พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส
วัดศรีสุทธาวาสเป็นอีกวัดหนึ่งที่พระสงฆ์เจ้าอาวาสและชาวบ้านต้องการที่จะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของตนเอง วัดนี้ เป็นวัดหนึ่งในจำนวนหลายวัดของชุมชนเวียงป่าเป้า ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอำเภอ มีถนนสายดอยสะเก็ด - เชียงรายตัดผ่าน นับเป็นชุมชนที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมมาช้านาน มีย่านร้านค้า ตลาด และสถานที่ราชการที่ทำให้ผู้คนที่มีอาชีพหลากหลายอยู่รวมกัน โดยเฉพาะมีทั้งผู้ที่เป็นคหบดี และชาวบ้านธรรมดาที่พอมีพอกินและยากจนที่ทำให้เวียงป่าเป้าไม่ใช่เป็นเพียงชุมชนในระดับหมู่บ้าน
หากเป็นชุมชนระดับเมืองที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามพื้นที่ และแต่ละกลุ่มก็มีวัดเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นวัดศรีสุทธาวาสซึ่งเป็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบ ๆ บริเวณวัดและมีคณะบุคคลที่เป็นศรัทธาวัดทำหน้าที่ดูแลและช่วยพระสงฆ์ทำกิจการที่เกี่ยวกับวัด หรืออาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชนที่สัมพันธ์กับวัดดังกล่าวนี้เป็นชุมชนวัดศรีสุทธาวาสก็ได้เป็นชุมชนหมู่บ้านในเมืองแบบที่เคยเป็นมาแล้ว แต่อดีตในวัฒนธรรมเมืองของล้านนา โดยลักษณะเช่นนี้ วัด คือ สัญลักษณ์ของชุมชนและเป็นที่ชาวบ้านมีสำนึกร่วมกันในการที่จะบำรุงรักษาให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพวกตน อีกทั้งเป็นสิ่งที่จะโอ้อวดและแข่งกันกับชุมชนของวัดอื่น ๆ ในเมือง หรืออำเภอเดียวกันได้ และจากสำนึกร่วมของความเป็นชุมชนนี้เองที่เป็นสิ่งผลักดันให้ทั้งพระสงฆ์ และชาวบ้านต้องการมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของตนขึ้น
ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์กับวัดศรีสุทธาวาสก็เนื่องมาจาก เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนบน ที่มีอาจารย์ศิริชัย นฤมิตเรขการ ได้ขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ให้ไปช่วยอบรมเรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ให้แก่พระสงฆ์และชาวบ้าน เพราะอาจารย์ศิริชัยและคณะพบว่า มีวัดและชุมชนหลายแห่งในภาคเหนือสนใจรวบรวมของโบราณตามท้องถิ่นกันมาก และอยากมีพิพิธภัณฑ์เป็นของตนเองโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับกรมศิลปากร และเห็นว่ามูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นมูลนิธิแห่งเดียวที่ทำการอบรมแนะการจัดพิพิธภัณฑ์ให้แก่ชาวบ้านและพระสงฆ์ตามที่ต่างๆ มาแล้ว จึงได้ขอทั้งทุนและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯมาช่วยดำเนินการ ข้าพเจ้าในฐานะเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ จึงต้องขึ้นมาทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้
การประชุมอบรมครั้งนั้นมีพระสงฆ์และผู้สนใจที่เป็นฆราวาสจากท้องถิ่นต่างๆ ในเชียงใหม่และเชียงรายมากันมาก ทำให้ข้าพเจ้าสังเกตได้ว่ามีการตื่นตัวในเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคเหนือนี้มากกว่าภาคอื่น ๆ ของประเทศทีเดียว ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการมีสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมล้านนา ที่มีการสืบสานกันมาช้านานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความภูมิใจในเรื่องศิลปกรรม ไม่เพียงแต่พระและชาวบ้านเท่านั้น พ่อค้า ข้าราชการและผู้มีอาชีพอื่น ๆ ก็เห็นคุณค่า ซึ่งก็เห็นได้จากบรรดาร้านค้าหลายแห่งทีเดียวที่มีการสะสมของเก่าและของใหม่ที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของตน มีไว้แสดงและให้คนดูแต่ไม่ขาย คงจะเป็นเหตุนี้กระมังที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีความนิยมที่จะไปเที่ยวชมศิลปกรรมของล้านนากันมากกว่าของภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องไม้แกะสลักทั้งเก่าและใหม่ ในการเป็นวิทยากรครั้งนี้
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปชมการอนุรักษ์และรวบรวมของโบราณตามวัดต่าง ๆ ในเขตเชียงใหม่หลายแห่ง และมีหลาย ๆ วัดทีเดียว ที่มีความเข้าใจในการรวบรวมสิ่งของ คือไม่เน้นแต่เพียงเรื่องพระพุทธรูป ภาพแกะสลัก หรือศิลปวัตถุที่มาจากวัด หากยังรวบรวมบรรดาเครื่องใช้ไม้สอยและวัตถุทางชาติพันธุ์ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชาวเมืองด้วย วัดบางวัดนอกจากจัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่แล้ว ยังมีการสื่อความหมายให้เห็นชีวิตวัฒนธรรมด้วยการเขียนภาพโดยฝีมือปราชญ์ชาวบ้านแสดงด้วย พระสงฆ์และชาวบ้านจากวัดศรีสุทธาวาส เวียงป่าเป้าก็ได้มาประชุมในครั้งนี้ พร้อมด้วยอาจารย์ นฤมล เรืองรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมของสถาบันราชภัฎเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นของเวียงป่าเป้าเป็นพิเศษ
บุคคลทั้งหมดนี้ได้หารือกับข้าพเจ้าถึงเรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ที่วัดศรีสุทธาวาส โดยขอความช่วยเหลือจากข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ขัดข้อง เพราะมีความสนใจอยู่ก่อนแล้ว กว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา สมัยเมื่อข้าพเจ้าสำรวจและศึกษาชุมชนโบราณในภาคเหนือนั้น ข้าพเจ้าเคยมาสำรวจที่เวียงป่าเป้านี้ เพราะเป็นบริเวณที่มีคูน้ำคันดินที่เป็นตัวเวียงและสามารถเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่ลาวที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำที่อยู่ทางตะวันออกของแอ่งเชียงใหม่ ต้นน้ำของลำน้ำที่นี้อยู่แถวดอยสะเก็ด อันเป็นบริเวณที่ทางราชการตัดถนนจากเชียงใหม่ข้ามเขามายังที่ราบลุ่มแม่ลาว ผ่านเวียงป่าเป้าไปยังแม่สรวย และเชียงราย ตรงสันปันน้ำของเทือกเขานี้ ทางตะวันตกเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่กวง ที่ไหลลงที่ราบลุ่มเชียงใหม่ - ลำพูน ผ่านเมืองลำพูนไปรวมกับแม่น้ำปิง ส่วนทางตะวันออกคือ ต้นน้ำของแม่น้ำแม่ลาวที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำกกในเขตจังหวัดเชียงราย แล้วไปออกแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงแสน ที่ราบลุ่มแม่ลาวที่มีลำน้ำแม่ลาวไหลผ่านนี้เป็นที่ราบลุ่มรูปยาวรี และมีลำห้วย ลำธารที่ไหลจากที่สูงทางด้านตะวันตกและตะวันออกมาสมทบกับลำน้ำแม่ลาว ทำให้เป็นที่ราบลุ่มที่เหมาะกับการเพาะปลูก และเป็นที่สร้างบ้านแปงเมือง
จากภาพถ่ายทางอากาศพบร่องรอยของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินหลายแห่ง เริ่มแต่บริเวณแม่ขะจาน ตั้งแต่แม่เจดีย์ลงไปตามลำน้ำรวมทั้งร่องรอยการทำเหมืองฝายที่มีความสลับซับซ้อน โดยแหล่งชุมชนที่ข้าพเจ้าเคยสำรวจก็คือ " เวียงกาหลง " อันเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่มีชื่อเสียงที่สุดของล้านนา และเวียงป่าเป้าที่มีการกล่าวถึงในหลักฐานทางเอกสาร เวียงป่าเป้าอยู่ต่ำลงมาทางเหนือตามลำน้ำแม่ลาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เวียงทั้งสองนี้นับเนื่องอยู่ในสมัยเดียวกัน คือสมัยล้านนาที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เพราะตามพื้นดินพบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบที่เป็นแบบล้านนาอยู่ทั่วไป การเริ่มต้นและสิ้นสุดลงของเมืองทั้งสองแห่งนี้ยังไม่อาจทราบได้ เพราะยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีและการวิจัยเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสาร
สมัยเมื่อข้าพเจ้าไปที่เวียงป่าเป้านั้น มีสภาพเป็นชุมชนและมีย่านตลาดอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นที่ตั้งที่ทำการอำเภอด้วย อีกทั้งมีวัดอยู่หลายวัด อันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นชุมชนเมือง ตัวเวียงป่าเป้ามีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมนขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งอยู่บนที่ดอน ภายในตัวเวียงไม่พบอะไร เพราะระยะนั้นต้นไม้ปกคลุม แต่มีเรือนไม้ขนาดใหญ่อยู่เรือนหนึ่งที่ชาวบ้านบอกว่าเป็น คุ้มของเจ้าเมือง ดูแล้วอายุแต่ไม่ถึงสมัยร้อยปีเลยไม่สนใจอะไร แต่ได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า มีวัดหนึ่งคือวัดศรีสุทธาวาส มีของเก่าคือหอไตรที่สวยงามมาก จึงได้เข้าไปดูก็พบว่าเป็นวัดใหญ่ที่มีความร่มรื่น มีหอไตรเก่าและมีพระสถูปเจดีย์แบบพม่ารวมอยู่ด้วย ตามพื้นดินพบเศษภาชนะดินเผาสมัยล้านนา จึงได้ทำการถ่ายภาพไว้ และเห็นว่าดูเหมือนมีวัดนี้วัดเดียวเท่านั้น ที่ยังแลเห็นอะไรเก่าๆอยู่ แต่หลังจากนั้นก็ลืมไป จนกระทั่งมาประชุมอบรมเรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ที่เชียงใหม่นี้ และพบปะกับพระและผู้รู้ จึงนึกขึ้นมาได้ และได้เห็นความสำคัญที่แตกต่างไปจากเดิม นั้นคือ แต่ก่อนข้าพเจ้ามุ่งที่จะดูความเก่าแก่ของชุมชนในภาพรวมของประวัติศาสตร์ล้านนา หาได้สนใจถึงคนและพัฒนาการของสังคมท้องถิ่นไม่ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนความคิดความสนใจมาที่คนและสังคมท้องถิ่นแล้ว ก็พบว่าวัดศรีสุทธาวาสนี้มีความหมายความสำคัญมาก เพียงแค่หอไตรและสถูปเจดีย์แบบพม่าก็บอกอะไรเกี่ยวกับคนและวัฒนธรรมได้ดีกว่าพระพุทธรูปหรือพระเจดีย์แบบเชียงแสนและลำพูน ซึ่งเป็นเรื่องห่างไกลคน ยิ่งมาได้ข้อมูลและความรู้ใหม่จากพระ ชาวบ้านและผู้รู้ก็ยิ่งสนใจใหญ่ พร้อมทั้งเลื่อมใสในความคิดที่จะอนุรักษ์ของท่านเหล่านี้
จากการพบปะครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ช่วยเหลือในการจัดทำทะเบียนรวบรวมข้อมูลและแนะนำในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็เอาเงินวิจัยสกว . ที่ให้ข้าพเจ้ามามอบให้กับอาจารย์ นฤมล เรืองรังษี เพื่อทำการรวบรวมและวิจัยพัฒนาการท้องถิ่นเวียงป่าเป้า เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ และพิมพ์เอกสารสำหรับพิพิธภัณฑ์
หลังจากนั้นมาหลายเดือน เมื่อทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์และอาจารย์ นฤมล เรืองรังษี ได้ดำเนินการในขั้นจัดทำทะเบียน และเก็บข้อมูลเบื้องต้นทางประวัติศาสตร์วรรณคดี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นที่พอเพียงแล้ว ก็ได้ขอให้ข้าพเจ้าขึ้นไปประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเสวนาเรื่องการกำหนดหัวข้อในการจัดแสดงเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ ในการประชุมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของข้าพเจ้าและคณะ
เรื่องแรกก็คือ ทำให้เห็นได้ว่าการเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดศรีสุทธาวาสนี้ คงไม่จำกัดอยู่เฉพาะตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ที่ทางวัดกำหนดไว้เท่านั้น หากยังต้องครอบคลุมไปถึงตัววัดทั้งหมดและพื้นที่โดยรอบที่มีป่าไม้ด้วย ทั้งนี้เพราะพบว่าภายในวัดเองมีสิ่งที่เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมมากกว่าการมีหอไตรเพียงแห่งเดียวอย่างที่เคยเข้าใจมาก่อน สิ่งแรกก็คือ ร่องรอยของพระอุโบสถเก่าที่ยังแลเห็นแนวฐานและกำแพงอยู่ แสดงให้เห็นว่าวัดศรีสุทธาวาสนี้มีมาก่อนวัดในปัจจุบัน ได้มีการรื้อโบสถ์เก่าและสร้างโบสถ์ใหม่ขึ้นมาแทน และโบสถ์เก่านั้นน่าจะมีอายุกว่าร้อยปีขึ้นไป นับเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าชุมชนในบริเวณเวียงป่าเป้านี้อยู่สืบเนื่องมาหลายสมัย อีกทั้งมีรูปแบบทางศิลปกรรมที่ไม่ได้รับอิทธิพลศิลปะพม่าดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่สองคือ ฐานชุกชีของพระประธานภายในโบสถ์ มีภาพปูนปั้นเรื่องพุทธประวัติและชาดกทศชาติปิดทองประดับ เป็นฝีมือช่างพม่าที่หาดูได้ยาก อีกทั้งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างพระอุโบสถครั้งหลังนี้ ผู้สร้างผู้บริจาคที่เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านในเขตเวียงป่าเป้าปัจจุบันนั้นนิยมศิลปะพม่า และความนิยมในเรื่องก็เข้ากันได้ดีกับรูปแบบพระสถูปเจดีย์ที่เป็นแบบพม่า
สิ่งที่สามที่จะต้องมีการอนุรักษ์ก็คือ หอไตร ซึ่งเป็นของหาดูได้ยากในท้องถิ่นนี้ นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดความสนใจของผู้ที่มาเที่ยวมาชม เพราะแม้กระทั่งทุกวันนี้ใคร ๆ รู้จักวัดศรีสุทธาวาส ก็เนื่องมาจากการมีหอไตรหลังนี้นั้นเอง สิ่งที่สี่คือ โบสถ์ ตรงหลังวัดนอกเขตพุทธาวาสมีอาคารหลังหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลพม่าในด้านการประดับด้วยรูปสัตว์และรูปคน ชาวบ้านยังอนุรักษ์ไว้ และเป็นของที่หาดูได้จากในปัจจุบัน ทั้งสี่อย่างนี้ได้ผสมผสานกันเป็นรูปแบบที่ไม่เหมือนวัดใดในท้องถิ่นแห่งนี้ และทำให้วัดศรีสุทธาวาสกลายเป็นวัดที่คนน่าจะมาชมเป็นอย่างยิ่ง
นอกนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กล่าวได้ว่าวัดอื่น ๆ ทั้งใกล้และไกลไม่มี หรือมีแต่ก็ถูกทำลายจนหมดไปแล้ว นั่นก็คือการมีพื้นที่ป่าไม้ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่แวดล้อมในพื้นที่ ๔๓ ไร่ ทั้งพระเจ้าอาวาส และศรัทธาวัดอาวุโสต่างป้องกันการตัดไม้และการรุกล้ำที่ของวัดเป็นอย่างดี แม้แต่การก่อสร้างในวัดก็ต้องผ่านการยินยอมด้วยกัน หลาย ๆ ฝ่าย นับเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแต่เดิมแทบทุกวัดในท้องถิ่นนี้คือ วัดที่มีป่าห้อมล้อมทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้ก็หมด และที่ดินทางวัดก็หดไป ปล่อยให้ชาวบ้านและนักธุรกิจรุกที่ไปหมด ในเรื่องการรักษาป่าล้อมวัดดังกล่าวนี้ บรรดาศรัทธาอาวุโสของวัดมีความภาคภูมิใจมาก ได้พาข้าพเจ้าและคณะออกเดินดูรอบบริเวณ ทำให้ได้เห็นรายละเอียดอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของวัด สิ่งที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องวัฒนธรรมก็คือ ตามชายกำแพงวัดด้านทิศใต้มีเรือนจำลองเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านสร้างอุทิศให้กับคนตายเรียงรายอยู่ภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่
เป็นบริเวณที่ดูแล้ววิเวกคล้ายกับป่าช้า ประเพณีการสร้างเรือนจำลองให้แก่ผู้ตายนี้พบหลายแห่งแต่ดูไม่ประทับใจเหมือนกับที่นี่ ทำให้ได้ความคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนที่จะมาชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดนี้อาจได้เห็น อีกทั้งบริเวณที่เป็นป่านี้ดูวิเวกและขรึมขลัง น่าจะจัดให้เป็นที่ซึ่งคนได้แลเห็นทั้งสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สัมพันธ์กับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ภาพที่เห็นทำให้จินตนาการไปถึงสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสที่ไชยา ป่าบริเวณนี้ทางด้านใต้ของวัดนี้น่าจะจัดให้เป็นที่แสดงธรรมทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งภาคปฏิบัติธรรมใต้ต้นไม้ใหญ่ของทั้งพระและฆราวาสด้วย เพราะเป็นที่สงบและเยือกเย็น นอกจากการพบเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดและอารมณ์แล้ว
บรรดาศรัทธาอาวุโสของวัดก็ได้อธิบายถึงคุณสมบัติของตนได้ใหญ่น้อยบรรดามีในป่ารอบ ๆ วัดให้เป็นความรู้ใหม่อีกมากมาย ป่ารอบวัดที่แม้ว่าจะมีถนนจากถนนใหญ่ตัดผ่าป่าเลียบกำแพงวัดไปก็ตาม แต่ก็หาได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ และความงามธรรมชาติให้หมดไปได้ บางแห่งอยู่ในสภาพที่รกทึบ เช่น ทางด้านตะวันออก บางแห่งอยู่ใกล้กับบ้านคน และอาคารทางศาสนาของวัด เช่น ทางด้านเหนือ แต่ทางด้านใต้ดูเป็นป่าโปร่ง ที่หนองน้ำมีลานหญ้าซึ่งอาจใช้เป็นที่จัดงานประเพณีและกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของวัดรวมเป็น ที่จอดรถได้ด้วย
ทุกอย่างนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้การอนุรักษ์วัดนี้เป็นต้นแบบของวัดแบบประเพณีโบราณในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และโดยสรุปทั้งวัดและสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าไม้ใหญ่นี้ก็คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในอีกลักษณะหนึ่งนั้นเอง และความโดดเด่นเป็นพิเศษของวัดนี้ก็คือ สามารถอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและศิลปกรรมได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศทีเดียว
สิ่งที่ข้าพเจ้าและคณะได้เห็น และทำให้คิดหรือจินตนาการอะไรหลายอย่างได้ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ ผลผลิตทางภูมิปัญญาของผู้นำอาวุโสของท้องถิ่น โดยเฉพาะพระสงฆ์เจ้าอาวาสและศรัทธาอาวุโสนั่นเอง ทั้งประสบการณ์และความรู้ที่ท่านมีอยู่ก็คือ สิ่งที่จะต้องนำมาจัดแสดง และในขณะเดียวกันท่านเหล่านี้ก็คือ วิทยากรและมัคคุเทศก์ที่ดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จะเกิดใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามการประชุมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแต่ตัววัดและบริเวณรอบ ๆ วัดเท่านั้น การศึกษาบรรดาโบราณวัตถุที่ทางวัดรวบรวมไว้และที่ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มาจัดทำทะเบียนให้นั้น ได้ทำให้ต้องเชื่อมโยงไปยังบริเวณอื่น ๆ ที่นับเนื่องในท้องถิ่นเวียงป่าเป้า
โดยเฉพาะทำให้ทราบแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวกับความเป็นมาในท้องถิ่นเพิ่มเติม เช่น บรรดาวัดโบราณที่อยู่ในที่รกร้าง โบราณวัตถุ และชุมชนโบราณที่ยังไม่มีใครพบมาก่อน ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ล้วนมาเป็นสิ่งสนับสนุนให้เห็นว่า บริเวณที่ตั้งของเวียงป่าเป้านั้นเป็นบริเวณที่ราบลุ่มที่กว้างขวางของลุ่มน้ำแม่ลาวแห่งหนึ่งทีเดียว จึงทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมือง ขึ้นโดยมีเวียงป่าเป้าเป็นศูนย์กลาง จากข้อมูลที่ได้แลกเปลี่ยนกันในที่ประชุมได้ทำให้มีการออกไปดูสถานที่และท้องถิ่นที่พบโบราณสถานวัตถุ เช่นที่ตัวเวียงป่าเป้า เวียงกาหลง วัดร้าง และชุมชนโบราณแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากเวียงป่าเป้าประมาณ ๓ กิโลเมตร
ชุมชนแห่งนี้มีกำแพงล้อม ๓ ชั้น แต่ว่าแต่ละชั้นนั้นห่างกัน โอบรอบเนินดินที่สูงขนาดใหญ่ที่แวดล้อมไปด้วยที่ราบลุ่ม ภายในตัวเวียงมีซากวัดเก่าก่อด้วยอิฐ เหลืออยู่ ๒ - ๓ แห่ง แต่ว่าตามผิวดินไม่ใคร่พบเศษภาชนะดินเผาที่แสดงการอยู่อาศัยที่ต่อเนื่องแต่อย่างใด เวียงโบราณแห่งนี้ก็คือ เวียงบริวารของเวียงป่าเป้านั่นเอง เพราะแหล่งใดท้องถิ่นใดที่เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญนั้น มักจะพบว่ามีเวียงบริวารอยู่หลายแห่งที่ทำหน้าที่เป็นที่ลี้ภัยของประชาชนหรือไม่ ก็เป็นแหล่งป้อมปราการในยามศึกสงคราม
หลังจากออกไปดูสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นเวียงป่าเป้าแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เสนอหัวข้อเพื่อการจัดแสดงอย่างคร่าวๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดและการนำไปสู่การออกแบบในการจัดแสดงเรื่องราวและสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ในการจัดแสดงด้วย ดังต่อไปนี้
หัวข้อแรก คือ เรื่องเวียงป่าเป้าเป็นพื้นที่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เสนอเช่นนี้เพราะ บริเวณที่สูงและที่ดอนในที่ราบลุ่มแม่ลาวโดยเฉพาะในเขตเวียงป่าเป้านั้น มีชาวบ้านพบเครื่องมือหินขัดรูปแบบต่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องในด่านผ่านไปมาและการพักอาศัยมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว แต่ช่วงเวลาที่เรียกว่าก่อนประวัติศาสตร์ในที่นี่ยังไม่อาจกำหนดเป็นอายุเวลาที่น่าเชื่อถือได้ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากเกือบทุกท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทยนั้นเป็นบริเวณที่อารยธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะจีน - อินเดีย แพร่หลายเข้ามาถึงช้ามาก
ทำให้เกิดความล้าหลังขึ้นระหว่างทางภาคกลางที่อยู่ติดกับชายทะเลและภาคเหนือที่เป็นดินแดนภายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั้นคือขณะที่ทางภาคกลางมีพัฒนาการของบ้านเมืองขึ้นเป็นรัฐเป็นอาณาจักร ทางภาคเหนือยังคงมีพัฒนาการอยู่ในระดับสังคมหมู่บ้านเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การพบเครื่องมือหินขัดตามที่ต่าง ๆ ในภาคเหนือตามความเป็นจริง อาจมีอายุอยู่ในราวสมัยทวารวดี - ลพบุรีก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามในกรณีของเวียงป่าเป้านั้นการพบเครื่องมือหินขัดกระจายกันอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น ก็เป็นสิ่งสะท้อนให้แลเห็นถึงการมีอยู่ของคนและสังคมในท้องถิ่นเวียงป่าเป้ามาก่อนที่จะเกิดมีบ้านเมืองและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องหินขัดที่พบเหล่านี้ก็หาได้มีอยู่เฉพาะในท้องถิ่นเวียงป่าเป้าเท่านั้นไม่ หากมีแทบทุกแห่งทุกท้องถิ่นในที่ราบตามหุบเขา เนินเขาในภาคเหนือ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นลักษณะร่วมกันทั้งภูมิภาคก็ว่าได้
ในความคิดเห็นและจากการศึกษาของข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นของชนกลุ่มดั้งเดิมที่ทำมาหากินอยู่บนที่สูงมาก่อน ซึ่งในตำนานพงศาวดารเรียกว่าพวกลัวะบ้าง มิลักขุบ้าง ในเขตประเทศลาวเรียกคนเหล่านี้ว่า พวกป่าและในปัจจุบันเปลี่ยนมาเรียกว่าลาวเทิง ที่อยู่อาศัยของคนเหล่านี้โดยทางทฤษฎีมักมองว่า คือพวกที่อยู่บนที่สูง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าต้องอยู่บนไหล่เขาและภูเขา อีกทั้งทำให้เกิดความสับสนกับกลุ่มชนที่อยู่บนภูเขา เช่น พวกม้ง เย้า ลีซอ มูเซอร์ ที่เพิ่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งในภาคเหนือเมื่อไม่นานมานี้เอง และเป็นพวกที่ทางประเทศลาวเรียกว่าลาวสูง ตามความเป็นจริงพวกลัวะ หรือพวกข่า หรือลาวเทิงอะไรเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่กึ่งที่ราบและที่สูง คือ มักตามเนินเขาและทำนาทำไร่ แบบไร่เลื่อนลอย อีกทั้งอาจลงมาจับปลา ล่าสัตว์กันตามที่ราบลุ่ม
รวมทั้งการมาตั้งเพิงพักที่อยู่ชั่วคราวในระหว่างทำไร่ หรือล่าสัตว์หาอาหารกันเป็นภาค ๆ ตามฤดูกาลด้วย เหตุนี้จึงปรากฏพบพวกเครื่องมือที่ไม่ทันสมัยกับสังคมในเมืองตามที่ราบลุ่มใกล้ป่าเขาและลำน้ำลำธาร ปัจจุบันในภาคเหนือและภาคกลางก็ยังมีคนประเภทนี้อยู่ คือพวกกะเหรี่ยง แต่พวกลัวะหายไป จะยังมีอยู่ก็ไม่กี่แห่ง เช่น ทางอำเภอแม่สะเรียง และบ่อหลวงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน แต่ทว่า ก่อนที่คนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในแอ่งเชียงใหม่ และแอ่งเชียงรายเรื่อยไปจนข้ามแม่น้ำโขงไปเขตลาว พม่า และจีน
หัวข้อที่สอง เป็นเรื่องของเวียงป่าเป้าสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อเนื่องกันกับหัวข้อแรก คือทำให้แลเห็นว่าท้องถิ่นเวียงป่าเป้ามีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานทางด้านเอกสารสนับสนุนอย่างใด โดยอ้างเหตุการณ์และเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานพงศาวดารที่เกี่ยวกับพระยามังรายอันเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ล้านนา ดังเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่ากษัตริย์ของล้านนาในสมัยประวัติศาสตร์เริ่มแต่พระยามังราย ส่วนที่มีมาก่อนหน้านั้น เช่น ขุนเจือง เจ้าสิงหนวัติกุมาร ท้าวพรหมมหาราช ล้วนเป็นผู้นำในตำนานทั้งสิ้น
เรื่องของพระยามังรายมาเกี่ยวกับเวียงป่าเป้าก็เนื่องมาจาก เวียงป่าเป้าตั้งอยู่บนลุ่มน้ำแม่ลาว อันเป็นเส้นทางคมนาคมจากเชียงรายข้ามเทือกเขาผีปันน้ำไปยังแอ่งเชียงใหม่ที่มีเมืองหริภุญชัย หรือลำพูนเป็นศูนย์กลางมีกษัตริย์ มีรัฐที่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์อยู่แล้วในหลักฐานทางศิลาจารึกและตำนานพงศาวดาร ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระยามังรายเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงราย ทรงปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยและแคว้นสำคัญ เช่น แคว้นพะเยาในแอ่งเชียงรายไว้ในอำนาจแล้ว จึงขยายอิทธิพลทางการเมืองมายังแอ่งเชียงใหม่ เข้าตีเมืองหริภุญชัย หรือลำพูนได้แล้ว พระองค์ก็เสด็จมาประทับอยู่ในแอ่งเชียงใหม่ โดยสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของเอง แคว้นล้านนาที่เข้ามาแทนที่แคว้นหริภุญชัย
การขยายอำนาจของพระยามังรายจากเชียงรายไปเชียงใหม่นั้นผ่านมาตามลุ่มน้ำแม่ลาว นั้นก็คือ เส้นทางที่ผ่านแม่สรวย เวียงป่าเป้า แม่ขะจาน มายังต้นน้ำแม่ลาวที่เขาผีปันนั้นข้ามเทือกเขามายังดอยสะเก็ด อันเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำกวง ต่อจากนั้นก็เดินทางตามลำน้ำกวงไปยังหริภุญชัย หรือลำพูน เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นเวียงป่าเป้ามีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ แต่รัชกาลของพระยามังรายแห่งล้านนา
นอกจากนั้นในตำนานพงศาวดารโยนกยังกล่าวว่าการตีเมืองลำพูนหรือ หริภุญชัยได้นั้น พระยามังรายทรงใช้กลอุบายในระยะแรก คือ ส่งอ้ายฟ้า ซึ่งเป็นขุนนางคนสนิทที่เป็นชาวลัวะให้แปรพักตร์ไปสวามิภักดิ์กับพระยายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัย เป็นเหตุให้พระยายีบาเกิดความประมาทและทำให้เกิดความแตกแยกกันขึ้นในบ้านเมือง จึงอ่อนแอลง เป็นเหตุให้พระยามังรายได้โอกาสยกกองทัพมาตีได้ อ้ายฟ้าเป็นคนลัวะ และคนลัวะก็มีอยู่มากมายในบริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่ตอนบนคือในบริเวณเชียงใหม่ยาวถึงเชียงดาว
คนลัวะคือกลุ่มชนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของเครื่องมือหินขัด เป็นสิ่งที่อาจเชื่อมโยงเข้ากันกับกลุ่มชนในลุ่มน้ำแม่ลาว แต่เวียงป่าเป้าอาจถึงดอยสะเก็ดได้ ก็เท่ากับทำให้สามารถตีความได้ว่า การขยายอำนาจของพระยามังรายจากเชียงรายนั้น ผ่านมายังถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะในลุ่มน้ำแม่ลาว ไปจนถึงดอยสะเก็ดเข้าไปยังพื้นที่ในเขตแอ่งเชียงใหม่ตอนเหนือ ก่อนที่จะลงไปตีเมืองหริภุญชัยที่อยู่ในแอ่งเชียงใหม่ตอนล่าง และถ้าหากนอกจากเวียงป่าเป้าลงไปตามลำน้ำแม่ลาวก็จะแลเห็นความสัมพันธ์ของชุมชนในลุ่มน้ำนี้ไปเกี่ยวข้องกับบรรดาบ้านเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมสมัยเดียวกันในลุ่มน้ำแม่กก แม่ขิง แม่จัน และอื่น ๆ ในแอ่งเชียงราย
ในการแสดงเรื่องราวในหัวข้อทั้งสอง คือ เวียงป่าเป้าในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์นั้น ข้าพเจ้าและคณะ เสนอให้ใช้แผนที่แสดงภูมิประเทศทั้งหมดของลุ่มน้ำแม่ลาว แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเวียงป่าเป้า และชุมชนใกล้เคียง ลักษณะภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับแหล่งชุมชนแหล่งทำมาหากิน และเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อระหว่างเชียงราย เวียงป่าเป้า และเชียงใหม่ แล้วต่อเติมด้วยหุ่นจำลองของชุมชนและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น
เวียงป่าเป้าซึ่งมีวัดศรีสุทธาวาสเป็นส่วนหนึ่ง หุ่นจำลองดังกล่าวนี้ จะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้แลเห็นชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่น แลเห็นแหล่งทางศาสนาความเชื่อและพิธีกรรม แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา ทำเหมือง ทำฝาย และอื่น ๆ ที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของลุ่มน้ำแม่ลาวในเรื่องนี้ก็คือเป็นบริเวณที่มีแหล่งอุตสาหกรรมทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ซึ่งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางเทคโนโลยีของล้านนา จะได้มีการประมวลเข้าเครื่องปั้นดินเผาและชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่พบในเขตเวียงป่าเป้าและชุมชนใกล้เคียง เช่นที่เวียงกาหลงมาจัดแสดง
ต่อจากสองหัวข้อแรก ที่กล่าวมาแล้วก็มาถึง หัวข้อที่สาม ที่เน้นบทบาทของวัดศรีสุทธาวาสในท้องถิ่นเวียงป่าเป้า ในสมัยล้านนา เวียงป่าเป้าเป็นบ้านเป็นเมือง และอยู่ในระดับเจริญมากเมืองหนึ่ง แต่สมัยล้านนาตอนปลายที่หน้าเมืองในภาคเหนือเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านั้น เราไม่รู้เรื่องราวอะไรนักในด้านเอกสารและตำนาน แต่จากร่องรอยของเวียงเก่าและบรรดาโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตวัดศรีสุทธาวาสนั้น เป็นหลักฐานพอเพียงที่นำไปตีความได้ว่า ท้องถิ่นนี้มีการอยู่อาศัยอย่างสืบเนื่อง โดยเฉพาะที่วัดศรีสุทธาวาสนั้นยังมีร่องรอยของพระอุโบสถเก่าอยู่ ซึ่งต่อมากลุ่มชาวบ้านที่พอคาดคะเนได้ว่ามีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ลงมานั้น ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ให้เป็นวัดที่แลเห็นในปัจจุบัน
หัวข้อการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมนี้จะเชื่อมโยงเข้าสู่ประวัติศาสตร์สังคมในท้องถิ่น เวียงป่าเป้าแต่ช่วงร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเวียงป่าเป้าในปัจจุบันมาจากไหน มีกลุ่มทางชาติพันธุ์เป็นอย่างใด และมีพัฒนาการมาอย่างใด ทั้งหมดนี้จะนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตวัฒนธรรมในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในที่สุด
ที่กล่าวมาแล้วนั้นคือหัวข้อและเรื่องที่จะแสดงอย่างคร่าวๆ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่น้อย แต่การเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของวัดนี้เป็นเรื่องที่กินขอบเขตไปถึงบรรดาสิ่งก่อสร้างทางศิลปสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมธรรมชาติของวัดด้วย นั้นก็คือ จะต้องมีการปรับบริเวณกลุ่มพระสถูปเจดีย์ หอไตร และพระอุโบสถให้เรียบร้อย เพื่อคนได้มาชมและศึกษาได้ พร้อมทั้งมีการขุดแต่งบริเวณโบสถ์เก่าให้แลเห็นร่องรอยของความเจริญก่อน ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการสืบเนื่องของวัดนี้อาจมีอายุไปถึงสมัยล้านนาได้ด้วย บริเวณระเบียงคดที่ติดกับกำแพงวัดภายในที่ใช้ทำกิจกรรมในงานประเพณี ก็อาจจะแบ่งให้เป็นที่แสดงศิลปวัตถุของวัดได้อีกส่วนหนึ่งในกรณีที่อาคารพิพิธภัณธ์รับไม่หมด ต่อจากนั้นก็จะมีการจัดภูมิทัศน์ของสภาพแวดล้อมธรรมชาติของวัด ออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
๑.ลานสัมมนา คือ พื้นที่ลานกว้างและมีต้นไม้ใหญ่ ๆ ให้ร่มรวมทั้งมีหนองน้ำอยู่ภายในบริเวณ อยู่ทางด้านหน้าของวัดเป็นที่ไม่ใช่ป่า แต่เหมาะแก่การชุมนุม อาจจัดให้เป็นที่ประชุมทางวิชาการขององค์กรในท้องถิ่น หรือองค์กรอื่น ๆ ที่มีความประสงค์จะใช้สถานที่ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาแพง นอกจากนี้ทางวัดขอใช้เป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์พื้นบ้านด้วย จุดเด่นของสถานที่นี้ก็คือ การชุมนุมหรือการสัมมนาจะอยู่ภายใต้บรรยากาศธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายด้วย
๒.ลานธรรม อยู่ทางขวามือของวัด หรืออีกนัยหนึ่งข้างวัดด้านทิศใต้ เป็นพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่เป็นที่วิเวก เหมาะกับกิจกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกันกับ สวนโมกข์ของพุทธทาสที่ไชยา ซึ่งนอกจากเป็นที่คนมาฟังธรรมแล้วยังเป็นที่ฝึกสมาธิ และเข้ากรรมของพระสงฆ์ได้
๓.สวนสมุนไพร บริเวณป่ารอบวัดนี้มีต้นไม้ที่เป็นสมุนไพรนานาชนิด ที่ท่านเจ้าอาวาสคือ พระบรรพต คัมภีโร มีความปรารถนาจะจัดทำเป็นสวนสมุนไพรพื้นบ้าน และแหล่งพันธุ์ไม้ที่หายากของท้องถิ่น การใช้ประโยชน์ทางการศึกษาของบุคคลทั่วไป การปรับปรุงสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบวัดนี้นับเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งของวัดศรีสุทธาวาส เพราะเป็นการอนุรักษ์ในสิ่งที่แต่ก่อนวัดในดินแดนประเทศ ในส่วนใหญ่เคยมี และพื้นที่สีเขียวนี้ก็เคยเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของวัดด้วย แต่บัดนี้ทั้งพระทั้งคนในชุมชน ไม่ใคร่มีใครแลเห็นศาสนา หรือถ้าจะมีความเห็นในเรื่องนี้แล้ว ก็มักจะเป็นการเลือกวัดสวนหย่อม หรือ พื้นที่สวน ต้นไม้ที่มีผู้มาออกแบบให้และคิดราคาค่าแบบกันสูง ๆ ทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมแบบเทียมมากกว่า สิ่งที่เป็นธรรมชาติ สำหรับที่วัดศรีสุทธาวาสนี้ถ้าหากจะมีการมาท่องเที่ยวเกิดขึ้น ผู้ที่มาเที่ยวอาจได้เห็นทั้งสิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรม และสิ่งที่เป็นการอนุรักษ์และเรียนรู้ธรรมชาติ ( Ecotourism) ได้ในเวลาเดียวกัน
ในการประชุมกำหนดหัวข้อเรื่องที่จะแสดง และการปรับปรุงพื้นที่และสิ่งต่าง ๆ ในเขตวัดศรีสุทธาวาสเพื่อให้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ และแหล่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ทางเจ้าอาวาส คณะศรัทธาวัด คหบดี และผู้มีบทบาทในการปกครองท้องถิ่น ได้เข้ามาประชุมหารือด้วยและเห็นพ้องกับข้อเสนอต่างๆ ของข้าพเจ้าและคณะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่ผู้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งมีความคิดที่จะหาเงินทุนรอนมาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งพยายามจะช่วยตนเองด้วยการหาสิ่งของวัสดุและแรงงานกันเองมาดำเนินการ
( จาก" พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน" , โครงการเมธีวิจัยอาวุโส "สกว. รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม",. ๒๕๔๐) |