของหมู่บ้าน ของเมืองเป็นอย่างไร ได้มาก็เก็บๆ ไว้ในสมอง เทปไม่มี ในปัจจุบันได้พยายามเขียนไว้นิดหน่อย คิดว่าต่อไปน่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและอนุชนรุ่นหลัง
หมายเหตุ ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อ พระอธิการบรรพต คมฺภีโรเจ้า อาวาสวัดศรีสุทธาวาส
ที่อยู่ วัดศรีสุทธาวาส ๑๓๒ ซอย ๓๓ หมู่ ๑ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ๕๗๑๗๐