เมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงครามตั้งอยู่บนผืนดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา อันเกิดขึ้นจากการทับถมของโคลนตะกอนที่แม่น้ำและลำน้ำหลายสายพัดพามาในฤดูน้ำหลาก ทำให้พื้นดินดังกล่าวอุดมด้วยปุ๋ยธรรมชาติเหมาะกับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ดำเนินวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องของ “ น้ำ ” ในรูปแบบต่าง ๆ
ระบบสามน้ำและน้ำเดียว
เมืองแม่กลองตั้งอยู่บนปากแม่น้ำแม่กลองอันเป็นแม่น้ำสายหลัก และยังมีเครือข่ายคูคลองเล็กใหญ่อีกมากมายหลายสาย กอปรกับอยู่ประชิดติดอ่าวไทย จึงได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลขึ้น-ลงด้วย บรรพชนคนแม่กลองได้สั่งสมเรียนรู้ระบบน้ำดังกล่าว จนสามารถกำหนดแบบแผนการทำกินที่สอดคล้องกับความเป็นเมืองสามน้ำ ของตนได้อย่างลุ่มลึก
ความเป็นเมืองสามน้ำของเมืองแม่กลอง เกิดขึ้นจากตัวแม่น้ำแม่กลองกับคลองทุกคลองที่แยกออกจากตัวแม่น้ำ เมื่อยามน้ำทะเลขึ้นในช่วง ๑-๒ ชั่วโมงแรก น้ำเค็มจะดันน้ำจืดในตัวลำน้ำและคลองย่อยต่าง ๆ กลับขึ้นไปก่อน จึงเป็น น้ำจืด ครั้น ๓-๔ ชั่วโมงต่อมา น้ำทะเลหนุนคลุกเคล้ากับน้ำจืดมากแล้ว จึงเริ่มมีสภาพเป็น น้ำกร่อย พอเข้าชั่วโมงที่ ๕-๖ ก็จะกลายเป็น น้ำเค็ม ทั้งสายน้ำ ด้วยลักษณะนี้จึงเกิดสำนวนที่ว่า “ น้ำขึ้นให้รีบตัก ” เพื่อให้ชาวแม่กลองที่ต้องอยู่กับสภาวะความไม่มั่นคงของน้ำ ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทนั่นเอง
นอกจากระบบสามน้ำแล้ว บางพื้นที่ของเมืองแม่กลองซึ่งตั้งอยู่ติดกับทะเลโดยตรง เช่น คลองโคน คลองช่อง แพรกทะเล คลองขุดยี่สาร ฯลฯ มีสภาพเป็นน้ำเค็มตลอดเวลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ระบบน้ำเดียว จึงต้องมีการแสวงหาน้ำจืดมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการพายเรือออกไป “ ล่มน้ำ ” คือ พายเรือที่เอาไม้พื้นปูกระทงเรือออกหมดให้เหลือแต่กงกับเปลือกเรือ ไปถึงที่น้ำจืดแล้วจึงเอียงเรือให้น้ำจืดเข้ามาอยู่ในเรือจนเหมือนกับเรือจะล่ม แล้วจึงพายเรือนำน้ำกลับมาใช้สอยที่บ้าน
ชาวบ้านนำเรือออกมา "ล่มน้ำ" เพื่อนำน้ำจืดกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน
น้ำขึ้น – น้ำลง, น้ำเช้า – น้ำเย็น, น้ำเกิด – น้ำตาย
ไม่เพียงสภาพความจืด เค็ม กร่อย ของน้ำเท่านั้น อิทธิพลแรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่มีต่อโลกก็ส่งผลต่อระบบน้ำของเมืองแม่กลองด้วย โดยน้ำจะขึ้นและลงวันละ ๒ ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ ๖ ชั่วโมงและแต่ละวันน้ำจะขึ้น-ลงเลื่อนไปวันละประมาณ ๔๘ นาที อีกทั้งการขึ้นและลงของน้ำในแต่ละช่วงฤดูกาลก็จะไม่เหมือนกัน เช่น หน้าหนาวน้ำจะขึ้นในปริมาณมากตอนช่วงเช้าและลงตอนเย็น ชาวบ้านเรียกว่า น้ำเช้า ส่วนช่วงฤดูร้อนก่อนเข้าฤดูฝนอันเป็นรอยต่อระหว่างฤดูกาล น้ำในช่วงเช้ากับเย็นจะขึ้นลงเท่าๆ กัน เรียกว่า สองน้ำ หรือ น้ำสองกระดอง ครั้นพอเข้าฤดูฝนในช่วงเย็นน้ำจะขึ้นสูงหรือมีปริมาณมากกว่ากว่าช่วงเช้า ก็เรียกว่า น้ำเย็น กระทั่งเมื่อเข้ารอยต่อระหว่างฤดูกาล ปลายฝนต้นหนาว ก็กลับเป็นสองน้ำอีก
นอกจากนั้นในระหว่างการขึ้นลงของน้ำ มีช่วงเวลาที่ความสูงของการขึ้นและลงของน้ำไม่เท่ากัน ซึ่งต้องดูขึ้น-แรมของดวงจันทร์ประกอบ คือ ช่วงระหว่างขึ้น-แรม ๑๒-๑๕ ค่ำ และ ๑-๕ ค่ำ ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรอยู่ในแนวเดียวกัน แรงดึงดูดจะเสริมกัน ทำให้น้ำไหลแรงและขึ้นลงสูงมาก เรียกว่า น้ำเกิด ส่วนช่วงระหว่างขึ้นหรือแรม ๖-๑๑ ค่ำ ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรตั้งฉากกัน แรงดึงดูดหักร้างกัน น้ำจะไหลน้อยและมีปริมาณการขึ้นลงของน้ำน้อยไปด้วย เรียกว่า น้ำตาย ซึ่งช่วงเวลานี้เอง สัตว์น้ำที่มีการลอกคราบขยายขนาดลำตัว จำพวก กุ้ง ปู เคย ฯลฯ มักผลัดกระดอง และเปลือกใหม่จะแข็งตัวเต็มที่ในช่วงน้ำเกิด เพราะมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ด้วยปริมาณน้ำที่มากและกระแสน้ำที่ไหลแรงยิ่งนำพาอาหาร เช่น แพลงตอน ไรน้ำต่าง ๆ เข้ามามาก
น้ำเบียด – น้ำกัน
น้ำเบียด – น้ำกัน เป็นภาษาชาวทะเล ที่กล่าวถึงช่วงเวลาที่น้ำทะเลกับน้ำจืดเข้าปะทะกันอย่างเฉียบพลันในเดือน ๙ – ๑๑ ส่งผลให้แพลงตอนบางชนิดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและท้องน้ำในบริเวณดังกล่าวจะมีสีแดง เหลือง สีเขียว เป็นวงกว้าง ทำให้ดูเหมือนว่าน้ำสองสีกำลังเบียดกันอยู่ ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีนี้บางครั้งก็เรียกกันว่า “ ขี้ปลาวาฬ ”
...........................
ลักษณะของน้ำรูปแบบต่างๆ ข้างต้น ทำให้ชาวแม่กลองมีการสร้างภูมิปัญญาในการดำรงชีพเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติของน้ำที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องการเพาะปลูกที่มีการเลือกพันธุ์ไม้และจัดแบ่งพื้นที่ตามระบบสามน้ำดังนี้
ทางตอนบน ที่มีพื้นที่เป็นน้ำจืด มีการทำสวนผลไม้ สวนเตียน (การทำสวนพืชล้มลุก ประเภทพริก หอม ยาจืด ผัก ฯลฯ) และมีการทำคันล้อมสวนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ซึ่งน้ำที่หลากมายังช่วยพัดพาแมลงศัตรูพืชต่างๆ ไปพร้อมกับน้ำ ขณะเดียวกับที่นำปุ๋ยชั้นดีจากโคลนตะกอนมาเพิ่มพูนให้ผืนดินสมบูรณ์อีกด้วย
ทางตอนกลาง ผู้คนทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากอยู่ในอิทธิพลของน้ำกร่อย ในหน้าแล้งจึงสามารถปลูกพืชได้ทั้งสองน้ำ แม้ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง ส้มโอ ชมพู่ ก็ปลูกได้ หากมีการไหลเวียนของน้ำดีน้ำ ไม่ท่วมขัง และยังสามารถปลูกข้าวในร่องสวนได้อีกด้วย
ทางตอนล่าง เป็นบริเวณที่ติดกับน้ำเค็ม จึงสามารถทำนาเกลือในหน้าแล้ง ทำป่าโกงกางเผาถ่าน ทำนากุ้ง และทำประมงชายฝั่ง เช่น โป๊ะปลาทู จับเคย เป็นต้น
นอกเหนือจากแบบแผนการหาอยู่หากินในลักษณะสามน้ำแล้ว ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้น - น้ำลง อันส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำเกิดน้ำตายหรือแม้แต่ปรากฏการณ์น้ำเบียด-น้ำกัน ชาวบ้านก็เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีพ ดังเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่น้ำเกิดนั้น สัตว์น้ำต่างๆ ที่ผลัดกระดองจะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งชาวบ้านรู้จักสังเกตเพื่อออกจับ และในช่วงเวลาที่น้ำเบียด-น้ำกัน บริเวณนั้นจะขาดออกซิเจนลงอย่างกะทันหัน ฝูงปลาที่อยู่ใกล้เคียงหากรอดไปได้ จะเกาะกลุ่มหนีปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวประมงสามารถเข้าล้อมจับได้อย่างสะดวก
ภูมิปัญญาเรื่องน้ำของชาวแม่กลองนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่ออยู่อย่างสมดุลย์กับธรรมชาติ ต่างจากสมัยปัจจุบันที่ละเลยภูมิความรู้ท้องถิ่นของบรรพชน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คอยแต่ทำลายธรรมชาติ ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีจนขาดการมองทุกอย่างเป็นองค์รวม จึงมักแก้ปัญหาอย่างแยกส่วน จนกลายเป็นการเพิ่มพูนปัญหาอื่น ๆ ตามมาไม่สิ้นสุด ดังเช่นการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือการสร้างประตูน้ำเพื่อป้องกันน้ำเค็มหนุน แม้สามารถป้องกันได้จริง แต่เขื่อนก็เป็นตัวกักตะกอนดินที่มีประโยชน์มากมายไว้เหนือเขื่อน ทำให้พื้นที่ตอนล่างโดยเฉพาะที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขาดดินตะกอนที่มีประโยชน์เข้ามาทับถมตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งไม่เคยต้องใช้ปุ๋ยเคมีต้องหันมาพึ่งพา จนก่อเกิดหนี้สินมากมาย รวมทั้งระบบควบคุมแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ที่ฝังตัวอยู่ในดินก็ถูกทำลาย ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งทำให้ระบบนิเวศและมนุษย์ต้องประสบปัญหาต่อเนื่องจากสารเคมีตกค้าง อีกทั้งการขาดตะกอนดินที่น้ำพัดพามาทับถม ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหาย ไม่มีการงอกเพิ่มของพื้นที่ชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลจึงหดหาย และชายฝั่งก็ถูกน้ำทะเลกัดเซาะมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งมองข้ามภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่อยู่จะร่วมกับธรรมชาติ
**************************************