สโมสรพิพิธภัณฑ์ : บนถนนไปสู่จันเสน
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เกือบสิบปีแล้วที่ใช้ทางสายนี้ไปสู่จันเสน แม้จะใช้รถคันเดิมแต่ถนนก็เปลี่ยนไปเป็นเทคอนกรีตตลอดสาย ต่างจากอดีตที่เต็มไปด้วยรอยปะผุเป็นหลุมเป็นบ่อชั่วนาตาปี
ยังจำได้ถึงวันหนึ่งหลังแยกจากกลุ่มอาจารย์ สถาปนิกผู้ออกแบบเมื่อมืดค่ำล่วงไปนาน ต้องตัดสินใจขับรถกลับบ้านตามลำพังและเลือกเส้นทางที่เหมือนจะซ่อมแซมกันไม่มีวันสิ้นสุด ในคืนเดือนมืดบนถนนขรุขระกลางทุ่งโล่ง หวาดระแวงและเกรงกลัวแม้แต่เงาใบไม้ไหว จิตใจก็โอนเอนไปตามคำขอของพ่อแม่ที่อยากให้เลิกทำ หางานที่สามารถนิยามตัวเองได้ว่าทำอะไร คิดเพียงหากหลุดพ้นอุโมงค์แห่งความมืดทึบนี้ไปได้จะต้องทบทวน จะต้องทบทวนชีวิตกันใหม่
บรรยากาศการเป็นนักศึกษาในช่วงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นไปอย่างคึกคัก เปิดโอกาสให้ได้คุย ได้พูด ได้อ่านกระแสความคิดเห็นเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรมมากมาย หลายๆ กรณีพวกเราดึงมาใช้กับงานกิจกรรม ไม่ว่าจะคิดทำอะไร ก็ดูเหมือนว่าจะมีผู้ใหญ่สนับสนุนไปเสียหมด หาเหตุผลกันเองว่างานฝึกหัดทดสอบของนักศึกษาไม่มีอะไรเป็นเรื่องเสียหายนัก
อาจารย์ปราณี วงษ์เทศ ได้ทุนไปดูงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่สหรัฐอเมริกาและเขียนเป็นบทความขนาดยาวที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แนะนำให้รู้จักชุมชนและสอนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในชั้นเรียน แถมเวลานอกห้องก็ยังยินดีจะคุยเรื่องโบราณคดีต่างๆ ให้อีกหากพวกเราเดินเข้าไปหา อาจารย์ประสพชัย แสงประภา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมอนุรักษ์ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนทุกอย่างแม้จะมีอุปสรรคแปลกๆ ที่มักเกิดขึ้นเสมอในคณะโบราณคดี
เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง จึงออกไปทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านดงดอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ใช้เวลาศึกษากว่า ๖ เดือน ทดลองทุกอย่างที่คิดกันออก สนุกและล้มเหลวในที่สุด
ความล้มเหลวไม่ได้เกิดขึ้นจากการลงเรียนวิชาพิพิธภัณฑ์วิทยาแล้วได้คะแนนต่ำมากในเทอมนั้น คือ " พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ใช่การจัดแสดงสำเร็จรูป ไม่อาจลุล่วงไปได้ในชั่วข้ามคืน และต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนที่เข้ามาจากภายนอกด้วย "
หลังจากเรียนจบและเสียเวลาไปพักหนึ่งกับการเรียนรู้ว่า แม้จะพยายามเพียงใดลูกจ้างชั่วคราวของกรมศิลปากรก็ไม่สามารถคุมงานบูรณะโบราณสถานให้ออกมาไม่น่าเกลียดได้
ได้ข่าวว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่วัดม่วงเริ่มเสร็จและพิพิธภัณฑ์วัดศรีโคมคำกำลังดำเนินงานใกล้เสร็จอีกเช่นกัน ทั้งสองแห่งใช้เงินส่วนใหญ่จากภาคเอกชนและมีนักวิชาการหลากหลายมาช่วยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เสนอเรื่องของท้องถิ่นเป็นหลัก เป็นทางเลือกใหม่ในการนิยามตัวเองของผู้คนในสังคมที่ไม่ต้องพึ่งพิงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่เพียงอย่างเดียว
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งทั้งสองแห่ง
ต่อจากนั้น เมื่อมีทางเลือก ก็มีผู้เลือก จันเสนกลายเป็นท้องถิ่นต่อไปที่แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ทั้งสองที่กล่าวมา เพราะไม่มีราชการหน่วยงานใดช่วยเหลือเรื่องทุนและการดำเนินงาน อาจารย์จากคณะโบราณคดีและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำมาช่วยเป็นที่ปรึกษา เป็นการทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน
เมื่อมีโอกาสมาช่วยทำทะเบียนวัตถุ และต่อเนื่องมาเป็นการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ร่วมทำงานกับผู้ออกแบบจัดแสดง เขียนงานวิชาการและรวบรวมพิมพ์ทั้งหนังสือวิชาการและเอกสารนำชม เวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วเกือบ ๔ ปี มีเพื่อนๆ ผ่านเข้ามาช่วยมากมาย แวะเข้าเวียนออกหลายต่อหลายคน
แต่งานที่ยากที่สุดในการทำพิพิธภัณฑ์ ก็คือการทำความเข้าใจและรู้จักชาวบ้าน ทั้งวิธีที่จะนำเสนออุดมการณ์ในการที่จะทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอันเป็นสิ่งที่ไม่มีมาก่อน สิ่งเหล่านี้ผ่านกระบวนการพูดคุยทั้งวงเล็กและวงใหญ่เป็นเวลานานหลายปี มีอาจารย์ศรีศักรเป็นผู้เชื่อมโยงที่สำคัญและยังคงเหนียวแน่นอยู่เสมอมา
จนกระทั่งอาจารย์เป็นที่ปรึกษามูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์อย่างเต็มตัว ต้องการพนักงานประจำ ได้ขออาศัยสถานที่ของวารสารเมืองโบราณส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานจนถึงปัจจุบันและเริ่มทำงานเกี่ยวกับชุมชน ให้การสนับสนุนการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นงานสำคัญ
อาจารย์ศรีศักรเชื่อว่า กระบวนการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะสามารถสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนได้ส่วนหนึ่ง การได้เรียนรู้รากเหง้าและอัตลักษณ์ของคนนอกจะทำให้มีความมั่นคงและมั่นใจ รู้จักและเคารพสิทธิพื้นฐานของตนเองและผู้อื่น มีผลพลอยได้ตามมาอีกทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลาง ความรู้ในพื้นที่และรายได้จากการท่องเที่ยว
อาจารย์ศรีศักรไม่ได้หยุดการเผยแพร่แนวคิดนี้อยู่ที่มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ แต่ยังมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล แม้กระทั่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่เห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในฐานะที่เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะเป็นงานขององค์กรเอกชน โดยการสนับสนุนของบุตรหลานคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างสรรค์เมืองโบราณ การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามที่ต่างๆ จึงไม่เคยมีข้อจำกัดเรื่องเวลาแต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของชุมชนแห่งนั้นเป็นที่ตั้ง แต่ละแห่งอาจใช้เวลา ๓ ปี หรือ ๔ ปี ขึ้นไป การออกแบบจัดแสดงขึ้นอยู่กับงบประมาณของชุมชน มีมากใช้สถาปนิกหรือมัณฑนากรวิจัยออกแบบ มีน้อยใช้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และคนในท้องถิ่นช่วยกัน หัวใจสำคัญคือการทำงานวิชาการอย่างมีระบบ ผ่านกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ร่วมกันทั้งนักวิชาการจากภายนอกและคนในชุมชน
ความหวังต่อไปคือการสร้างเครือข่ายชุมชนถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแก่กันและกัน ประสบการณ์แต่ละแห่งที่ไม่มีทางเหมือนกันนี้จะกลายเป็นฐานความรู้เรื่องท้องถิ่นอันหลากหลายให้กับการศึกษาอื่น ๆ อีกมาก
แม้จะมีเสียงไม่เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในหลายเรื่อง เช่น นักวิชาการครอบงำความคิดของชาวบ้าน ความต้องการให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายทำเองโดยคนภายนอกเพียงแต่ให้คำปรึกษา พิพิธภัณฑ์ที่ทำออกมาไม่ได้แสดงภาพร่วมสมัยของชุมชนได้เป็นที่น่าพอใจ หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์จากการจัดพิพิธภัณฑ์ เสียงเหล่านนั้นยังคงสะท้อนอยู่ในวงสัมมนา ในแวบบอร์ด จนถึงในวงเหล้า เป็นความไม่พึงใจง่ายๆ และมองชีวิตเป็นวาทกรรมไปเสียหมด
บนถนนสายเก่าที่นำไปสู่จันเสน รถคันเดิมและยังคงขับมาคนเดียว วันนี้แดดจัดลมแรง ท้องฟ้า แจ่มใส พื้นถนนราบเรียบ รถวิ่งฉิว อีกไม่กี่นาทีก็จะถึงจันเสน
นึกถึงหลวงพ่อที่ชวนให้มาร่วมงานเครือช่วยกิจกรรมชมรมเรารักจันเสนของหมู่บ้านต่างๆ นึกถึงเด็กทารกคนหนึ่งเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นยุวมัคคุเทศก์อาสาสมัครตัวเล็กๆ นึกถึงพี่ที่บ้านอยู่หน้าวัดเป็นทั้งครูและภัณฑารักษ์ซึ่งกำลังศึกษากลุ่มลาวแง้วของตนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและนึกถึงรอยยิ้มของป้าที่มีลุงมารับกลับบ้านทุกเย็นหลังเสร็จงานทอผ้าที่วัด ไม่เลวนัก สำหรับการให้กำลังใจตัวเอง
จากคอลัมน์สโมสร พ.พ.จดหมายข่าว ฉ 30 - พฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2544 - ( 6.2 ) |