มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ถือโอกาสเนื่องในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณและดำเนินกิจกรรมทางสังคมอีกมากมาย นอกเหนือไปจากกลุ่มธุรกิจด้านต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เริ่มเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้วมูลนิธิฯ มีการจัดเสวนาทั้งเรื่องการสืบและประกาศเจตนารมณ์แนวทางในการสร้างเมืองโบราณของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ การนำชมการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของเมืองโบราณที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ และเรื่อยมาจนถึงแนวทางการศึกษาท้องถิ่นเพื่อรู้จักท้องถิ่น เช่น การเรียนรู้เรื่องการสร้างประวัติศาสตร์บอกเล่า การเรียนรู้เรื่องแผนที่เพื่อใช้งานกับการศึกษาท้องถิ่น ฯลฯ แนวทางและวิธีการต่างๆ เหล่านี้เป็นแนวทางการทำงานหลักของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องในวันเล็ก-ประไพ รำลึกครั้งที่ ๑๑ มูลนิธิฯ จัดให้มีการอบรมเรื่อง ปฏิบัติการประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ และได้รับความร่วมมือจากค่ายริมขอบฟ้าและเมืองโบราณ สมุทรปราการ โดยเชิญกลุ่มท้องถิ่นต่างๆ ที่สนใจในการศึกษาและทำงานเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมของท้องถิ่นของตนเข้าร่วม ๕ กลุ่ม
แต่ละกลุ่มมีจำนวนผู้เข้าร่วมการอบรมสัมมนากลุ่มละ ๘-๑๐ คน ประกอบด้วย กลุ่มพิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีตัวแทนจากโรงเรียนบ้านแพรกวิทยาเป็นกลุ่มนักเรียนที่ทำกิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑ์มาพร้อมกับผู้ก่อตั้งและดูแลพิพิธภัณฑ์คือ อาจารย์ประสาร เสถียรพันธุ์ กลุ่มพิพิธภัณฑ์จันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างเป็นทางการมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว มีอาจารย์ที่ปรึกษาของยุวมัคคุเทศก์ อาจารย์รุจิรา เชาวน์ธรรม และภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ มณีรัตน์ แก้วศรี ร่วมกับเด็กๆ อาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์วัยรุ่นจำนวนหนึ่ง ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ใช้กำลังหลักในการจัดการและดูแลจากโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ เพียงแต่พิพิธภัณฑ์จันเสนนั้นอยู่ในความดูแลของวัดจันเสนและองค์การบริหารส่วนตำบลที่ทำให้การบริหารงานดูออกจะมีความชัดเจนและทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจังได้มากกว่าที่บ้านแพรก
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มครูอาจารย์ พระสงฆ์ และผู้สนใจในท้องถิ่นสมุทรปราการ ซึ่งที่ผ่านมาเมืองโบราณ บางปู ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดให้มี โครงการเผยแพร่ความรู้แก่ครูในท้องถิ่นและการจัดพิพิธภัณฑ์อยู่ หลายแห่ง และเพิ่งเริ่มมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แนวทางการศึกษาท้องถิ่นกับมูลนิธิฯ ในโอกาสวันเล็ก-ประไพรำลึก
จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันราชภัฏสกลนคร ส่วนมากแล้วมาจากคณะครุศาสตร์ที่มีความสนใจในงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของท้องถิ่นแม้จะไม่ใช่คนที่เกิดจากภูมิลำเนาใน
เมืองสกลนครโดยตรง แต่เมื่อเกิดกรณีต่อต้านการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบซึ่งเป็นการผลักดันของคณะสงฆ์วัดธรรมกายที่ดอนสวรรค์อันเป็นพื้นที่สาธารณะในหนองหารและมีความสำคัญต่อความทรงจำและประวัติศาสตร์สังคมของคนเมืองสกลนคร น้องๆ เหล่านี้ออกมาช่วยกิจกรรมของท้องถิ่นและกลุ่มรักษาดอนสวรรค์ที่เป็นแกนนำสร้างความตื่นตัวทางสังคมและเป็นกำลังในการทำงาน ปัจจุบันการออกโฉนดดังกล่าวดูเหมือนจะจบวาระเพราะติดขัดทางกฎหมายและผิดจารีตศีลธรรมนานาประการ น้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางสังคมและมีความพยายามจะรวบรวมและช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์สังคมของตนเอง โดยมี คุณจักรพงษ์ วงศ์กาฬสินธุ์ ผู้อาวุโสในเมืองสกลนครท่านหนึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างใจดี
ทางภาคใต้กลุ่มจากยุวชนสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ ๓ ติดต่อกันแล้วที่ทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ตลอดจนพี่เลี้ยงที่เป็นเยาวชนรุ่นพี่มาร่วมงานอบรมประจำปีกับมูลนิธิฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีเด็กและเยาวชนทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นสมาชิก จึงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมกิจกรรม แม้จะยังไม่เคยนำกระบวนการศึกษาท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับการแนะนำไปทดลองปฏิบัติอย่างจริงจังในโครงการของกลุ่มก็ตาม แต่คาดหมายได้ว่าน่าจะมีผลต่อวิธีคิดและปฏิบัติการโครงการที่กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ที่มีเครือข่ายการทำงานเรื่องการศึกษาและกระบวนการถ่ายทอดดนตรีนาฏศิลป์ท้องถิ่นอย่างจริงจังมาโดยตลอด
กลุ่มสุดท้ายจากในพื้นที่ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมชายแดนใต้เป็นกลุ่มหลัก มีตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารและมีหนุ่มๆ รวมกลุ่มในท้องถิ่นออกศึกษาสภาพแวดล้อม อธิบายเรื่องราวต่างๆ ในท้องถิ่นของตนเองคือ กลุ่ม Saiburi Looker และแว้งที่รัก สถาปนิกจากกลุ่มศึกษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกันจากเครือข่ายทางสังคมที่ใช้ “เฟสบุ๊ก” เป็นสื่อกลางเพราะเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่รวมทั้งระยะทางห่างไกล พวกเขาไม่มีโอกาสได้รวมตัวพบปะกันมากนัก สิ่งที่ทำงานกันผ่านมาถือว่าเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่ทำให้คนภายนอกจากสังคมไทยส่วนใหญ่ผู้ไม่มีโอกาสได้ทำความเข้าใจในคนมลายูท้องถิ่นและประเพณีปฏิบัติทางสังคมของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้าใจในสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตและความนึกคิดของผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่แห่งความรุนแรงที่เสียงของ ชาวบ้านธรรมดาหรือเสียงของผู้คนซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินเกิดทางใต้สุดมักแผ่วเบาและไม่มีข้อมูลปรากฏมากนัก อันทำให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันตามมา
กลุ่มทางสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงสองปีหลังมานี้ นอกจากจะนำแนวคิดจากมูลนิธิฯ ไปใช้ในการปฏิบัติการศึกษาและรวบรวมข้อมูลท้องถิ่นได้แล้ว ก็ยังทำหน้าที่ได้ชัดเจนในการเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ ได้เข้าใจคนและสังคมของตนเองที่ดูเหมือนในอดีตจะมีเพียงความลึกลับและน่ากลัว เป็นภาพเพียงมิติเดียว แต่การอยู่ร่วมกันในเวลาเพียงไม่นานกลับทำให้เกิดความคิด ความรู้สึกและความเข้าใจที่แตกต่างไปจากเดิมในกลุ่มผู้ร่วมงานอบรมปฏิบัติการฯ นี้อย่างชัดเจน
ในการอบรมความรู้ปฏิบัติการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครั้งนี้ได้รับโอกาสจากคุณปั้น ทองธิว ตัวแทนเมืองโบราณและผู้สืบสานความคิดของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์มาร่วมเปิดงานอบรมและเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ การทำงานของเมืองโบราณในบรรยากาศของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิฯ บรรยายเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเรื่อง ‘ภูมิทัศน์ท้องถิ่น’ [Local Landscape] และความหมายของนิเวศวัฒนธรรม ภูมิวัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรม” และวิทยากรจากมูลนิธิฯ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ บรรยายเรื่อง “ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและพัฒนาการของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย” สุดารา สุจฉายา บรรยายเรื่อง “การนำเอาข้อมูลท้องถิ่นไปเขียนงานสารคดีและบทนิทรรศการ”
นอกจากนี้ยังมีวิทยากรรับเชิญคนสำคัญผู้เขียนงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่มสำคัญของสามจังหวัดชายแดนใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม บรรยายเรื่อง “การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี”
มูลนิธิฯ ยังทำเอกสารประกอบการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้แก่ผู้อบรมฯ นำไปทบทวนแนวคิดในการทำงานสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในเอกสารประกอบด้วย “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ประวัติศาสตร์ของสังคมที่หายไป” เรื่อง ศรีศักร วัลลิโภดม เรียบเรียง วลัยลักษณ์ ทรงศิริ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : แนวคิดและวิธีการ” โดยศรีศักร วัลลิิโภดม “เพื่อมาตุภูมิ” เรื่อง ศรีศักร วัลลิโภดม เรียบเรียง วลัยลักษณ์ ทรงศิริ “การศึกษาสังคมไทยผ่านภูมิวัฒนธรรม” เรื่อง ศรีศักร วัลลิโภดม เรียบเรียง วลัยลักษณ์ ทรงศิริ “พื้นที่ทางวัฒนธรรม : การโต้กลับทางภูมิปัญญาของคนใน” โดย ศรีศักร วัลลิโภดม “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : พัฒนาการโดยย่อ” โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ในช่วงเวลา ๓ วันนี้ แม้เป็นเวลาไม่มากนัก แต่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านก็ใช้เวลาอย่างมีค่าและกระตือรือร้นมากที่สุด เมื่อสดับฟังความรู้และตั้งวงพูดคุยกันแล้วยังมีการชมเมืองโบราณในช่วงเวลาเกือบครึ่งวัน จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอปัญหาในการทำงานเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของแต่ละกลุ่มซึ่งมูลนิธิฯ บันทึกเป็นข้อมูลเพื่อทำงานกับชุมชนต่างๆ ในการทำงานเผยแพร่เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการศึกษาท้องถิ่นต่อไป
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑๐๐ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๗)