หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สโมสรพิพิธภัณฑ์ : ปีที่ ๕ พิพิธภัณฑ์จันเสน
บทความโดย ปริเขต ศุขปราการ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.พ. 2544, 15:07 น.
เข้าชมแล้ว 3716 ครั้ง


บรรยายกาศการสัมมนาในโอกาสที่พิพิธภัณฑ์จันเสนย่างเข้าสู่ปีที่ ๕

 

จันเสน.ชุมทางเล็กๆ ริมทางรถไฟระหว่างบ้านหมี่ในเขตจังหวัดลพบุรีต่อกับตาคลีของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อมีการตัดถนนสายเอเชีย จันเสนกลายเป็นชุมชนที่ถูกลืมเพราะอยู่นอกเส้นทาง ผู้ที่รู้จักจันเสนเดิมมีแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อโอด ซึ่งท่านโด่งดังในเขตนี้ หลวงพ่อมีดำริให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงของที่ท่านสะสมไว้ก่อนที่ท่านจะละสังขาร และนี่คือจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์จันเสน

 

พระครูนิวิฐธรรมหรือหลวงพ่อเจริญ ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงพ่อโอดได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนพิพิธภัณฑ์สำเร็จลุล่วง ปัจจุบันก็ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ ๕ แล้ว ทำให้เกิดการสัมมนา เพื่อติดตามและประเมินผลงานที่ผ่านมา ณ ศาลาประชาคม วัดจันเสน เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓

 

หลวงพ่อเจริญกล่าวเปิดงานสัมมนาว่า วัดจันเสนได้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกครั้ง เกิดสำนึกร่วมกันของคนในท้องถิ่น มีการรื้อฟื้นประเพณีต่างๆ เช่น สาทรจีน สาทรลาว สาทรไทย จนเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ขยายความต่อว่า ชุมชนวัดจันเสนนั้นเป็นชุมชนที่มีผู้นำทางศาสนาคือ หลวงพ่อเจริญ ทำให้ชาวจันเสนมีหลักยึดทางจิตวิญญาณ มีจริยธรรมและศีลธรรมเป็นองค์ประกอบของสังคม ชาวจันเสนจึงมีสำนึกร่วมกันในความเป็นประชาคมชาวจันเสน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ต่างจากชุมชนของมหาดไทยที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. เป็นผู้นำที่เน้นเรื่องทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้เกิดความขัดแข้งกันในเรื่องของงบประมาณ กลายเป็นชุมชนแตกแยกและอ่อนแอ นอกจากนี้อาจารย์ศรีศักร ยังเสนอแนวความคิดการทำพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่ชุมชนริมทางรถไฟและโรงสีข้าวขนาดใหญ่ เพราะชุมชนจันเสนเกิดขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเส้นทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ ๕

 

การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์จันเสน ก่อให้เกิดกลุ่มจักสาน กลุ่มแปรรูปอาหาร ฯลฯ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวจันเสน

 

พิพิธภัณฑ์จันเสนก็เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสำนึกเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยครูอาจารย์จันเสนใช้เป็นสื่อการสอนเด็กนักเรียนให้รู้จักท้องถิ่นของตนเอง รวมไปถึงการฝึกอบรมนักเรียนเป็นยุวมัคคุเทศก์ นำนักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ และเป็นสถานที่ศึกษาของเด็กในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กๆ ชาวจันเสนด้วย

 

หลวงพ่อเจริญกล่าวถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ว่า อุปสรรคในการสร้างนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจกันในชุมชน ไม่มั่นใจว่าจะสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ได้สำเร็จ เนื่องจากงบประมาณการก่อสร้างสูงเมื่อเทียบกับชุมชนเล็กๆ อย่างจันเสน แต่การณ์ก็ลุล่วงด้วยดี แต่ที่สำคัญที่หลวงพ่อได้กล่าวถึงก็คือ " การบริหารจักการนั้นยากกว่าการสร้างเพราะเป็นการดำรงอยู่ให้ยืนนาน " ดังนั้นพิพิธภัณฑ์จันเสนจึงใช้ระบบบริหารงานแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วยพระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู และชาวบ้านแบ่งหน้าที่ดูแลกันเป็นเรื่องๆ ไป

 

ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ กลุ่มสตรีทอผ้าที่เกิดขึ้นหลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์จันเสน เดิมชาวจันเสนมีแต่การทำนาไม่ได้ทอผ้าเลย เมื่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นก็ไปฝึกหัดกับชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่อง ทอผ้า ป้าประยูร พฤกษาศิลป์ ตัวแทนของกลุ่มกล่าวว่าตั้งแต่มีมหาธาตุเจดีย์หรือพิพิธภัณฑ์ มีนักท่องเที่ยวมามาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดกลุ่มจักสาน กลุ่มแปรรูปอาหารตามมา หนุ่มสาวชาวจันเสนที่ประสบกับเศรษฐกิจล่มสลายในเมืองใหญ่ ก็กลับมาจันเสนทำมาหากินที่บ้านเกิด

 

พิพิธภัณฑ์จันเสนในปีที่ ๕ และปีต่อไปจะเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านเป็นสำคัญ

 

จากคอลัมน์สโมสร พ.พ.จดหมายข่าว ฉ 28 - มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2544 - ( 6.2 )
อัพเดทล่าสุด 7 พ.ค. 2560, 15:07 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.