หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ชีวิต ประเพณีและความเชื่อหัวใจหลักของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน
บทความโดย นักวิจัยท้องถิ่นด่านซ้าย
เรียบเรียงเมื่อ 23 ม.ค. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 8061 ครั้ง

ชีวิต ประเพณีและความเชื่อ

หัวใจหลักของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน

 

                    ความเชื่อของคนลุ่มน้ำหมันมีทั้งความเชื่อในพุทธศาสนา โดยมีวัดประจำหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน กล่าวคือ บ้านด่านซ้ายมีวัดโพนชัย บานนาเวียงมีวัดโพธิ์ศรี และบ้านนาหอมีวัดศรีภูมิ

 

                     นอกจากนี้ยังมีความเคารพและศรัทธาในองค์พระธาตุศรีสองรัก ที่สำคัญยังคงเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติต่างๆมากมาย เช่นความเชื่อเรื่องผีและหอเจ้าบ้านของหมู่บ้าน ความเชื่อเรื่องการถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของชาวด่านซ้าย ในสมัยก่อนเชื่อว่าตามป่า ภูเขา ถ้ำ แม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง และตามบริเวณหมู่บ้านะมีผีดวงวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ผู้ใดละเมิดหรือไม่เคารพจะได้รับอันตราย เจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบเคราะห์กรรมต่างๆนานา

 

                     หากครอบครัวใดเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาจจะไปหาหมอยาม หรือหมอตรวจดวง หากหมอยามท้วงทักว่ามีเหตุมาจากผีตนใดตนหนึ่งจะทำให้เจ็บป่วยไข้ ญาติผู้ป่วยจะบอกกล่าวขอขมาลาโทษ แล้วน้ำเครื่องเซ่นพวกข้าวปลาอาหารทั้งหวานและคาวไปเซ่นไหว้ผีตามที่หมอยามอ้างถึงปัจจุบันความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับเรื่องผียังคงปรากฏในโลกทัศน์ทางความเชื่อของคนรุ่นผู้ใหญ่อยู่ เพียงแต่ธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องความเชื่อไม่เข้มงวดเท่าสมัยก่อน ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าของคนรุ่นก่อนมากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่ถึงกลับลบหลู่

 

                     ส่วนความเชื่อในรอบปีมีกสัมพันธ์กับการทำนาและวิถีชีวิตทางการเกษตร รวมทั้งยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อน คนในลุ่มน้ำหมันก็มักจะบนบานศาลกล่าวและแก้บะ (แก้บน) ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คนลุ่มน้ำหมันประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมในรอบปีและวัฎจักรชีวิตที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น ดังเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมฮีตสิบสองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วๆไปในท้องถิ่นอีสาน อีกทั้งชาวบ้านยังผนวกพิธีกรรมท้องถิ่นเข้าไปเป็นข้อปฏิบัติด้วย เช่น งานไหว้เจ้าเมืองวังเดือน ๔ งานไหว้เจ้าเมืองกลางเดือน ๕ เป็นต้น

 

                     อย่างไรก็ตาม ชุมชนลุ่มน้ำหมันแต่ละหมู่บ้านยังมีทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีร่วมกันของชุมชน เช่นความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และงานบุญเรื่องไหว้พระธาตุศรีสองรัก ขณะเดียวกันก็มีงานบุญประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน เช่น งานไหว้ภูอังลัง บ้านนาเวียง และงานไหว้ภูผาแดด บ้านนาหอ เป็นต้น ส่วนประเพณีสำคัญทางศาสนาจะร่วมกันจัดที่วัดประจำชุมชน แต่เนื้อหาโดยหลักๆมีลักษณะคล้ายๆกัน กล่าวคือ เป็นประเพณีของหมู่บ้านที่มีมาแต่โบราณของทั้ง ๒ หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นที่เคารพศรัทธาหรือมีความเชื่อต่อภูอังลังและภูผาแดดก็นิยมเดินทางเข้ามาประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกัน และจะประกอบในเดือน ๘ โดยบ้านนาเวียงจะทำก่อนบ้านนาหอประมาณ ๑ สัปดาห์

 

                    ทั้งนี้ชาวบ้านเชื่อว่าทั้งภูอังลังและภูผาแดดเป็นที่สิงสถิตวิญญาณลูกแก้ว(ประเภทหนึ่ง) ที่ช่วยเหลือให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข หมดเคราะห์ และทำการเกษตรได้ผล ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ คนเริ่มให้ความสำคัญน้อยลง เห็นได้จากจำนวนชาวบ้านที่ขึ้นไปบูชาภูลดลงมากอย่างสิ้นเชิงจากสมัยก่อนที่ผู้คนนิยมขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวบ้านได้รับการศึกษามากขึ้นจึงเปลี่ยนแปลงอาชีพไปทำงานด้านอื่นที่ไม่ใช่ภาคเกษตร เช่น รับราชการ และเป็นลูกจ้าง เป็นต้น จึงไม่มีเวลาว่างพอที่จะมาร่วมงานดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางหมู่บ้านยังคงปฏิบัติสืบสานประเพณีนี้อยู่อย่างต่อเนื่องทุกๆปี นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมขึ้นบูชาภูมทั้งสอง เพราะสถานที่ที่อยู่บนภู ต้องเดินทางไกลขึ้นเขา การเดดินทางลำบาก ทำให้คนเดินขึ้นเขาไม่ไหว สะท้อนให้เห็นว่ายุคปัจจุบันชาวบ้านคุ้นเคยกับการนั่งรถ ไม่ต้องเดินทางด้วยเท้าไปไหนไกลๆต่างจากสมัยก่อนที่ต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นหลัก คนสมัยก่อนจึงมีความอดทนสูงกว่า

 

                      ประเพณีบุญหลวง (ด่านซ้าย) โดยทั่วไปงานบุญหลวงของชาวอีสานจะจัดขึ้นช่วงเดือน ๔ ของทุกปี แต่ที่ด่านซ้ายจะจัดในเดือน ๘ เป็นประเพณีสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด่านซ้าย มีรายละเอียดดังนี้

 

                      งานบุญหลวงบ้านนาเวียง จะจัดหลังงานบุญหลวงวัดโพนชัย บ้านด่านซ้าย เหตุที่ถือเช่นนี้เพราะถือว่าวัดโพนชัยเป้นวัดเก่าแก่ของอำเภอด่านซ้าย ต้องให้วัดเก่าแก่ประกอบพิธีก่อน เดิมพิธีทำบุญหลวงจะให้กวนจ้ำและพระภิกษุปรึกษาหารือเพื่อเลือกวันที่จะประกอบพิธีกรรม แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้เข้ข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดพิธีงานบุญหลวงด้วย เมื่อหารือกำหนดวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการประชุมในส่วนของชาวบ้านเพื่อจัดเตรียมความพร้อมเพียงข้างของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จะนำมาประกอบพิธีในวันงาน โดยทั่วไปงานบุญหลวงจัดขึ้น ๔ วันคือ วันแรก เรียกว่า วันแต่งวัด วันที่สอง เรียกว่า วันโฮม วันที่สาม คือวันแห่พระ และวันสุดท้ายคือวันฟังเทศน์

 

                        วันแรกหรือ วันแต่งวัด ชาวบ้านจะนำกล้วย อ้อย เมี่ยง หมาก ธูป เทียน ปืน ดาบ ข้าวตอก ดอกไม้ และโอ่งน้ำเพื่อใช้ทำน้ำมนต์ที่พระจะเทศน์ตลอด ๑ วัน ๑ คืน ในวัดสุดท้าย ฝ่ายชายจะช่วยกันประดับประตูโขง ทำดอกบัว ทำดอกธนู และทำดาบ เสร็จแล้วจึงมาแต่งกระทงเพื่อทำเครื่องร้อยเครื่องพันไว้ใช้วันเลิกงาน ขณะที่ฝ่ายหญิงจะช่วยกันทำคกลุ่มหนึ่งวามสะอาด และช่วยกันเย็บ “ ธงพันชั้น ” ที่ใช้เศษผ้าหลายผืนหลากสีมาเย็บ แล้วช่วยกันติดสายรุ้งรอบศาลาและรอบลานวัด ฝ่ายหญิงอีกกลุ่มหนึ่งจะช่วยกันเตรียมกับข้าวเพื่อไว้ต้อนรับแขกจากหมู่บ้านต่างๆที่จะนำกัณฑ์เทศน์มาถวาย นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมสถานที่ที่จะใช้แห่พระให้เรียบร้อยด้วย เพื่อที่ระหว่างงานของวันต่างๆ ชาวบ้านจะได้สนุกสนานเฮอากันเต็มที่ ไม่เช่นนั้นงานดังดำเนินไปได้ไม่สะดวก ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะทำให้ผิดธรรมเนียม

 

                         เสร็จจากการแต่งวัดแล้ว ข้างฝ่ายผู้เฒ่าผู้แก่จะเตรียมอาบน้ำอาบท่า กระทั้งกินข้าวเย็นเสร็จ จะเตรียมจัดที่นอน ไม่ว่าจะเป็นหมอน ผ้าห่ม ผ้านวม และหัวขันหมากมานอนที่ศาลาวัดเพื่อเตรียมเบิกอุคุตในเช้ามืดของวันโฮม ประมาณทุ่ม สองทุ่มคนเฒ่าคนแก่จะเดินทางมาถึงที่วัด ใครมาก่อนก็จะเตรียมฆ้อง กลอง และฉาบ ตีรอคอยคนที่อยู่ทางบ้าน เขาเรียกกันว่า “ ตีฆ้องตีกล้อง โฮมคน โฮมพ่อ และโฮมแม่ ” ให้ออกมาร่วมงานกันที่วัด เพื่อรอการเบิกอุปคุตประมาณตีสี่ตีห้าของวันโฮมในงานบุญหลวง แต่กว่าจะถึงเวลาเบิกอุปคุตก็หลายชั่วโมง ชาวบ้านหลายคนจึงง่วงนอน ผู้เฒ่าผู้แก่หรือหนุ่มสาวก็ต้องช่วยกันร้องรำทำเพลงอยู่บนศาลาวัดตลอดคืน

 

                         วันโฮม กระทั้งถึงเวลาอันสมควรที่จะเตรียมการเบิกอุปคุต ฝ่ายคณะกรรมการวัดจะจัดคนไปเฝ้าประตูวัดว่าที่ทางเข้าออก ไม่ให้คนนอกเข้ามาในขณะที่ทำพิธีเบิกอุปคุต และไม่ให้คนในออกไปข้างนอกวัดด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆว่าคนในห้านออกคนนอกห้ามเข้า เวลาเบิกอุปคุตถ้ามีคนเข้าออกในบริเวณวัด หรือแม้กระทั้งสัตว์ก็ตาม ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะหากปล่อยให้เข้ามาในงานได้ จะก่อให้เกิดเรื่องไม่ดี เช่น อาจจะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน หรือ เรื่องอื่นๆ ดังนั้นผู้ดูแลประตูเข้าออกต้องตรวจตราอย่างระมัดระวัง จนกว่าการเบิกอุปคุตจะเสร็จเรียบร้อยจึงจะเลิกเฝ้าได้

 

หนึ่งในพ่อแสนทำพีเบิกอุปคุต

 

                    จุดแรกของการเบิกอุปคุต จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ โดยมีพราหมณ์ใส่ชุดสีขาวเดินนำหน้าตรงไปที่จุดทำพิธี อีกกลุ่มหนึ่งก็หามฆ้องใบใหญ่ไปตีเวลา พิธีจะเสร็จเป็นจุดๆ ชาวบ้านที่ตีฆ้อง ตีกลอง และตีฉาบ ก็จะแห่ตามกันไป ระหว่างนั้นต้องเตรียมปืนยาวไว้ ๑กระบอก

 

                      จุดแรกจะทำพิธีใช้เวลานานพอควร คือ ประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อทำพิธีสวดเสร็จก็ต้องให้ผู้มีหน้าที่เก็บหินเป็นตัวแทนของนางมัจฉาในแม่น้ำ แล้วโยนหินลงไปในแม่น้ำสามก้อน โดยคนงมต้องหาหินให้เจอทั้งสามก้อน งมครบสามก้อนแล้วจึงตีฆ้องใหญ่ ผู้ถือปืนต้องคอยดูว่าเมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะต้องค่อยเตรียมยิงปืนจนครบสามนัด เสียงฆ้อง เสียงกลอง เสียงฉาบ และเสียงผู้คนร้องทำการร้องโฮ่ แล้วจึงแห่ไปทำพิธีทั้งสี่มุมของวัด พอครบทั้งสี่มุมจึงทำการรำวงรอบวัดสามรอบ โดยให้กวนจ้ำและนางแต่งผู้เป็นตัวแทนร่างทรงเจ้าทั้งหลายได้รำเป็นปฐมฤกษ์

 

ขบวนแห่เจ้าพ่อกวนรอบองค์พระธาตุศรีสองรัก วัดโพนชัย ในงานบุญหลวง

 

                        ถึงเวลาเช้าวันใหม่เมื่อชาวบ้านกินข้าวกินปลาและทำงานบ้านเสร็จแล้ว จะเดินทางมารวมตัวกันเป็นกลุ่มที่วัดอีกครั้ง เพื่อจัดสรรเครื่องแต่งตัวที่ตลกขบขันออกมาฟ้อนรำกันบริเวณรอบวัด เสียงฆ้อง กลอง ฉาบ และแคน ตีเป็นจังหวะทำให้เกิดความคึกครื้นและเร้าใจ นอกจากนี้ยังมีการเซิ้งบุญ โดยจะมีการพูดเป็นคำที่สอดคล้องกันเป็นจังหวะไปและจะมีผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนเล็ก

 

                        ผีตาโขนสมัยก่อนหน้าตาน่ากลัวมากไม่มีสีสันสวยงามเหมือนปัจจุบัน มีหน้ากากาเป็นกาบมะพร้าว หรือใช้หวดนึ่งข้าวเก่าๆขาดๆ ที่ไม่ใช้แล้วเอามาทำเป็นหัวผีตาโขน ผ้าก็ต้องเอาผ้าที่เก่าๆขาดๆเช่นกัน ส่วนเครื่องประดับแต่งกายเป็นแบบธรรมชาติพื้นๆ

 

                        สำหรับผ้าที่เอามาเย็บเป็นตัวเสื้อผีตาโขนจะเย็บด้วยมือ ใช้เข็มด้ายเย็บกันเป็นเดือนๆไม่ได้ใช้จักรเย็บเหมือนปัจจุบัน ผ้าจะใช้ผ้าที่นอนเก่าๆ ปลอกผ้านวมที่ไม่ใช้แล้ว หรือผ้าจีวรพระสงฆ์ที่ไม่ใช้แล้วมาเย็บประติดประต่อกัน

 

                       ชุดของผีตาโขนทั้งหน้ากากและเสื้อผ้าเป็นของธรรมชาติที่ไม่มีการแต่งเติมไม่มีสีสัน ผีตาโขนในสมัยก่อนจะเป็นผีตาโขนที่น่ากลัวมาก

 

                        คำว่า “ บุญหลวง ” ใครๆก็รู้ว่ามีผีตาโขน เมื่อ ก่อนเขาเรียกว่า “ ผีนำคน ” พอนานเข้าจึงเพี้ยนเป็ นผีตาโขน ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า ผีนำคน เพราะเวลาประกอบงานบุญหลวง ผีตาโขนจะคอยนำคนออกตลาดตอนดึก เวลาช่วงเช้าส่วนมากแม่ค้าจะเอาของไปขายที่ตลาดสด แม่ค้าจะเดินหาบกระบุงใส่ของไปขายที่ตลาดเช้าทุกวัน ผีตาโขนจะต้องคอยออกไปดักขโมยของขายของแม่ค้าหรือที่แบ่งเอาไว้กิน บุคคลที่ใส่ผีตาโขนจะไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร แต่มีความรู้สึกว่าในสมัยนั้นถ้าใครได้ใส่ผีตาโขนจะรู้สึกเท่และโก้มาก สำหรับหนุ่มๆสาวๆ เพราะไม่มีอะไรที่จะให้ชาวบ้านได้แสดงออกการละเล่น ผีตาโขนจะเล่นโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กจะไม่มีโอกาสเลย เด็กหนุ่มวัยรุ่นจะไม่มี โอกาสใส่เช่นกัน จะมีก็แต่คนแก่ เพราะเขาถือว่า “ เด็กปากบ่แล้วแข้ว(ฟัน)บ่ดำ เล่นบุญบ่ได้ ไม่ดี ”

 

                          ผีตาโขนยุคต่างๆในอดีตจะใช้วัสดุที่มีตามธรรมชาติ มีอุปกรณ์สำคัญคือ หวดนึ่งข้าว เย็บติดกับปลีมะพร้าว ใช้ไม้เนื้ออ่อนทำจมูก ไม่มีการแต่งแต้มสีสันมากมายนัก เสื้อผ้าของผีตาโขนจะทำด้วยเศษผ้าและมุ้งเก่าๆ การทำหน้ากากผีตาโขนต้องแอบทำเพื่อไม่ให้ใครจำหน้าของตนเองได้ และเมื่อเสร็จสิ้นงานแล้ว หน้ากากผีตาโขนจะต้องนำไปทิ้งน้ำ หากแต่ปัจจุบันผีตาโขนมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยมีการนำวัสดุสมัยใหม่มาแต่งเติมลวดลายให้ดูมีสีสัน เช่น สีเรซิน ยูรีเทน แต่วัสดุที่ใช้ยังคงอนุรักษ์ของแบบเดิมอยู่ เสื้อผ้าผีตาโขนมีการดัดแปลงมาใช้ผ้าลายไทย และผ้าสมัยใหม่ที่มีสีสันมากขึ้น การเต้นก็มีลีล่าวงท่าและทำนองตามยุคสมัย

 

                            ผู้เล่นผีตาโขนมีอุปกรณ์การเล่นอยู่ ๒ อย่างเพื่อเป็นอาวุธประจำกาย คือ ดาบหรือง้าง ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช้น ไม้งิ้ว ไม่ฉำฉา ส่วนด้ามของดาบมีการแกะสลักเป็นรูปอวยวะเพศชาย และนิยมใช้สีแดงทางตรงปลายด้าม อีกสิ่ง คือ หมากกะแล่ง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงดังในขณะท่มีการเต้นและออกท่าทาง (ปกติช้แขวนคอวัวหรือควาย) บ้างจะใช้กระดิ่งกระพวนหรือกระป๋องที่บรรจุก้อนหินไว้ข้างใน

 

พัฒนาการรูปแบบหัวผีตาโขน (ซ้ายแบบอดีตที่ไม่มีสีสัน ขวาแบบปัจจุบัน)

 

                         จึงเห็นได้ว่าประเพณีการเล่นผีตาโขนของคนลุ่มน้ำหมันมีพัฒนาการสืบเนื่องมายาวนาน เดินจะเล่นตามแบบธรรมชาติ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อทางราชการได้มองเห็นความสำคัญของประเพณีท้องถิ่น จึงได้ให้การสนับสนุนอนุรักษ์ และส่งเสริมงานประเพณีบุญหลวงให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

 

                         วันที่สามหรือ วันแห่พระ ทั้งคนและภิกษุจะมารวมตัวกันทีวัดเป็นจำนวนมาก เพราะชาวบ้านใกล้เรือนเคียงเดินทางมาร่วมงานบุญด้วย หนุ่มๆสาวๆจะแต่งตัวมาอวดกันในงาน ผู้บ่าวจะอออกมาเที่ยวบ้านผู้สาว ใครเป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าภาพต้องเตรียมอาหารการกินและเหล้ายาปลาปิ้งคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน พอถึงเวลาราวบ่ายสองโมงเริ่มเข้าสู่พิธีการแห่พระ ทางวัดจะจัดฝ่ายชายที่แข็งแรงไปหามพระหามพระพุทธรูป พระสงฆ์และสามเณร จากบริเวณที่คณะกรรมการกำหนดไว้ หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ที่ต้องทำพิธีสู่ขวัญพระเวศ (มีพระพุทธรูปเป็นตัวแทน) หลังสิ้นสุดพิธีสู่ขวัญจะเตรียมหามภิกษุและสามเณรพร้อมแห่บั้งไฟ ตามด้วยขบวนแห่ของกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมงาน ขบวนแห่ดังกล่าวจะมีกวนจ้ำเป็นผู้นำ ตามด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้าน ระหว่างแห่พระ จะมีการตีฆ้องและกลองส่งเสียงโห่ร้องจนครบสามรอบเป็นที่สนุกสนาน หลังจากนั้นพระภิกษุจะขึ้นไปที่ศาลาเพื่อทำพิธีทางศาสนาให้แก่ผู้มาร่วมงาน ทางฝ่ายชาวบ้านเมื่อแห่พระเสร็จแล้วจะทำการจุดบั้งไฟแข่งกันว่าของใครสูงกว่ากันของใครสูงกว่าคนนั้นชนะเลิศ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไปฟังเทศน์ต่ออีก ๑ วัน๑ คืน

 

ขบวนแห่พระเวสเข้าเมือง

 

                           วันสุดท้ายหรือ วันฟังเทศน์ ชาวบ้านจะเตรียมแห่ “ กันหลอน ” ส่วนทางวัดจะนิมนต์พระภิกษุวัดต่างๆมาร่วมเทศน์เพราะพระภิกษุที่วัดในหมู่บ้านเทศน์ไม่ไหว เนื่องจากต้องสวดกันทั้งวันทั้งคืน แม้จะมีหลารูป แต่บางรูปก็ยังเทศน์ไม่ได้ บางรูปยังบวชไม่ถึงเวลาเทศน์ พระภิกษุที่ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ต้องจำพรรษาหลายพรรษา และต้องอ่านตัวธรรมที่อยู่ในใบลานได้ ในตอนกลางวันจะมีกันหลอนของชาวบ้านเพื่อไปถวายพระที่วัด ก่อนวายจะทำการแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านได้ทำบุญร่วมกันหลายๆคน ชาวบ้านเรียกว่า “ บูญแห่ไปบ้านโน้นบ้านนี้ ” พอคล้อยบ่ายชาวบ้านจึงแห่หันหลอนมายังวัด ถ้ากันหลอนแห่มาถวาย พระรูปใดที่กำลังเทศน์อยู่ถูกกันหลอนมาถวายพระรูปจึงรับไป คนที่แห่หันหลอนก็ยังไม่รู้ว่าที่ได้ทำกันหลอนนั้นพระภิกษุรูปใดจะได้รับ ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า ต้นกันหลอน พอถวายต้นกันหลอนเสร็จแล้ว จะรอให้พระเทศน์เสร็จก่อน จากนั้นมัคนายกวัดจะแต่งขันห้า ขันแปด พาญาติโยมทั้งหลายคารวะเจ้าอธิการ พระพุทธ และพระสงฆ์ สิ้นสุดวัดฟังเทศน์ล่วงค่ำพอดี พอรุ่งเช้าวัดใหม่ก็ทำบุญตกบาตรต่อกันที่วัด เลิกแล้ก็ทำการแต่งกระทงเครื่องร้อยเครื่องพัน ชำรพสะสางส่งกระทงลงแม่น้ำหมัน เป็นอันเสร็จพิธีทั้งหมด พอเสร็จจากงานบุญหลวงหรืองานผีตาโขนแล้วก็เข้าพรรษาต่อ ฟังเทศน์กันทุกคืนต่อจนครบ ๓ เดือน แล้วจึงออกพรรษา

 

(งานบุญหลวงที่ด่านซ้ายจะจัดช่วงเดือน ๘ มี ๔ วัด คือ วัดโพนชัย ด่านซ้าย, วัดโพธ์ศรี นาเวียง, วัดศรีภูมิ นาหอ และวัดศรีสะอาด หนามแพ่ง ตามลำดับ)

 

ประเพณีไหว้ภูอังลัง

                             งานไหว้ภูอังลังเป็นงานประเพณีของหมู่บ้านนาเวียงที่มีมาแต่โบราณ แต่ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นที่เคารพศรัทธาหรือมีความเชื่อต่อภุอังลังก็นิยมเดินทางเข้ามาประกอบพีด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อถึงเดือน๘ วันอาสาฬหบูชาหรือก่อนวันเข้าพรรษา๑ วัน ชาวบ้านนาเวียงและหมู่บ้านใกล้เคียงจะไปตักบาตรทำบุญที่วัดเสร็จเรียนร้อยแล้ว กวนจ้ำ นางแต่งและภิกษุสงฆ์ ๔ รูป จะร่วมกันเดินทางขึ้นไปยังภูอังลัง ในส่วนของชาวบ้านจะจัดเตรียมน้ำ กับข้าว และเครื่องที่จะนำไปแต่งสักการบูชาภูอังลัง ระหว่างทางก็จะตีฆ้อง ตีกลองและตีฉาบเป็นที่สนุกสนาน เหนื่อยก็พักกันระหว่างทาง หายเหนื่อยก็เดินต่อ แต่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเดินไปถึงภูอังลังก่อนเที่ยง และระหว่างเดินขึ้นห้ามดื่มน้ำและกินอาหารเป็นอันขาด จึงต้องอาศัยความศรัทธาและอดทนสูง ดังนั้นหากครอบครัวใดผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นไปไม่ได้ก็จะส่งลูกหลานเป็นตัวแทนขึ้นไปไหว้ภูอังลังแทน พอไปถึงสถานที่ประกอบพิธีชาวบ้านจะช่วยกันแต่งเครื่องบูชา แต่งเครื่องร้อยเครื่องพัน และจัดหาใบไม้ใหญ่มาเย็บจอกให้ได้ ๑๒๕ จอก เครื่องไหว้แต่ละจอกประกอบด้วยกล้วย อ้อย แกงส้ม แกงหวาน เมี่ยง หมาก เทียน ดอกไม้ ขนมหวาน เนื้อย่าง ปลาย่าง ผลไม้ ข้าวโพด ข้าวต้ม ข้าวตอก ใบพลู ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อย่างน้อยต้องมีอย่างละ ๑๐ ชิ้น บริเวณที่ใช้ประกอบพีบนภูอังลังมีข้อห้ามว่าห้ามคนเข้ามานั่งเล่น ห้ามผู้หญิงผ่านลานหิน ซึ่งจัดทำเป็นอาสนะของพระสงฆ์ ดังนั้นเวลาประกอบพิธีผู้หนึ่งจึงต้องนั่งคนละฝั่งกับผู้ชายและพระสงฆ์

 

                              หลังจากนั้นกวนจ้ำจะจัดศาลทั้ง ๕ หิ้ง ใส่เครื่องไหว้หิ้งละ ๒๕ จอก โดยกวนจ้ำจะเป็นผู้ประกอบพิธีถวายเครื่องสักการบูชาเจ้าภูอังลัง ต่อจากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ เมื่อฉันเสร็จแล้วเทศน์หนึ่งกัณฑ์ ก่อนที่กวนจ้ำจะประกอบพิธีต่อเพื่อขอฟ้าขอฝนให้ตกตามฤดูกาล ขอให้มีน้ำไว้ใช้ในนา ขอเจ้าป่าเจ้าเขาและเหล่าเทวดาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภูอังลัง ภูผาแดด ภูผาด่าน ผาแดงนางไอ่ มาร่วมเพื่อเป็นสักขีพยาน เพื่อให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขหมดเคราะห์หมดโศก ขอให้ทำนาทำไร่ได้ผลอุดมสมบูรณ์ จากนั้นจำแขวนธงสักการบูชาภูอังลัง แล้วจุดบั้งไฟเป็นการเสี่ยงทายว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะดีไหม ถ้าฝนดีจะได้ทำนาก็ข้อให้บั้งไฟที่จุดเสี่ยงทายขึ้นดี ถ้าไม่มีฟ้าไม่มีฝนก็อย่าได้ขึ้น หลังจากเสร็จพิธีต่างๆแล้ว สุดท้ายกวนจ้ำจะนำทำพิธีคารวะต่อเจ้าภูอังลัง เพื่อให้ลูกหลานทุกคนที่ข้นไปร่วมพิธีในครั้งนี้ ที่อาจจะทำอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ขออภัยเจ้าของพื้นที่เป็นอันเสร็จพิธี

 

                               ผู้ใดหอบหิ้วสิ่งของขึ้นไปก็ต้องรับผิดชอบเอาลงมา ระหว่างทางการเดินทางขึ้นลงจะมีการตีฆ้อง และกลองร้องรำสนุกสนาน เมื่อกลับมาถึงเชิงเขาสาดน้ำขี้โคลนเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี

 

ทิวเขาหลังนาข้าวคือภูอังลัง ภูศักดิ์สิทธิ์ของบ้านนาเวียงและบ้านใกล้เคียง

 

                            ชาวนาเวียงเชื่อว่าหากครอบครัวไหนไม่ไปร่วมไหว้ภูปีถัดๆไปจะต้องนำเครื่องเซ่นไปทำบุญเป็นสองเท่า หากปฏิบัติไหว้ภูทุกปีจะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ประสบแต่ความสุข อีกทั้งเป็นการเตรียมตัวว่าปีนี้ควรจะวางแผนในการการเพาะปลูกอย่างไร ถ้าฝนฟ้าดีก็ตัดสินใจทำนา แต่หากน้ำขาดแคลนชาวบ้านพึงระมัดระวังการทำมาหากิน

 

                            นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าที่ภูอังลังมีลูกแก้วขนาดเท่าลูกมะพร้าวมาสถิต ก่อนจะวิ่งไปภูผาแดด พร้อมกับระเบิดเสียงดัง แต่เดียวนี้ลูกแก้วไม่ค่อยเกิดแล้ว ชาวบ้านเองก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็ยังสักการบูชาอยู่เช่นเดิม ชาวบ้านบอกว่าไม่เห็นลูกแก้มานานเป็น ๑๐ ปีแล้ว

 

                            ปัจจุบันประเพณีการไหว้ภูอังลังในแง่พิธีกรรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักของที่ใช้แต่งบูชาภูอังลังยังเหมือนเดิม และจุดประสงค์ก็คล้ายๆกันคือ เพื่อให้ปกปักรักษาคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ จำนวนชาวบ้านที่ขึ้นไปภูอังลังที่ลดจำนวนลงมาก คือ จำนวนคนในแต่ละปีต่างกันสิ้นเชิง จากสมัยก่อนที่ผู้คนนิยมขึ้นไปบูชาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางหมู่บ้านยังคงปฏิบัติประเพณีนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสาเหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมขึ้นบูชาภูอังลัง เพราะว่าสถานที่ประกอบกับอยู่บนภูต้องเดินทางไกล การเดินทางก็ลำบาก ทำให้เดินขึ้นกันไม่ไหว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีความอดทนสูง ประกอบหลายครอบครัวเปลี่ยนอาชีพจากการเกษตรไปทำอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง รับข้าราชการ เป็นต้นรวมไปถึงการที่ชาวบ้านได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็มีส่วนสำคัญต่อการทัศนะและโลกทัศน์ต่อความเชื่อดังกล่าว

 

ประเพณีการไหว้ภูผาแดด

                             เป็นงานประเพณีของบ้านนาหอ มีธรรมเนียมปฏิบัติเช่น เดียว กับประเพณีไหว้ภูอังลังบ้านนาเวียง เพียงแต่จะขึ้นหลังจากไหว้ภูอังลังราวหนึ่งสัปดาห์ ส่วนความเชื่อต่อภูผาแดด มีลักษณะเช่นเดียวกับภูอังลัง คือ ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อได้ประกอบพิธีไหว้ทุกปีแล้ว จะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เกิดความเดือดร้อน รวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกเช่นเดียวกัน

 

ในการขึ้นไหว้ภูผาแดดจะมีการตีฆ้อง ตีกลอง ตีฉาบตลอดทางเพื่อความสนุกสนาน

 

                          นอกจากนี้คนลุ่มน้ำหมัน ยังมีการ “ ประดิษฐ์ ” ประเพณีและพิธีกรรมขึ้นมาใหม่ในชุมชน ดังเห็นได้จาก กรณีการไหว้พระพุทธบาทที่จัดขึ้นเดือน ๓ หรือเดือน ๔ งานจัดฉลอง ๓ วัน ๓ คืน เป็นประเพณีที่ไม่เคยปฎิบัติมาก่อนในลุ่มน้ำหมัน เพิ่งสร้างมาได้ไม่เกิน ๕๐ ปี โดยนาย เฉื่อย คำเกษม แรกเริ่มในการสร้างพระพุทธบาท มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า  ปีหนึ่งจึงมีงานปิดทองพระพุทธบาทเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เป็นการสืบทอดศาสนา เป้าหมายของนาย เฉื่อย คำเกษม มีจุดประสงค์ในการสร้างคนดี แต่คนรุ่นหลังโดยเฉพาะภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (ย้อนหลังไปไม่เกินสิบปี) เริ่มมีการนำสิ่งบันเทิง เน้นความสนุกสนานที่เกินขอบเขต ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวตามมา จนถึงขั้นเลือดตกยางออก งานบุญจึงกลายเป็นงานแห่งโศกนาฏกรรม ทำให้คนลุ่มน้ำหมันปัจจุบันขยาดที่จะไปนมัสการพระพุทธบาท

 

                            การ “ ประดิษฐ์ ” ทางประเพณียังเห็นได้จากงานลอยกระทง เพราะถือเป็นประเพณีใหม่ของบ้านด่านซ้าย เช่นกัน เริ่มก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ไม่นานเท่าไหร่ โยหลายหน่อยงานร่วมกันจัดตั้ง เช่น อำเภอ ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียน และตัวแทนบ้านคุ้มต่างๆ ทำแบบการลอยกระทงสุโขทัยของภาคกลาง ให้ชาวบ้านทำคนละกระทงใบเล็กๆมารวมกัน แล้วประธานในพิธีจะกล่าวบูชาพระแม่คงคาไปลอยกันที่หนองน้ำใกล้ตลาดใหม่ เป็นการลอยกระทงเหมือนกับทางภาคกลาง หลังจากนั้นไม่ถึงสิบปี รูปแบบการจัดงานได้พัฒนาขึ้น มีการประกวดนางนพมาศ สร้างกระทงใหญ่ๆลอยอยู่ในแม่น้ำเพื่อให้นางนพมาศลงไป และมีการประกวดประชันนางนพมาศ ประกวดกระทงน้อย กระทงใหญ่ เป็นเหตุทำให้คนทะเลาะกัน เพราะเมื่อมีการแข่งขันประกอบกับมีการกินเหล้า ก็เกิดมีการโกงกันขึ้นมา สร้างความขัดแย้งให้กับคนในชุมชนตามมา

 

ความเชื่อต่อเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นาง เทียม พ่อแสน นางแต่ง

 

เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม สื่อกลางความเชื่อวิญญาณบรรพบุรุษ 

 

                           เจ้าพ่อกวน คือ ผู้ทำหน้าที่ดูแลหอบ้าน และเข้าทรง เมื่อถึงเวลาประกอบพีเลี้ยงบ้านประจำปี การดำรงตำแหน่งของเจ้าพ่อกวน จะได้รับการแต่งตั้งโดยผีเจ้าเมืองที่มาเข้าทรง กล่าวคือ เมื่อเจ้าพ่อกวนคนก่อนถึงแก่กรรม หรือถูกถอดจากตำแหน่ง เพราะมีความประพฤติตนไม่เหมาะสม มักจะเลือกลูกหลานของเจ้าพ่อกวนคนก่อนเป็นผู้สืบทอดแทน (แต่ไม่เคยปรากฏเพราะเจ้าพ่อกวนประพฤติตัวดี)

 

                            เจ้าพ่อกวนจะแต่งตัวต่างจากชาวบ้านธรรมดา คือ ไว้ผมยาวและมีผ้าขาวคาดศีรษะเสมอ นุ่งผ้าโจงกระเบนและเสื้อขาว เจ้าพ่อวนนอกจากจะเข้าทรงในพิธีเซ่นไหว้ประจำปีแล้ว ยังเข้าทรงเมื่อมีผู้อัญเชิญในทรงเพื่อสอบถามถึงสาเหตุบางอย่าง เช่น มีผู้เจ็บป่วย เป็นต้น และเป็นหัวหน้าในการทำพิธีกรรมต่างๆของหมู่บ้าน เช่น งานบุญหลวง หรืองานสมโภชและนมัสการพระธาตุศรีสองรัก เป็นต้น

 

                            ส่วน เจ้าแม่นางเทียม เป็นหญิงที่ได้รับแต่งตั้งโดยวิญญาณผีเมืองเข้าทรง การสืบทอดโดยส่วนใหญ่มักเลือกลูกหลานของเจ้าแม่นางเทียมคนก่อนๆ เช่นเดียวกับเจ้ากวน อ เมื่อตำแหน่งเจ้าแม่นางเทียมว่างลงโดยการถึงแก่กรรม หรือเมื่อไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เช่น เจ็บป่วยนานๆ หรือชราภาพ เป็นต้น

 

                            เจ้าแม่นางเทียมมีหน้าที่เข้าทรงเหมือนเจ้าพ่อกวน ไว้ผมยาวเกล้าไว้บนกระหม่อม นุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อขาว

 

                            ขณะที่ พ่อแสน เป็นผู้มีหน้าที่เป็นข้าเฝ้าวิญญาณผีบ้าน ขณะที่มาเข้าเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม และมีหน้าปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆในขณะที่งานเซ่นไหว้หอบ้านประจำปี รวมทั้งยังเป็นผู้บนบานและแก้บนบานเรื่องต่างๆ เมื่อมีผู้นำของมาแก้บน ที่สำคัญยังเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลสถานที่หอเจ้า การแต่งตั้งพ่อแสน กระทำโดยวิญญาณเจ้าบ้านเข้าทรงเจ้ากวน เลือกโดยใช้ด้ายผูกข้อมือคนที่ถูกเลือก ผู้ที่เป็นแสนจะจำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น

 

                           ส่วนคุณสมบัติที่สำคัญของพ่อแสนคือต้องเป็นผู้ประพฤติดีอยู่ในศีลธรรม หากประพฤติไม่เหมาะสม เช่น กินเหล้ากินยา จะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หรือไม่ ตำแหน่งพ่อแสนอาจว่างลงจากการตายหรือปลดเมื่อชรา ดังนั้นเมื่อตำแหน่งพ่อแสนใดว่างลง เจ้าพ่อกวนจะทำการเลือกตั้งบุคคลอื่นแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยวิธีผูก ข้อมือขณะเข้าทรงดังที่กล่าวมาแล้ว

 

                            นางแต่ง คือข้าเฝ้าและผู้ปรนนิบัติฝ่ายหญิง นางแต่งนี้เจ้าแม่นางเทียมเป็นผู้แต่งตั้ง ขณะเข้าทรงโดยผูกข้อมือ เช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวนแต่งตั้งพ่อแสน

 

                            ไม่ว่าจะเป็นพ่อแสนหรือนางแต่ง เมื่อมีพิธีเซ่นไหว้ประจำปีจะต้องไปช่วยงานพิธีและเ้ข้าเฝ้าทั้งหอหลวง และหอน้อย บ้านเจ้าพ่อกวน และ บ้านเจ้าแม่นางเทียม

 

                             ระบบความเชื่อดังกล่าวทำให้เห็นว่า พ่อกวนเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายชาย ซึ่งเป็นร่างทรงของพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองฝ่ายขวา(ฝ่ายไทย) และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าใหญ่ของผู้เข้าทรง วิญญาณของเจ้านายที่เข้าทรงเจ้าพ่อกวนมีอยู่ด้วยกัน ๔ องค์ คือ เจ้าเมืองวัง เจ้าแสนเมือง เจ้าองค์หลวง เจ้าองค์ไทย

 

                             ส่วนเจ้าแม่นางเทียมเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายหญิง เป็นร่างทรงของพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองฝ่ายซ้าย (ฝ่ายลาว) คือ เจ้าเมืองกลางและเจ้าองค์ไทย และทำหน้าที่เป็นร่างทรงของเจ้านางต่างๆ ที่เป็นฝ่ายหญิงได้แก่ เจ้านางเค้า เจ้านางจวง เจ้านางจัน และเจ้านางน้อย

 

                               พ่อแสนเป็นข้าเฝ้าฝ่ายชาย มีทั้งหมด ๑๙ คน แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย แต่ละฝ่ายมีลำดับความสำคัญและเรียกชื่อตำแหน่ง ดังนี้ ข้าเฝ้าเจ้าเมืองวัง หรือฝ่ายเจ้าพ่อกวน คือข้าเฝ้าฝ่ายขวา ฝ่ายไทย มีทั้งหมด ๑๐ คน ได้แก่ แสนด่าน(หัวหน้า) แสนหอม แสนฮอง แสนหนูรินทร์ แสนศรีสองฮัก แสนต่างใจ แสนศรีฮักษา แสนศรีสมบัติ และแสนกำกับ

 

                               ส่วนข้าเฝ้าเจ้าเมืองกลางหรือฝ่ายเจ้าแม่นางเทียม คือ ข้าเฝ้าฝ่ายซ้าย ฝ่ายลาว มี ๙ คน ประกอบด้วย แสนเขื่อน (หัวหน้าแสนฝ่ายซ้าย) แสนคำบุญยอ แสนจันทร์ แสนแก้วอุ่นเมือง แสนบัวโฮม แสนกลางโฮง แสนสุขะ เมืองแสน และเมืองจันทน์

 

                               แสนมีหน้าที่ปรนนิบัติขณะพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองต่างๆมาเข้าทรงหรือมาใช้ร่างเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และมีหน้าที่ปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ขณะมีงานเซ่นไหว้พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองประจำปี ผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ทำการบะบน แก้บะบนให้แก่ผู้ที่ต้องการให้เป็นสื่อกลาง ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้าประจำเมืองด่านซ้ายจำนวน ๒ แห่ง วัด ๒ แห่ง คือ วัดพระธาตุศรีสองรัก วัดโพนชัย หอหลวง หอน้อย บ้านเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม

 

                               นางแต่งเป็นข้าเฝ้าฝ่ายหญิง มี ๔ คน มีหน้าที่ช่วยพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพิธีเซ่นไหว้ประจำปีทั้งฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย รวมทั้งคอยแต่งตัวปรนนิบัติและรับใช้เจ้านางทั้ง ที่มาเข้าทรงเจ้าแม่นางเทียม

 

                               การแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้เข้าทรงและข้าเฝ้า จากการศึกษาพบว่า การแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้เข้าทรงและข้าเฝ้า โดยการบัญชาของ “ เจ้านาย ” ด้วยวิธีการอัญเชิญวิญญาณของเจ้านาย หรือพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง มาเข้าทรง ให้เลือกบุคคลที่เหมาะสมโดยวิธีผูกข้อมือในขณะที่เข้าทรง ทั้งนี้การสืบทอดตำแหน่ง และอำนาจมักจะสืบทอดกันตามระบบเครือญาติ

 

เจ้าพ่อกวน ” และ “ เจ้าแม่นางเทียม ” : ระบบความเชื่อโบราณในโลกปัจจุบัน

                                ปัจจุบันเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม มีบทบาทต่อวิถีชีวิตชุมชนอำเภอด่านซ้ายในด้านต่างๆ ทั้งด้านศาสนาเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบ้านมักจะต้องมีการบอกกล่าวเจ้านายทุกครั้ง เช่น ขึ้นบ้านใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา พิธีบุญหลวง พิธีอุปสมบท และพิธีแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งจะพบว่าคนลุ่มนํ้าหมัน เมื่อจะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้านายในแต่ละครั้ง จะนำเอาความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเ้ข้ามาผสมกับความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ

 

เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ในประเพณีบุญหลวง

 

ชาวบ้านรดนํ้าเจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมในประเพณีบุญหลวง

 

                       การบน (บะ) ก่อนจะมีการบนทำพิธีทุกครั้งที่มีเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม เป็นผู้นำในการประกอบพิธีต้องมีการสวดมนต์ตามหลักพุทธศาสนาทุกครั้ง ก่อนจะทำพิธีในลำดับขั้นตอนต่อไป เมื่อสัมฤทธ์ผลก็จะทำการแก้บน(บะ) ในการแก้บน เจ้าพ่อกวนจะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม จะมีการสวดมนต์ตามหลักพุทธศาสนาทุกครั้ง ก่อนจะทำพิธีอื่นในลำดับต่อไป

 

                        นอกจากนี้ยังเห็นได้จากพิธีเลี้ยงวิญญาณเจ้านาย การเลี้ยงวิญญาณเจ้านายในบางครั้งจะมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมพิธีด้วย และก่อนพิธีเลี้ยง จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ตามหลักพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน แม้กระทั้งในฮีตสิบสอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำความเชื่อท้องถิ่นปรับให้เข้ากับพุทธศาสนา สถานที่ประกอบพิธีกรรมทำบุญในพระพุทธศาสนาของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง และชาวด่านซ้าย คือ วัดโพนชัย พระธาตุศรีสองรัก วัดโพธิ์ศรีนาเวียง วัดศรีภูมิบ้านนาหอ เป็นสถานที่จัดงานประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขน เป็นต้น

 

การประกอบพิธีแก้บะ(แก้บน) ที่หอหลวงด่านซ้าย ในภาพจะมีเหล่าพ่อแสนเป็นผู้ประกอบพิธี

 

                        บทบาทเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ทางด้านศาสนาจึงเป็นผู้นำชุมชนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ คนลุ่มนํ้าหมันเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ทุกครั้งที่มีการประกอบพิธีกรรมบะบนหรือแก้บะบน รวมทั้งประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งจะต้องมีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความวิตกกังวลทางจิตใจ

 

สถานภาพ “ เจ้าพ่อกวน ” ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมลุ่มนํ้าหมัน

                         เจ้าพ่อกวนดำรงตนหลายสถานภาพรวมอยู่ในคนเดียวกัน แต่ต่างกาลและสถานที่กัน คือมีสภาพเป็นตัวของตัวเอง มีสภาพเป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านาย และมีสภาพเป็นตัวแทนของวิญญาณเจ้านาย ดังนี้

 

                          •ร่างทรงของเจ้าพ่อกวนที่เป็นตัวของตัวเอง มีการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับชาวบ้านโดยทั่วไป มีการ แต่งงาน มีลูกหลานสืบสกุล มีความเป็นอยู่เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป

 

                          •เจ้าพ่อกวนในสถานภาพเป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านาย คือในช่วงเวลาที่มีการประกอบพิธีกรรมเชิญวิญญาณเจ้านายมาเข้าทรงในร่างกายเจ้าพ่อกวน

 

                         •เจ้าพ่อกวนในสถานภาพเป็นตัวแทนของวิญญาณเจ้านาย คือ ส่วนที่ร่างทรงเข้าไปมีบทบาทร่วม กิจกรรมต่างๆ กับสังคมชาวด่านซ้าย โดยไม่ต้องมีการเข้าทรง แต่ชาวอำเภอด่านซ้ายจะให้ความเคารพเป็นอย่างมาก

 

                         ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานภาพของเจ้าพ่อกวนมีสถานะทางสังคมอยู่ในลำดับที่สูงกว่าชาวบ้านโดยทั่วไป เพราะชาวบ้านมีความเคารพต่อวิญญาณเจ้านาย เมื่อร่างทรงที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นสื่อติดต่อกับวิญญาณเจ้านายได้จึงให้ความเคารพร่างทรงตราบจนทุกวันนี้

 

                         ขณะที่เจ้าแม่นางเทียมมีสถานภาพเป็นร่างทรงให้เจ้านาย คือ ในช่วงเวลาที่มีการประกอบพิธีกรรมเชิญวิญญาณเจ้านายมาเข้าร่างทรงของเจ้าแม่นางเทียม จะสังเกตได้ว่าในขณะที่วิญญาณเจ้านายมาเข้าทรง ร่างทรงจะมีปฏิกิริยาท่าทางเปลี่ยนไป มีบุคลิกเป็นที่เกรงขาม ซึ่งได้รับความเคารพจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

 

                          ส่วนพ่อแสนมีสถานภาพเป็นบริวารให้กับวิญญาณเจ้านาย คือ ช่วงเวลาที่เจ้านายมาเข้าทรงในร่างทรงของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม บรรดาพ่อแสน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด จะไม่แสดงกิริยาอาการไม่สุภาพต่อร่างทรงวิญญาณ ถึงแม้ในยามปกติก็จะต้องแสดงกิริยามารยาทต่อร่างทรงของเจ้านายด้วยความเคารพยำเกรง ถ้าไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวก็จะถูกวิญญาณเจ้านายปลดออกจากตำแหน่ง

 

                           ท้ายสุด นางแต่งมีสถานภาพเป็นบริวารวิญญาณเจ้านาย คือ ระหว่างที่เจ้านายใช้ร่างทรงของเจ้าพ่อกวนและร่างทรงเจ้าแม่นางเทียม นางแต่งแต่ละคนต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่าง เคร่งครัด เช่นเดียวกันพ่อแสน

 

                           เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากความเชื่อ “ เจ้าพ่อกวน ” ในตัวอำเภอด่านซ้ายจะเป็นที่เคารพนับถือของคนด่านซ้ายแล้ว คนในท้องถิ่นใกล้เคียงอีกหลายชุมชนก็ให้ความเคารพนับถือ เช่นกัน ประการสำคัญในหมู่บ้านนาเวียงและบ้านนาหอ ยังมีความเชื่อ “ เจ้าพ่อกวน ” ปลีกย่อยเป็นของตัวเอง เพียงแต่ไม่เรียก “ เจ้า ” หากเรียกว่า “ พ่อกวน ” ทั้งยังมีนางเทียม พ่อแสน และนางแต่ง ทั้งนี้่ร่างทรงพ่อกวนใน ระดับชาวบ้านถือคนทรงที่ติดต่อกับผีบรรพบุรุษระดับหมู่บ้าน ไม่ใช้เจ้านายเหมือน “ เจ้าพ่อกวน ”

 

                            อย่างไรก็ตาม ระบบ “ พ่อกวน ” ตามหมู่บ้านต่างๆ เหล่านี้ยังต้องขึ้นตรงกับเจ้าพ่อกวนด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ เจ้าพ่อกวนจะต้องมาร่วมงานเพื่อแสดงถึงความเคารพและศรัทธาเสมอ หรือในการประกอบพิธีกรรมงานบุญหลวงที่มีการแห่ผีตาโขน คนในวัฒนธรรมลุ่มนํ้าหมันให้วัดโพนชัยที่เจ้าพ่อกวนมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมจัดขึ้นก่อน แล้วถึงให้วัดต่างๆ ที่มีพ่อกวนประจำหมู่บ้านนั้นๆ จากนี้ยังมีบทบาทต่อการรักษาพระธาตุศรีสองรักและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง กล่าวคือ เป็นการสร้างจิตสำนึก และความผูกพัน โดยการอบรมสั่งสอน การสร้างเจตคติและข้อผูกพันตลอดชีวิตที่จะรักษามรดกทางด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุของท้องถิ่น สำหรับอนุชนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในอนาคตให้กับพ่อแสนและนางแต่ง และชาวบ้านให้รู้จักและช่วยกันดูแลองค์พระธาตุและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีสภาพสมบูรณ์

 

                               ประการสำคัญ ยังมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจชุมชน กล่าวคือคนลุ่มนํ้าหมันส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ชาวบ้านจึงเชื่อว่าการที่จะมีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ต้องมีการบอกกล่าว เจ้านายโดยผ่านทางเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม เพื่อให้เจ้านายใช้อำนาจอิทธิฤทธิ์ของท่านดลบันดาลให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ต้องเป็นไปตามอำนาจเหนือกว่าธรรมชาติเป็นผู้ดลบันดาลให้เป็นไป เมื่อถึงฤดูทำนา ทําไร่จะมีการประกอบพิธีการเลี้ยงวิญญาณบรรพบุรุษหรือ เจ้านาย เพื่อบอกกล่าวต่อท่านว่าจะเริ่มฤดูกาลทําการเกษตรแล้ว ให้ท่านช่วยดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ให้มีนํ้าอุดมสมบูรณ์พืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ และไม่มีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

 

บทบาทเจ้าพ่อกวนในยุคปัจจุบันยังต้องประกอบพิธีเป่าเสกพวงมาลัยรถยนต์ 

 

                         เนื่องจากชาวบ้านในท้องถิ่นเชื่อว่าเมื่อนำมาให้เจ้าพ่อกวนประกอบพิธีจะทำให้เกิดสิริมงคลและไม่เกิดอุบัติเหตุ

 

                         แม้กระทั้งปัจจุบัน มีชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนไปประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ รับจ้างทั่วไป และการนำเอาสัญลักษณ์ต่างๆ ในฮีตครองประเพณี ๑๒ เดือนมาประยุกต์ให้เกิดรายได้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทุกคนในชุมชนเพื่อว่าต้องบอกกล่าวเจ้านายโดยติดต่อสื่อสารผ่านตัวแทนเจ้านาย คือ เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมทุกครั้งไป

 

                          เช่นเดียวกัน หากพิจารณาในด้านจิตใจ จะพบว่าระบบความเชื่อดังกล่าวเปรียบเสมือนจารีตสังคม ให้คนมุงทำความดีอย่าได้ประพฤติออกนอกลู่นอกทาง เพราะจะทำให้เจ้านายโกรธและดลบันดาลให้พบกับความวิบัติได้

 

                          ดังนั้นจึงไม่ใช่ภาพแปลกตาแต่ประการใด หากจะเห็นคนลุ่มนํ้าหมันนิยมไปกราบไหว้บะบนต่อเจ้านายตามสถานที่สำคัญ ทั้งเจดีย์ศรีสองรัก หอและหิ้งต่างๆ เพื่อให้ท่านได้ใช้อำนาจของท่านในการดลบันดาลให้ผู้มาขอบะบนให้สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา

 

                          เช่นเดียวกัน หากพิจาณาในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนลุ่มนํ้าหมัน จะพบว่าความเชื่อเรื่อง “ เจ้าพ่อกวน ” และ “ เจ้าแม่นางเทียม ” ยังถือเป็นสื่อกลางในการติดต่อวิญญาณของบรรพบุรุษของกลุ่มตนกับ โลกมนุษย์ปัจจุบัน ที่ทำให้เห็นพัฒนาทางประวัติศาสตร์สังคมของสยามประเทศกับอาณาจักรล้านช้าง

 

                          พิจารณาได้จากประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าในตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓ และเชื่อกันว่าทั้งฝั่งไทยและฝ่ายลาวได้ส่งอำมาตย์ราชครูมาร่วมกันสร้าง และในระหว่างการสร้างก็มีเรื่องเล่าที่สัมพันธ์ กับการเกิดระบบความเชื่อ “ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ” ที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงวิญญาณผีเจ้านายกับชาวบ้าน และยึดถือปฏิบัติมาจนกระทั้งปัจจุบัน

 

                          ในกรณีดังกล่าว เห็นได้ว่ามีการนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือตำนานมาสนับสนุนเพื่อประเพณี ความเชื่อ ที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นว่าเจ้านายที่มาทำให้เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมมีบทบาทเด่นที่คนลุ่มนํ้าหมันให้ความเคารพนับถือก็คือ วิญญาณของ กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเจดีย์ศรีสองรัก การประกอบพิธีกรรมมีทั้งเจ้าเมืองวัง เจ้าเมืองกลาง หอหลวง หอน้อย ตามลำดับ

 

                            ส่วนขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าขั้นตอนดังกล่าวได้ยึดแนวคิดหลักมาจากราชสำนักของเจ้านาย ดังนั้นในรายละเอียดของทุกๆพิธีกรรมล้วนมีนัยที่สำคัญทั้งสิ้น ขณะเดียวกันพิธีกรรมบางอย่างยังมีการผสมผสานให้เข้ากับความเชื่อตามพุทธศาสนา จนกลายเป็นสิ่งที่คนลุ่มน้ำหมันยืดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั้งถึงปัจจุบัน

อัพเดทล่าสุด 23 ม.ค. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.