ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
วันศุกร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
งานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ของทุกปีที่ผ่านมา นำเสนอแนวคิดของผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ในการศึกษาเพื่อจะทำความเข้าใจความหลากหลายชาติพันธุ์ของผู้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะในงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ด้านศิลปะ ศาสนาและวัฒนธรรมที่ผสมผสานหล่อเลี้ยงความเข้าใจในการดำรงอยู่ร่วมกันจนกลายเป็น “คนสยาม” ซึ่งแสดงความหมายถึงผู้คนในดินแดนที่เรียกว่า “สยาม” อันเป็นมาตุภูมิเดียวกัน
ในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึกปี ๒๕๕๓ นี้ จึงถือเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่โครงการสำคัญที่สืบทอดความคิดและอุดมการณ์ของคุณเล็ก และคุณประไพ วิริยะพันธุ์ อันได้แก่
๑) โครงการ “ประตูสี่ทิศ” อันเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ที่จะสร้างความเข้าใจในการรักษาและสืบสานคนไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืนและไปในทางที่ถูกที่ควร
๒) รายการสารคดีโทรทัศน์ “พอเพียง เพื่อแผ่นดินเกิด” ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้าใจ และความสำคัญของแผ่นดินถิ่นเกิดซึ่งเป็นต้นธารของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ท้องถิ่น ความเป็นชาติที่หลากหลาย จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่ในสังคมไทยได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของท้องถิ่นและชุมชนของตนเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ส่งผลให้แนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่อาจเชื่อมโยงกับคนรุ่นพ่อแม่ได้ ขาดสำนึกของความเป็นท้องถิ่นและและสำนึกในบ้านเกิดเมืองนอน รวมถึงการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทางสังคมเช่นในอดีต เชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยที่กำลังเป็นอยู่
และ ๓) “ภาพวาดแผนที่ประวัติศาสตร์เกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ฉบับเมืองโบราณ” เพื่อสร้างความเข้าในภูมิวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของราชธานี โดยในงานครั้งนี้ทางบริษัทเมืองโบราณ
มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้ร่วมกันจัดงานวันเล็กประไพ รำลึก “เพื่อแผ่นดินเกิด” ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันศุกร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖.๔๐ น. เพื่อเผยแพร่งานสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยคุณกันธร ทองธิว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของคุณเล็ก และคุณประไพ รวมถึงการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ แหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปะและวัฒนธรรมของสยามประเทศ มีพื้นที่ทั้งหมด ๖๐๐ ไร่ แบ่งหน่วยงานออกเป็น ๔ องค์กรซึ่งเรียกว่า “ประตูสี่ทิศ” อันได้แก่ ๑) ค่ายกสิกรรมธรรมชาติ คือ ความพอเพียง ๒) ค่ายริมขอบฟ้า อันเป็นค่ายลูกเสือเพื่อฝึกเยาวชน คือ ความมั่นคง ๓) ปูทะเลย์การท่องเที่ยวและเรียนรู้ อันเป็นสถานการเรียนรู้และสืบสานงานศิลปหัตถกรรม คือ ความมั่งคั่ง ๔) โรงเรียนเมืองโบราณ อันเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกมัคคุเทศก์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ ความยั่งยืน
คุณกันธร ทองธิว
และมีการแนะนำเสนอVTR งานสารคดี “พอเพียงเพื่อแผ่นดินเกิด” ซึ่งเป็นรายการสารคดีจากความร่วมมือระหว่างบริษัทเมืองโบราณ มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ โครงการผลิตโทรทัศน์เอเชียแซทเทิลไร้ท์ทีวี บริษัท ไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด ช่องเถ้าแก่น้อย ที่ถ่ายทอดการนำเสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้าใจ และความสำคัญของแผ่นดินถิ่นเกิด (หรือท้องถิ่นต่างๆ) ซึ่งเป็นต้นธารของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ท้องถิ่น ความเป็นชาติที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่ในสังคมไทยได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของท้องถิ่นและชุมชนของตนเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในกระแสของโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้แนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่อาจเชื่อมโยงกับคนรุ่นพ่อแม่ได้ รวมทั้งขาดสำนึกของความเป็นท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนที่เชื่อมโยงกับอดีตอดีต อันส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยที่กำลังเป็นอยู่อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในรูปของรายการสารคดีโทรทัศน์โดยคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ และคุณนงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ จากโครงการผลิตโทรทัศน์เอเชีย แซทเทิลไร้ท์ทีวี บริษัท ไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด ในฐานะผู้ผลิตรายการได้กล่าวถึงการทำงานและความรู้สึกนึกคิดต่อรายการ
รวมถึงได้นำเสนอ VTR แนะนำผลงาน “แผนที่ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา” อันเป็นภาพวาดที่แสดงถึงสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม ภูมิวัฒนธรรมของเกาะเมืองอยุธยาในอดีต เช่น ภูมิประเทศสำคัญได้แก่แม่น้ำลำคลอง วังและวัด ชุมชนสำคัญ ทุ่งนาสำคัญ ป้อมปราการ ตลาด ท่าน้ำ ฯลฯ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในอยุธยา เพื่อให้เข้าใจถึงพื้นฐานและระบบวิถีชีวิตที่แท้จริงของกรุงศรีอยุธยา
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมได้กล่าวถึงความสำคัญของงานที่ทางบริษัทเมืองโบราณ จำกัด และมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ได้ทำในปี ๒๕๕๓ นี้ ว่าเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานสังคมไทยคือภูมิวัฒนธรรม ซึ่งมีที่มาจากความสัมพันธ์คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อให้เป็นพ้นฐานในการก้าวของสังคมไทยต่อไปอย่างถูกทิศทาง โดยอาจารย์ศรีศักรได้กล่าวถึงกรณีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๕๓ เฉพาะกรณีภาคกลาง อันมีสาเหตุหลักประการหนึ่งคือการที่มนุษย์ไปสร้างเขื่อนชลประทาน ไฟฟ้า กระทั่งเขื่อนริมน้ำ รวมทั้งการถมทางน้ำสำคัญ จึงทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปได้เท่าที่ควร รวมทั้งการที่มนุษย์ตั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างไม่ถูกต้อง เช่นการสร้างบ้าน ซึ่งในอดีตผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำ เช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะสร้างบ้านเรือนยกเสาสูง ใช้เรือเป็นพาหนะหลัก เมื่อหน้าน้ำท่วมจึงไม่เป็นปัญหามากนักสำหรับคนในอดีต หากยังเป็นฤดูที่สนุกเพราะจะได้เที่ยวทางเรือและเล่นเพลงเรือหรือสักวาในหน้าน้ำ ฯลฯ
โดยกลุ่มท้องถิ่นรับเชิญที่เข้าร่วมในงานได้แสดงความรู้สึกและความคิดเห็น กับความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานสารคดี “พอเพียงเพื่อแผ่นดินเกิด”
วีซีดีรายการ "พอเพียงเพื่อแผ่นดินเกิด" และ ดีีวีดี แผนที่กรุงศรีอยุธยา
วีทีอาร์ชุด"เมืองโบราณมรดกทางวัฒนธรรม " พูดเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองโบราณและคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ