มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดทริปพิเศษเพื่อการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น
สัมผัสลุ่มน้ำคูคลองและวิถีชีวิตคนสามน้ำ ณ ย่านสวนนอก จ.สมุทรสงคราม
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐
นับตั้งแต่จัดงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้นำเสนอรูปแบบงานเป็นการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด และบางปีได้มีกิจกรรมอบรมเยาวชนด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
ในปีนี้มูลนิธิฯ เห็นว่าการจะทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องท้องถิ่น ชุมชน นอกจากการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดแล้ว การได้ไปเรียนรู้ สัมผัสสภาพบ้านเมือง เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นโดยตรง จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าความรู้ที่ดำรงอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทยได้แจ่มชัดมากขึ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ จึงจัดการทัศนศึกษาจร ในพื้นที่ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงท้องถิ่นต่าง ๆ ในเมืองไทย ซึ่งคุณเล็กและคุณประไพได้เคยเดินทางหรือศึกษาทำความเข้าใจจนนำมาเป็นแนวคิดในการก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองโบราณ โดยเฉพาะตลาดน้ำที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิวัฒนธรรมของแม่น้ำลำคลองในที่ราบลุ่มภาคกลาง ณ ย่านสวนนอก จ.สมุทรสงคราม
ชมวิถีตลาดน้ำแบบชาวบ้านที่ยังคงยึดการค้าขายตามนัด คือ ขึ้น-แรม ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำ ที่ตลาดน้ำท่าคา จ. สมุทรสงคราม ลงเรือเที่ยวชมคูคลองและชีวิตคนสวนนอกย่านบางช้าง ขึ้นชมวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าว และลิ้มลองความหวานหอมของน้ำตาลสด ล่องเรือชมชีวิตชาวน้ำริมฝั่งคลองท่าคา แวะเยี่ยมเรือนหมื่นปฏิคมคุณวัติ หรือกำนันจัน ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จเยือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้น พ.ศ. ๒๔๔๗ รำลึกวีรกรรมการต่อสู้ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ค่ายบางกุ้ง และชมโบสถ์ปรกโพธิ์ โบสถ์เก่าที่ปกคลุมด้วยรากโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง เรียนรู้ชุมชนชาวคริสต์และชมสถาปัตยกรรมแบบกอทิกที่อาสนวิหารแม่พระบังเกิด หรือโบสถ์บางนกแขวก ชมภาพปูนปั้นตำนานรอยพระพุทธบาทที่วัดบางกะพ้อม จับจ่ายของกินของฝากที่ตลาดน้ำอัมพวา--ตลาดน้ำที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่
สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ มีพื้นที่ปกครองเพียง ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากปุ๋ยธรรมชาติที่มาจากตะกอนดินที่แม่น้ำพัดพามา โดยเฉพาะจากแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่เป็นเสมือนเส้นชีวิตของสมุทรสงคราม ประกอบกับพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้อ่าวไทยอีกด้วย จึงได้รับอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเล ทำให้ผืนดินเมืองนี้ยิ่งมีคุณสมบัติเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการทำประมง
จากชัยภูมิที่ตั้งและความสมบูรณ์ของทรัพย์ในดินและท้องทะเล ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานการตั้งชุมชนบริเวณแม่น้ำอ้อมหรือแควอ้อม ซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ชุมชนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองปัจจุบัน และชุมชนบริเวณเขายี่สารที่ตั้งอยู่ประชิดอ่าวไทย ชุมชนเหล่านี้ต่อมาได้พัฒนาสืบเนื่องขึ้นเป็น “ เมืองแม่กลอง ” ดังปรากฏนามอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองสมัยอยุธยาว่า เป็นหัวเมืองชั้นตรี มีเจ้าเมืองในตำแหน่งพระสมุทรสงคราม และประมาณ พ.ศ. ๒๒๖๕-๒๒๙๙ เมืองแม่กลองได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ เมืองสมุทรสงคราม ” ตามพระราชทินนามของตำแหน่งเจ้าเมือง
เมืองสมุทรสงครามในสมัยอยุธยานอกจากมีบทบาททางการค้าของทะเลดังปรากฏใน เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่า “อนึ่งเรือปากใต้ปากกว้าง ๖ ศอก ๗ ศอก ชาวบ้านยี่สารบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูนแลบ้านบางทะลุบันทุกกะปิน้ำปลาปูเคมปลากุเราปลากะพงปลาทูปลากะเบนย่างมาจอดเรือขายแถววัดเจ้าพระนางเชิง. .. ” แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสวนผลิตผลาหารเลี้ยงคนอยุธยาคู่กับเมืองบางกอก จนมีคำเรียกขานคล้องจองว่า “ บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน ”
นอกจากนี้สมุทรสงครามยังเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับราชวงศ์จักรียังแนบแน่น ด้วยในสมัยอยุธยาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และได้สมรสกับท่านนาก (ต่อมาคือสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่อัมพวา และต่อมาท่านได้มีพระประสูติกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ ที่นั้น เช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้มีพระประสูติกาลสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (ต่อมาคือพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒) ที่อัมพวาด้วย
แม่กลอง : เมืองสามน้ำ
ด้วยภูมินิเวศของเมืองปากแม่น้ำ ที่มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านและน้ำทะเลเอ่อท้นเข้าคูคลอง ลำกระโดงต่าง ๆ คนแม่กลองจึงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับเรื่อง “ น้ำ ” และสั่งสมเป็นองค์ความรู้ในการจัดการระบบน้ำของเมืองแม่กลองที่มีความแตกต่างกันถึงสามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยสามารถกำหนดการหาอยู่หากินที่สอดคล้องกับความเป็น เมืองสามน้ำ ได้อย่างชาญฉลาด
ความเป็นเมืองสามน้ำของเมืองแม่กลอง เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เมื่อยามน้ำทะเลขึ้นในช่วง ๑-๒ ชั่วโมงแรก น้ำเค็มจะดันน้ำจืดในตัวลำน้ำและคลองย่อยต่าง ๆ กลับขึ้นไปก่อน จึงเป็นน้ำจืด ครั้น ๓-๔ ชั่วโมงต่อมา น้ำทะเลหนุนคลุกเคล้ากับน้ำจืดมากแล้ว เริ่มมีสภาพเป็นน้ำกร่อย พอเข้าชั่วโมงที่ ๕-๖ ก็จะกลายเป็นน้ำเค็มทั้งสายน้ำ แต่ในบางพื้นที่ของสมุทรสงครามที่ตั้งอยู่ประชิดทะเล อย่างคลองโคน คลองช่อง แพรกทะเล คลองขุดยี่สาร ฯลฯ มีสภาพเป็นน้ำเค็มตลอดเวลา ชาวบ้านเรียกว่า ระบบน้ำเดียว จึงจำเป็นต้องแสวงหาน้ำจืดมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการพายเรือออกไป “ ล่มน้ำจืด ” กลับมาไว้ใช้สอยและดื่มกินที่บ้าน
จากลักษณะเมืองสามน้ำ ทำให้ชาวแม่กลองสร้างภูมิปัญญาในการดำรงชีพเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติของน้ำที่มีความแตกต่างกัน โดยจัดแบ่งพื้นที่และเลือกสรรพรรณไม้ปลูกที่เหมาะสมกับระบบน้ำต่าง ๆ ดังนี้
ทางตอนบน ที่มีพื้นที่เป็นน้ำจืด มีการยกร่องทำสวนผลไม้ สวนเตียน (การทำสวนพืชล้มลุก ประเภทพริก หอม ยาจืด ผัก ฯลฯ) และมีการทำคันสวนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ซึ่งน้ำที่หลากมายังช่วยพัดพาแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ที่อยู่ในดินไปพร้อมกับน้ำ ขณะเดียวกันก็นำปุ๋ยชั้นดีจากโคลนตะกอนมาเพิ่มพูนผืนดินให้สมบูรณ์อีกด้วย
ทางตอนกลาง ผู้คนทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากอยู่ในอิทธิพลของน้ำกร่อย ในหน้าแล้งจึงสามารถปลูกพืชได้ทั้งสองน้ำ แม้ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง ส้มโอ ชมพู่ ก็ปลูกได้ หากมีการไหลเวียนของน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง และยังสามารถปลูกข้าวในร่องสวนได้ด้วย
ทางตอนล่าง เป็นบริเวณที่ติดกับน้ำเค็ม จึงสามารถทำนาเกลือในฤดูแล้ง เผาถ่านไม้โกงกาง ทำนากุ้ง และทำประมงชายฝั่ง เช่น โป๊ะปลาทู จับเคย เลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยหางรม เป็นต้น
นอกเหนือจากการจัดการน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แล้ว คนแม่กลองยังเรียนรู้ถึงระบบน้ำซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่มีอิทธิพลต่อน้ำขึ้น-น้ำลง อันส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำเกิด-น้ำตาย (น้ำเกิด คือ ปริมาณน้ำขึ้นสูงมากและไหลแรง ขณะที่น้ำตาย คือ น้ำไหลน้อยและปริมาณการขึ้นลงของน้ำก็น้อยไปด้วย) หรือแม้แต่น้ำเบียด-น้ำกัน อันเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลกับน้ำจืดปะทะกันอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้แพลงตอนบางชนิดเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีที่เรียกว่า “ ขี้ปลาวาฬ ” ท้องน้ำบริเวณนั้นจะขาดออกซิเจนอย่างกระทันหัน ฝูงปลาที่อยู่ใกล้จึงเกาะกลุ่มหนีภัยธรรมชาติดังกล่าว ทำให้ชาวประมงสามารถล้อมจับได้โดยสะดวก เช่นเดียวกับช่วงน้ำตาย สัตว์น้ำหลายชนิด เช่น กุ้ง ปู ฯลฯ มีการผลัดกระดองลอกคราบเพื่อขยายขนาดลำตัว และจะโตเต็มที่ในช่วงน้ำเกิด ซึ่งชาวบ้านสังเกตและรอคอยที่จะออกจับในระยะดังกล่าว
การเรียนรู้ถึงระบบน้ำของบรรพชนคนแม่กลอง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการดำรงชีพและการปรับตัวเพื่ออยู่อย่างสมดุลกับธรรมชาติ ซึ่งต่างจากคนสมัยปัจจุบันที่ละเลยภูมิความรู้ดั้งเดิมและรังแต่จะหาหนทางเอาเปรียบหรือเอาชนะธรรมชาติ จนต้องประสบกับภัยพิบัตินานัปการที่ย้อนกลับมาทำลายมนุษยโลกดังเช่นทุกวันนี้
สถานที่ที่แวะเยือน ตลาดน้ำท่าคา : " นัด " ในท้องน้ำ
ตลาดน้ำหรือในอดีตเรียก “ ตลาดเรือ ” เป็นแหล่งค้าขายของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยตามแม่น้ำลำคลอง ส่วนใหญ่มักติดตลาดบริเวณที่มีลำคลองหลายสายมาสบกัน สะดวกแก่การสัญจรไปมาของชุมชนริมน้ำทั้งที่อยู่ในพื้นที่หรือห่างไกลออกไป
สมุทรสงครามเป็นเมืองในลุ่มน้ำแม่กลองที่มีเครือข่ายคูคลองเชื่อมโยงมากมาย ด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ต้องขุดลำกระโดงเพื่อชักน้ำเข้าสวน ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่และทำการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าระหว่างกัน ในอดีตแม่กลองมีตลาดน้ำในลำคลองต่าง ๆ หลายแห่ง ปัจจุบันเหลือเพียงตลาดน้ำท่าคาและตลาดน้ำอัมพวาเท่านั้น
ตลาดน้ำท่าคาปัจจุบันตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๒ บ้านคลองศาลา ต. ท่าคา อ. อัมพวา ซึ่งมีคลองท่าคาเป็นคลองสายสำคัญที่พาดผ่านหมู่บ้านและมีคลองย่อยอื่น ๆ เชื่อมต่อ เช่น คลองพันลา คลองสวนทุ่ง คลองขุนเจ๊ก ฯลฯ ตลาดน้ำแห่งนี้เดิมตั้งอยู่ที่ทำนบท่าคา ในละแวกหมู่บ้านคลองมะขวิดหรือวัดวิหาร โดยชาวบ้านนัดหมายติดตลาด ๕ วันต่อครั้งตามกำหนดขึ้น-แรมแต่ดั้งเดิม คือ ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำของทุกเดือน ต่อมาเมื่อเรือของพ่อค้าแม่ค้าเริ่มเข้ามาค้าขายที่ทำนบท่าคามากขึ้น ก็ทำให้ตลาดขยายตัวออกไปตั้งอยู่บริเวณคลองพันลาในปัจจุบันแทน
สำหรับสินค้าที่ขายในตลาดน้ำปัจจุบันไม่ต่างจากอดีตมากนัก ส่วนใหญ่เป็นของสวนประเภทผัก ผลไม้ ที่ชาวบ้านในละแวกปลูก อาทิ พริก หอม กระเทียม ยาจืด มะม่วง มะพร้าว น้ำตาลปึก ฯลฯ ไปจนถึงของกินต่าง ๆ เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน
ปัจจุบันตลาดน้ำท่าคาประสบปัญหาเช่นเดียวกับตลาดน้ำแห่งอื่นๆ ก่อนหน้าที่มีหน่วยงานราชการเข้ามาจุดประกายกระแสการท่องเที่ยว ด้วยการปรับภูมินิเวศทั้งการตัดถนน ทำสถานที่จอดรถ ตลอดจนเปลี่ยนวันนัดติดตลาดให้เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้าไปส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะจับจ่าย เพียงต้องการเข้าไปชมทัศนียภาพและบรรยากาศของตลาดน้ำเท่านั้น ทำให้พ่อค้าแม่ขายทั้งหลายต้องปรับเปลี่ยนวันนัดติดตลาดกลับมาเป็นเช่นเดิม เพื่อรองรับวิถีการค้าขายของคนในชุมชน โดยมีการท่องเที่ยวเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น ตลาดน้ำท่าคาจึงเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการที่ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบของตลาดน้ำเอง มิเช่นนั้นตลาดน้ำท่าคาก็คงไม่ต่างไปจากตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่มีแต่ของขายเพื่อนักท่องเที่ยว จนไม่สามารถรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยังรักษาเอกลักษณ์ความเป็นชาวสวนของตนไว้
น้ำตาลมะพร้าวบางช้าง
“ บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน ” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักผลไม้ของท้องถิ่นทั้งสอง โดยเฉพาะบางช้างได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทำน้ำตาลมะพร้าวมาแต่โบราณ มีภูมิปัญญาในการผลิตที่ผ่านการสั่งสมมาเป็นเวลานานจากรุ่นสู่รุ่น ทุกขั้นตอนของการทำมีความละเอียดอ่อนตั้งแต่การคัดสรรพันธุ์มะพร้าว การเตรียมพื้นที่ปลูก การเก็บน้ำตาลสด การก่อเตาไฟเพื่อให้ความร้อนที่เหมาะสมต่อการเคี่ยวน้ำตาล หรือแม้แต่การเคี่ยวน้ำตาลก็มีกรรมวิธีนานาเพื่อให้น้ำตาลออกมาสวยและมีรสชาติที่ดี ดังมีขั้นตอนการทำพอสรุปได้ดังนี้
๑. ชาวสวนมะพร้าวจะขึ้นตาลเพื่อปาดน้ำตาลในเวลาเช้าและเย็น โดยนำเอาไม้พะองทาบกับต้นแล้วขึ้นไปปาดงวงมะพร้าว นำกระบอกผูกรองน้ำตาลไว้ (ในกระบอกน้ำตาลจะใส่ไม้พยอม ไม้เคี่ยม หรือ ไม้ตะเคียนที่สับเป็นชิ้นๆ ลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลบูดหรือแห้งในระหว่างการรองน้ำตาล)
๒. เมื่อได้น้ำตาลมะพร้าวสดแล้ว กรรมวิธีต่อไปคือนำไปกรอง โดยการเทผ่านกระชอน(ผ้าขาวบาง) เพื่อกรองเอาเศษไม้ แมลง หรือฝุ่นผงต่างๆ ออก จากนั้นจึงนำไปตั้งไฟเคี่ยวบนเตาน้ำตาล (เป็นเตาที่สร้างขึ้นเพื่อการเคี่ยวน้ำตาลโดยเฉพาะ) จนงวดเหนียวได้ที่แล้วก็ยกลงตั้งบนยางรถยนต์ และใช้ไม้กระทุ้งน้ำตาลกระทุ้งให้น้ำตาลคลายความร้อนและเย็นตัวลง เพราะหากไม่กระทุ้งและปล่อยให้เย็นตัวลงเอง น้ำตาลจะหยาบเป็นเม็ด จากนั้นจึงนำบรรจุใส่ภาชนะหรือหยอดเป็นน้ำตาลปึก
การทำน้ำตาลมะพร้าวของชาวสวนบางช้างนั้น แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็นับเป็นภูมิปัญญาในการดำรงชีพที่มีความละเมียดละไมอย่างยิ่ง กว่าจะออกมาเป็นน้ำตาลมะพร้าวสักก้อนหนึ่งให้ได้ลิ้มลองรสชาติอันหวานมัน
ตามรอยเสด็จประพาสต้นที่บ้านกำนันจัน
“ เหตุที่เรียกว่าประพาสต้นนั้น เกิดแต่เมื่อเสด็จในคราวนี้ เวลาประพาสมิให้ใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวลำหนึ่ง เรือนั้นลำเดียวไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุนสี่แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรีหนึ่งลำ โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นผู้ควบคุมเครื่องครัวในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราชชื่อ อ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า “ เรือตาอ้น ” เรียกเร็วๆ เสียงเป็น “ เรือต้น ” ....
“ ...อาศัยเหตุนี้ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวนเรือพระที่นั่งมาดเก๋งสี่แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนี้ว่า “ ประพาสต้น ”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายถึงที่มาของคำว่า “ ประพาสต้น ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๔๗ และครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๙ สำหรับการเสด็จประพาสต้นเมืองสมุทรสงครามนั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ นั้นเอง ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสทางชลมารค โดยใช้เส้นทางเข้าสู่พื้นที่ทางแม่น้ำอ้อม การเสด็จประพาสส่วนใหญ่อยู่ในเขตอัมพวา พระองค์ทรงเยือนบ้านกำนันจันในวันที่สองของการเสด็จประพาสต้น
กำนันจันเป็นกำนันตำบลท่าคาในช่วงเวลานั้น บ้านของกำนันตั้งอยู่ริมคลองศาลา ลักษณะเป็นเรือนไทย มีอยู่ด้วยกันหลายหลัง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการแบ่งมรดกในระหว่างญาติพี่น้อง ทำให้เหลือยู่เพียงสองหลัง โดยมีชานกว้างเชื่อมต่อกัน และในระยะหลังได้มีการต่อเติมครัวด้านข้างเพิ่มขึ้น การเสด็จประพาสต้นหนนั้น รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงแต่งตั้งกำนันจันให้เป็น “ หมื่นปฏิคมคุณวัติ ”
รำลึกสงครามไทยรบพม่าที่ค่ายบางกุ้ง
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยชนะเหนือพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และกู้เอกราชกลับคืนจากพม่าได้แล้วนั้น ฝ่ายพม่ายังคงมีความพยายามที่จะยกทัพเข้ามาตีไทยอยู่เสมอ และการรบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งก็คือ การรบพม่าที่ค่ายบางกุ้ง
ค่ายบางกุ้งนั้นเป็นค่ายที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนเข้าถึงกรุงธนบุรี สงครามที่ค่ายบางกุ้งเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๑๑ ด้วยพม่าต้องการปราบไทยลงอีกครั้ง จึงส่งกองทัพใหญ่เข้าโจมตี หากแต่ไทยสามารถมีชัยเหนือพม่าและรักษาค่ายบางกุ้งเอาไว้ได้ ชัยชนะในครั้งนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเรียกขวัญกำลังใจแก่ทหาร ตลอดจนกลุ่มคนไทยที่แตกกระซานซ่านเซ็นเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้กลับเข้ามารวมกันใหม่ในกรุงธนบุรี
ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งของค่ายบางกุ้ง นอกจากจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมของทัพไทยในครั้งนั้นแล้ว ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ โบสถ์ปรกโพธิ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โบสถ์หลังนี้มีความพิเศษอยู่ที่มีต้นโพธิ์ ต้นไทรคอยยึดตัวโบสถ์เอาไว้ไม่ให้พังทลายไปตามกาลเวลา ภายในโบสถ์ยังมีภาพฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนเรื่องพุทธประวัติ หากแต่อยู่ในสภาพลบเลือนมากแล้ว
อาสนวิหารแม่พระบังเกิด หรือโบสถ์บางนกแขวก
อาสนวิหารพระแม่บังเกิดตั้งอยู่ที่ ต. บางนกแขวก อ. บางคนที เป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญต่อคริสตชนชาวคาทอลิกในประเทศไทย ด้วยเป็นที่ประทับของพระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลราชบุรี (ประกอบด้วย จ. ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม) และในอดีตยังเป็นศูนย์กลางการอบรมผู้ออกบวชเป็นบาทหลวงในคริสต์ศาสนา ซึ่งพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู องค์ประมุขคริสตจักรของประเทศไทยในปัจจุบันได้ผ่านการศึกษาอบรมที่บ้านเณรแห่งนี้ นอกจากนั้นยังเคยเป็นศูนย์กลางของการอบรมนักบวชและชาวคริสต์ทางภาคตะวันตกที่เตรียมตัวเดินทางลงไปเผยแผ่คริสต์ศาสนายังภาคใต้อีกด้วย
อาสนวิหารแห่งนี้มีอายุและประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เริ่มต้นจากการที่มีกลุ่มชาวจีนนับถือศาสนาคริสต์จากบริเวณโบถส์กาลหว่าร์ในกรุงเทพฯ เดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ศาสนาคริสต์จึงเริ่มเผยแผ่ไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ประชากรชาวคริสต์ในพื้นที่จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมาได้มีการสร้างโบสถ์เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ชาวบ้านเรียกโบสถ์แห่งแรกนี้ว่า “ วัดศาลาแดง ” หรือ “ วัดรางยาว ” ตามสีที่ทาโบสถ์และลักษณะของที่ตั้งที่ขนานยาวไปตามริมคลองชลประทาน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ เมื่อคนในบริเวณนั้นหันมานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น ตัวโบสถ์เดิมเริ่มแออัดคับแคบลง จึงได้มีการสร้างโบสถ์แห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณริมคลองบางนกแขวก ตั้งชื่อว่า “ วัดแม่พระบังเกิด ” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้มีการสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันขึ้นด้วยการสนับสนุนของคณะมิสซังฝรั่งเศสและกรุงโรม โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบกอธิก โทนสีภายในนำแบบมาจากวิหารแห่งเมืองลูเซิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตกแต่งด้วยภาพกระจกสีเรื่องราวประวัติของพระนางมารีอา (พระมารดาของพระเยซู) และรูปปั้นของนักบุญต่าง ๆ
ความเชื่อเรื่องพระพุทธบาทที่วัดบางกะพ้อม
วัดบางกะพ้อมตั้งอยู่ที่ ต. อัมพวา อ. อัมพวา เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีเรื่องเล่าถึงการสร้างวัดว่า บริเวณที่ตั้งของวัดบางกะพ้อมในปัจจุบันนั้น เดิมมีสามีภรรยาซึ่งมีอาชีพสานกะพ้อมอาศัยอยู่ (ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเปลือก มีลักษณะท้ายและปากสอบตรงกลางป่อง) วันหนึ่งมีทหารพม่ายกทัพเข้ามาปล้นบ้านเมืองแถบนั้น และบุกเข้ามาถึงบริเวณบ้านในระหว่างที่ทั้งสองคนกำลังนั่งสานกะพ้อมอยู่ ทั้งคู่จึงรีบเข้าไปแอบในกะพ้อม แล้วอธิษฐานว่าหากรอดชีวิตไปได้จะถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด เมื่อทหารพม่ากลับไปแล้ว สามีภรรยาจึงได้ออกมาจากกะพ้อม แล้วพบว่านอกจากตนเองรอดชีวิตแล้ว ทรัพย์สินทุกอย่างยังอยู่ครบ จึงได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณบ้านของตนเองตามที่ได้อธิษฐานไว้
ภายในวัดบางกะพ้อมมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังปูนปั้นตำนานรอยพระพุทธบาท ซึ่งกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งที่วัดสุวัณณมาลิก ภูเขาสุวรรณบรรพต ภูเขาสุมนกูฏ และแม่น้ำนัมมทามหานที ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีต ดังเห็นได้จากคติความเชื่อที่ว่า “ หากใครได้ไปสักการะพระพุทธบาทที่สระบุรีครบเจ็ดครั้ง จะได้ขึ้นสวรรค์ ”
ความเชื่อเรื่องพระพุทธบาทของไทยนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์อธิบายว่า เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากอินเดียและศรีลังกา อินเดียแต่ครั้งพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้น ไม่นิยมสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ไว้บูชา เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พุทธศาสนิกชนจึงสร้างสถูปหรือวัตถุต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ รอยพระพุทธบาทเป็นวัตถุหนึ่งที่นิยมทำในสมัยนั้น ส่วนคติของชาวลังกาเกิดขึ้นภายหลัง มีกล่าวถึงในตำนานเรื่อง มหาวงศ์ ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จทางอากาศไปยังลังกาทวีปและทรงเทศนาสั่งสอนชาวลังกาจนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับมัชฌิมประเทศ จึงได้ทรงทำปาฏิหาริย์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ยอดเขาสุมนกูฎ เพื่อให้ชาวลังกาได้ทำการสักการบูชา
ตลาดน้ำอัมพวากับความเปลี่ยนแปลง
อัมพวาเป็นชุมชนเก่าแก่ มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นทั้งสองฝั่งคลอง ตลาดน้ำค้าขายของอัมพวาจึงมิใช่ตลาดแบบ “ นัด ” ในท้องน้ำ ขายเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หากแต่เป็นย่านตลาดในสังคมเมืองที่มีการติดตลาดทุกวัน ขายตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็นค่ำ
ตลาดน้ำอัมพวาตั้งอยู่ในคลองอัมพวา ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลองและคลองน้อยใหญ่มากมาย ทำให้มีพ่อค้าแม่ขายในท้องถิ่นใกล้เคียงนำสินค้าทั้งที่เป็นผลผลิตภายในสวนและของกินของใช้จากภายนอกเข้ามาจำหน่าย รวมทั้งยังมีร้านค้าบนฝั่งขนาบอยู่ทั้งสองข้างฝั่งคลอง ตลาดน้ำอัมพวาจึงเป็น ตลาดขนาดใหญ่ที่มีความคึกคักของพ่อค้าแม่ขายและผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ดังที่สุนทรภู่ได้เขียนบรรยายบรรยากาศไว้ใน นิราศพระแท่นดงรัง ว่า
๏ ถึงคลองน้ำอัมพวาที่ค้าขาย |
เห็นเรือรายเรือนเคียงขนาน |
มีศาลาท่าน้ำน่าสำราญ |
พวกชาวบ้านซื้อขายคอนท้ายเรือ |
ริมชายสวนล้วนมะพร้าวหมูสีปลูก |
ทะลายลูกลากดินน่ากินเหลือ |
กล้วยหักมุกสุกห่ามอร่ามเครือ |
พริกมะเขือหลายหลากหมากมะพร้าว |
ริมวารีมีแพขายผ้า |
ทั้งขวานพร้าพร้อมเครื่องทองเหลืองขาว |
เจ้าของแพแลดูหางหนูยาว |
มีลูกสาวสิเป็นไทถอนไรปลิว |
ดูชาวสวนล้วนขี้ไคลทั้งใหญ่เด็ก |
ส่วนเมียเจ๊กหวีผมระบมผิว |
เห็นเรือเคียงเมียงชม้ายแต่ปลายคิ้ว |
แกล้งกรีดนิ้วนั่งอวดทำทรวดทรง |
เมื่อถนนหนทางเริ่มเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของคนมากขึ้น เส้นทางสัญจรทางน้ำก็ถูกละเลย กอรปกับมีการสร้างเขื่อนหรือประตูน้ำต่าง ๆ ส่งผลให้การคมนาคมทางน้ำมีความลำบากกว่าเดิม ตลาดน้ำหลาย ๆ แห่งจึงต้องเลิกไปโดยปริยาย อัมพวาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น จนกระทั่งกระแสการท่องเที่ยวตลาดน้ำเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นตลาดน้ำหลายแห่งขึ้นใหม่ ตลาดน้ำอัมพวาที่เคยซบเซาได้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หากแต่เป็นตลาดที่มิได้สนองคนในท้องถิ่นอีกต่อไป ด้วยสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่เป็นของจากต่างถิ่น ทั้งยังติดตลาดในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อสนองต่อนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง