เปิดประเด็น : ภราดรภาพที่จันเสน
เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ ตุลาคมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ไปร่วมการเสวนาเรื่อง " ท้องถิ่นควรจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง " อันเป็นโครงการเพื่อสังคมที่เครือซีเมนต์ไทยจัดขึ้นที่วัดจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
วัดนี้เป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนขนาดใหญ่ในตำบลจันเสนที่พัฒนาขึ้นริมทางรถไฟที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ คือเมื่อมีทางรถไฟตัดผ่านและมีสถานีรับส่งผู้โดยสารเกิดขึ้น ชุมชนที่เคยเป็นบ้านขนาดเล็กที่ผู้คนดำรงชีพด้วยการทำนาและพืชไร่ ก็มีการเติบโตเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของท้องถิ่น มีพวกคนจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง เกิดย่านตลาดริมทางรถไฟ มีห้องแถวและศาลเจ้าขึ้นมา รวมทั้งโรงสีข้าวด้วย ทำให้เปลี่ยนจากชุมชนบ้านมาเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็ก เกิดบ้านเรือนของคนจนคนรวย รวมทั้งมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาอยู่อาศัยและแต่งงานผสมปนเปกันจนเกิดเป็นชาวจันเสนขึ้น โดยมีศูนย์รวมในทางพิธีกรรมและสำนึกร่วมทางจิตใจอยู่ที่วัดจันเสน อันเป็นวัดที่เกิดมาพร้อมๆ กับชุมชน
ขบวนรอรับพัดยศชั้นตรีพระครูชั้นสัญญาบัตร พ.ศ.๒๕๐๐
ภาพแห่งความรื่นเริงวันวานที่จันเสน
ความเด่นของชุมชนจันเสนมีที่มาจากการที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นเมืองโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีกับการที่มีพระเกจิอาจารย์ทางวัตถุมงคลเป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน คือ หลวงพ่อโอด ( พระครูนิสัยจริยคุณ ) กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกาเคยร่วมมือกันขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณ แต่ภายหลังจากการขุดค้น แสดงผลงานทางโบราณคดี และการตีพิมพ์รายงานให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งหลายอยู่พักหนึ่งแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็คืนสู่ภาวะปรกติ คือความเงียบที่ผสมผสานไปกับการสูญสลายของหลักฐานทางโบราณคดีเพราะกรมศิลปากรได้รวบรวมเอาของที่พบไปเก็บไว้เป็นของรัฐหมด ในขณะเดียวกันก็มีพ่อค้านักเล่นของเก่าเข้ามาเที่ยวซื้อของเก่าจากชาวบ้าน บางรายก็สนับสนุนให้มีการขุดมาขายกันอย่างมากมาย เช่นพวกลูกปัด ดวงตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา พระพุทธรูป และบรรดาภาชนะที่ทำด้วยดินเผา เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีอะไรเหลือหรออยู่เลย
แต่ความเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ของจันเสนได้สร้างสำนึกในความภูมิใจให้แก่คนจันเสนหลายผู้หลายนาม โดยเฉพาะหลวงพ่อโอดผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน จนเกิดความปรารถนาขึ้น ๒ อย่างในการฟื้นฟูอดีตและสร้างความรุ่งเรืองให้แก่ท้องถิ่น อย่างแรก คือ การสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ให้เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่น อย่างที่สอง คือ สร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับความเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ของจันเสนให้เป็นเกียรติภูมิของคนในท้องถิ่น ความปรารถนาของหลวงพ่อโอดทั้งสองอย่างนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อชุมชนจันเสนเท่านั้น หากยังแผ่กว้างไปในเรื่องของท้องถิ่นด้วย เพราะหลวงพ่อโอดมีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่เป็นพ่อค้า คหบดี ครู อาจารย์ และประชาชนมากมายในเขตอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ความโด่งดังในเรื่องวัตถุมงคลทำให้วัดจันเสนมีเงินทองพอเพียงสำหรับการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องพึ่งพิงทางราชการ
ที่น่าประหลาดใจก็คือ การสร้างพิพิธภัณฑ์จันเสนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นมาแสดง แต่กรมศิลปากรและฝรั่งรวมทั้งบรรดาพ่อค้าของเก่าเอาไปกันจนหมดสิ้นแล้ว แทนที่หลวงพ่อโอดในฐานะผู้นำท้องถิ่นที่มีบารมีพอที่จะเรียกร้องให้ทางราชการคืนโบราณวัตถุที่เอาไปจากท้องถิ่นคืนมา ท่านกลับพยายามรวบรวมสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเศษ ที่เหลือจากการเอาไปของคนอื่นมาไว้ที่วัด รวมทั้งขอของที่ชาวบ้านและคนที่ศรัทธาตัววัดมาเก็บไว้ โดยคิดว่าจะทำเท่าที่มีของพอแสดงได้เท่านั้น
หลวงพ่อโอด งานฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดจันเสน
หลวงพ่อโอดและชาวบ้าน ร่วมปล่อยปลาในบึงจันเสน
แต่การสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์วัดจันเสนก็หาได้แล้วเสร็จในช่วงเวลาที่หลวงพ่อโอดมีชีวิตอยู่ไม่ ถึงกระนั้นสิ่งที่ท่านเริ่มต้นไว้ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในสมัยต่อมา คือ สมัยที่หลวงพ่อเจริญซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อโอดเป็นเจ้าอาวาส นั่นก็คือหลวงพ่อโอดนอกจากมีเงินทุนสะสมไว้เพียงพอแล้ว ยังมีบารมีที่ทำให้มีผู้คนจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ เช่น อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร สถาปนิกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วิศวกร ครู อาจารย์ และคหบดีในท้องถิ่นต่างมาให้ความร่วมมือ ทุกฝ่ายตอบสนองศรัทธาและเจตนารมณ์ของหลวงพ่อโอดเป็นอย่างดี จนเป็นเหตุให้เกิดมีพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีความสวยงามเป็นที่สักการะและประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่แสดงความเป็นมาทางวัฒนธรรมและสังคมของท้องถิ่นที่ทำให้คนภายในภูมิใจและคนจากภายนอกพากันมาเคารพพระบรมธาตุ เช่าวัตถุมงคล และชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
มีคนเล่ามาว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของจันเสนนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ มีผู้คนต่างถิ่นและชาวต่างประเทศมาชมจำนวนมากกว่าผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ลพบุรีเสียด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่เห็นประจักษ์มากกว่าคำบอกเล่าหรือข่าวลือก็คือ ในการไปร่วมเสวนากับ " โครงการท้องถิ่นควรดูแลมรดกทางวัฒนธรรม " ของเครือซีเมนต์ไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคมที่แล้วมาก็คือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่นที่ร่วมกันจัดการต้อนรับผู้มาเยือน ความเด่นของพิพิธภัณฑ์จันเสนนั้นไม่ได้อยู่ที่มีอะไรให้ผู้เข้ามาเยือนได้ชม หากอยู่ที่ทางชุมชนได้ให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้นำชม โดยกำหนดให้เป็นผู้อธิบายแต่ละช่วงตอนไป กว่าจะดูทั่วก็ใช้เด็กหลายคนทีเดียวและหลายชุดด้วย เพราะจะมีการผลัดเปลี่ยนกัน ผู้เข้าชมบางคนไม่ค่อยสบอารมณ์และวิจารณ์ว่าเด็กท่องจำเรื่องราวมาอธิบาย ดูไม่เป็นประโยชน์อะไร แต่หลายคนกลับบอกว่าดี เพราะเท่ากับฝึกเด็กให้มีความรู้และรักในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เด็กคือพระเอกของทั้งหมด เพราะจะเป็นผู้สืบสานทางภูมิปัญญาของสังคม แต่เบื้องหลังการฝึกเด็กก็คือครู โดยเฉพาะครูสตรีของท้องถิ่นเพื่อให้สนใจในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลความรู้มาอบรมเด็ก ตลอดจนช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ ทางวิชาการให้กับชุมชน ถัดจากครูก็เป็นกลุ่มแม่บ้าน นับเป็นกลุ่มที่มีพลังมาก เพราะประกอบด้วยแม่บ้านของคนทุกระดับในท้องถิ่น คือ แม่บ้านของชาวบ้าน พ่อค้า คหบดี และข้าราชการต่างเข้ามาทำหน้าที่ในเรื่องการจัดอาหาร การนำสิ่งของที่ท้องถิ่นผลิตมาขายแก่ผู้เข้ามาเยือน ภายในเขตวัดจันเสน หลวงพ่อเจริญผู้เป็นเจ้าอาวาสได้จัดสถานที่ให้เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมือง และประดิษฐ์สิ่งหัตถกรรมแก่กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นผลตามมา ซึ่งนอกจากความสามารถในงานหัตถกรรมแล้ว พวกแม่บ้านหลายคนยังมีฝีมือในการทำกับข้าวและอาหารที่เอร็ดอร่อยอีกด้วย
ส่วนพวกผู้ชายดูเหมือนเป็นช้างเท้าหลัง ช่วยเป็นแรงงานด้วยความเต็มใจ ในขณะที่บรรดาผู้อาวุโส ผู้รู้ของท้องถิ่น และผู้นำ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าของท้องถิ่นก็เข้ามาร่วมสนทนาอย่างเป็นกันเอง ต่างแสดงออกในการเห็นคุณค่าของกิจกรรมทางวัฒนธรรม และขนบประเพณีใหม่ที่คนในท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้รู้จากภายนอกที่ได้ช่วยกันรังสรรค์ขึ้นมา แทบไม่มีใครเลยที่แสดงตัวตนว่าเป็นคนสำคัญ แต่ทุกคนมีความพร้อมเพรียงและมีความสุขภายใต้ปัญญาบารมีของหลวงพ่อโอด ผู้ที่แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่ก็ได้สร้างสำนึกร่วมของความเป็นท้องถิ่นแก่คนในสังคมได้ดีกว่าบรรดาผู้นำในทางราชการและการเมือง
จากคอลัมน์สโมสร พ.พ.จดหมายข่าว ฉ21 - พฤจิกายน ถึง ธันวาคม 2542 - ( 6.2 ) |