เล็ก วิริยะพันธุ์กับความเป็นคนสยาม
เล็ก วิริยะพันธุ์ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่า “ เสี่ยเล็ก ” หากได้พบปะเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วก็จะประจักษ์ว่า เป็นผู้มีความรอบรู้เกี่ยวกับเมืองไทยอย่างลึกซึ้งในทุกด้าน และความรู้เหล่านี้ก็หาได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูเพียงเพื่ออวดโอ้เท่านั้น แต่ทุกสิ่งกลับจับต้องได้ด้วยการลงไม้ลงมือปฏิบัติ สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนถึงความคิดและจิตใจแห่งความเป็นคนสยามของเขาที่ฝากไว้ให้กับแผ่นดินเกิด
ไม่ว่าจะเป็น...
เมืองโบราณ
ปราสาทสัจธรรม และ
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ลูกจีนที่สำเพ็ง
จิตใจและวิญญาณที่สมบูรณ์นั้นมิใช่มีมาแต่กำเนิด
และก็มิใช่สวรรค์จะประทานให้ได้
หากจะต้องไปขวนขวายหามาเอง ดุจสุขภาพ คุณธรรม และความรู้
เล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นลูกจีนที่เกิดในกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร โดยมีบิดามารดาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายยาเทียนแซตึ๊ง ย่านสำเพ็ง อันเป็นชุมชนใหญ่และเก่าแก่ของชาวจีนในเมืองบางกอก เมื่อเติบโตทางบ้านได้ส่งให้กลับไปเรียนหนังสือที่เมืองจีนตามความนิยมในยุคนั้น และได้เข้าเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ขณะมีอายุ ๑๗ ปี เวลานั้นเซี่ยงไฮ้คือเมืองท่าใหญ่ของจีนที่เปิดประตูรับวัฒนธรรมชาติตะวันตกอย่างไม่อาจขัดขืน จึงเต็มไปด้วยแสงสี ตึกรามบ้านช่องแบบฝรั่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษา การค้า และการลงทุนจากชาติตะวันตก หล่อหลอมให้ลูกจีนที่เติบโตมาจากความเข้มแข็งของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ผนวกรับเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลกตะวันตกในศตวรรษที่ ๒๐ มาผสมรวมเปิดโลกทัศน์ตนให้กว้างขวาง ยอมรับเทคโนโลยีความทันสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมความนอบน้อมต่อธรรมชาติและบรรพชน อันเป็นจิตวิญญาณและรางเหง้าของคนตะวันออก
เมื่อบิดาป่วยหนักจึงเดินทางกลับบ้าน และสืบกิจการต่อจากบิดาในเวลาต่อมา
ทำธุรกิจ เพื่อชาติ
แท้จริงชีวิตคนเราก็คือการเสี่ยงภัย
ผู้ที่ประสบความสำเร็จใหญ่หลวงที่สุด
มักจะเป็นคนที่ลงแรงไปทำงานและกล้าเสี่ยงภัยที่สุด
หลังจากเข้ามาทำการค้ายา เป็นเหตุชักนำให้ได้รู้จักกับนางสาวประไพ วิริยะพานิช ธิดาของขุนวิจารณ์จีนพานิช (ชุ่ม) คหบดีชาวแปดริ้ว ผู้ผลิตยาไทยหลายขนานและน้ำมันทาไม้ตราปลาตะเพียน ในนามห้างน้ำมันวิริยะพานิช ย่านสามแยก ทั้งสองคบหาและได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เขาไม่เพียงทำธุรกิจค้าขายยา หากยังเข้าไปร่วมและบุกเบิกทำธุรกิจอื่น ๆ อีก อาทิ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งธนาคารไทย (ธนาคารมณฑล) ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นธนาคารกรุงไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อตั้งบริษัทอาเซียพานิชการ (แผนกประกันภัย) ขึ้น ต่อมาคือบริษัทวิริยะประกันภัย และที่สำคัญในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เขาได้ตัดสินใจรับซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทธนบุรีพานิช ต่อจากหุ้นส่วนเดิมซึ่งกำลังประสบปัญหาการเงิน ตามคำขอร้องของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ต้องการจะรักษาบริษัทแห่งนี้ไว้ให้เป็นบริษัทของคนไทย เพราะขณะนั้นบริษัทธนบุรีฯ เป็นบริษัทอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ตขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
“ ...จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีจดหมายมาถึงผมให้ไปรับซื้อบริษัทธนบุรีฯ ทั้งหมด ...ตอนนั้นธนบุรีฯ เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ตทุกอย่าง ทั้งเอเยนต์เรโนลท์, ไครสเลอร์, เอเยนต์เดโซโท, แนช และผู้ประกอบการเป็นระดับมหาเศรษฐีของเมืองไทยทั้งนั้น จอมพล ป. ก็อยากจะให้ตั้งเป็นบริษัทไทยแห่งแรกขึ้น
“ ...แต่คิดดูสิ ต้องเก็บทะเบียนคืนทุนเขาจริง ๆ เท่าไร สมัยโน้นหนี้สินหมดไปเป็น ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้าน แล้วใครจะไปอยากรับซื้อ ”
แต่ที่สุดด้วยความเคารพต่อผู้ใหญ่ที่มอบความไว้วางใจให้ เขาจึงเข้าบริหารกิจการบริษัทธนบุรีพานิชตั้งแต่นั้นมา และก็สามารถทำให้บริษัทแห่งนี้ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย พร้อมทั้งผลักดันให้รถเบนซ์ก้าวขึ้นสู่ความนิยมในสังคมชั้นสูงของไทยได้สำเร็จ
ด้วยความวิริยะอุตสาหะกอปรกับความสามารถในเชิงธุรกิจ ทำให้เล็ก วิริยะพันธุ์ ในวัย ๔๐ กว่าปีกลายเป็นนักธุรกิจชั้นนำที่ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าของกิจการค้ามากมาย มีฐานะมั่งคั่งระดับ “ เสี่ย ” และมีครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น
หากแต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น...
เรียนรู้และสร้างสรรค์
จงอย่าได้เสียเวลาและชีวิตของท่านไปสั่งสมแต่สิ่งที่จะกลายเป็นผุยผงในกาลต่อไป
จงพยายามแสวงหาอุดมคติ มิใช่วัตถุ
เพราะว่ามีแต่อุดมคติเท่านั้น จึงจะให้ชีวิตของเรามีความหมาย
และก็มีแต่อุดมคติเท่านั้น จึงจะมีคุณค่าอันเป็นอมตะ
ช่วงที่ออกตระเวณหาข้อมูลตามท้องถิ่นต่างๆ คุณเล็กก็ซื้อหาและรวบรวมสิ่งของ เพื่อนำมาจัดแสดงที่เมืองโบราณด้วย |
เมื่อมั่นคงทั้งในการงานและครอบครัวแล้ว เขาหันมาทำในสิ่งที่ชื่นชอบ คือ การสะสมโบราณวัตถุหรือเล่นของเก่า ซึ่งแรกเริ่มไม่ได้สนใจเท่าไรนัก แต่นานเข้าก็เกิดใจรัก หันมาสนใจศึกษาอย่างจริงจัง นำพาตนเองเข้าสู่แวดวงผู้ใหญ่ที่มีความรู้และความสนใจในด้านนี้ จนกลายเป็นผู้รู้จริงคนหนึ่งของวงการ และด้วยเหตุที่คลุกคลี มุ่งมั่นศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธธรรม ที่สัมพันธ์กับศิลปวัตถุเหล่านั้น ทำให้เขาและภรรยาหรือที่ผู้ใต้บังคับบัญชาและคนใกล้ชิดเรียกว่า “ นายห้าง ” เกิดความรัก ความภูมิใจในภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวสยามที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกับที่ช่วงเวลาเวลานั้นกระแสความนิยมวัฒนธรรมตะวันตกของคนไทยก็ทวีขึ้นทุกขณะ วัฒนธรรมไทยกลับเสื่อมถอยลง จึงเป็นเหตุให้ทั้งคู่ปลงใจร่วมกันที่จะสร้างเมืองจำลองซึ่งมีประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมให้คนได้เห็น ได้รู้จัก และไปเที่ยวเท่านั้น
ทว่า เมื่อลงมือกระทำ สิ่งที่คิดแต่แรกก็แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เมืองโบราณ
อดีตของสยาม และอนาคตของไทย
...มรดกของมนุษยชาติที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราเป็นเวลานานแสนนาน
มีคุณค่าอย่างยิ่งที่ไม่ได้เสื่อมโทรมแม่แต่น้อย
ศิลปะไม่มีลัทธิ ศาสนา และกาลเวลา ศิลปะเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์มาตราบเท่าทุกวันนี้
เหตุไฉนประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราจึงถูกทอดทิ้งบ้าง ทำลายบ้าง
ทั้ง ๆ ที่วัฒนธรรมประเพณีนั้นเหมาะสมกับสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเรา
โดยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากให้มนุษย์ร่วมโลกรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของเรา
เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์
อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนใจของผู้ที่กำลังหลงทางในสังคมปัจจุบัน
นี่คือจุดประสงค์ของข้าพเจ้าที่สร้าง “ เมืองโบราณ ” ขึ้น
ข้างต้นคือวัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองโบราณ ที่ “ นายห้าง ” ได้เขียนแสดงไว้ เช่นเดียวกับที่เล็ก วิริยะพันธุ์ ได้แสดงเจตนารมย์ไว้เช่นกันว่า
“ การที่วัฒนธรรมไทยต้องเสื่อมโทรมและอับเฉาลงทุกที ๆ นั้น ก็ด้วยเหตุที่มิได้มีผู้ใดนำเอายอดแห่งแก่นสารของวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง และถูกต้องบริบูรณ์ด้วยการใช้รูปแบบง่าย ๆ เข้าใจไม่ยาก โดยให้ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันสมัย
“ ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่มีโอกาสที่จะรับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมแห่งชาติของตนเองที่มีสืบต่อกันมานั้นแล้ว จะให้เขาเหล่านั้นชื่นชอบและยอมรับได้อย่างไร?
“ เมื่อเราตระหนักเช่นนี้ จึงเห็นว่าต้องลงมือทำเลย ”
เมืองโบราณขณะกำลังก่อสร้าง ต้องมีการปรับ ถมพื้นที่ และกำหนดผังตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานต่างๆ |
การลงมือทำเลยในแบบของเขา จึงมิใช่การว่าจ้างให้ออกแบบหรือจัดสร้างตามคำสั่ง แต่เกิดจากการที่เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องความคิดและการกระทำตั้งแต่แรกสร้าง จึงต้องมีการศึกษาหาข้อมูลทั้งในเรื่องรูปแบบและความหมายของสิ่งที่จะสร้างเป็นสัญลักษณ์ มีการเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนถกเถียง กระทั่งเดินทางออกไปเรียนรู้หาข้อมูลตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศร่วมกับครอบครัว คือ นายห้างและบุตร ในทุกวันหยุดราชการ นานวันเข้าก็วางมือจากธุรกิจทั้งปวงเพื่อทำในสิ่งที่ตนรักและชอบ โดยปล่อยให้นายห้างเป็นผู้ดูแลแทน
ระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีในการออกไปตระเวณท้องถิ่นทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อหาข้อมูลและรวบรวมสิ่งของมาสร้างเมืองโบราณ ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ได้ดียิ่งกว่าผู้เชี่ยวชาญ เพราะยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งมีคำถาม มีการแตกประเด็นค้นหาความหมายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สิ่งที่เคยคิดแต่เพียงให้เป็นสถานที่เที่ยวหย่อนใจ กลายมาเป็นสถานที่เพื่อการศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของความเป็นสยาม ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ให้ความเข้าใจทั้งในแง่ภูมิศาสตร์กายภาพ ผู้คน และวิถีวัฒนธรรม
ขณะที่กำลังก่อสร้างเมืองโบราณ คุณเล็กและนายห้างหวังให้เด็กๆ ในพื้นที่โดยรอบ และลูกหลานของช่างได้มีการศึกษา มีความผูกพันต่อสิ่งก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้น |
จึงได้ตั้งโรงเรียนเมืองโบราณขึ้น เปิดสอนอยู่ราว ๕ ปีก็ต้องเลิกไป |
สิ่งก่อสร้างในเมืองโบราณจึงมิได้มีแค่โบราณสถานที่ถ่ายแบบมาก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังนำเอาบรรดาสถาปัตยกรรมและวัตถุทางชาติพันธุ์ที่กำลังจะสูญหายไปมาสร้างและเก็บไว้ตลอดจนการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้าหาหลักฐานทั้งจากเอกสาร ภาพวาดและซากที่หลงเหลืออยู่มาก่อรูปขึ้นใหม่ ดังเช่นพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และหอพระแก้ว
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่กลมกลืนกับบรรดาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มีการตกแต่งสวน คัดสรรพันธุ์ไม้ไทยมาปลูกเพื่อให้ได้รู้จัก รวมถึงไม่ละเลยต่อสุนทรียรสทางวรรณกรรมและศิลปกรรม โดยมอบหมายศิลปินฝีมือเยี่ยมให้สร้างประติมากรรมเทวโลกและเรื่องราวในวรรณคดีและนิทานสำคัญ ๆ ของท้องถิ่น เช่น พระอภัยมณี ไกรทอง มโนห์รา เป็นต้น
คุณเล็กและนายห้าง ในช่วงระหว่างควบคุมการก่อสร้างเมืองโบราณ |
ภายหลังจากทุ่มเทก่อสร้างอาคาร โบราณสถานต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้เขาได้เรียนรู้โครงสร้างและสัดส่วนของสถาปัตยกรรมไทยจนถึงขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถคิดและออกแบบสิ่งก่อสร้างได้ด้วยตนเอง กอปรกับความสนใจในเรื่องปรัชญา สุภาษิตที่สั่งสมอยู่เป็นพื้นฐาน จึงผลักดันให้เขาคิดสร้างศิลปกรรมที่จะสื่อความหมายทางคุณธรรมและมนุษยธรรมที่บรรดาศาสดาและปรัชญาเมธีในอดีตค้นพบและคิดขึ้นมาสอนมนุษย์ให้อยู่อย่างสันติสุข ซึ่งเป็นเรื่องของศาสนาและจิตวิญญาณ การก่อสร้างปราสาทไม้ขนาดใหญ่ริมทะเลแหลมราชเวท บางละมุง จึงเกิดขึ้นตามมา
ปราสาทสัจธรรม
จินตนาการที่ริมขอบฟ้า
ริมขอบฟ้า
ที่ซึ่งฟ้าบรรจบดิน
เส้นที่ไม่มีอยู่จริง
แต่มองเห็นได้
พ่อบอกลูกให้มองออกไปไกลไกล
มองไปที่ริมขอบฟ้า
สู่ความฝัน และจินตนาการของมนุษย์
ปรัชญาและจินตนาการที่ก่อรูปขึ้น ณ ริมชายทะเล บางละมุง |
เมื่อต้องการสื่อให้คนได้เห็นสัจธรรมในศาสนาและปรัชญาที่จรรโลงโลกให้มีสันติสุข เขาจึงเลือกที่จะสร้างปราสาทไม้ทรงจตุรมุขที่มีความหมายเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นสัญลักษณ์ของโลกและแกนกลางของจักรวาลตามคติโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถิตของเทวดา หรือบุคคลที่ทรงคุณธรรมเทียมเทพ ตรงกลางปราสาทมีบุษบกที่ว่างเปล่าตั้งอยู่ โดยมีความหมายว่าบุคคลใดที่ประพฤติดีมีคุณธรรม ก็มีความชอบธรรมที่จะไปนั่งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลได้ อันเป็นลักษณะความคิดเดิมที่ปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์ไตรภูมิทางพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเทพองค์เดิมหมดวาระต้องไปจุติในภพภูมิอื่น ผู้ที่มีบุญบารมีท่านอื่นก็เข้ามาแทนที่ได้
ความโดดเด่นของการตกแต่งปราสาทแห่งนี้อยู่ที่การประดับประติมากรรมแกะสลักรูปเทพเจ้าและสัตว์เนรมิตในเทวนิยายที่มากมายหลายขนาดทั้งภายในและภายนอก เพื่อเป็นสื่อแสดงสัญลักษณ์ความหมายทางศาสนาและปรัชญา จึงเป็นเหตุสำคัญให้ปราสาทแห่งนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ในช่วงชีวิตของเขา
ประติมากรรมแกะสลักรูปเทพเจ้าและสัตว์เนรมิตในเทวนิยายของหลายศาสนา |
อย่างไรก็ดีไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปราสาทสัจธรรมคือภาพสะท้อนความนึกคิดและความต้องการในด้านปรัชญาและศิลปวัฒนธรรมของเล็ก วิริยะพันธุ์
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
มหัศจรรย์แห่งงานศิลป์
ตั้งจิตเพื่อฟ้าดิน มีชีวิตเพื่อมนุษยชาติ
สืบต่อวิทยาการสุดยอดจากปราชญ์ในอดีต
สร้างสรรค์สันติสุขชั่วกาลนานแก่มนุษยชาติ
นี่คือเป้าหมายอันแท้จริง
ซึ่งศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ต้องการบรรลุ
ระหว่างที่ก่อสร้างปราสาทสัจธรรม จินตนาการของเขาหาได้หยุดเพียงแค่นั้น ความคิดที่จะสร้างเมืองเนรมิตเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนพื้นที่ดินกว่า ๑,๐๐๐ ไร่ของตนริมแม่น้ำบางประกงก็เดินหน้าควบคู่กันไป เขาต้องการสร้างอาคารภูเขารูปช้างสามเศียรที่สูงตระหง่าน แวดล้อมไปด้วยสวนและหมู่อาคารที่พัก โรงละคร สถานที่จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและศิลปหัตถกรรม แต่เมื่อจะดำเนินการก็มีอุปสรรคในเรื่องชาวบ้านในพื้นที่ เขาจึงหยุดโครงการไว้ แต่ในที่สุดความคิดอาคารช้างสามเศียรก็ปรากฏเป็นจริงขึ้นที่สำโรง สมุทรปราการ ในพื้นที่กว่า ๘ ไร่
ช้างเอราวัณสามเศียรที่หุ้มด้วยแผ่นทองแดงนับแสนชิ้น ตั้งตระหง่านสูงเท่ากับตึก ๑๔ ชั้น |
รูปจำลองช้างสามเศียรในท่ายืนเคลื่อนไหวส่ายเศียรเหนือยอดโดมของอาคารที่รองรับ ซึ่งดูราวกับเหยียบอยู่บนโลกตามความคิดของเขาถูกร่างขึ้นบนกระดาษ ก่อนจะปั้นจำลองด้วยดินเหนียวขึ้นมาดู จากนั้นจึงให้สถาปนิกมาร่วมพัฒนารูปทรงและโครงสร้างหลายต่อหลายครั้ง มีการจำลองด้วยวัสดุหลากหลายชนิด ทั้งไฟเบอร์ โฟม ขี้ผึ้ง ก่อนจะตกลงเขียนเป็นแบบแปลนและลงมือก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลาสร้างนานถึง ๑๐ ปี ด้วยทุกขั้นตอนต้องอาศัยการทดลอง แก้ปัญหา ค้นคว้าหาสิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะการขึ้นรูปช้างด้วยมือโดยวิธีเคาะแผ่นทองแดงขึ้นรูป นับเป็นเทคนิคที่ไม่เคยใช้ในการก่อสร้างประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ในโลกมาก่อน ถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะโลกเลยทีเดียว
เศียรช้างแต่ละข้างกว่าจะเป็นรูปร่างต้องอาศัยโครงเหล็กถักนับพันเส้น |
อาคารที่รองรับตัวช้าง ซึ่งทำเป็นตัวพิพิธภัณฑ์ ตกแต่งเพดานภายในโถง |
จุดมุ่งหมายของเขาในการก่อสร้างอาคารช้างสามเศียรก็คือ ต้องการให้ภายในท้องช้างเป็นห้องพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุที่เขาสะสม เพื่อให้คนไทยได้เข้าชมศึกษา ดังคำบอกเล่าของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ร่วมทำงานกับคุณเล็กมาตั้งแต่สร้างเมืองโบราณ ว่า
“ คุณเล็กชอบเล่นของเก่า ...จะศึกษาของเก่าในลักษณะสร้างสรรค์และหาความหมาย เพราะคุณเล็กชอบอ่านหนังสือ ชอบหาความหมายในสิ่งนั้น ๆ แกเห็นว่าโบราณวัตถุบางอย่างเป็นของสำคัญของบ้านเมือง เช่นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คนโบราณไม่ได้สร้างขึ้นมาค้าขาย แต่สร้างมาจากมิติทางวิญญาณ เป็นที่เคารพของคนในบ้านเมือง แกจึงสะสมของเก่าไว้มาก มีของหลายชนิดที่มีค่า กลัวหาย และอยากให้อยู่ในแผ่นดินไทย ไม่อยากให้หลุดไปนอกประเทศ อยากให้เป็นของส่วนรวม จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาและเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้าชม... ”
การสร้างพิพิธภัฑ์ช้างเอราวัณคือผลงานใหญ่แห่งสุดท้ายในชีวิตของเขา
แต่ไม่ว่าจะเป็นผลงานสุดท้าย งานชิ้นแรก หรืองานที่ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทุกสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนบ่งบอกถึงตัวตน ความคิด และจิตวิญญาณของคนชื่อ เล็ก วิริยะพันธุ์-คนตะวันออก ลูกไทยเชื้อสายจีน ที่เลือกจะผูกพันตัวเองกับแผ่นดินไทย...แผ่นดินสยาม
เขารู้สึกว่าเมืองไทยคือบ้าน...บ้านหลังเดียวของเขา เฉกเช่นที่เขาเคยบอกเสมอว่า คนเราอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด
สิ่งที่ข้าพเจ้าทำไปแล้วในวันนี้มีความสำคัญมาก
เพราะว่าข้าพเจ้าได้สละชีวิตหนึ่งแล้วเป็นค่าทดแทนไปแล้ว
อ้างอิงจาก
๑. ศรัณย์ ทองปาน, “ เมืองโบราณ ฝันยิ่งใหญ่ของชายชื่อเล็ก ” นิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๓ มีนาคม ๒๕๔๔.
๒. ศรีศักร วัลลิโภดม, “ คนตะวันออก ” ริมขอบฟ้า ที่รฦกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ นายเล็ก วิริยะพันธุ์ ท.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ๔ กันยายน ๒๕๔๔.
๓. ชีวิตและผลงาน เล็ก วิริยะพันธุ์ .