หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 28 ม.ค. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 81039 ครั้ง

พหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม 

 

                      พหุนิยม หรือ Pluralismคือ แนวคิดที่มองในเรื่องความหลากหลายทั้งกลุ่มคน และวัฒนธรรม เช่น  ความหลากหลายทางสังคมของชนชั้น อาชีพ ความคิด อุดมคติ วิถีชีวิต เกิดความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม ให้ความสำคัญแก่ความแตกต่างมากมาย เช่น ทางอุดมคติความคิด การเรียกร้องของกลุ่มสิทธิต่างๆ  กลุ่มสตรี กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ความต่างทางอาหาร ความต่างทางอาชีพ พหุนิยมในระดับปัจเจก เช่น การเปิดเผยตัวของกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน การอยู่ก่อนแต่ง การยอมรับความเท่าเทียมของสตรี ความเป็นตัวตนของวัยรุ่น  ฯลฯ

 

                      สังคมพหุลักษณ์หรือพหุสังคม [Plural Society]หมายถึงกลุ่มสังคมที่แยกย่อยออกเป็นกลุ่มภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนาหรือเชื้อชาติต่างๆ และกลุ่มชุมชน ซึ่งเป็นคำเดียวกับ Multicultural society หรือ สังคมหลากวัฒนธรรมที่นำมาใช้กับรัฐที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวคิดแบบ Multiculturalismนี้เป็นการมองความหลากหลายด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมเป็นเกณฑ์

 

                       แต่ในสังคมสมัยโลกยุคอาณานิคม เช่น พม่าหรืออินโดนีเซียซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งไม่เป็นแต่เพียงผู้ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ต่างกันแต่รวมถึงความหลากหลายของสถาบันที่เป็นทางการในระบบเครือญาติ ศาสนา การศึกษา การผลิตซ้ำและทางเศรษฐกิจ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เมื่อพบปะหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันมักจะเกิดการแข่งขันหรือมุ่งหาประโยชน์จากกลุ่มอื่นมากกว่าจะมีอุดมการณ์ร่วมกัน จึงต้องมีการกำหนดกลไกทางสังคมเพื่อป้องกันความวุ่นวายในการอยู่ร่วมกัน  

 

                       การปกครองแบบพหุนิยม หรือ Pluralismคือแนวคิดในการจัดสรรอำนาจให้กับกลุ่มหรือองค์กรย่อยหลายกลุ่ม ซึ่งตรงกันข้ามกับการปกครองแบบ รัฐเดี่ยว [Unitary state]ในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจหลายกลุ่มจะมีการจัดสรรผลอำนาจเหล่านั้นหรือมีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลาและการกระจายอำนาจก็มักจะเกิดความไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการมองแต่ประโยชน์เรื่อง “วัฒนธรรมเดี่ยว” และรัฐเดี่ยว มาเป็น “พหุนิยมทางวัฒนธรรม” โดยจำเป็นต้องมองว่า ไม่มีต้นแบบวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว  เช่น ไม่มีแต่วัฒนธรรมไทยที่เป็นวัฒนธรรมหลวงเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายมากมายอยู่ร่วมกันด้วย

 

                        เราเรียกสังคมที่เคารพในความแตกต่างอย่างหลากหลายนี้ว่า “พหุสังคม” [Plural Society]ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงเมื่อสังคมนั้นๆ ได้พัฒนาความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว

 

                        แนวคิดพหุนิยมทางการเมือง หรือPolitical pluralismเป็นความรู้ในระดับสามัญสำนึกว่า ในสังคมจะต้องมีความแตกต่างกัน แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในวงกว้างในทางการเมือง ถือว่าเป็นสิ่งที่บ่งชี้ความเป็น ประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของพลเมือง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงจุดยืนของรัฐและอำนาจรัฐ และถือกันว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นรูปแบบเหมาะสมในการกระจายอำนาจในสังคมในระบอบประชาธิปไตย แนวคิดพหุนิยมเป็นแนวทางชี้นำเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขบนความขัดแย้งของผลประโยชน์ ความเชื่อและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน

 

                        ซึ่งทำให้แนวคิดพหุนิยมแตกต่างจากแนวคิดรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะแนวคิดพหุนิยมเชื่อว่า สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้หากมีการเจรจาอย่างสันติ

 

                         ปัญหาความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติในรูปแบบต่างๆทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน การเหยียดหยาม การใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐหรือในระบบยุติธรรม จึงควรคงสิทธิในระดับและรูปแบบต่างๆ ของพลเมืองไว้ คือ สิทธิในการปกครองตนเองในระดับต่างๆ เคารพสิทธิทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการเข้าร่วมและมีโอกาสได้รับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การเมืองในสังคมใหญ่เพื่อนำไปสู่การบูรณาการผสมผสาน[Integration] สู่สังคมใหญ่ในที่สุดและสิทธิการมีตัวแทนพิเศษของกลุ่มย่อยที่มักจะไร้โอกาสหรือถูกละเลยเสมอ

 

                          การปรับเปลี่ยนวิธีการแบบ Assimilation หรือการกลืนกลาย” ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐ-ชาติในหลายสังคมที่ ทำลาย กีดกัน บังคับวัฒนธรรมกลุ่มย่อยให้กลายมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ มาเป็น Integrationหรือการบูรณาการผสมผสาน” จะเป็นวิธีที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ ลดลงกว่าเดิม เพราะมุ่งเพื่อนำสังคมไปสู่การตระหนักรู้ถึงการรวมอยู่ร่วมกันและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมทั้งหมด อันหมายถึงรัฐชาติหรือประเทศนั่นเอง  

 

                          ลัทธิล่าอาณานิคมที่ขยายไปทั่วโลก ทำให้เกิดการใช้ อคติทางชาติพันธุ์ [Ethnocentrism] เป็นพื้นฐานในการแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยแบ่งผู้คนตามสีผิวและเชื้อชาติ [Race]ก่อให้เกิดลัทธินิยมเชื้อชาติอย่างสุดโต่งหรือ ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ [Racism] อันเป็นสาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ [Genocide] ของผู้ที่ถือถือว่าตนเป็นกลุ่มที่เหนือกว่า

 

                           ผลกระทบจากการสร้างภาพลวงดังกล่าว ทำให้นักมานุษวิทยาเสนอให้หันมาเน้นการศึกษาเกี่ยวกับ ความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity)ในช่วงหลังจากปี ค.ศ.1970 เพราะเป็นกระบวนการแสดงความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน แทน การจัดลำดับเชื้อชาติตามสีผิว ซึ่งถือเป็นกระบวนการกีดกันทางสังคม โดยเสนอให้เรียกกลุ่มชน ที่แสดงความแตกต่างทางวัฒนธรรมว่า กลุ่มชาติพันธุ์ [Ethnic Groups] แทนคำว่า ชนเผ่า [Tribe] ที่แฝงไว้ด้วยนัยะเชิงดูถูก

 

                            “การเมืองของความเป็นชาติพันธุ์[Political Ethnicity]โดยเฉพาะในสังคมไทยในช่วงแรกของกระบวนการสร้างรัฐ-ชาติ ผลักดันให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ห่างไปจากศูนย์กลางหรือถูกลงความเห็นว่าไม่เหมือนกับพวกตน โดยนัยะของการดูถูกและการกดดันอันเนื่องจากการเป็นผู้อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมบริเวณศูนย์กลาง จนเกิด “ความเป็นอื่น [The Otherness]”การสร้างภาพดังกล่าวทำให้เกิดสภาพของ“ความเป็นชายขอบ [Marginality]ทางสังคม ที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาพเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นแก่กลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งและไม่ได้อยู่ห่างไกลศูนย์กลางแต่อย่างใดได้เช่นกัน นับเป็นกระบวนการกีดกันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้น ต้องสูญเสียสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับจากการพัฒนาของรัฐ โดยเรียกสภาพเช่นนี้ว่า “กระบวนการสร้างสภาวะความเป็นชายขอบ (Marginalization)”

 

                            เมื่อมีเหตุดังกล่าวจึงตามมาด้วยกระบวนการเปิดพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม [Social and Cultural Space]ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อตอบโต้อคติและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ตน เป็นการตอบโต้และกำหนดนิยมความเป็นกลุ่มของตนด้วยตนเองแทนที่จะมีเพียงอำนาจจากศูนย์กลางหรืออำนาจรัฐเป็นผู้จัดการเท่านั้น โดยรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ การออกมาแสดง ความมีตัวตนทางชาติพันธุ์ [Ethnic Identity]ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของตน สร้าง สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ [Ethnic Rights]รวมทั้ง ภูมิปัญญาความรู้ [Indigenous Knowledge]  ซึ่งเป็นสิทธิของท้องถิ่นที่รัฐในระบอบประชาธิปไตยจะต้องยอมรับ

 

                             การทำความเข้าใจสภาพดังกล่าวก็เสมือนดาบสองคม เพราะอาจจะเปลี่ยนจากภาพการมองแบบอคติ เป็นภาพการมองแบบหยุดนิ่งตายตัว ไม่เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหรือที่ใช้คำว่าการสร้างภาพตัวแทน [Representation] ของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้การทำความเข้าใจในลักษณะที่เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม [Social Mobility]ร่วมกันไปด้วยจึงเป็นสิ่งที่ยากและต้องทำความเข้าใจและใช้เวลาในการศึกษากลุ่มสังคมนั้นๆ ด้วยระยะเวลายาวนานและใช้ความรู้อย่างรอบด้านและประเด็นเกี่ยวกับพหุสังคม มักเน้นการศึกษาเรื่องอำนาจอธิปไตย เอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสถาบันศาสนาและการปรับตัวของกลุ่มต่างๆ เพื่ออยู่ร่วมกันภายใต้ศูนย์กลางอำนาจเดียวกัน

 

                             เช่นการแก้ปัญหาในเรื่องการศึกษาควรเน้น“การศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม” ซึ่งให้ค่าแก่ความเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรม และทัศนะที่ว่าโรงเรียนควรจะเป็นหน่วยหลอมละลายความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นได้รับการปฏิเสธแต่ ควรมีความอดทนอดกลั้นต่อพหุนิยมทางวัฒนธรรมและให้ตระหนักว่าความหลายหลายทางวัฒนธรรมนั้นคือความเป็นจริงในสังคม การศึกษาแบบนี้ก็ยิ่งย้ำว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าซึ่งควรจะรักษาไว้และขยายกว้างออกไป

 

                              ประเด็นที่ผูกพันกับแนวคิดพหุนิยมในทางตรงกันข้ามคือ “ชาตินิยม หรือNationalismซึ่งถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง การปลูกฝังความเป็นชาตินิยมมากทำให้เกิดแนวคิดที่สุดโต่งกลายเป็น “การคลั่งชาติ”

 

                               แนวความคิดเรื่องชาตินิยมเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ด้วยแรงผลักดันจากการล่าอาณานิคม มุ่งเน้นไปที่พระมหากษัตริย์ แผ่นดินและราษฎร ทั้งนี้เพราะความชัดเจนของคำว่าชาติยังไม่ปรากฏเด่นชัดนัก พอในสมัยรัชกาลที่ 6 อุดมการณ์ความรักชาติได้ปรากฏอย่างชัดเจนขึ้น โดยใช้วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นการเผยแพร่แต่ชาตินิยมของไทยที่โดดเด่นคือ แนวคิด “รัฐนิยม”ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปลุกระดมความรักชาติและปรับปรุงวัฒนธรรมให้เหมือนอารยประเทศและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  และสร้างรากฐานการศึกษาในลักษณะแบบชาตินิยมอย่างฝังรากลึกต่อมา  

 

                                ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตามทำให้เกิดลักษณะของการเชื่อมโยงทางสังคมละวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เชื่อมโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน กลายมาเป็นแรงผลักดันให้คนในสังคมหันกลับมาแสวงหา อัตลักษณ์ หรือ Identity เพื่อใช้ยึดเหนี่ยวมากขึ้น  อัตลักษณ์แบบใหม่จากรากเหง้าเดิมทั้งทางชาติพันธุ์ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองจะผสมผสานทั้งในรูปแบบเดิมและในแบบสังคมหลังสมัยใหม่ที่สับสนและซับซ้อน เป็นการผสมผสานระหว่าง ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ในอดีตและปัจจุบันในสังคมที่ซับซ้อน การย้อนกลับไปหาอัตลักษณ์เดิมของตนเอง

 

                                จึงเกิดแนวคิดเรื่องพหุสังคม พหุวัฒนธรรม อย่างแพร่หลาย การพูดถึงเรื่องของแนวความคิดชาตินิยมจึงถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

                                 แต่แนวคิดในเรื่องของชาตินิยมจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ใช่รัฐมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในภาวะที่สังคมมีแนวคิดเรื่องเป็นปัจเจกนิยม หรือ Individualismมากขึ้น ผู้คนในโลกแบบโลกาภิวัตน์อยู่ในภาวะไร้รัฐ ไร้เส้นแบ่งพรมแดนและไร้สังคมมากขึ้น ความเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ผสมกับแนวคิดเรื่องชาตินิยมแบบในอดีต กลายเป็นข้ออ้างในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มมีความหมายมากกว่ารัฐชาติหรือบ้านเกิดเมืองนอนหรือมาตุภูมิอันเป็นพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมและการเมืองที่จะถูกริดรอน สั่นสะเทือนไปถึงอำนาจรัฐที่จะกระทบกระเทือนเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่มีมากขึ้น

 

 

อัพเดทล่าสุด 28 ม.ค. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.