เนื่องในโอกาสครบรอบวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑๒ (ประจำปี ๒๕๕๗) มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านบางขุนเทียน" ขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมย่านบางขุนเทียน ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบติดทะเลของกรุงเทพฯ มีทั้งการทำเรือกสวนไร่นาในผืนแผ่นดินภายใน ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งด้านนอกมีวิถีทำประมง ทั้งมีเส้นทางคลองสำคัญหลายสายในพื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางคลองสายประวัติศาสตร์ คลองด่านหรือคลองสนามชัย ซึ่งเป็นทั้งเส้นทางเดินทัพและย่านค้าขายสำคัญของบ้านเมืองมาแต่สมัยอยุธยา
ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้เชิญครูอาจารย์จากโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตบางขุนเทียน และโรงเรียนของเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรชุมชนและท้องถิ่นในเขตบางขุนเทียนและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้ท้องถิ่นสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของคนในท้องถิ่นขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรู้ที่จะสามารถนำไปต่อยอดสู่หลักสูตรการทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์สังคมในย่านบางขุนเทียน และสร้างแผนที่มรดกวัฒนธรรมของย่านให้เป็นคลังความรู้สำหรับเยาวชนและคนในชุมชนได้เกิดสำนึกร่วมและหวงแหนท้องถิ่นในฐานะเจ้าของพื้นที่ จนนำไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน
ภูมิวัฒนธรรมกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ในวันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ได้รับเกียรติจากอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ในการแสดงปาฐกถาเรื่อง "ภูมิวัฒนธรรมกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" ดังมีใจความสำคัญดังนี้
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยที่ละทิ้งการให้ความสำคัญกับโรงเรียนชุมชน เกิดการแบ่งเขตการศึกษาโดยภาครัฐที่มุ่งแต่พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ส่งผลให้เด็กยุคใหม่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องราวในท้องถิ่นที่เป็นสิ่งใกล้ตัว ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ชีวิตวัฒนธรรม และการอบรมขัดเกลาทางศีลธรรม
การศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่วัฒนธรรมที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคน ธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ ความเป็นชุมชนไม่ใช่ลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ แต่มีพื้นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมร่วมกัน นั่นก็คือวัดและศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมศรัทธา มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางศีลธรรมและมีผู้อาวุโสเป็นผู้รู้ของชุมชน
ดังนั้นเด็กจะต้องมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ใกล้ตัว เรื่องราวของชุมชนซึ่งเป็น "ประวัติศาสตร์บ้านเกิด" ที่ผ่านมาเรารู้จักกันแต่เพียง "เมืองนอน" ซึ่งศึกษาประเทศไทยในแบบองค์รวม แต่มองไม่เห็นชุมชนท้องถิ่น เช่นเดียวกันการปฏิรูปจะต้องมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น "คนใน" จะต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับการพัฒนาจากข้างนอก
คนในท้องถิ่นต้องทำความเข้าใจภูมิวัฒนธรรม รู้จักย่านของตนเอง ชื่อบ้านนามเมือง พืชพันธุ์ ฯลฯ ดังเช่นย่านบางขุนเทียนประกอบด้วยชุมชนหลายชาติพันธุ์ที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีวัดเป็นศูนย์กลาง เช่น บ้านบางกระดี่ซึ่งเป็นชุมชนมอญ เป็นต้น โดยเฉพาะหลายๆ บ้านที่มีการเชื่อมโยงและพึ่งพิงกันในการจัดการสภาพแวดล้อม การจัดการน้ำ มีคลองสนามชัยหรือคลองด่านเป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีระบบนิเวศที่หลากหลายทั้งเรือกสวนและชายฝั่งทะเลที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน อาชีพ ฯลฯ การพัฒนาบ้านเมืองแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวได้ทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวลง ท้องถิ่นต่างๆ จึงควรที่จะฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน
สถาบันที่มีส่วนทำให้เกิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็คือ วัดและโรงเรียน มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และข้าวของในแต่ละท้องถิ่น ทั้งหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่ สิ่งของเกี่ยวกับชาติพันธุ์ เครื่องใช้ไม้สอยในวิถีชีวิต อาชีพ และพิธีกรรม นับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โรงเรียนในท้องถิ่นจึงควรนำเอาความรู้เหล่านี้ไปสอนเด็กให้เข้าใจสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น รักษ์ธรรมชาติ ป่า แม่น้ำ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น และมีการบันทึกเรื่องราวอย่างเป็นระบบ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่เข้าถึง "คนใน" และเป็นสิ่งที่คนในต้องสร้างขึ้นเอง ส่วนคนนอกต้องมีความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"
ขั้นตอนและวิธีการจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ต่อมาเป็นการบรรยายเรื่อง "ขั้นตอนและวิธีการจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" โดย คุณสุดารา สุจฉายา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โดยสรุปดังนี้
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดของการศึกษาแตกต่างกันไปตามลักษณะสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คน และเป็นเรื่องที่คนในท้องถิ่นรับรู้ร่วมกัน พื้นที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ได้ยึดพื้นที่ตามเขตการปกครองที่แบ่งโดยรัฐ แต่มองลักษณะของพื้นที่วัฒนธรรมที่เห็นความเชื่อมโยงของผู้คนและชุมชน เช่น ย่านบางขุนเทียนเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมซึ่งเดิมครอบคลุมไปถึงจอมทอง บางบอน หรือแม้แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เห็นความเชื่อมโยงของผู้คนที่ย้ายถิ่นฐานไปมา ทั้งจากสมุทรสาคร สมุทรปราการ ขุนสมุทรจีน ขุนสมุทรไทย บ้านสาขลา สมุทรสงคราม
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติส่งผลต่อรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต อาชีพ อาหารการกิน เราจึงสามารถศึกษาสภาพพื้นที่ได้จากการดูแผนที่เพื่อเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ แม่น้ำลำคลอง ที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่านบางขุนเทียนสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่ ๑) พื้นที่ตอนในที่เป็นเรือกสวน เช่น สวนลิ้นจี่ สวนส้มบางมด มีลำคลองใหญ่น้อยซึ่งเป็นจุดสบกันของคลองสายใหญ่ ในอดีตเคยมีตลาดนัดในท้องน้ำ เช่น ตลาดน้ำวัดไทร ๒) พื้นที่น้ำกร่อยที่ยังพบการทำสวนผลไม้ แต่มีระบบนิเวศที่ต่างจากพื้นที่สวนด้านใน มีพืชพันธุ์น้ำกร่อย เช่น ป่าจาก แสม และ ๓) พื้นที่ชายฝั่งที่มีทั้งการทำประมงและการทำนาเกลือมาแต่เดิม นอกจากนี้ชื่อบ้านนามเมืองยังมีความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่นจากตำนาน เรื่องเล่า ที่สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มชาติพันธุ์ อาชีพ การเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กลุ่มตระกูลดั้งเดิมและบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อชุมชน ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้จากคำบอกเล่า การสืบรากพ่อสาแหรกแม่ และหลักฐานที่บอกเล่าความเป็นมาของบรรพบุรุษ เช่น เกซิ้งหรือป้ายบรรพบุรุษของชาวจีน ใบต่างด้าว บัตรข้าราชการ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ยึดโยงจิตใจของคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ในแต่ละชุมชนจะมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัด ศาลผี ที่ใช้ในการทำพิธีกรรมร่วมกัน ขณะที่ผู้นำทางวัฒนธรรมเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องศรัทธาจากคนใน ซึ่งอาจเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ตำนาน อย่างพันท้ายนรสิงห์ ที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในย่านบางขุนเทียน เป็นต้น
การทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งความเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ ชายฝั่ง แม่น้ำลำคลอง เส้นทางสัญจรต่างๆ รวมถึงการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร ถนนหนทาง การอพยพโยกย้ายถิ่น ล้วนเป็นปัจจัยที่นอกจากจะเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนด้วย
เมื่อได้ข้อมูลจากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว ก็เหมือนมีองค์ความรู้ของท้องถิ่นก้อนใหญ่ ที่สามารถนำมาเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น นิทรรศการ การจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนรักษ์ถิ่น การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ภายในชุมชน ตลอดจนนำไปสู่การสร้างหลักสูตรการศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นภายในสถาบันการศึกษาได้อีกด้วย
ความทรงจำและเรื่องเล่าท้องถิ่นบางขุนเทียน
การเสวนาเรื่อง "ความทรงจำและเรื่องเล่าท้องถิ่นบางขุนเทียน" ได้รับเกียรติจากท่านพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร อาจารย์สุภา สุขวิบูลย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าข้าม ซึ่งเกิดและเติบโตในย่านท่าข้าม-หัวกระบือ และคุณทวีป เมฆสุวรรณ ประธานชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ มาร่วมพูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำในอดีตในฐานะ "คนใน" พื้นที่
โดย พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ฯ ซึ่งพื้นเพเป็นลูกชาวสวนในย่านวัดหนังเล่าให้ฟังว่า ในอดีตพื้นที่แถบจอมทอง บางขุนเทียน ตลอดจนคลองบางกอกใหญ่เข้ามาทางตลาดพลู บางสะแก วัดไทร วัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนใน เป็นพื้นที่ทำสวนผลไม้ทั้งสิ้น พื้นที่นาจะอยู่ถัดไปทางบางบอน วัดสิงห์ ส่วนทางตลิ่งชันจะเป็นสวนสลับกับนาข้าว
ลักษณะของท้องร่องในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน อย่างสวนในย่านวัดหนัง จอมทอง จะทำหลังร่องโค้งนูนและนิยมปลูกต้นทองหลาง โดยปล่อยให้ใบหล่นลงไปหมักเป็นปุ๋ยในร่องสวน ขี้เลนจึงเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี เช่นเดียวกับต้นกล้วยที่ชาวสวนจะฟันทิ้งแล้วโยนลงไปในท้องร่องเช่นกัน
สวนในย่านนี้มีทั้งสวนของคนไทยและคนจีนปะปนกัน ถ้าเป็นสวนของคนจีนจะปลูกพืชนานาชนิด ทั้งผักสวนครัว คะน้า กวางตุ้ง พันธุ์ผลไม้ที่นิยมปลูกในย่านนี้ ได้แก่ ลิ้นจี่ ซึ่งเดิมมีนับสิบพันธุ์ พันธุ์ที่ขึ้นชื่อคือพันธุ์ใบยาว มะม่วงพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ ทองดำ พิมเสน หนัง หูช้าง ฯลฯ ส่วนมะปรางมีทั้งพันธุ์หวานและเปรี้ยว มีสับปะรดสวนลูกเล็กๆ เด็กชาวสวนจะเรียนรู้ภูมิปัญญาในการทำสวนจากผู้ใหญ่ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันพื้นที่สวนแถบวัดหนัง จอมทอง เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีถนนหนทางตัดผ่านและสถานีรถไฟฟ้า มีบ้านเรือนเกิดขึ้นมากมาย สวนที่หลงเหลืออยู่จึงมีไม่มากนัก ท่านจึงริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหารขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาชาวสวนดั้งเดิมและเก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำสวนที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้
ต่อมา อ. สุภา สุขวิบูลย์ ได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อยของบางขุนเทียน แถบคลองหัวกระบือและท่าข้าม ในวัยเด็กท่านเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหัวกระบือและอาศัยเรือในการสัญจรเพียงอย่างเดียว เมื่อพายเรือไปโรงเรียนจะผ่าน "คุ้งลิง" ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของลิงแสม และการสัญจรทางเรือต้องรอน้ำขึ้น-น้ำลง ถ้าเป็นช่วงน้ำแห้งจะเห็นเรือพ่วงติดยาวเป็นแถวในคลองพิทยาลงกรณ์ รอเวลาให้น้ำขึ้นจึงจะแล่นต่อไปได้ อาชีพของชาวบ้านในแถบหัวกระบือและวัดประชาบำรุง (วัดลูกวัว) จะทำปลาเค็มขาย ที่บ้านของท่านซึ่งมีอาชีพค้าเย็บตับจากและลอมฟืนขาย ก็จะไปรับซื้อปลาเค็มมาขายด้วย โดยพายเรือนำไปขายที่ตลาดน้ำวัดไทร
จากนั้น คุณทวีป เมฆสุวรรณ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ได้บอกเล่าวิถีชีวิตของคนชายฝั่งว่า ในสมัยก่อนการคมนาคมมีแต่เรือโดยสาร หากจะไปถึงสมุทรปราการต้องเอามุ้งลงไปกางในเรือ เพราะยุงป่าจากชุมมาก เรือจะวิ่งจากคลองพิทยาลงกรณ์ไปออกยังคลองสรรพสามิต อาชีพของคนชายฝั่งส่วนใหญ่ทำประมง บ่อเลี้ยงกุ้ง และสมัยก่อนยังมีการจัดสรรที่ดินตามระบบของสหกรณ์เพื่อให้ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน ซึ่งมีทั้งที่ดินทางฝั่งทะเลและฝั่งนาข้าว โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลือกฝั่งนาข้าว เพราะฝั่งทะเลมีแต่ป่าแสมซึ่งต้องเข้าไปบุกเบิกเอง
ในเรื่องอาหารการกินนั้นอุดมสมบูรณ์มาก สัตว์น้ำในแถบนี้มีรสชาติอร่อยเพราะพื้นที่เป็นดินตม สมัยก่อนจับปูแสมขายได้จำนวนมาก ซึ่งผลผลิตที่ได้จะส่งไปขายที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร บ้างนำเรือเล็กล่องออกไป แต่ต้องเสี่ยงอันตรายเพราะคลื่นใหญ่ จึงมักรอให้มีเรือมารับซื้อกุ้งปลามากกว่า ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาน้ำเสีย ล้วนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่เคยทำกันในย่านบางขุนเทียน แต่ปัจจุบันเลิกราไปแล้วก็คือการทำนาเกลือ ที่เลิกทำก็เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งเกลือล้นตลาด ราคาตก ไม่คุ้มกับแรงและต้นทุน อีกทั้งระดับน้ำในคลองสูงมากขึ้นทำให้ต้องทำเขื่อนดินป้องกันน้ำเข้านาเกลือ จึงเปลี่ยนจากนาเกลือมาทำวังกุ้ง ซึ่งคุ้มทุนมากกว่า
กิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาภูมินิเวศและมรดกวัฒนธรรม
บนลำคลองสายประวัติศาสตร์
การลงพื้นที่ศึกษาคลองด่านหรือคลองสนามชัย ซึ่งเป็นคลองสายสำคัญของพื้นที่บางขุนเทียน ใช้การศึกษาทางน้ำ โดยมี คุณสุดารา สุจฉายา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และ คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต จากศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี เป็นวิทยากรพาลงพื้นที่ศึกษาภูมินิเวศและมรดกวัฒนธรรมของสองฝั่งคลอง ซึ่งอดีตเป็นทั้งเส้นทางเดินทัพในสงครามไทยรบพม่าและย่านค้าขายที่สำคัญมาแต่สมัยอยุธยา
คลองด่านเป็นเส้นทางน้ำที่แยกจากคลองบางหลวง โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมกับแม่น้ำท่าจีน จึงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางออกทะเลและไปยังบ้านเมืองที่อยู่ทางใต้และทางตะวันตก โดยไหลผ่านพื้นที่แขวงบางค้อ บางขุนเทียน จอมทอง บางมด ท่าข้าม แสมดำ ต่อเนื่องกับคลองมหาชัยเข้าไปในเขตจังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อเรียกต่างกันตามพื้นที่ที่ไหลผ่าน เช่น คลองด่าน คลองสนามชัย คลองบางกระดี่ คลองแสมดำ ในอดีตมีเจดีย์วัดนางนองเป็นจุดหมายตาของชาวเรือที่ล่องมาตามเส้นทางคลองด่าน เช่นเดียวกับเจดีย์ใหญ่วัดปากน้ำที่เป็นจุดสังเกตของชาวเรือที่ล่องมาในคลองบางหลวง แต่ปัจจุบันย่านวัดนางนองและวัดหนังซึ่งอยู่คนละฝั่งคลอง รายล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างและสถานีรถไฟฟ้า เจดีย์วัดนางนองจึงถูกบดบังจนไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเหมือนเช่นในอดีต
ในการลงพื้นที่นอกจากจะเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคลองบางหลวงกับคลองด่านแล้ว ยังสัมผัสถึงสภาพนิเวศสองฝั่งคลอง จากพื้นที่สวนที่เคยอุดมด้วยผลหมากรากไม้ในอดีตจนกลายมาเป็นชื่อบ้านนามเมือง เช่น บางค้อ คุ้งลิ้นจี่ ฯลฯ เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากบริเวณวัดไทรไปออกประตูน้ำคลองหัวกระบือในปัจจุบันนั้น แทบไม่มีเรือสัญจรผ่านไปมา การตั้งบ้านเรือนสลับกับโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภูมินิเวศสองฝั่งคลองเสื่อมโทรม มีทั้งขยะและน้ำเปลี่ยนสีส่งกลิ่นเน่าเหม็น เมื่อบ้านเรือนหันหลังให้กับคลอง เส้นทางน้ำที่เคยมีความสำคัญในอดีตจึงลดบทบาท เป็นเพียงที่รับน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
ปัจจุบันพื้นที่สองฝั่งคลองด่านยังเหลือสภาพวิถีชีวิตและร่องรอยทางมรดกวัฒนธรรมให้เห็นอยู่บ้าง อาทิ
สวนของคุณลุงมุ่นไช้ แซ่เตียว ในย่านวัดหนัง ที่ยังคงรักษาสภาพชาวสวนแห่งสุดท้ายในย่านให้คงอยู่ท่ามกลางการพัฒนาพื้นที่ที่เปลี่ยนสวนกลายเป็นเมือง ปัจจุบันแม้คุณลุงจะไม่ได้ทำสวนเพราะอายุมากขึ้น แต่พื้นที่สวนที่เรียกกันว่า "สวนเตียน" จัดว่ายังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ โดยสวนแห่งนี้เป็นสวนยกร่องแบบเดียวกับสวนของชาวจีนที่อยู่แถบปากแม่น้ำ เช่น แม่กลอง (จ. สมุทรสงคราม) บางปะกง บางคล้า (จ. ฉะเชิงเทรา) ถือเป็นภูมิปัญญาในเรื่องการจัดการน้ำขึ้น-น้ำลง ที่มีผลต่อการกักเก็บหรือระบายน้ำน้ำไว้ใช้ในการเกษตร
การปลูกพืชมีลักษณะแบบสวนผสม ทั้งหมาก มะพร้าว มะนาว ชมพู่ กล้วย มะม่วง ฯลฯ ซึ่งผลัดกันออกผลตลอดทั้งปี ในแต่ละปีเจ้าของสวนจะขุดลอกร่องสวน โดยใช้โชงโลงสาดโคลนขึ้นบนหลังร่องเพื่อบำรุงสวนให้ดินดี มีการชักน้ำจากคลองด่านเข้าสวนด้วยการใช้ต้นตาลทะลวงไส้ออกให้กลายเป็นท่อลำเลียงน้ำเข้าออก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นท่อซีเมนต์เช่นปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนัง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านและวัดในการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อคนรุ่นหลัง โดยมีการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้เนื่องในพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับวัดหนัง และจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้าน การจำลองสภาพบ้านเรือนของชาวสวนในย่านนี้ โดยมีท่านพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร ซึ่งมีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวสวนในแถบวัดหนัง เป็นผู้ดูแลและจัดทำพิพิธภัณฑ์ฯ รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตชาวสวนในอดีตให้กับผู้สนใจ
ตลาดน้ำวัดไทร ในวันนี้เหลือเพียงห้องแถวริมน้ำให้เห็นถึงร่องรอยความรุ่งเรืองของตลาดน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งรวมของผู้คนในการซื้อขายผลไม้และพืชสวนนานาชนิด ทั้งที่มาจากคลองดาวคะนอง คลองบางขุนเทียน ฯลฯ ปัจจุบันตลาดน้ำแห่งนี้ซบเซาลง มีเพียงร้านถิ่นไพบูลย์ที่ยังคงเปิดให้บริการ โดยจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา และห้องแถวริมน้ำที่เปิดเป็นร้านโชห่วยอีกสองสามห้องเท่านั้น
ภาพจิตรกรรมในศาลาการเปรียญ (เก่า) วัดท่าข้าม ในอดีตบริเวณรอบวัดท่าข้าม บางขุนเทียน เคยมีชุมชนมอญขนาดใหญ่ตั้งถิ่นฐาน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนมอญดั้งเดิมแทบสูญหายไปหมดแล้ว เหลือเพียงคนเก่าแก่ที่มีเชื้อสายมอญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ศาลาการเปรียญ (เก่า) วัดท่าข้าม มีภาพจิตกรรมที่สะท้อนสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชาวมอญในย่านนี้ เช่น ภาพการทำนาข้าว โดยเริ่มตั้งแต่การไถนา จนกระทั่งการเฉลิมฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว และพิธีกรรมการปลงศพของชาวมอญตามคัมภีร์โลกสิทธิ
ชุมชนมอญบางกระดี่ เป็นชุมชนมอญที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มเข็ง ทั้งภาษาพูด การแต่งกาย อาหารแบบมอญ การสืบสานวัฒนธรรมมอญ เช่น การละเล่นมหรสพที่เรียกว่า ทะแยมอญ พิธีตักบาตรน้ำผึ้งในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ฯลฯ รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น การรำผีมอญ โดยชาวมอญบางกะดี่จะเรียกตนเองว่าเป็น "มอญน้ำเค็ม" เนื่องจากที่ตั้งของชุมชนอยู่บริเวณใกล้กับอ่าวไทย สภาพนิเวศเป็นป่าชายเลน มีป่าจากขึ้นอยู่โดยทั่วไป
การทำแผนที่มรดกทางวัฒนธรรม
กิจกรรมวันจันทร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เป็นการบรรยายเรื่อง "การจัดทำแผนที่มรดกทางวัฒนธรรม" โดย ณัฐวิทย์ พิมพ์ทองและอภิญญา นนท์นาท เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมตามลักษณะพื้นที่ของผู้เข้าร่วมการอบรมฯ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ
๑) กลุ่มต้นคลอง สมาชิกของกลุ่มมาจากพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองและเรือกสวน ประกอบด้วย ๑) กลุ่มคนรักษ์คลองบางประทุน ๒) วัดหนังราชวรวิหาร ๓) โรงเรียนรุ่งอรุณ ๔) โรงเรียนวัดท่าข้าม ๕) โรงเรียนวัดเลา และ ๖) สยามสมาคม
๒) กลุ่มกลางคลอง สมาชิกของกลุ่มมาจากพื้นที่สวนต่อเนื่องกับพื้นที่น้ำกร่อย ประกอบด้วย ๑) โรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา ๒) โรงเรียนรัตนโกสินทร์ฯ ๓) โรงเรียนศาลเจ้าฯ ๔) โรงเรียนราชมนตรี ๕) โรงเรียนวัดบัวผัน ๖) โรงเรียนวัดบางกระดี่ ๗) โรงเรียนแสมดำ และ ๘) โรงเรียนวัดหัวกระบือ
๓) กลุ่มชายฝั่ง สมาชิกของกลุ่มมาจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ประกอบด้วย ๑) โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ๒) โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม ๓) กลุ่มเด็กรักบ้านปลายเจ้าพระยา ๔) บ้านขุนสมุทรจีน ๕) บ้านคลองช่อง จ. สมุทรสงคราม
การจัดทำแผนที่มรดกวัฒนธรรมแม้มีเวลาจำกัด แต่แต่ละกลุ่มก็ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ของกลุ่มตนเอง โดยสังเขปว่า
กลุ่มต้นคลอง พื้นที่บริเวณวัดหนังเดิมเคยเป็นเรือกสวนผลไม้ มีคุ้งน้ำสำคัญคือ "คุ้งเผาถ่าน" อยู่ในคลองสนามชัย อดีตผู้คนในย่านนี้จะนำไม้ตะบูน ไม้แสม ไม้โกงกาง จากย่านบางกระดี่และแสมดำมาเผาถ่านใช้เองและยังนำไปจำหน่ายด้วย การเผาถ่านหมดไปจากพื้นที่เมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีก่อน
ส่วน "คลองบางประทุน" เคยเป็นแหล่งขายไม้ไผ่ที่เรียกว่า ไม้พะอง บริเวณนี้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า "สามง่าม" และ "คุ้งลิ้นจี่" ในอดีตมีคนจากพระนครมาเที่ยวตลาดน้ำวัดไทร โดยล่องเรือมาจากคลองดาวคะนองตัดผ่านคลองลัดเช็ดหน้า ตรงไปทางคลองบางมดตัดเข้าตลาดน้ำวัดไทร ส่วนขากลับจะมุ่งไปทางคุ้งข้าวหลาม แล้วจึงออกทางคลองบางกอกใหญ่
บริเวณคุ้งลิ้นจี่เดิมเคยมีการปลูกลิ้นจี่ตลอดสองฝั่งแนวคลอง มีศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนที่สัญจรไปมาทางเรือ นอกจากนี้ยังมีการปลูกส้มบางมดซึ่งเป็นผลไม้ประจำถิ่นที่ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว
สมัยที่ยังไม่สร้างเขื่อนปูน กุ้งในคลองมีเป็นจำนวนมาก จึงเกิดประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน นั่นคือ "ประเพณีมัวกุ้งมัวปลา" ของชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ โดยนัดกันมาปิดคลองแล้วตีน้ำให้ขุ่น ก่อนจะจับกุ้งที่กำลังเมาน้ำขึ้นมาแบ่งปันกัน
กลุ่มกลางคลอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของย่านบางขุนเทียน ปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่เมือง มีถนนตัดผ่านหลายสาย ตัวแทนจากโรงเรียนศาลเจ้า (ห้าวนุกูลวิทยา) ได้อธิบายแผนที่ของกลุ่มว่า เดิมที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ที่ถนนบางบอนก่อนจะย้ายมาอยู่ริมคลองศาลเจ้า ในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นทุ่งนา มีโรงสี และเป็นชุมชนของชาวจีน โดยตระกูลม่วงศิริ ซึ่งเป็นชาวจีนในพื้นที่ได้มอบที่ดินสร้างโรงเรียน ปัจจุบันนักเรียนมีทั้งเชื้อสายจีน ลาว พม่า และมอญ
ส่วนพื้นที่แถบริมคลองหัวกระบือซึ่งเป็นคลองแพรกหนึ่งของคลองสนามชัยนั้น เป็นชุมชนเก่าแก่ มีวัดหัวกระบือเป็นวัดโบราณ ทางด้านตะวันตกมีวัดบางกระดี่อยู่ริมคลองสนามชัย เป็นถิ่นที่อยู่ของชุมชนชาวมอญ ปัจจุบันพื้นที่ในแถบนี้ยังเป็นป่าจากต่อเนื่องกับพื้นที่ตอนล่างในเขตแสมดำ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขณะที่พื้นที่ทางตะวันออกแถบวัดบัวผันเดิม เคยเป็นสวนส้ม แต่มีปัญหาในเรื่องของน้ำ ปัจจุบันจึงหันมาปลูกมะพร้าวกันมาก
กลุ่มชายฝั่ง ที่ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการไปถึงสมุทรสาคร เริ่มจากตัวแทนของพื้นที่ชายฝั่งสมุทรปราการ ที่ให้ข้อมูลว่านอกจากชายฝั่งบ้านตนจะมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่างสถานตากอากาศบางปูแล้ว ยังมีวัดสำคัญของย่านคือวัดอโศการาม ส่วนในชุมชนตาเจี่ยมีการละเล่นหมากรุกคน โดยใช้คนแต่งกายในลักษณะต่างๆ เป็นตัวเดินหมากและมีประเพณีรับบัวของชาวบางพลีในช่วงเทศกาลออกพรรษา ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีการทำนาในแถบคลองสวนซึ่งอยู่ตอนบนของพื้นที่
ส่วนพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีนทางฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นท่าเรือ เพราะพบเศษเครื่องถ้วยจีนจำนวนมาก นอกจากนี้ที่วัดสาขลายังพบเสาหงส์และสำเนียงการพูดของคนในชุมชนคล้ายกับชาวมอญ ในอดีตบ้านสาขลาเคยทำนาเกลือก่อนจะหันมาทำบ่อเลี้ยงกุ้งแทน ด้านพื้นที่ชายฝั่งในเขตบางขุนเทียน มีวัดลูกวัวที่อาจสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับตำนานที่มาของนามวัดหัวกระบือ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของพื้นที่ ในอดีตเคยมีการทำนาข้าว ช่วงที่ราคากุ้งดี ชาวบ้านจึงหันมาขุดบ่อเลี้ยงกุ้งแทนการทำนา ขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งออกไปในพื้นที่ป่าชายเลน ส่งผลให้ป่าชายเลนแถบนี้ลดลง
ส่วนพื้นที่ชายฝั่งสมุทรสงครามมีการทำนาเกลือ เลี้ยงหอยแครง บ่อเลี้ยงกุ้ง และมีการเพาะเลี้ยงปลาสลิด ทำนาข้าวพันธุ์เหลืองประทิวในพื้นที่แพรกหนามแดง นอกจากนี้ยังมีการทำสวนผลไม้ เช่น มะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ ซึ่งมีการนำพันธุ์จากบางขุนเทียนไปปรับปรุงพันธุ์จนมีลักษณะเฉพาะ
พื้นที่สมุทรสงครามมีคลองแม่กลอง คลองสุนัขหอน เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีนเข้าคลองมหาชัยไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา และสามารถเชื่อมเข้าไปยังคลองสำโรงในพื้นที่สมุทรปราการได้ ซึ่งเส้นทางน้ำที่ว่านี้สามารถเชื่อมโยงการสัญจร การค้า ของผู้คนในอดีตที่อยู่พื้นที่ด้านในและพื้นที่ชายฝั่งเข้าด้วยกัน
จากการอบรมเนื่องในวันเล็ก - ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑๒ นี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นให้ "คนใน" ท้องถิ่นย่านบางขุนเทียนและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เกิดความเข้าใจสภาพภูมิวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย ทั้งระบบนิเวศธรรมชาติและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน ทั้งยังเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
หลังจากแจกประกาศนียบัตรให้แก่ผู้อบรมแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ได้กล่าวปิดท้ายการอบรมครั้งนี้ว่า เป็นความโชคดีของครูและคนย่านบางขุนเทียน ที่ได้มาเรียนรู้การทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและแผนที่มรดกวัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับท้องถิ่นได้อย่างดี